เอาตัวรอดในตลาดด้วย Money Management

ผมเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาในตลาดส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เข้ามาด้วยความคิดที่ว่าต้องการเอาชนะตลาดให้ได้อย่างรวดเร็ว ต้องการรวยทันที ต้องการอิสรภาพทางการเงิน มีเวลามีเงินให้กับตัวเองไปพร้อมๆกัน เชื่อมั่นว่าฉันเก่ง ฉันมีความสามารถพอที่จะประสบความสำเร็จในตลาด จากนั้นก็ถูกแรงดึงดูดทางความคิดของตัวเองผลักดันให้วางเงินก้อนใหญ่ทั้งๆที่ไม่มีประสบการณ์และความรู้ในการเทรดนอกจากความเชื่อมั่นในตนเองที่มีอยู่จนมากเกินไป จนในที่สุดก็ถูกผลักออกจากตลาดไปอย่างรวดเร็ว...

    จริงแล้วๆ Money Management เป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากเทรดเดอร์ทางฝั่งต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดทุน , commodity หรือ forex แต่ในไทยแนวคิดนี้กลับไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักเนื่องจากค่อนข้างขัดกับภาพของวิธีการลงทุนแบบ VI ที่ค่อนข้างเป็นภาพลักษณ์ที่สวยหรูสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ซื้อแล้วถือยาวไม่สนใจความผันผวนขึ้นลงของราคา (ภาพที่นักลงทุนหน้าใหม่คิดกันไปเอง แต่ไม่รู้หรอกเขามีแผนการรับมือความเสี่ยงยังไง)

เกริ่นกันมาพอแล้ว เรามาทำความเข้าใจกับศาสตร์นี้แบบรวบรัดกันเลยดีกว่าครับ

Money Management คืออะไร ?

    Money Management คือศาสตร์ในการบริหารหน้าตักให้พอร์ตมีสภาวะติดลบน้อยที่สุด (drawdown) ลองคิดภาพดูครับ ถ้าคุณลงทุนด้วยเงิน 100,000บาทในวันนี้ คุณเข้าซื้อหุ้น 1 ตัวที่ราคา 50 บาท จำนวน 500 หุ้น เป็นมูลค่ารวม 25,000 บาทหรือ 25% ของพอร์ตโดยที่คิดว่ามันต้องขึ้นแน่ๆ เวลาผ่านไปยิ่งถือราคายิ่งลงจนเหลือ 30 บาท/หุ้น เท่ากับคุณเหลือมูลค่าหุ้นรวมทั้งสิ้นแค่ 15,000 บาทขาดทุนไป 10,000 บาทเท่ากับว่าตอนนี้พอร์ตของคุณเหลือมูลค่าแค่ 90,000 บาท

ลองคำนวณกันเล่นๆนะครับ ยิ้ม

เงิน 100,000 ทำให้เป็น 110,000 คือ 10%

แล้วเงิน 90,000 ที่คุณเหลือในวันนี้จะทำให้เป็น 110,000 บาท คิดเป็นกี่ % ที่คุณต้องหา ??

คำตอบคือ 22.22% !!!!

เยอะไหมละครับ ?

   พอเห็นภาพกันไหมครับว่าถ้าเราบริหารความเสี่ยงไม่ดีแล้วติดอยู่ในสภาวะพอร์ตติดลบหรือที่เค้าเรียกกันว่า drawdown เนี่ย การที่จะกลับไปอยู่ ณ จุดที่เท่าทุนก็ว่ายากแล้ว การที่จะนำตัวเองไปสู่จุดที่เรียกว่ากำไรยิ่งยากกว่า หลายๆคนเวลาขาดทุนก็ปลอบใจตัวเองจนทำให้มองไม่เห็น fact ที่แท้จริงข้อนี้จนทำให้เทรดไปเทรดมาก็ไม่ไปไหนสักทีมีแต่รอวันแย่ลง

การติดอยู่ในสภาวะพอร์ตติดลบส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดจากการ overtrade เป็นส่วนใหญ่ จากที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นไปที่ลงทุนด้วยเงินจำนวนถึง 25% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าค่อนข้างเยอะมากๆในทางสถิติ จริงอยู่ที่ถ้าเราเดาถูก มันก็ได้เงินมาก แต่ถ้าเราเดาผิดผลซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยในตลาดที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ผลก็จะออกมาอย่างที่ผมได้ยกตัวอย่างไป

  ที่แย่ไปกว่านั้นก็คืออะไรจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณเก็งผิดสัก 4-5 ติดต่อกัน ? ลองคิดดูกันเองนะครับ

