ทำไมคนหลายๆคนที่โปรไฟล์ดีๆ การศึกษาดีๆ แต่ถึงมาสมัครสอบเข้าราชการกันล่ะครับ เงินเดือนน้อยมากๆเลย (อยากทราบจริงๆครับ)

ผมเองก็คนนึงที่ประสบปัญหานี้ครับ ที่บ้านอยากให้สอบเข้าราชการมากกกกกกกกกกก พูดมาตั้งแต่ผมจบใหม่ๆ ผมก็ผัดผ่อนมาเรื่อยๆๆด้วยความที่รับกับตัวเลขเงินเดือนไม่ได้ เล่าโปรไฟล์ผมคร่าวๆก่อนครับ จบจุฬา คณะยอดฮิตติดจามจุรีสแคว์ ทำงานมาหลายปี บ.ใหญ่ๆทั้งนั้น ทั้งของไทยและต่างชาติ เงินเดือนปัจจุบันเกือบๆ 40K ไม่นับโบนัส ภาษาอังกฤษดี โปรไฟล์อื่นๆจัดว่าดี ก็ทำงานมาเรื่อยๆหนักบ้างอะไรบ้างแต่ปีนี้แย่หน่อยที่เศรษฐกิจไม่ดีมากๆ กระทบบ.ผมอย่างจัง ที่บ.เลยปรับโครงสร้าง lay out คนออกไปหลายยยยยคน ที่เหลือก็ทำงานหนักขึ้น บ้างก็มาต้องทำวันเสาร์ บ้างก็ต้องทำovertime แต่ไม่ได้ค่า OT ส่วนบางคนบางแผนกก็โดนลดเงินเดือนแต่ก็ลดวันเวลาทำงาน ที่บ้านรู้เข้า เลยอยาก(บังคับ)ให้รับราชการเพราะมันมั่นคง จะได้ไม่ต้องมากังวลว่าปัญหานี้จะเกิดกับตัวผมในภายภาคหน้าหากมีวิกฤติอะไรต่างๆนาๆเกิดขึ้นอีก ผมเองก็ยอมรับแหละครับว่าอยู่ภาคเอกชน ภาคธุรกิจมันไม่มั่นคงจริงๆ วันดีคืนดีอาจเกิดอะไรขึ้นกับเราก็ได้

แต่ มาดูกันว่าเข้าราชการผมจะเป็นอย่างไร

1.เงินเดือน เท่าที่ดูในเวป บรรจุปุ๊บ ได้ 11,XXX บาท บวกค่าครองชีพอีก รวมเป็น 15,000บาท
2.ดูตามโครงสร้างเงินเดือนแล้ว สมมติว่าได้ 2ขั้นปีเว้นปี(ซึ่งถือว่าผลงานดีมากสำหรับราชการ) อีก 10ปีผมจะเงินเดือน 23,XXX บาท ในขณะที่เพื่อนๆที่จบจุฬามาด้วยกันคงเงินเดือนหมื่นแก่ๆเกือบแสนกันแล้วมั้ง แล้วเมื่อไรผมจะสร้างตัวได้ เมื่อไรจะมีเงินเก็บ เมื่อไรจะรวยซักที อมยิ้ม08ร้องไห้
3.สวัสดิการที่ว่าดีมากมาย อันนี้ผมไม่ต้องการ เพราะพ่อแม่ผมเป็นข้าราชการทั้งคู่ มีสิทธิอยู่แล้ว
4.การเติบโต อันนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถเป็นหลัก มีปัจจัยเยอะแยะ เส้นสาย คอนเนคชั่น จังหวะ โอกาส สายงาน เจ้านาย ในขณะที่เอกชน จากปสก.ที่ผ่านมา เรื่องอื่นๆเหมือนราชการก็ต้องมีบ้าง แต่ผลงานและประสิทธิภาพจะเป็นตัวคูณที่เยอะกว่า



ผมก็เลยคิดไม่ออกบอกไม่ถูกว่าจะเอาอย่างไรดี จะเข้าก็ต้องเข้าปีนี้ ไม่เกินปีหน้า เพราะอายุจะเกิน 28ปีครับ เลยอยากถามคนที่มีโปรไฟล์คล้ายๆผม หรือดีกว่าผม เคยทำงานเอกชนเงินเดือนสูงๆแล้วมาเข้าราชการ (หรือคนที่มีคนรู้จักเป็นแบบนี้) ว่าคิดอย่างไรกันครับ ทำไมถึงตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตเส้นนี้ หรือใครก็ได้ที่มีปสก.ในการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนมานานๆ ช่วยให้คำปรึกษา คำแนะนำกระผมหน่อยครับ ตอนนี้ผมไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใครแล้วจริงๆ

ขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 17
อาชีพข้าราชการเป็นอาชีพที่ดีครับ
แต่แน่นอน ไม่ใช่อาชีพที่ดีที่สุด ที่ทุกคนจะต้องใฝ่ฝันจะเป็น
ในบางครั้งมันก็ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายให้กับทุกจังหวะชีวิตหรอกครับ

บางคนอยากเป็นข้าราชการเพราะต้องการสิทธิประโยชน์เกื้อกูล
บางคนอยากเป็นข้าราชการเพราะความภูมิใจของพ่อแม่
บางคนอยากเป็นข้าราชการเพราะอยากทำงานของแผ่นดิน
ฯลฯ หลากหลายเหตุผลครับ

ตอนเรียนจบใหม่ๆ ผมเลือกที่จะต่อ ป.โท เลย
ตอนนั้นคิดแต่ว่าอยากทำงานเอกชน หาเงินเยอะๆ
ไม่มองข้าราชการเลยครับ เพราะสมัยนั้นเงินเดือนน้อยจริง
ไปๆมาๆ ระหว่างเรียน โท จังหวะชีวิตดันเข้ามาสู่วงการราชการจนได้ (เริ่มต้นเป็นคนงานน่ะครับ)
พอได้มาทำจริงๆ ทัศนคติเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มเข้าใจถึงการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ
จึงได้ตั้งเป้าว่าจะสอบบรรจุข้าราชการให้ได้
วันที่ผมได้เป็นข้าราชการ แม่ผมซึ่งสูบบุหรี่มาทั้งชีวิต หักดิบเลิกบุหรี่เดี๋ยวนั้นเลย
เพราะเหตุผลว่า ลูกเป็นข้าราชการ แม่จะมาสูบบุหรี่ได้ไง
ทั้งที่ตลอดมา ผมพยายามขอให้แม่เลิกบุหรี่มาตลอด
ทั้งตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ตอนเรียนจบ ป.ตรี ฯลฯ แต่ก็ไม่เลิก
ผมถึงได้เข้าใจว่า แม่ภูมิใจในความเป็นข้าราชการของผมมากแค่ไหน

ข้อดีของข้าราชการ ก็มีประโยชน์เกื้อกูลหลายอย่างครับ อย่างที่ยกมาอ้างมากๆก็คือความมั่นคง
สวัสดิการ บำเหน็จบำนาญ การลาศึกษา และสิทธิประโยชน์อื่นๆ
สมมุติเราอายุ 45 มีเงินเก็บซักล้านนึง
ป่วยเป็นโรคร้ายแรง หรือบาดเจ็บสาหัสอะไรซักอย่าง
นอนโรงพยาบาลซัก 5 เดือน ค่ารักษาพยาบาล 850,000 บาท
ถ้าทำงานเอกชนบางที่ เราขาดงานซัก 5 เดือน ผมว่าเค้าไม่เก็บเราไว้นะครับ
ไหนจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีก เงินเก็บทั้งชีวิตหายวับไปกับตา
ถ้าเกิดตกงานขึ้นมา เราจะใช้เวลาหางานแค่ไหน จะหางานใหม่ได้หรือเปล่า
แต่ถ้าเป็นข้าราชการ ลาได้เท่าที่ป่วยจริง เงินเดือนยังได้เหมือนเดิม
โดยในหนึ่งปีงบประมาณ ข้าราชการมีสิทธิลาป่วยโดยได้รับเงินเดือนไม่เกิน 60 วันทำการ
เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรจะให้จ่ายเงินเดือนต่อไปอีกก็ได้ แต่ไม่เกิน 60 วันทำการ รวมเป็น 120 วันทำการ
ค่ารักษาพยาบาลเบิกได้ และไม่โดนไล่ออกจากราชการครับ
นี่คือความมั่นคงที่หาได้ยากจากการจ้างงานโดยหน่วยงานเอกชนครับ
(ผมยกตัวอย่างคร่าวๆเนาะ คงไม่ลงลึกถึงขนาดมีการทำประกัน หรือ เบิกจ่ายอะไรได้/ไม่ได้)
เกษียณแล้ว รัฐ (ราษฎ์) ก็ยังจ่ายบำนาญเลี้ยงไปจนตาย

ข้อดีที่เห็นได้ชัดอีกข้อนึงที่ทำไมคนต่างจังหวัดถึงอยากเป็นข้าราชการกัน คือ ข้าราชการมีการโอนย้ายได้ครับ
หากเป็นคนต่างจังหวัด ทำงานเอกชนเงินเดือนสูงๆในกรุงเทพ โอกาสที่จะกลับไปอยู่บ้านก็น้อยมาก
เพราะบางทีองค์กรไม่มีสาขาในต่างจังหวัด หรือ ไม่มีงานเอกชนดีๆให้ทำ
ถึงกลับไปทำงานเอกชนแถวบ้านนอกเราได้ จะได้เงินเดือนเท่าไหร่ก็ไม่รู้
แต่ข้าราชการฐานเงินเดือนเท่ากันทั่วประเทศ หากโอนย้ายไป
เงินเดือนที่เคยขึ้นมาเท่าไหร่ ตอนโอนย้ายไปเริ่มรับที่เท่านั้นเลย

