ร่วมต้าน! ตั้งด่านจราจรกินเปอร์เซ็นต์ ชี้ควรเน้นปรามอาชญากรรม

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง เวลาเห็นด่านตรวจ เชื่อว่าทุกครั้งคงมีความรู้สึกหวั่นวิตกและระแวงอยู่ในใจ ว่าวันนี้อาจจะโดนเรียกไม่ด้วยข้อหาใดก็ข้อหาหนึ่ง? ปัญหาการตั้งด่านกลายเป็นสิ่งที่สังคมถกเถียงถึงความเหมาะสม แน่นอนว่าด้านดีย่อมมีเพื่อกวดขันวินัยจราจร แต่อีกด้านหนึ่งแล้วก็มีมุมมืดอยู่เช่นกัน เพราะในบางด่านตรวจดูเหมือนว่าจะตั้งกันตามอำเภอใจเพื่อเน้นยอดใบสั่ง!
       
       ล่าสุดชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้นำข้อร้องเรียนของประชาชน เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของการตั้งด่านจราจรในกรุงเทพมหานครทั้ง 88 สน. โดยไม่ได้เน้นการตั้งด่านจราจรในเรื่องของอาชญากรรม เช่นการตรวจอาวุธปืน หรือยาเสพติด แต่กลับเน้นเรื่องใบสั่ง เพื่อหวังผลเปอร์เซ็นต์นำจับต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อันสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้ถนน
       
       โดยชี้แจงว่านับตั้งแต่ยื่นเรื่องไป ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังเพิกเฉย กลับปล่อยให้มีการตั้งด่านที่ไม่เป็นกิจลักษณะตามกฎหมาย ที่ต้องมีป้ายแจ้งการตั้งด่าน และระบุนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ควบคุมการตั้งด่าน โดยใช้ตำรวจจราจร 2-3 คน ตามจุดต่างๆ โดยไม่แยแสความรู้สึกของประชาชน เปรียบเสมือนเป็นด่านเถื่อน
       
       ดังตัวอย่างของภาพที่มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง กรณีของตำรวจจราจรสน.บางนา ที่โบกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลางถนน จนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างล้มลง โดยที่ตำรวจจราจร 2 นายที่อยู่ในที่เกิดเหตุกลับไม่ให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด
       ทั้งนี้ ก่อนหน้าทางบังคับบัญชาของสน.บางนา ก็ออกมาให้ข่าวว่าเป็นเพราะรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างหนีจากด่านแรกมา? ทางชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม จึงได้เชิญชวนประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนออกมาร่วมต่อต้าน "ยกเลิกเปอร์เซ็นต์นำจับใบสั่งจราจร" เพื่อให้ตำรวจจราจรตั้งด่านเพื่อเน้นอาชญากรรมเป็นหลัก ผ่านทาง change.org
       
       ดังตัวอย่างของผู้ใช้ถนนคนหนึ่งที่ออกมาวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจผ่านทาง pantip ไว้ว่า “โดยส่วนตัวมองว่าการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้มีปัญหาอยู่ครับ พูดตรง ๆ ตามที่รู้สึกเลยก็คือเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มิได้ตั้งด่านเพื่อกวดขันวินัยจราจร แต่ตั้งด่านเพราะผลประโยชน์ซึ่งก็คือเงิน ปัญหาและผลกระทบต่อสังคมคือ การจราจรซึ่งปกติติดขัดอยู่แล้วก็ติดหนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะสองล้อและรถบรรทุก "เรียกทุกคัน" สิ่งที่ตามมาโดนกันบ่อยๆ ก็คือ โดนยัดข้อหาไม่เป็นธรรม คือโดนเรียกแล้วถึงไม่ผิดยังไงก็ต้องมีข้อหาจนได้ ข้อหาแปลกๆ เจอมาหมด”
                                                                       “ในขณะที่รถที่ทำผิดกฏหมายจริงๆ ก่อความเดือดร้อนจริงๆ เช่นพวกแว้นซ์กลับไร้ประสิทธิภาพในการจับกุม ยังคงออกอาละวาดกันคึกคะนอง หรือรถที่ผิดกฎหมายอื่นๆ เช่นรถหรูๆ แต่งอย่างผิดกฏหมาย รถหรูบางคันที่ขับผิดกฎจราจร กลับไม่จับ เพราะกลัวอิทธิพลคนมีเงิน มีคอนนคชั่นสิ่งเหล่านี้ใครกล้าปฏิเสธบ้างว่าไม่มีอยู่จริง ?”
       “ผมมองว่าปัญหาของการจราจรไม่ใช่แค่ผู้ขับขี่อย่างเดียว แต่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายก็เป็นตัวปัญหาด้วยเหมือนกัน แล้วเราจะมีทางแก้ไขปัญหานี้ได้ยังไง ? ก็คงแก้ไม่ได้หรอกครับรู้ดีเพราะไม่ได้มีสิทธิมีเสียงในสภา ทำได้ก็แค่เพียงตั้งกระทู้แสดงความเห็นเล็กๆ น้อยๆ ว่า ควรยกเลิกระบบสินบนนำจับหรือผลประโยชน์จากการตั้งด่าน เจ้าหน้าที่ทำงานกินเงินเดือนจากภาษีอยู่แล้ว มีหน้าที่กวดขันอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมีผลประโยชน์จากค่าปรับเพราะมันจะทำให้เจตนารมณ์ของการกวดจันวินัยจราจรผิดเพี้ยนไป จากกวดขันวินัยจราจรเป็นการขุดทองหาผลประโยชน์..”
       
