ม็อกค่าปาท่องโก๋ : เต๋อยกกำลังสอง {สัมภาษณ์ เต๋อ-นวพล}

สวัสดีครับ

      ขออนุญาต นำคอลัมน์ "ม็อกค่าปาท่องโก๋" ที่ผมเขียนประจำในเนชั่นสุดสัปดาห์นั้น มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกัน เพื่อขอคำแนะนำ คำติชม เพื่อปรับปรุงงานเขียนต่อไปในอนาคตเรื่อยๆครับ ขอบคุณครับ

เนชั่นสุดสัปดาห์ เล่มที่ 1213 และ 1214  ประจำวันที่ ประจำวันที่ 28 สิงหาคม และ 4 กันยายน 2558



     ม็อคค่าปาท่องโก๋ ในสัปดาห์นี้ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้กำกับสายอินดี้มือรางวัล ที่หันมากำกับหนัง Mass กับค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง GTH “เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” กับหนังชื่อยาว “ฟรีแลนซ์...ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ”

Mr. Coffee : อยากให้เล่าที่มาที่ไปของ “ฟรีแลนซ์...ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ”

เต๋อ : กว่าจะเริ่มคุยกับที่นี่จริงๆ ก็ช่วงหลัง Mary is happy, Mary is happy. จริงๆ มีคุยตั้งแต่หลังเรื่อง “36” แล้วครับ แต่ Mary มันเข้ามาก่อน ทีนี้ พอหลัง Mary ผมเริ่มทำหนังวัยรุ่นมากขึ้น และเริ่มอยากทำแนวอื่นพอดี ก็เลยเริ่มเขยิบเข้ามาในวัยของตัวเองมากขึ้น 28-29-30 ก็พอดีกับช่วงนี้ที่ทาง GTH ก็อยากได้เรื่องของเรา ผมมาคิดดู ก็เลยเอาเรื่อง “ฟรีแลนซ์ฯ” เพราะมันใกล้ตัวมากเลย และมองไปใน Detail แล้วมันสนุกดี วัฏจักรชีวิตที่โหดร้าย  และผมก็อยากทำหนังไทยเกี่ยวกับคนวัย 30 อย่างจริงๆ จังๆ และหนึ่งในประเด็นของคนวัยนี้ก็คือเรื่องสุขภาพ เรื่องนี้มันพอดียุคของเราที่อยากจะทำ เรื่องของโรงพยาบาลรัฐก็เป็นไอเดียที่มีมาก่อนและรู้สึกว่า Setup ของโรงพยาบาลรัฐ มันเอาไปทำอะไรได้บางอย่าง อย่างการต้องรอนานๆ เข้าไปตรวจกันอยู่ในห้องแคบๆ เจอหมอ Intern หรือหมอเพิ่งจบที่อายุใกล้ๆ กัน ผมว่ามันมีเชื้อบางอย่างที่ดูเป็นหนังรักได้เหมือนกัน แต่ตัวหนังเรื่องนี้จะเป็นความสัมพันธ์ มากกว่าโรแมนติกหวานๆ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ชายหญิง เพราะอายุ 30 ก็โตกันหมดแล้ว จะไม่ใช่ Puppy love