ในเรื่องสวัสดิการ เบิกได้ พ่อแม่ ลูกเมีย และตัวเอง
ค่าเล่าเรียนบุตรได้ 3 คน ยกเว้นในกรณีท้องที่ 3 เป็นแฝดเบิกได้ทั้งครรภ์
สิทธิประโยชน์การลาป่วย ลากิจ ลาพักผ่อน
ความเชื่อถือจากสถาบันทางการเงินต่างๆ
ยิ่งถ้าถ้าสอบได้ข้าราชการตั้งแต่อายุน้อยๆ เมื่อเกษียณมีอายุราชการสูงๆ จะมีผลกับเงินบำนาญ
คิดคร่าวๆไม่ต้องคำนวนให้ซับซ้อน คือเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณอายุราชการหน่วยเป็นปี หารด้วย 50
ถ้าเงินเดือนซัก 45,000 บาท อายุราชการ 25 ปี ก็ (45,000 x 25)/50 = 22,500 บาทต่อเดือนไปจนตาย
คร่าวๆประมาณนี้นะครับ

ในส่วนข้อเสียหลักๆเลย ก็คือเงินเดือนน้อยไปหน่อย
(เมื่อเทียบกับเอกชนระดับดีๆ ส่วนเอกชนระดับกลางๆลงมาบางที่ เงินเดือนราชการแซงไปแล้วครับ)
เพื่อนผมเรียนเอกเดียวกัน จบไปทำเอกชนนับแค่โบนัสอย่างเดียว ก็เท่ากับเงินเดือนผม 12 เดือนแล้วครับ
รายรับรวมคงไม่ต้องพูดถึง เทียบกันไม่ติดเลย

ปล. หน่วยงานของรัฐ ก็มีบุคลากรอยู่หลายประเภท ตามลักษณะองค์กรครับ เช่น
1. ข้าราชการ
     มีฐานเงินเดือนปัจจุบันก่อนปรับ 4% ในรัฐบาล คสช. ตามนี้ครับ
     ระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี 15,000 บาท/เดือน
     ระดับปริญญาโท 17,500 บาท/เดือน
     ระดับปริญญาเอก 21,000 บาท/เดือน
     บางตำแหน่งในทุกส่วนราชการ อาจะจะมีเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษให้
     เช่น นิติกร ได้รับ 3,000 - 6,000 บาท แล้วแต่ระดับ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
     http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/salary/w2-2554.pdf
     บางองค์กร อาจจะมีเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ หรือที่เรียกอย่างอื่น ให้
     เช่น ศาล, ปปช., กรมสอบสวนคดีพิเศษ, รัฐสภา ฯลฯ
     ทำให้รายรับรวมจะมากกว่าข้าราชการบางกลุ่มครับ เช่น
     พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ เงินเดือน 15,000 +
     ค่าตอบแทนพิเศษสำหรับตำแหน่ง 7,000 +
     เงินส่งเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการที่ดีของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง 6,000 รวม 28,000 บาท
     http://www.vichakankunapab.com/forum/index.php?topic=81.0

2. พนักงานราชการ
     ฐานเงินเดือนพนักงานราชการจะสูงกว่าข้าราชการ ดังนี้ครับ
     ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2557 (ยังไม่รวม 4% รัฐบาล คสช.)
     วุฒิปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี บริหารทั่วไป 18,000 บ.
     วุฒิปริญญาโท บริหารทั่วไป 21,000 บ.
     วุฒิปริญญาเอก บริหารทั่วไป 25,200 บ.
     http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/GEIS/PrakardSalary6.pdf

