ประวัติไฟฟ้าไทย

ประวัติไฟฟ้าของไทยเรานี่ยิ่งกว่านิยาย
นี้เป็นประวัติไฟฟ้าไทยที่น่าเชื่อถือ ไม่ผิดเพี้ยน ค้นคว้าจากเอกสารตั้งต้นในยุคสมัยนั้นๆ ยืนยันพิสูจน์ได้

ไฟฟ้าไม่ได้ติดตั้ง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นแห่งแรก

ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบ

ไม่พบหลักฐานว่ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"

โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ทราบถึงพระราชกรณียกิจจำนวนมากที่เกี่ยวกับไฟฟ้าไทย ในช่วงรัชสมัยภายใต้ร่มพระบารมี
ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในพระบรมราโชบายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงมีพระราชปณิธานและพระราชประสงค์
ทั้งทรงพยายามเต็มพระมหาพิริยุตสาหะทะนุบำรุงเป็นที่สุด มิได้ทรงคำนึงถึงความลำบากเหนื่อยยากพระสกนธ์กายและพระราชหฤทัย
แม้พระองค์ทรงเป็นอรรคบริโสดมบรมสุขุมาลชาติเพื่อพระราชประสงค์จะให้บังเกิดสุขประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
บรรดาเป็นผลให้สยามประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ไฟฟ้าไทยจึงได้วิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้


”ไฟฟ้า” เป็นคำผสม คนไทยสมัยโบราณใช้ “ไฟ” ในการดำรงชีวิต เช่น ใช้หุงหาอาหาร ใช้ให้แสงสว่าง ซึ่งมีบางคุณลักษณะเหมือนกันกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า คือมีลำแสงหรือเปลวไฟที่ทำให้เกิดแสงสว่างและทำให้เชื้อติดไฟได้ คำว่า “ไฟฟ้า” ในสมัยนั้นจึงหมายถึงไฟอยู่บนท้องฟ้าที่สามารถลงมาสู่พื้นโลกได้

จากตำนานนครจำปาศักดิ์ว่าในปี พ.ศ. 2360 มีผู้เอาแว่นแก้วมาส่องแดดให้เชื้อติดไฟ อวดว่ามีอิทธิฤทธิ์สามารถเรียกไฟฟ้าคือไฟที่อยู่บนฟ้าลงมาเผาบ้านเมืองให้ไหม้วินาศไปสิ้นได้ ผู้คนเกิดความเกรงกลัว จึงคิดขบถรวบรวมผู้คนยกเป็นกระบวนทัพเที่ยวตีรุกรานไปตามหมู่บ้านต่างๆ (จากหนังสือพิมพ์เทศาภิบาล เล่มที่ 4 พ.ศ. 2450)

ความรู้เรื่องไฟฟ้าตามหลักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามาเผยแพร่สู่สังคมไทยโดยมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนาในรูปแบบข่าวสารลงในหนังสือพิมพ์

ในปี พ.ศ. 2387 หนังสือพิมพ์ได้ลงหัวข่าวว่า “ตำราไฟฟ้า (Lightning)” เป็นการเอาคำภาษาอังกฤษว่า "Lightning" แปลเป็นภาษาไทยว่า “ตำราไฟฟ้า” ได้กล่าวถึงการเกิดและการเคลื่อนที่ของไฟฟ้า (ฟ้าแลบ) มีการยกตัวอย่างว่าสิ่งใดเป็นสื่อหรือตัวนำไฟฟ้า สิ่งใดเป็นฉนวนไฟฟ้า มีการอธิบายการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าผ่า การป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 1)

ในปี พ.ศ. 2388 หนังสือพิมพ์ลงข่าวถึงวิธีคำนวณระยะทางหรือตำแหน่งที่เกิดฟ้าผ่าด้วยวิธีจับชีพจร โดยเมื่อเห็นฟ้าแลบก็ให้รีบจับชีพจรแล้วนับจำนวนครั้งของชีพจรจนถึงเมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่า เป็นการอาศัยอัตราความเร็วของแสง เสียง และการเต้นของหัวใจ กำหนดว่าเสียงเดินทางเป็นระยะทาง 140 เมตรต่อการเต้นของหัวใจหนึ่งครั้ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 11) และข่าวจากต่างประเทศว่าประเทศสหรัฐอเมริกาได้จำลองเหตุการณ์ทดลองระเบิดเรือรบโดยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวจุดชนวน ข่าวว่าได้มีการสร้างและทดลองใช้โทรเลขได้เป็นผลสำเร็จแล้ว (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 12)