Mr. Coffee : ที่มาของการได้คิวนางเอกพันล้าน และพระเอกสามร้อยล้าน

เต๋อ : เป็นไปตามที่บทต้องการเลยครับ จริงๆ ตอนแรกก็มีการแคสนักแสดงใหม่ แล้วปรากฏว่า บทมันยากเกินกว่าที่คิด พอบทมันยากขนาดนี้ เราก็เลยหันไปหานักแสดงมืออาชีพ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นความท้าทายของตัวเองที่จะต้องทำงานกับกลุ่มใหม่ๆ ด้วย แต่ว่าตอนที่เลือกซันนี่และใหม่ ดาวิกาก็แคสทั้งหมดครับ ไม่ใช่ว่าจิ้มเอาจากพระเอกสามร้อยล้าน นางเอกพันล้าน แบบนี้นะครับ เพราะว่าหนังของผมก็จะมีแค่บทกับนักแสดงที่เป็นจุดเด่นของหนัง ถ้าเราไปจิ้มๆ มา แล้วสุดท้ายเล่นไม่ได้ หนังมันก็ห่วยอยู่ดี สุดท้ายกลับพบว่าทั้งสองคนมีโหมดการแสดงอีกโหมดที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ แต่เขาเล่นแบบที่เราต้องการได้ เป็นธรรมชาติ Improvise นิดหน่อย แต่พอเป็นการแสดงที่ต้องหวังผลทางอารมณ์ ทั้งสองคนก็ทำได้ เพราะว่าตัวละครสองตัวนี้ มันมีความกลับไปกลับมานิดนึงครับ ปกติถ้าเป็นนักแสดงหน้าใหม่ ผมจะให้เขาเล่นเป็นตัวเอง และบทมันก็ต้องการแค่นั้น จูนจูนเล่นเป็น Mary Mary ก็คือจูนจูนนั่นแหล่ะ ไม่ต้องปรับอะไรมากมาย แต่ในเรื่องนี้มันมีความตลก แวบนึง แล้วไปโรแมนติก แล้วมาดราม่า แล้วไปตลกอีกแล้ว มันต้องกลับไปกลับมาได้ตลอดเวลา


Mr. Coffee : ตอนเขียนบท มีพระเอกนางเอก ลอยมาในใจแล้วหรือไม่

เต๋อ : ไม่มีครับ เพราะบทมันยาก ตอนแรกผมนึกไม่ออกเลยว่าใครจะเล่นเป็นตัวนี้ได้ ก็เลยต้องแคสว่าพี่ซันนี่เล่นอย่างนี้ได้หรือไม่ ใหม่เล่นอย่างนี้ได้หรือเปล่า ไม่มีใครชัวร์ บทมันไม่ธรรมดา ถ้าบทเป็นดรามาไปเลย ก็อาจหาง่ายกว่า แต่ดรามากลับมาตลกหน้าตายแล้วก็ต้องโรแมนติกด้วย การผสมผสานแบบที่บอกมา ผมไม่เคยเห็นนักแสดงคนไหนเล่นแบบนี้เลย เลยต้องค่อยๆ หาไปทีละนิดละหน่อย ใช้เวลาหานักแสดงก่อนเปิดกล้องราวๆ สี่เดือน


Mr. Coffee : แล้วบทของ วี ล่ะครับ

เต๋อ : วี บทจะเล็กลงมาหน่อยครับ วีอยากทำงานอยู่แล้วเลยลองเรียกมาแคสดูว่าทำงานได้หรือเปล่า แต่เอาเข้าจริงเขาก็ไม่ได้เล่นเป็นตัวเองอยู่ดี Push มากกว่าปกติไปเยอะเป็น 10 เท่าเลย ตัวจริงกับในหนังเป็นคนละคนโดยสิ้นเชิง แต่บท เจ๋ มันมี Type Cast อยู่แล้วว่า ถ้าไม่เป็นคนนี้ ก็เป็นคนนี้ แต่ถ้าไปเอาสองคนนั้นมามันก็ไม่สนุก ก็เลยไปเอาคนที่ดูไม่ใช่ตัวละครนี้ มาเล่นเป็นตัวละครนี้ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันทำให้น่าสนใจมากขึ้น


Mr. Coffee : ก็เลยกลายเป็นได้นักแสดงที่เคยร่วมงานกับ GTH มาแล้วทั้งหมดเลย

เต๋อ : สำหรับผมอันนี้มันแปลกที่สุดแล้วนะ (หัวเราะ) ปกติต้องนักแสดงหน้าใหม่ล้วน คนจะพูดเยอะเหมือนกันว่าพอทำอันนี้แล้วโอ้โห ใช้ดารา (หัวเราะ)


