“พัทยาเอวิเอชั่น” เล็งทุ่ม 2 หมื่นล้านพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานโคราช -ประเดิมเปิดบิน “ราชสีมาแอร์เวย์”

กระทู้ข่าว
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “พัทยาเอวิเอชั่นกรุ๊ป” เล็งทุ่มงบ 2 หมื่นล้านบาทพัฒนาอุตฯ อากาศยานโคราช ประเดิมเปิดสายการบิน “ราชสีมาแอร์เวย์” ฟื้นชีพ “สนามบินหนองเต็ง” ร้างปลายปีนี้ ชี้โคราชศักยภาพสูงหวังพัฒนาเป็นฮับการบินระหว่างประเทศของอีสาน ระบุสร้างเลานจ์รองรับผู้โดยสารแก้จุดอ่อนสนามบินโคตรไกลเมือง คาดเปิดบินในประเทศพร้อมกัน 6 เส้นทางรวด ด้านหอฯ โคราชอ้าเขียนรับ ร่อนหนังสือถึง รมว.คมนาคมดันเร่งผ่านใบอนุญาต
(กลาง) นายทศพร อสุนีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป จำกัด ร่วมแถลงข่าวกับ (ซ้ายสุด) นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

วันนี้ (28 ส.ค.) นายทศพร อสุนีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท พัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนำคณะผู้บริหารของบริษัทเดินทางเข้าพบปะหารือกับคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นำโดย นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมานั้น บริษัทมีความสนใจที่จะเข้ามาเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์ ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง-จักราช อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา
       
       โดยมองว่า จ.นครราชสีมามีศักยภาพสูงในทุกด้าน มีประชากรมากกว่า 2.6 ล้านคน มีสิ่งอำนวยความสะดวก และโครงการขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาในพื้นที่ ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานครบครัน ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยข้อมูลในพื้นที่ทั้งหมดแล้ว
       
       การเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์ครั้งนี้บริษัทจะจัดตั้งสายการบินขึ้นใหม่ ในนาม “ราชสีมา แอร์เวย์” เพื่อให้เป็นสายการบินประจำพื้นที่ จ.นครราชสีมา และหวังให้เป็นสายการบินของคนโคราชโดยแท้ ตอบโจทย์คนโคราชได้อย่างชัดเจน และพร้อมเปิดรับนักลงทุนจากท้องถิ่นที่สนใจเข้ามาร่วมการพัฒนาสายการบินนี้ โดยบริษัทได้ศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี ก่อนเสนอขอเปิดสายการบินที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา ขณะนี้เหลือเพียงการรวบรวมเนื้อหาข้อมูลในการบินอีกเล็กน้อยก็จะสามารถบรรลุจุดประสงค์ได้
นายทศพร อสุนีย์ ซีอีโอ บริษัท พัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป จำกัด

“เรามีความมั่นใจมาก เนื่องจากโคราชยังไม่เคยทำการบินระหว่างประเทศมาก่อน เราพยายามจะจับจุดนี้เพื่อให้โคราชเป็นเซ็นเตอร์หรือศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศของภาคอีสานทั้งหมด ซึ่งอาจบินจากนครราชสีมาไปมาเก๊า ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น เมื่อศึกษาข้อมูลจำนวนประชากรและพื้นที่ใกล้เคียงแล้วพบว่าลักษณะคล้ายกับพื้นที่ของพัทยา นั่นคือระยะทางระหว่างตัวเมืองไปยังสนามบินค่อนข้างไกล สิ่งนี้เป็นจุดอ่อนแต่บริษัทสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้” นายทศพรกล่าว
       
       นายทศพร กล่าวต่อว่า บริษัท พัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป จำกัด มีประสบการณ์ในการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งทางอากาศมากว่า 10 ปี โดยปฏิบัติการบินอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา พัทยา จ.ชลบุรี ให้บริการสายการบินภายในประเทศ ในนาม “พัทยา แอร์เวย์” ทำการบินเส้นทางพัทยา-เชียงราย, พัทยา-เชียงใหม่, พัทยา-อุดรธานี, พัทยา-อุบลราชธานี, พัทยา-ภูเก็ต และร่วมมือกับสตาร์แอร์ไลน์ เปิดเส้นทางการบินระหว่างพัทยา (อู่ตะเภา)-จีน ด้วย
       
       สำหรับการเปิดสายการบินที่ จ.นครราชสีมานั้น บริษัทตั้งเป้าหมายเป็นสายการบินแบบพรีเมียมแอร์ไลน์ ใช้เครื่อง Embracer ERJ 145 ขนาด 54 ที่นั่ง เป็นเครื่องบินเจ็ตแบบไอพ่น (Turbo Jet) ที่มีสมรรถนะสูงเทียบเท่าเครื่องไพรเวตเจ็ต บินได้เร็ว และนิ่งเทียบเท่ากับเครื่องขนาดใหญ่ และที่พิเศษกว่าคือ มีเสียงเครื่องยนต์รบกวนน้อยมาก หรือแทบจะไม่ได้ยินเสียงเลย เพราะเครื่องยนต์ย้ายไปอยู่ในตอนท้ายของเครื่อง จากปกติเครื่องยนต์จะอยู่ในตำแหน่งใต้ปีก
ส่วนอัตราค่าโดยสารนั้นยืนยันว่าไม่แพงจนเกินไปแม้จะเป็นสายการบินพรีเมียมแต่คนท้องถิ่นสามารถนั่งได้แน่นอน ขณะนี้กำลังเซตเรื่องอัตราค่าโดยสารจึงไม่สามารถเปิดเผยได้
       
