ไฟฟ้าเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกเมื่อไร ใครเป็นคนนำเข้ามากันแน่

ประวัติจุดเริ่มต้นไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (ในช่วง ปี พ.ศ. 2360 -2427) ที่ได้ค้นคว้าจากหนังสือพิมพ์ที่แผนกหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติ และข้อมูลจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ไฟฟ้าไม่ได้ติดตั้ง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นแห่งแรก

ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบ

ไม่พบหลักฐานว่ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"

โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ทราบถึงพระราชกรณียกิจจำนวนมากที่เกี่ยวกับไฟฟ้าไทย ในช่วงรัชสมัยภายใต้ร่มพระบารมี
ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในพระบรมราโชบายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงมีพระราชปณิธานและพระราชประสงค์
ทั้งทรงพยายามเต็มพระมหาพิริยุตสาหะทะนุบำรุงเป็นที่สุด มิได้ทรงคำนึงถึงความลำบากเหนื่อยยากพระสกนธ์กายและพระราชหฤทัย
แม้พระองค์ทรงเป็นอรรคบริโสดมบรมสุขุมาลชาติเพื่อพระราชประสงค์จะให้บังเกิดสุขประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
บรรดาเป็นผลให้สยามประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ไฟฟ้าไทยจึงได้วิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้