Mr. Coffee : จากที่ทำงานในเสกลของหนังอินดี้มาก่อน และพอเปลี่ยนมาทำงานแบบหนัง Mass มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

เต๋อ : จริงๆ มันเหมือนกันมากเลยนะครับ หลายคนอาจจะไม่ค่อยรู้ หรือรู้แต่ลืมว่า ผมทำงานเขียนบทกับ GTH มาตั้งนานแล้วนะ และผมก็ทำกลับไปกลับมาอยู่แล้ว ดังนั้นการมาทำงานกับ GTH เนี่ยเป็นเรื่องธรรมดามาก และเค้าค่อนข้างปล่อยผมด้วย ตอนทำ Production ก็เหมือนกับที่ผมเคยทำมา จะ Setup แบบไหม พร็อพแบบไหน ก็ไปเลือกมา สำหรับผมมันค่อนข้างเหมือนเดิม ส่วนบทก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรจนทำให้ผมรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อมาทำหนังเรื่องนี้


Mr. Coffee :  สไตล์ของหนังเรื่องนี้จะกลายเป็นหนัง GTH ไปเลยหรือไม่ หรือยังคงเป็นสไตล์ของ “เต๋อ นวพล” อยู่

เต๋อ: มันอาจจะเป็นเพราะวิธีตัด Trailer หรือ Poster ซึ่งสำหรับผม ถ้าตัวหนังมันยังคงเป็นเหมือนเดิม มันไม่ค่อยติด แต่การตัด Trailer หรือ Poster เป็นไปเพื่อสื่อสารกับคนที่อาจจะไม่รู้จักเราเลย มันก็เลยต้องตัดด้วยวิธีอีกแบบ เพลงอีกแบบ ซึ่งเขาก็เอามาให้ดูและผมโอเคนะ ผมโอเค ตราบใดที่มู้ดของหนังมันยังถูกต้อง แต่ตัวหนังผมตัดต่อเองนะครับ เวลามันซ้อนกันพอดี เลยให้พี่ๆ เขาตัดดีกว่า เชื่อว่าถ้าเข้าไปดูในหนัง จะรู้สึกว่าไม่ต่างจากงานที่เราเคยทำไปสักเท่าไหร่ ตอนที่ประชุมบทกัน เขาก็รู้ลักษณะของเราดี มันจะไม่มีว่า หวานกว่านี้หน่อยสิ ตลกกว่านี้หน่อยสิ โรแมนติกก็จะอยู่ที่ขีดนี้แหล่ะ เป็นการเจอกันตรงกลางพอดีครับระหว่างผมกับ GTH


Mr. Coffee :  คาดหมายรายได้หนังเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง

เต๋อ: ผมขอแค่มันไม่ขาดทุนก็พอครับเพราะเราไม่ใช่คนที่ทำหนังทำเงินมาก่อน เยอะที่สุดคือ Mary 1.5 ล้าน ก็เลยไม่ได้มีความเครียดอะไรมาก ถ้าไม่ขาดทุนก็ดีครับ เพราะ GTH คือคนที่ลงเงินไปกับ Project นี้ เราก็ทำให้ดีที่สุด และหวังว่ามันจะไม่เจ๊ง แต่ถ้ามันจะมีอะไรดีกว่านั้น ก็ถือเป็นผลพลอยได้ไป


Mr. Coffee :  หนังเรื่องนี้ถือเป็นรอยต่อที่สมบูรณ์แบบ ระหว่างหนังไทยอินดี้กับหนังไทย Mass หรือไม่

