โลกยานยนต์สั่นสะเทือน หลัง “โฟล์คสวาเกน” ทำงามหน้า โกงทดสอบค่าไอเสีย

http://www.manager.co.th/around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000107739

ทำเอาช็อกและตกตะลึงกันไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะในบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึง ประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ใช้รถ หลังจากที่ “โฟล์คสวาเกน” ค่ายยานยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งเยอรมนี ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นค่ายรถที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของยุโรปในเวลานี้ ตกเป็นข่าวสุดอื้อฉาวในกรณี “โกง” การทดสอบค่าไอเสีย ซึ่งว่ากันว่า กลโกงที่ค่ายรถดังแห่งเมืองเบียร์นำมาใช้นี้ทำเอาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกถึงกับสั่นสะเทือน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างเลวร้ายถึงขีดสุด
       
       เมื่อวันอังคารที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา โฟล์คสวาเกน (Volkswagen : VW) ค่ายรถใหญ่อันดับสองของโลกซึ่งก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1937 และมีฐานอยู่ที่เมืองโวล์ฟสบวร์ก ในแคว้นโลเวอร์ แซกโซนีของเยอรมนีออกคำแถลงช็อกโลกยอมรับว่า มีการติดตั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ซึ่งสามารถโกงการทดสอบค่าไอเสียของรถได้ในยานยนต์แบบเครื่องยนต์ดีเซลของบริษัท ที่ส่งไปจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวนมากถึง 11 ล้านคัน
       
       การออกคำแถลงสารภาพความผิดของทางโฟล์คสวาเกนมีขึ้นราว 4 วัน หลังจากที่ข่าวการโกงทดสอบค่าไอเสียดังกล่าวถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา โดยทางสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า “อีพีเอ” ซึ่งได้จับมือกับทางหน่วยงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกมาแถลงว่า ตรวจสอบพบรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลราว 482,000 คันซึ่งผลิตในอเมริกาโดยกลุ่มโฟล์คสวาเกน เกี่ยวข้องกับเรื่องกลโกงสุดอื้อฉาวครั้งนี้
       
       ข้อมูลที่ตรวจสอบพบโดยสำนักงานอีพีเอและหน่วยงานสิ่งแวดล้อมแห่งแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า รถยนต์ที่พบปัญหาอื้อฉาวนี้มีทั้งยี่ห้อ ออดี้ ในรุ่น เอ 3 รวมถึงยานยนต์ภายใต้แบรนด์ของโฟล์คสวาเกนอีกหลายต่อหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพาสสาท , กอล์ฟ , และบีเทิล
       
       รายงานระบุว่า ทางโฟล์คสวาเกนยอมรับว่า ได้ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์โกงค่าไอเสีย ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษในรถจำนวน 11 ล้านคันดังกล่าว โดยที่ซอฟต์แวร์ที่ว่านี้จะไปปิดระบบควบคุมมลพิษ ระหว่างที่มีการขับขี่ตามปกติ และจะเปิดระบบก็ต่อเมื่อได้ตรวจพบว่ารถยนต์คันนั้นๆ กำลังถูกตรวจสอบการปล่อยไอเสียอยู่เท่านั้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ในระหว่างที่ระบบควบคุมไอเสียถูกปิดกั้นการทำงานโดยซอฟต์แวร์อยู่นั้น รถของโฟล์คสวาเกนอาจปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ ซึ่งรวมถึงก๊าซพิษจำพวกไนโตรเจนออกไซด์ ออกสู่อากาศในปริมาณที่สูงลิ่วถึง “40 เท่า” ของมาตรฐานการปล่อยไอเสียตามปกติเลยทีเดียว
       
       แน่นอนว่าเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกลโกงการทดสอบค่าไอเสียนี้ ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและบรรดานักลงทุนต่อกิจการของกลุ่มโฟล์คสวาเกน เห็นได้จากการที่หุ้นของโฟล์คสวาเกนดิ่งลงอย่างต่อเนื่องหลายวันตั้งแต่ 17 เปอร์เซ็นต์ ถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ในการซื้อขาย ณ ตลาดหลักทรัพย์ในนครแฟรงค์เฟิร์ต ของเยอรมนี จนราคาหุ้นของโฟล์คสวาเกนร่วงลงมาเฉียด 100 ยูโร
       