         ”ไฟฟ้า” เป็นคำผสม คนไทยในสมัยโบราณได้ใช้ “ไฟ” ในการดำรงชีวิต เช่น ใช้หุงหาอาหาร ใช้ให้แสงสว่าง :ซึ่งมีบางคุณลักษณะที่เหมือนกันกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า คือมีลำแสงหรือเปลวไฟที่ทำให้เกิดแสงสว่างและทำให้เชื้อติดไฟได้ คำว่า “ไฟฟ้า” ในสมัยนั้นจึงหมายถึงไฟที่อยู่บนท้องฟ้าที่สามารถลงมาสู่พื้นโลกได้
             จากตำนานนครจำปาศักดิ์ว่าในปี พ.ศ. 2360 มีผู้เอาแว่นแก้วมาส่องแดดให้เชื้อติดไฟ แล้วอวดตัวเองว่ามีอิทธิฤทธิ์สามารถเรียกไฟฟ้าคือไฟที่อยู่บนฟ้าลงมาเผาบ้านเมืองให้ไหม้วินาศไปสิ้นได้ ผู้คนเกิดความเกรงกลัว จึงคิดขบถรวบรวมผู้คนยกเป็นกระบวนทัพเที่ยวตีรุกรานไปตามหมู่บ้านต่างๆ (จากหนังสือพิมพ์เทศาภิบาล เล่มที่ 4 พ.ศ. 2450 เรื่อง ตำนานนครจำปาศักดิ์ เรียบเรียงโดย หม่อม อมรวงษวิจิตร (ม.ว.ปฐม)
             วิทยาการด้านไฟฟ้าที่เป็นความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาสู่สังคมไทยโดยชาติตะวันตกในบทบาทของมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนา
             ในปี พ.ศ. 2387 หนังสือพิมพ์ของมิชชั่นนารีได้ลงข่าวเรื่อง “ตำราไฟฟ้า (Lightning)” ซึ่งได้กล่าวถึงการเกิดและการเคลื่อนที่ของไฟฟ้า (ฟ้าแลบ) มีการยกตัวอย่างว่าสิ่งใดเป็นสื่อหรือตัวนำไฟฟ้า สิ่งใดเป็นฉนวนไฟฟ้า มีการอธิบายการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าผ่า การป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER พ.ศ. 2387 เล่ม 1 ใบที่ 1)
             ในปี พ.ศ. 2388 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวถึงวิธีการคำนวณระยะทางหรือตำแหน่งที่เกิดฟ้าผ่าโดยการรีบจับชีพจรเมื่อเห็นฟ้าแลบ เป็นการอาศัยอัตราความเร็วในการเดินทางของแสง เสียง และการเต้นของหัวใจ ได้กำหนดว่าเสียงเดินทางเป็นระยะทาง 140 เมตรต่อการเต้นของหัวใจหนึ่งครั้ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER พ.ศ. 2388 เล่ม 1 ใบที่ 11) และข่าวจากต่างประเทศว่าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้จำลองเหตุการณ์ทดลองระเบิดเรือรบโดยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวจุดชนวน ข่าวว่าได้มีการสร้างและทดลองใช้โทรเลขได้เป็นผลสำเร็จแล้ว (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER พ.ศ. 2388 เล่ม 1 ใบที่ 12)
             ในปี พ.ศ. 2408 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวจากต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าหลายข่าวและได้ลงข่าวว่าที่กรุงเทพฯ ได้มีชาวต่างชาติต้องการขายเครื่องไฟฟ้าชุดหนึ่ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER พ.ศ. 2408 เล่ม 1 ใบที่ 21) ข่าวว่าที่กรุงเทพฯ ได้มีการทดลองและใช้งานโทรเลขกัน (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER พ.ศ. 2408 เล่ม 2 ใบที่ 2)
             ในปี พ.ศ. 2410 ได้มีผู้เขียนและลงบทความอธิบายเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า โดยใช้หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีเหตุมีผล เป็นการปะทะกับความรู้ความเชื่อแต่เดิมของคนไทยในเรื่องนางมณีเมขลาและยักษ์รามสูร (จากหนังสือพิมพ์แสดงกิจจานุกิจ พ.ศ.2410 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค))
             ในปี พ.ศ. 2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดให้มีการทดลองใช้เครื่องโทรศัพท์ตัวอย่างที่ส่งมายังประเทศไทย และทรงโปรดให้ทดลองติดตั้งใช้โทรศัพท์ระหว่างสมุทรปราการกับกรุงเทพมหานคร โดยใช้สายโทรเลขที่มีอยู่ก่อนแล้วในเส้นทางนี้ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 รล-พศ/2)
                 ปี พ.ศ. 2423 ในขั้นตอนการหาเครื่องตกแต่งพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงทอดพระเนตรโคมไฟฟ้าด้วยแล้ว ดังความว่า
                 วันจันทร์ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2423            ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง (หน้า ๑๖)
                              "แล้วกรมภูธเรศกับพระยานรรัตน์เฝ้าเรื่องซ่อมทองคำแว่นฟ้า แล้วพระองค์เจ้าทองใหญ่เฝ้าทรงด้วยโคม
                               ไฟฟ้าซึ่งจะติดเสาใหญ่พระเมรุ กับรับสั่งให้เธอทำระย้าแขวนพระเมรุด้วย"
                 วันอาทิตย์ ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2423          ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง (หน้า ๒๕)
                               อนึ่งรับสั่งกับสมเด็จกรมพระจะทอดพระเนตรไฟฟ้าที่ท่านมีอยู่ วันนี้ท่านมาจุดทูลเกล้าฯ ถวายที่อัฏฏวิจารณศาลา
                               ใช้แบตเตอรี ๑๐๐ หนึ่ง แต่ไม่ได้ประทับทอดพระเนตรด้วยฝนตก และทรงดำเนินไม่สู้ถนัด ประชวรพระยอด
                               รับสั่งให้จุดพรุ่งนี้อีกวันหนึ่ง
                  วันจันทร์ ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2423            ตรงกับวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง (หน้า ๒๗)
                               เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น ไม่ได้ประทับอัฏฏวิจารณศาลา แวะที่ทิมคตมหาปราสาท ซึ่งสมเด็จกรมพระทรงจัดโคม
                               ไฟฟ้าทูลเกล้าฯ ถวายครู่หนึ่งแล้วเสด็จขึ้น ใช้ ๑๓๐ แบตเตอรี่
(จากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑๐ http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book/cl53_0144/#p=40 )