       อย่างไรก็ตามจากการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไปยัง ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นในอีกมุมไว้อย่างน่าสนใจ “อันดับแรกอยากให้ประชาชนกลับมาให้ความสำคัญในวิธีคิด รวมถึงความเข้าใจในการตั้งด่านที่ถูกต้องอย่างเป็นระบบ เพราะทั้งหมดแล้วความจริงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ตำรวจมิใช่เป็นปลายทาง หรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในทุกเรื่องเพียงอย่างเดียว การที่ประชาชนบางกลุ่มมีมุมมองว่าตำรวจควรจะกวดขันป้องปรามอาชญากรรมมากกว่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วในด้านหนึ่งตำรวจก็ไม่ได้มีหน้าที่เพียงจับกุมปราบปรามแต่คดีอาชญากรรมเช่นกัน”
       
       “ส่วนหนึ่งแล้วอาจเป็นเพราะประชาชนยังคำนึงถึงเพียงเรื่องความสะดวกทางการจราจรอย่างเดียว และคิดว่าตำรวจควรมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวกให้การจราจรคล่องตัวเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งหมดโดยไม่ได้มองถึงด้านความปลอดภัยและวินัยในการจราจร เพราะในความจริงประชาชนก็ยังมองว่ากฎหมายจราจรเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย บ้านเราจึงยังมีคนทำผิดกฎจราจรกันอยู่มาก”
       
       “ในประเด็นของตำรวจเองก็ควรมองเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลักเช่นกัน เช่น ไม่ควรตั้งด่านในจุดเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยการกวดขันจับกุมก็เพื่อให้ประชาชนมีวินัยทางจราจร โดยยึดหลักรักษาชีวิตและทรัพย์สิน เพราะถึงอย่างไรแล้วหน้าที่นี้ก็ยังควรต้องเป็นของตำรวจ จะให้ตำรวจไปเน้นเรื่องอาชญากรรมเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ใช ประชาชนก็ควรต้องมีความเข้าใจตำรวจเช่นกัน
       ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีผู้คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด โดยผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข ได้ชี้ถึงสาเหตุสำคัญไว้ว่าเรื่องวินัยในการขับขี่คือสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงเรื่องโครงสร้างระบบการจราจรของบ้านเรา รวมถึงสภาพพื้นผิวถนนก็มีส่วนเช่นกัน
       
       “หลายคนยังไม่รู้ว่า ป้ายกำกับการจราจรนั้นเป็นของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานท้องถิ่น ไม่ใช่ของตำรวจจราจร ในหลายพื้นที่ของเราป้ายจราจรก็ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งทำให้เกิดความสับสน และอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้ ตำรวจก็ต้องทำหน้าที่เพื่อลดอุบัติเหตุ การโยนทุกอย่างไปที่ตำรวจจึงเป็นการวิเคราะห์ที่ปลายทางเกินไป อย่างในต่างประเทศเราจะไม่พบเห็นตำรวจมายืนอยู่ตามท้องถนนคอยกำกับจราจร แต่จะอยู่ในศูนย์บังคับการจราจรเพียงอย่างเดียว เพราะต่างประเทศนั้นจะใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการจราจร การออกใบสั่งจึงมีความเที่ยงตรง เพราะอย่าลืมว่ามนุษย์ในความเป็นจริงนั้นมนุษย์ย่อมมีความผิดพลาดได้เสมอ หรือที่เรียกว่า Human error”
       “ท้ายที่สุดหากจะลดปัญหา การลงทุนในเทคโนโลยีด้านการจราจรจึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรเริ่มจากกรุงเทพฯ ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะอย่างไรแล้วมันเป็นปัญหาเชิงระบบมากกว่าตัวบุคคล”
       

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่