       และเป็นที่คาดกันว่า เรื่องงามหน้าที่มาจากกลโกงของบริษัทในคราวนี้ จะส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อยอดขายและผลประกอบการของกลุ่มโฟล์คสวาเกนในปีนี้อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ถึงแม้ทางบริษัทจะประกาศเตรียมกันเงินสำรองในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2015 นี้เอาไว้สูงถึง 6,500 ล้านยูโร เพื่อรองรับผลกระทบทางการเงิน ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากผลพวงของมรสุมข่าวฉาวคราวนี้
       
       ไม่เพียงเท่านั้น แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมยานยนต์ยังเปิดเผยว่า กิจการของกลุ่มโฟล์คสวาเกนอาจต้องสั่นสะเทือนหนัก จากการที่ทางบริษัทต้องถูกหน่วยงานด้านความปลอดภัย และหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ สอบสวนหรือฟ้องร้องดำเนินคดี ยังไม่รวมถึงการฟ้องร้องเอาผิดจากบรรดาผู้บริโภครายย่อยที่ตกเป็นเหยื่อของ “กลโกงลวงโลก” ที่เกิดขึ้น
       
       จนถึงขณะนี้มีรายงานว่า ทางการของอย่างน้อย 3 ประเทศ ประกาศสอบสวนเอาผิดกลุ่มโฟล์คสวาเกนอย่างเป็นทางการต่อเรื่องอื้อฉาวนี้แล้ว ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส โดยเป็นที่คาดกันว่า ลำพังการสอบสวนเอาผิดของทางการสหรัฐฯเพียงประเทศเดียว ก็อาจทำให้โฟล์คสวาเกนต้องจ่ายค่าปรับก้อนโตไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
       
       ในส่วนของกลุ่มโฟล์คสวาเกนเอง แม้จะมีการออกคำแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการจาก มาร์ติน วินเทอร์คอร์น (Martin Winterkorn) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ในวัย 68 ปี ซึ่งนั่งเก้าอี้ตัวนี้มาตั้งแต่ปี 2007 แต่กลโกงสะท้านโลกที่ถูกเปิดโปงออกมานี้ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์จากหลากหลายสำนักพากันฟันธงลงความเห็นว่า ซีอีโอชาวเยอรมันรายนี้ต้อง “ชะตาขาด” และต้องกระเด็นตกเก้าอี้ก่อนหมดวาระในปี 2018 เนื่องจากวินเทอร์คอร์นเป็นผู้ดูแลสายงานด้านการวิจัยและการพัฒนาของบริษัทซึ่งสายงานดังกล่าวนี้ถูกระบุว่า เป็นต้นตอของการนำซอฟต์แวร์โกงการทดสอบไอเสียดังกล่าวมาใช้
       
       เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับกลโกงการทดสอบค่าไอเสียของกลุ่มโฟล์คสวาเกนที่ถูกเปิดโปงออกมา ดูเหมือนยังอยู่ห่างไกลจากคำว่า “สิ้นสุด” เพราะนับจากนี้ เป็นที่คาดกันว่า คงมีการสอบสวน ขุดคุ้ยเบื้องลึกเบื้องหลังกลโกงนี้ออกมาอีกยาวเหยียดไม่ต่างจาก “มหากาพย์”
       
       ขณะเดียวกัน บรรดาผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า บทสรุปของเรื่องฉาวสะเทือนวงการยานยนต์โลกนี้จะลงเอยในแง่มุมใด และนับจากนี้เราทั้งหลายในฐานะผู้บริโภคที่ดี คงต้องมีสติกันมากขึ้น ก่อนที่จะยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อหารถยนต์ หรือแม้แต่สิ่งของเครื่องใช้อื่นๆในชีวิตประจำวัน เพราะถ้าแม้แต่แบรนด์ชั้นนำที่มีภาพลักษณ์ดีอย่างโฟล์คสวาเกนยังกระทำเรื่องอื้อฉาวลวงโลกแบบนี้ได้แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่ถูก “หลอกลวงสวมเขา” จากผู้ผลิตสินค้าและบริการรายอื่นๆ อีก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่