% equity ที่จะเสี่ยง การโอเวอร์เทรดและสถิติ Risk of ruin

อะไรก็เกิดขึ้นได้ในตลาดเสมอเป็นคำที่ผมคิดว่าทุกคนควรจะท่องไว้ในใจเสมอ เพื่อไม่ให้ความโลภเข้าครอบงำจนเข้าสู่ภาวะความเสี่ยงจากการโอเวอรเทรด

  การเจ๊งจากการโอเวอร์เทรดมีที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่างสถิติ ยกตัวอย่างเช่น ระบบเทรดระบบนึงมี win rate อยู่ที่ 50% แต่ไม่ได้มีอะไรมาการันตีว่า 10 เทรดแรกที่คุณเทรดคุณจะไม่แพ้หมด ในตลาดแห่งนี้ที่คาดเดาไม่ได้คุณสามารถแพ้ 10 ครั้งติดต่อกันได้ ถึงแม้ % ในการเกิดจะมีไม่เยอะเท่าไหร่แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาทีนึงไม่ต้องคิดเลยครับว่าความฉ*บหายขนาดไหนจะรออยู่

ลองเทียบเล่นๆแบบไม่คำนวณทบต้น

นาย A เสี่ยงต่อการเทรดครั้งนึงเป็นจำนวน 2% ของพอร์ต

นาย B เสี่ยงต่อการเทรดครั้งนึงเป็นจำนวน 10% ของพอร์ต

ถ้าหากสองคนนี้ผิดติดต่อกัน 5 ครั้งติดต่อกัน..

นาย A จะเหลือเงินในพอร์ต 90% จากเงินต้นซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ได้อันตรายมาก ในขณะที่นาย B จะเหลือเงินอยู่เพียง 50% จากเงินต้น....


    หายไปขนาดนี้เอาเงินที่เหลือไปซื้อเม็ดมะเขือมาปลูกขายยังดูมีอนาคตกว่า... วัว

เห็นไหมครับว่า % equity ที่เราเสี่ยงต่อครั้งนึงในการเทรดมีผลอย่างมากกับอนาคตของพอร์ตของเราเมื่อนำเรื่องสถิติเข้ามาคำนวณ


เพิ่มพลังด้วย Reward Risk ratio

หลังจากที่เรียนรู้เรื่องภัยร้ายของ Drawdown หรือภาวะพอร์ตติดลบกันไปแล้วก็มาถึงตัวพระเอกของศาสตร์ Money Management กันครับ


Reward:Risk Ratio คืออัตราจากผลตอบแทนที่เราคาดหวังต่อจำนวนเงินที่เราเสี่ยงต่อครั้ง ยิ่ง RR มากยิ่งทำให้เราห่างไกลจาก drawdown ได้ดีขึ้น    

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันชัดๆ

เช่น นาย A เข้าซื้อหุ้น ABC ที่ราคา 52 บาท โดยตั้งจุด stop loss ไว้ที่ราคา 50 บาท (risk 2 บาท) และ take profit ไว้ที่ราคา 56 บาท (reward 4 บาท)

   จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนที่นาย A จะได้เป็นสองเท่าของความเสี่ยง หรือ RR Ratio = 2 จะทำให้ในระยะยาวความเป็นไปได้ที่จะติด drawdown ของนาย A ลดลง นาย A เทรดแพ้สองที เทรดชนะทีนึงก็ได้ส่วนที่เสียไปของสองครั้งก่อนคืนหมด ทำให้โอกาสอยู่รอดในตลาดของนาย A เพิ่มขึ้น

กลับกันคนส่วนใหญ่ที่โดนเขี่ยออกจากตลาด หรืออยู่ในกระบวนการโดนเขี่ยมักตัดสินใจ take profit ในอัตราที่ไม่คุ้มกับความเสี่ยงมากๆ (เพราะส่วนใหญ่ขาดทุนก็ถือยาว หวังว่ามันจะกลับมากำไรสักวัน หรือถ้ากำไรก็กลัวกำไรหายรีบ take กำไรจนไม่คุ้มกับความเสี่ยง)

     อย่างไรก็ตาม RR Ratio ที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับ strategic ของแต่ละคนเป็นหลัก ไม่มีหลักตายตัวแน่นอนว่าควรเป็นเท่าไร แต่ที่แน่ๆ มันควรจะมากกว่า 1 ก็จริงอยู่ที่น้อยกว่า 1 ก็ได้แต่คุณก็จำเป็นที่จะต้องมี win rate จำนวนมหาศาลมาชดเชยเช่นเดียวกัน ก็ลองไปประยุกต์ใช้กันดูนะครับ



สุดท้ายนี้สำหรับศาสตร์ของการทำ Money management ฉบับย่อนี้ถ้าผิดพลาดประการใด ไม่ถูกใจใครก็ขออภัยไว้ล่วงหน้าครับ หมาหมาลิง
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่