เต๋อ: ผมพยายามจะทำให้ได้ครับ มันเป็นความฝันของผมมาตลอดเหมือนกัน การที่มีรอยตรงกลางระหว่าง Mass กับ อินดี้ จริงๆ เพราะเมื่อก่อนก็มีแต่ Mass ไปเลย อินดี้ไปเลย มันเป็นรสนิยมด้วยมั้ง ผมชอบหนังตรงโซนประมาณนี้ จริงๆ มีคนพยายามทำมาตลอดนะครับ อย่าง Home และ เกรียนฟิกชั่น ของพี่มะเดี่ยว ก็อยู่โซนประมาณแถวนี้ เราเลยรู้สึกว่าอยากทำให้มันเกิดให้ได้ ที่ผ่านมามันเหมือนเกือบจะเกิดขึ้น แต่มันยังไม่เกิดขึ้น แล้วสุดท้ายมันก็กลับไปเป็นซ้าย-ขวาเหมือนเดิม เอาจริงผมว่าทั้งสองฝั่งแข็งแรงอยู่แล้ว ถ้าเรามีสะพานกลางบ้างก็จะดี หนังแบบ American Indy เอาจริงๆหลายๆ คนก็อยากมาตรงนี้ แต่มันก็อยู่ที่ว่า Push ไปมามากน้อยแค่ไหน หรือเอาเข้าจริงถ้าเราทำ American Indy ขึ้นมาได้จริงแต่แขนขาเราไม่กว้างพอ ไม่มีช่องทางจัดจำหน่าย มันก็จะจบที่เดิมคือ Indy รอบนี้คือการจับมือกันโดยแท้จริง คือผมทำหนังที่ค่อนข้างเหมือนเดิม แต่ในเชิง Distribution เค้าก็ทำกันเต็มที่ หนัง Woody Allen หรือหนังอย่าง Birdman ก็อยู่ตรงนี้ ที่เขาว่าเป็นหนัง Low Budget แต่ก็ 20 ล้านเหรียญนะครับไม่ใช่สองล้านเหรียญซะเมื่อไหร่ ที่สำคัญ ถ้าสังเกตให้ดีโปสเตอร์ของ Birdman มีหลายแบบนะครับ คือกินตลาดหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่ม Mass กลุ่ม Indy และกลุ่มรอยต่ออย่างที่เราคุยกัน


Mr. Coffee: มีความสนใจทำงานแนวอื่นบ้างมากน้อยเพียงไร

เต๋อ : ยังไม่เคยคิดกับมันจริงๆ แต่เราไม่ได้ปิด ละครอาจจะไม่ถนัด แต่ซีรีย์สไม่แน่ แต่ถ้าทำก็คงเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ทุกวันนี้ผมก็มีเขียนหนังสือ มีทำโฆษณา ก็ทำๆ อยู่บ้างอยู่แล้ว อนาคตถ้าจะทำก็คงไม่พ้นแนวๆ นี้แหล่ะ ไม่หนังก็ Media อะไรสักอย่าง อยู่ที่ว่า Project นั้นจะทำงานร่วมกับใคร จริงๆ จบงานนี้ผมก็มีหนังสั้นสามนาทาทำให้ทางสิงคโปร์ หลังจากนั้นถ้าจะเขียนบทเรื่องใหม่ๆ ก็คงจะเขียนให้ตัวเองมากกว่า เพราะมีไอเดียที่ยังค้างๆ คาๆ อยู่