             18 สิงหาคม พ.ศ. 2423 ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตระเตรียมการเกี่ยวกับเครื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่ได้มาเพื่อใช้ในงานสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2423 (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/9)
             24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หลวงปฏิบัติราชประสงค์ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างในพระบรมมหาราชวังซึ่งรวมทั้งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทด้วย ทั้งภายนอกและภายในอาคารสถานที่ต่างๆ มีความว่า
ข้าพระพุทธเจ้าหลวงปฏิบัติราชประสงค์ ขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาศกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
                 ด้วยพระเจ้าน้องยากรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ปฤกษากับข้าพระพุทธเจ้าด้วยเรื่องโปรดเกล้าฯ ให้ติดไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ ตริตรองดูตามในประเทศยุโรปทั้งปวงนี้เขาใช้มากในที่ต่างๆ  เปนการถูกเอกสเปน  น้อยภอจะกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้เปนตัวอย่าง คือใช้ไฟก๊าดท่อยาว ๕ วา กับลวดที่จะล่ามไปยาว ๕ วาเท่ากัน ลวดถูกกว่าหลายสิบเท่า อนึ่งไฟก๊าดต้องใช้คนเที่ยวจุดทุกแห่ง ถ้าจะใช้เพียง ๕๐๐ ดวง จะต้องมีคนสำหรับจุดตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไป ถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างใหม่ก็ไม่ต้องใช้คนที่จุด ถึงเวลาก็ลุกเองแลไม่ต้องเปลี่ยนถ่านเหมือนเครื่องเก่าของหลวงมีอยู่แล้ว แลไม่ดับๆ ติดๆ ด้วย อนึ่งไฟที่เข้าใช้อยู่ในประตูคืออินดอไล เขาได้คิดว่าถูกกว่าน้ำมันปิดเตอเลียม แลเทียนไขที่จะใช้จุดยังรุ่งต้องอาไศรยคนช่วยกันตกแต่งคอยเปลี่ยนผลัดอยู่เสมอ เพราะฉนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กราบทูลปฤกษากับพระเจ้าน้องยากรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม พระเจ้าน้องยากรมหมื่นเทวะวงษ์วโรปการ ว่าจะใช้เครื่องไฟฟ้าเสียให้หมดในพระบรมมหาราชวัง ไม่ว่าในที่ใด ถนนต่างๆ ที่มีในพระบรมมหาราชวังด้วย แลตำหนักพระบรมวงษานุวงษ์ แลเรือนข้าราชการฝ่ายในที่เคยใช้น้ำมันปิดตอเลียมอยู่ ถ้าใครจะซื้อไปใช้ก็จะยอมขายให้ แต่จะต้องขอคืน ๑ เท่ากันกับน้ำมันที่ใช้อยู่ ก็ภอจะคุ้มสูหุ้ยของหลวงที่จะซื้อฟืนมาใช้ในเครื่องจักรได้ ถึงจะไม่ภอก็จะต้องเติมเงินบ้างเล็กน้อยแต่สว่างจะได้การดีมากกว่าทุกวันนี้ แลข้าพระพุทธเจ้าจะขอเปนเจ้าพนักงานใหญ่เปนผู้กำกับดูแลในการที่จะจุดโคมแลรักษาเครื่องทุกอย่าง จะขอรับพระราชทานขุนหมื่นรักษาพระองค์ ๑๒ คน ที่สำหรับจุดโคมอยู่ทุกวันนี้ ทราบเกล้าฯ ว่าขุนหมื่นรักษาพระองค์ที่จุดโคมทุกวันนี้มีอยู่ถึง ๖๐ คน ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชทานสัก ๑๒ คน จะหัดให้เปนอินทเนียสำหรับรักษาเครื่องจักรได้ใช้การในเรื่องนี้ ถ้าเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว ขอพระบรมราชานุญาตที่จะตรวจบนพระที่นั่งและที่ต่างๆ จะได้ทำเอสเมศทูลเกล้าฯ ถวาย
                                                    ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
                                                                                        หลวงปฏิบัติราชประสงค์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขา มีความว่า
                                 หลวงปฏิบัติยื่นความเหนฉบับนี้ เหนว่าเปนการดีแลถูกเงินลงเปนแน่
                                 จะยอมให้เปนเจ้าพนักงาน ทำเปนการเหมาเสียทีเดียวก็ได้
                                 เครื่องแกสเก่าถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าได้แล้ว อยากจะขายเลหลังส่งเสียทีเดียว
                                 ให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมพาดูที่ให้เขากะดวงโคมทำเอศเมศ ให้ทั่วไป
                                 ถ้าการหลวงอย่าให้ต้องใช้น้ำมันได้เลยที่เดียวจะดี
                                                                                   สยามินทร์
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร (ฟิล์มจิ๋ว) 5 นก/25 หน้า 768-769 เรื่องหลวงปฏิบัติราชประสงค์กราบบังคมทูลติดไฟฟ้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท)
                              วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2427 ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2427 เพียงไม่ถึง 2 เดือน เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกครั้งเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งไฟฟ้าในโรงทหารน่า จากที่ครั้งก่อนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว แต่เงินหลวงไม่พอ ไม่ใช่ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"   อย่างที่เขาว่ากันว่าเจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงได้ไปขายที่ดิน 180 ชั่งเพื่อซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร (ฟิล์มจิ๋ว) มร 5 นก/36 หน้า 918-919)
                                  วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรรัตนราชมานิตยจัดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่สวนสราญรมย์เพื่อใช้เป็นที่ต้อนรับชาวต่างชาติ โดยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/40)

ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6576.60
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่