3. พนักงานรัฐวิสาหกิจ
     มีฐานเงินเดือนไม่แน่นอนแล้วแต่องค์กรครับ โดยสามารถแบ่งกลุ่มรัฐวิสาหกิจ ได้ 3 ประเภท ดังนี้
     กลุ่มที่ 1 รัฐวิสาหกิจที่สามารถกำหนดอัตราเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ เองได้
                เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้ว
     กลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างเป็นของตนเอง
     กลุ่มที่ 3 รัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือน 58 ขั้น ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
     http://relation.labour.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=65&Itemid=168
     บางที่จะมีฐานเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ เช่น การไฟฟ้านครหลวง เป็น รัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่ 2
     ป.โท 20,240 บาท, ป.ตรี 16,840 บาท, ปวส. 14,170 บาท เป็นต้น
     http://mea.thaijobjob.com/201505/f99.pdf
     การประปานครหลวง
     ป.โท วศ.ม. 22,580, ป.โท อื่น 20,030, ป.ตรี วศ.บ. 17,830, ป.ตรี อื่น 16,830
     http://www.ประกาศผลสอบ.com/pdf/082557/1419475441.pdf
     แต่บางที่ก็จะมีฐานเงินเดือนน้อยกว่า ข้าราชการ ที่คุณวุฒิเท่ากัน
     โดยจะได้ค่าครองชีพเพิ่มจนครบ 15,000 บาทครับ เช่น
     ตีเลขกลมๆเงินเดือนได้ 11,000 แล้วก็บวกค่าครองชีพอีก 4,000 เพื่อให้ครบ 15,000
     แล้วปีถัดๆไปก็จะขึ้นเงินเดือน และลดค่าครองชีพลง สมมุตินะ
     ปีที่ 1 เงินเดือน 11,500 บวกค่าครองชีพ 3,500
     ปีที่ 2 เงินเดือน 12,000 บวกค่าครองชีพ 3,000
     ปีที่ 3 ................ ไปเรื่อยๆ จนค่าครองชีพหมด เงินเดือนถึงจะเกิน 15,000

ที่ จขกท. บอก เงินเดือน เท่าที่ดูในเว็บ ได้ 11,XXX บาท บวกค่าครองชีพอีก รวมเป็น 15,000 บาท
คงจะเป็นรัฐวิาหกิจที่ใดซักแห่งใช่ไหมครับ
ถ้าคิดว่าเงินเดือนน้อย ก็ลองดู หน่วยงานอื่น หรือตำแหน่งอื่นไว้ด้วยก็ได้ครับ
ความคิดเห็นที่ 1
ไปสอบให้ติดก่อนครับ
ความคิดเห็นที่ 24
จบตรี เคยทำงานเอกชนมาก่อน 5 ปี
จากนั้นรับทุน ก.พ. ต่อโทเอก ที่อเมริกา

จากประสบการณ์ทั้งเอกชนและราชการ เมื่ออายุถึงระดับหนึ่งและภาระชีวิตไม่หนักมาก
สิ่งที่ราชการแตกต่างจากเอกชนมากก็คือเรื่องของเวลา

ตอนทำเอกชนนั้น ค่าตอบแทนสูงกว่าก็จริง แต่ความเครียดและภาระงานตามตัวไปตลอดแม้วันหยุด
ไม่ได้บอกว่าราชการไม่เครียด แต่ระดับความเครียดและความคาดหวังจากองค์กรนั้นแตกต่างกันมากจริงๆ

ปัจจุบันอายุ 40 ต้นๆ หันมาดูแลสุขภาพถึงแม้ว่าจะมีสวัสดิการรักษาพยาบาลก็ตาม
เลิกงานถึงบ้านห้าโมงครึ่ง มีเวลาออกกำลังกายได้วันละ 2 ชม. ชิลๆ
ตอนอยู่เอกชนออกจากบ้านตีห้าครึ่ง ถึงที่ทำงาน 6.30 น. หลับในรถจนแปดโมงขึ้นไปทำงาน
เลิกงาน 6 โมงเย็น ถึงบ้าน 2 ทุ่ม (เหนื่อยและโทรมมาก)

มุมมองในชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามอายุค่ะ
ถ้า จขกท. อายุมากขึ้น ก็อาจจะมีความคิดที่เปลี่ยนไป
บางที เงินไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดเสมอไปค่ะ
ความคิดเห็นที่ 2
....ลำบากช่วงแรก แต่ยิ่งแก่ยิ่งสบาย ไม่เหมือนงานเอกชนสบายช่วงแรก พอแก่ตัวเงินเดือนสูงเขาก็หาเรื่องไล่ออก กว่าจะคิดได้อายุก็ 40 แล้ว ไปไหนก็ไม่ได้
ความคิดเห็นที่ 36
อยากให้ข้าราชการบางส่วนที่มีสวัสดิการผลประโยชน์ดีๆเยอะๆ มุ่งมั่นทำงานเต็มที่เหมือนเอกชน ประเทศชาติเราคงดีกว่านี้เยอะ อ่านดูบางความเห็นเหมือนเปลืองภาษียังไงมะรู้ รายได้ดีผลตอบแทนดีแต่ชิลชิลจัง อันนี้ไม่ได้เหมารวมนะ แค่บางส่วนย้ำว่าเป็นความรู้สึกส่วนตัวเฉยๆ จริงๆท่านอาจจะทำงานเต็มที่แล้วก็ได้ คนดีๆทุ่มเทก็มีเยอะครับเท่าทีเคยสัมผัส  แต่ในอีกแง่มุมนึงที่เคยเจอก็รู้สึกไม่ดีเหมือนกัน เหมือนกินเงินเดือนรอวันเกษียณ ไม่รู้จะมีไว้เพื่ออะไรคนเหล่านี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่