       พร้อมกันนี้ ทางบริษัทกำลังมองหาทำเลเพื่อก่อสร้างอาคารรับรองผู้โดยสารภายในตัวเมืองนครราชสีมา บริเวณถนนมิตรภาพ ซึ่งจะเป็นอาคารผู้โดยสารอยู่ในเมือง มีบริการเลานจ์ (lounge) เต็มรูปแบบขณะนั่งรอขึ้นเครื่อง มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น Wi-Fi เครื่องดื่มครบครัน เมื่อเข้ามาที่เลานจ์เปรียบเสมือนมาถึงสนามบิน สามารถเช็กอินและนั่งรถชัตเติลบัสที่ให้บริการฟรีไปยังสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องได้เลยทั้งขาไปและกลับ ซึ่งการสร้างเลานจ์รองรับผู้โดยสารจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ชาวโคราชแก้จุดอ่อนสนามบินตั้งอยู่ไกลตัวเมืองได้เป็นอย่างดี
       
       นายทศพร กล่าวอีกว่า หากบริษัทได้รับการอนุมัติเปิดเส้นทางการบินอย่างเป็นทางการจากกรมการบินแล้ว เราจะเปิดให้บริการรวดเดียว 6 เส้นทาง โดยเบื้องต้นเป็นการให้บริการแบบเช่าเหมาลำในเส้นทางนครราชสีมา-พัทยา (อู่ตะเภา), นครราชสีมา-หัวหิน, นครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-ภูเก็ต, นครราชสีมา-อุดรธานี, นครราชสีมา-กระบี่ และจะพัฒนาไปสู่การเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศในเส้นทางนครราชสีมา-ฮ่องกง, นครราชสีมา-มาเก๊า ซึ่งจะใช้เครื่องบินจำนวน 2 ลำ โดยมูลค่าการลงทุนเปิดสายการบินดังกล่าวคาดว่าไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท
“นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมอากาศยานในพื้นที่ กว่า 700 ไร่ ของสนามบินหนองเต็ง-จักราช ด้วย เช่น การสร้างศูนย์ซ่อมเครื่องบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโรงเรียนการบิน เป็นต้น คาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท” นายทศพร กล่าว
       
       ขณะที่ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการด้านการบินให้ความสนใจเข้ามาเปิดเส้นทางการบินที่ จ.นครนคราชสีมาหลายราย หลังจากสายการบินกานแอร์หยุดทำการบินเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และหอการค้าฯ พยายามเชิญชวนให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาทำการบิน
       
       ล่าสุด บริษัทพัทยา เอวิเอชั่น กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารใหม่ของ บริษัท เลกาซี่ แอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินกิจการด้านการบินแบบไม่ประจำภายในประเทศและต่างประเทศ มีประสบการณ์ด้านการบินกว่า 10 ปี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการบิน และการคมนาคมทางอากาศของ จ.นครราชสีมา โดยหวังให้นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
       
       แต่ขณะนี้ยังเหลือขั้นตอนการอนุญาตจากภาครัฐ ซึ่งทางหอการค้าฯ ได้ช่วยผลักดัน ด้วยการทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการต่อใบอนุญาตดำเนินการเดินอากาศ (AOC) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการได้ประกอบธุรกิจได้ หากสายการบินราชสีมาแอร์เวย์เปิดการบินได้อย่างเป็นทางการก็จะเป็นประโยชน์ต่อจังหวัดนครราชสีมาด้วย
       
       ด้าน นายประวัติ ดวงกันยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง-จักราช ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ปัจจุบันแม้ไม่มีสายการบินพาณิชย์มาทำการบิน แต่ยังมีเครื่องบินที่เข้ามาฝึกบินอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ได้เป็นสนามบินร้าง โดยในปี 2557 มีเครื่องบินของภาคเอกชนเข้ามาฝึกบินแบบ TOUCH&GO รวมทั้งสิ้น 36,000 เที่ยว สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมได้รวม 3,060,000 บาท และคิดค่าใช้จ่ายจากอากาศยานอื่นๆ รวม 95 เที่ยว มีรายได้ 8,075 บาท
       
       ส่วนปี 2558 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 2558 มีเที่ยวบินฝึกแบบ TOUCH&GO รวม 54,000 เที่ยว คิดเป็นเงินรายได้ค่าธรรมเนียม 4,590,000 บาท และคิดค่าใช้จ่ายจากอากาศยานอื่น ๆ 116 เที่ยว เป็นเงิน 15,560 บาท
       
       อย่างไรก็ตาม หากมีสายการบินพาณิชย์มาเปิดทำการบินที่ท่าอากาศยานจังหวัดนครราชสีมา ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดเติบโตขึ้นไปด้วย

http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9580000097627
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่