Mr. Coffee : คุยถึงปัญหาเรื่องบท ในวงการหนังไทย

เต๋อ : คือทุกครั้งที่มีคนโทร.มาให้หาคนเขียนบทให้หน่อย ผมก็มักจะนึกไม่ออก ส่วนใหญ่ที่นึกออกก็จะรู้ว่าเขาติดอันนี้อันนั้นอยู่ เขาไม่ว่างหรอก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมว่าทุกวันนี้มันก็มีรุ่นน้องๆ มาจับงานด้านเขียนบทกันมากขึ้นนะ แต่คงต้องให้เวลาพวกเขาอีกสักพัก เพราะขนาดตัวผมเองผมก็ยังรู้สึกว่า บทที่เขียนๆ ไป บางทีก็ตัน บางทีก็คิดไม่ออก ทั้งๆ ที่นี่คือปีที่เจ็ดที่แปดของการทำงานแล้ว ที่จะบอกก็คือ มันต้องใช้เวลาค่อยๆ เรียนรู้ไป ซึ่งเขาจะต้องได้เรียนรู้กับ Project ที่มันเป็นภาพยนตร์ด้วย ถ้าทำแล้วไม่ได้ทำต่อเนื่อง แล้วไปทำซีรีย์ส ทำละคร ซึ่งสำหรับผมมันคนละศาสตร์กัน อย่างซีรีย์สมันจะเป็นอีกจังหวะหนึ่ง หนังมัน 90 นาที 120 นาที มันอีก Step นึง เหมือนแข่งกรีฑาที่มีหลายกติตา คือมันวิ่งกันคนละประเภท ซีรีย์สเหมือนวิ่งมาราธอน หนังเหมือนวิ่ง 4 คูณ 100 คือวิ่งแข่งเหมือนกัน แต่วิธีการมันไม่เหมือนกัน ผมเลยรู้สึกว่า ถ้าเราได้วิ่ง 4 คูณ 100 ไปเรื่อยๆ เราก็จะได้เรียนรู้วิถีของมันมากขึ้น คือจะเข้าใจมันมากขึ้น


Mr. Coffee : ระบบทีม ช่วยเพิ่มคุณภาพการเขียนบทหรือไม่

เต๋อ : ผมว่าแล้วแต่ถนัดเลยครับ บางคนเขาถนัดแบบทีม แต่ผมไม่ถนัด ผมจะถนัดแบบเขียนก่อนแล้วให้เพื่อนช่วยดูมากกว่า ผมว่างานเขียนบทมันเป็น Process ที่ถูกที่สุดแล้วครับ มีแค่กระดาษ ดินสอ กับไอเดีย คือถ้าเราทำได้แข็งแรง มันจะส่งผลต่อไปเรื่อยๆ เช่น เราจะได้ทำหนัง หรืออื่นๆ อย่างหนังเรื่องนี้มันก็มีตัดออกไปเยอะเหมือนกัน เพราะผมถ่ายมาเกิน ก็เลยรู้ว่า รอบหน้าจะต้องแม่นกว่านี้ จะได้มีเวลามาลงกับฉากสำคัญมากขึ้น การเขียนบทจึงเป็นงานที่ต้องใช้เวลาครับ


Mr. Coffee : ปัญหาบทไม่ดี หรือขาดคนเขียนบท เป็นปัญหางูกินหาง

เต๋อ : คือรายได้จากการเขียนบทมันไม่เยอะมาก ถ้าจะยึดอาชีพคนเขียนบทก็คงต้องทำอย่างอื่นด้วย การเขียนบทนั้น ถ้าเราทำบ่อยๆ เราก็เก่งขึ้น ระยะเวลาในการทำงานก็จะลดลงเรื่อยๆ ที่อื่นไม่รู้เป็นอย่างไร แต่ทำบทกับ GTH เราได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะครับ เพราะเขาให้ตามประสบการณ์ แต่ตอนนี้ผมว่าผมก็ยังใช้เวลาเขียนนานไปหน่อย เพราะถ้าเอาสั้นๆแล้วมันไม่ดี ก็อย่าทำจะดีกว่า และเอาจริงๆ ผมว่า มันไม่ได้มีการเรียนการสอนสิ่งนี้ เรียกว่าไม่มีเลยดีกว่า อย่างที่ GTH ก็มีน้องๆ ที่กำลังอยากจะเขียนบท เราก็เปิดให้มาเรียนกันในวันเสาร์ ซึ่งสิ่งนี้จริงๆ เราควรมีแบบนี้ในสถาบันการศึกษา แต่ขณะนี้เราไม่มี แต่ถึงจะบอกว่ามี ก็ไม่มีตัวจริงไปสอน เพราะทุกคนก็ตารางงานแน่นกันอยู่
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่