ภาพพลูโตชุดใหม่: พื้นผิวระยะใกล้และร่องรอยการไหลของธารน้ำแข็ง

กระทู้สนทนา
หลังจาก NASA ได้ทยอยปล่อยภาพพลูโตจากยาน New Horizons ออกมาให้เราได้ชมกันเรื่อย ๆ ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา
ซึ่งภาพถ่ายระยะใกล้ที่สุดที่เคยเปิดเผยออกมา คือภาพถ่ายที่ระยะห่าง 77,000 กม. จากพื้นผิวดาวเท่านั้น

ล่าสุด New Horizons ได้ส่งข้อมูลภาพถ่ายระยะใกล้กว่านั้นกลับมาให้ชาวโลกได้ชมกันแล้วค่ะ เป็นภาพถ่ายระยะใกล้มากกกกก
ที่ประมาณ 18,000 กม. เท่านั้นเอง ดังนั้น มุมมองจากภาพชุดใหม่ของ New Horizons นี้ จึงเป็นมุมมองที่เราไม่เคยเห็นกันมาก่อน
และมันเผยอะไรหลาย ๆ อย่างให้นักวิทยาศาสตร์ทึ่งมากทีเดียว


ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่าพื้นที่ที่ปรากฏในภาพชุดใหม่คือบริเวณเทือกเขานอร์เกย์ (Norgay) ซึ่งอยู่ส่วนล่างของพื้นที่รูปหัวใจ
(Tombaugh Regio) ตามภาพข้างล่างนี้นะคะ



และนี่ก็คือภาพถ่ายพลูโตจากระยะห่างประมาณ 18,000 กม. ที่เปิดเผยออกมาล่าสุด




ภาพเหล่านี้บันทึกได้หลังจาก New Horizons เคลื่อนผ่านพลูโตระยะใกล้ที่สุด (12,500 กม.) ไปได้ประมาณ 15 นาทีค่ะ
ภาพที่ได้ก็เลยเป็นมุมมองแบบเหลียวหลัง ได้มุมขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้นบนดาวพลูโตพอดี ซึ่งนอกจากจะทำให้เรา
ได้เห็นสภาพพื้นผิวดาวที่ละเอียดชัดมากขึ้น เห็นเทือกเขาอันสูงใหญ่ สูงราว 3,500 เมตรแล้ว ก็ยังได้เห็นชั้นบรรยากาศด้วย
โดยจะเห็นได้ว่าบนชั้นบรรยากาศอันประกอบไปด้วยไนโตรเจนของพลูโตนั้น มีหมอกบาง ๆ ปกคลุมเป็นชั้น ๆ หลายชั้น
ตั้งแต่ใกล้พื้นผิวดาวขึ้นไปถึงระดับสูงไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรเลยค่ะ


..


นอกจากนี้แล้วนักวิทยาศาสตร์จาก New Horizons ยังพบหลักฐานว่าดาวพลูโตนั้นมีวัฎจักรของไนโตรเจน ซึ่งคล้ายกับ
วัฏจักรของน้ำ (Hydrologic cycle) บนโลกเรามาก ซึ่งตรงนี้น่าสนใจมากทีเดียวค่ะ จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายชุดใหม่พบว่า
พื้นผิวน้ำแข็งไนโตรเจนบริเวณที่ราบสปุตนิค (พื้นผิวราบเรียบที่หัวใจซีกซ้าย) น่าจะระเหยเป็นไอ จากนั้นก็กลั่นตัวลงมา
เป็นน้ำค้างแข็งทับถมกันบริเวณพื้นผิวฝั่งขวา แล้วธารน้ำแข็งก็พามันไหลกลับลงสู่ที่ราบสปุตนิค

วัฏจักรนี้คล้าย ๆ กับการไหลของธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ หรือแอนตาร์กติกา พอน้ำในมหาสมุทรระเหยเป็นไอ ก็กลั่นตัว
ตกลงมาเป็นหิมะ จากนั้นก็จะไหลกลับลงสู่มหาสมุทรผ่านธารน้ำแข็งอีกครั้ง..

จากรูปนี้ เรามาดูภาพ Close-up ของพื้นที่ในกรอบสี่เหลี่ยมกันค่ะ


นี่คือร่องรอยที่เหมือนการไหลของธารน้ำแข็งบนดาวพลูโต อันนี้คือภาพจากระยะ 77,000 กม.


พื้นที่เดียวกันจากภาพชุดใหม่ที่ถ่ายได้จากระยะใกล้ เห็นร่องรอยการไหลชัดเลย



..


สุดท้ายนี้ขอปิดท้ายด้วยคลิปวิดีโอจำลองการเคลื่อนผ่านพลูโตของยาน New Horizons ค่ะ
ตอนนี้ภาพระยะ 18,000 กม. จากพื้นผิวดาวก็ถูกส่งมาแล้ว คาดว่าอีกไม่นานเกินรอเราคงจะได้ยลภาพพื้นผิวที่ชัดที่สุด
จากระดับ 12,500 กม. เหนือพื้นผิวดาวกันแล้วล่ะ..

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่