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข โทรศัพท์) ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อใด แต่สามารถบอกปี พ.ศ. อย่างช้าได้ว่ามีสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในไทยแล้ว
1.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2408
2.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรศัพท์) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2421
3.   ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2423
4.    ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2434 (เริ่มขอประทานพระอนุญาตก่อสร้าง)

ในปี พ.ศ. 2408 หนังสือพิมพ์ลงข่าวที่มาจากต่างประเทศว่า "อนึ่งข่าวมาแต่บำไบว่ามีจำพวกหนึ่ง ว่าจะตั้งโคมให้แสงสว่างเมื่อเพลากลางคืนเป็นอย่างใหม่เรียกว่าอีเลกโตรแมคเนตอิกไลต์ ข่าวว่าสว่างนั้นมีแสงกล้านัก พอที่คนอยู่ไกลหลายสิบเส้นจะเห็นตัวหนังสือชัดอ่านได้" (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 18) และลงข่าวว่าที่กรุงเทพฯ มีชาวต่างชาติต้องการขายเครื่องไฟฟ้าชุดหนึ่ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 21) ข่าวว่าที่กรุงเทพฯ มีการทดลองและใช้โทรเลขกัน (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 2 ใบที่ 2)

ในปี พ.ศ. 2410 เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ได้เขียนบทความอธิบายเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า โดยใช้หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีเหตุมีผล เป็นการปะทะกับความรู้ความเชื่อแต่เดิมของคนไทยในเรื่องนางมณีเมขลาและยักษ์รามสูร (จากหนังสือแสดงกิจจานุกิจ)

ในปี พ.ศ. 2421 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ทดลองใช้โทรศัพท์ตัวอย่างที่ส่งมายังไทย และทรงโปรดให้ทดลองติดตั้งโทรศัพท์ระหว่างสมุทรปราการกับกรุงเทพฯ โดยใช้สายโทรเลขที่มีอยู่แล้วในเส้นทางนี้ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 รล-พศ/2)

18 สิงหาคม พ.ศ. 2423 เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ผู้บัญชาการกรมพระสัสดีได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตระเตรียมการเกี่ยวกับเครื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่ได้มาเพื่อใช้ในงานสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา ตรงกับ 20 กันยายน พ.ศ. 2423 (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/9)

24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หลวงปฏิบัติราชประสงค์ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างให้ทั่วพระบรมมหาราชวังทีเดียวเลย เปลี่ยนจากที่จะติดตั้งเฉพาะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งแต่เดิมใช้โคมแก๊สและน้ำมัน รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขามีใจความตอนหนึ่งว่า "หลวงปฏิบัติยื่นความเห็นฉบับนี้เห็นว่าเป็นการดีและถูกเงินเป็นแน่ จะยอมให้เป็นพนักงานทำเป็นการเหมาเสียทีเดียวก็ได้ เครื่องแก๊สเก่าถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าได้แล้วอยากจะขายเลหลังเสียทีเดียว ให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมพาดูที่ ให้เขากะดวงโคมทำเอสติเมศให้ทั่วไป ถ้าการหลวงอย่าให้ต้องใช้น้ำมันได้เลยทีเดียวจะดี" (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/25)

28 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ในเรื่องที่จะติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างในโรงทหารน่า มีใจความตอนหนึ่งว่า "เมื่อเดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ขอพระบรมราชานุญาตที่จะคิดทำเครื่องไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงทหาร โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมกะดวงไฟที่จะใช้ในที่ต่างๆ ... ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งบัญชีของที่จะต้องการต่างๆ ออกไปให้พระวงษ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้สืบราคา ได้ทำเอศติเมศส่งเข้ามายังข้าพระพุทธเจ้า ๆ ได้ตรวจดูเห็นเป็นเงินนั้นมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลปรึกษากับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการให้ทรงทราบ ท่านรับสั่งว่าเงินแผ่นดินยังหามีพอจ่ายไม่ ..." (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/36)

พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรรัตนราชมานิตยจัดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่สวนสราญรมย์เพื่อใช้ต้อนรับชาวต่างชาติโดยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว อนึ่งเมื่อครั้งมิศเตอร์จาลบาศเตอร์รับราชการอยู่ ณ สวนแห่งนี้ได้ซื้อเครื่องไฟฟ้าไว้ก่อนแล้ว ต่อมามิศเตอร์จาลบาศเตอร์ได้ถึงอนิจกรรมโคมไฟแสงสว่างได้ตกไปอยู่กับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้การไม่ได้เพราะแรงไฟไม่พอ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/40)

พ.ศ. 2428 หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าราชทูตไทยที่ไปเจริญทางพระราชไมตรีประเทศฝรั่งเศสได้บรรยายถึงระบบแสงสว่างใช้แก๊ส ว่าตามสองข้างถนนมีโคมไฟใช้แก๊สสูงประมาณห้าศอกตั้งสลับกันเป็นฟันปลา ฝรั่งเศสใช้กันทั่วไปทุกบ้านทุกเรือน และลงข่าวอีกว่ามีผู้แสดงความเห็นว่าสมควรให้ไทยแปลวิชาไฟฟ้าภาษาอังกฤษเป็นตำราไฟฟ้าภาษาไทย เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียส่งคนมายังไทยเพื่อเล่าเรียนวิชาไฟฟ้าที่เป็นภาษาไทย โดยคาดว่าไทยจะเจริญก้าวหน้าทันประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปในไม่ช้า และภาษาอักษรไทยจะไม่สูญหาย จะแพร่หลายทวีขึ้นทุกๆ ปีสืบไป (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุสยามไสมย ฉบับเดือนตุลาคม)

พ.ศ. 2431 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวถึงการพัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้โคมไฟให้แสงสว่างประเภทต่างๆ เช่น ตะเกียงไต้ (น้ำมันยาง)  คบ โคมน้ำมันมะพร้าว โคมน้ำมันปลา เทียน โคมไฟฟ้า โคมแก๊ส โคมน้ำมันปริโตรเลียม โคมลาน โคมแมงดา โคมเผาน้ำมันแคสออยล์ มีหัวข่าวว่า “ประทีปโคมไฟ” ซึ่งได้บรรยายถึงโคมไฟฟ้าที่ดีกว่าแต่ก่อน มีความว่า "ต่อมาชาวต่างประเทศนำเทียนมาขาย ก็นิยมยินดีว่าสว่างกว่าน้ำมัน ก็ได้ซื้อใช้และทำบุญ แล้วมีโคมไฟฟ้าเข้ามาแต่มีผู้ใช้น้อย เครื่องเครานั้นก็ยังไม่สู้ดีนัก แต่สว่างกว่าของที่มีแล้วพอควร ...... โคมไฟฟ้านั้นก็มีมาต่างๆ ดีขึ้นกว่าก่อนบ้าง ใช้ได้มากดวงขึ้นอีกบ้าง"  (จากหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษ เล่ม 4 แผ่น 10)

พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจทำธุรกิจด้านไฟฟ้า มีชื่อว่าบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ระดมใช้ทุน 480,000 บาทโดยรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่าที่ดินของวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปีละ 800 บาท ตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้แก่หลอดไฟฟ้า 20 แรงเทียน (วัตต์) จำนวน 10,000 ดวง ด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 5 ตัว ใช้แกลบและฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลัก (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 ว/1)

14 มีนาคม พ.ศ. 2434 บริษัท บางกอกแตรมเว จำกัดได้มีหนังสือขอประทานพระอนุญาตต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ อธิบดีกรมนครบาลสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 70 แรงม้าตั้งอยู่บริเวณสะพานเหล็ก คลองผดุงกรุงเกษมเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่รถรางไฟฟ้า เปลี่ยนจากใช้ม้าลาก (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 น/318 น21/6)

บริษัทไฟฟ้าสยามใช้เวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 2 ปีก็ยังผลิตไฟฟ้าไม่ได้ เกิดปัญหามากมาย เงินทุนหมดลง เนื่องจากการสั่งการที่ผิด ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย การส่งอุปกรณ์ล่าช้ามาก ก่อสร้างผิดไปจากแบบ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก

6 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าถวายแด่รัชกาลที่ 5 มีใจความตอนหนึ่งว่า "ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เกล้ากระหม่อมรับราชการในกรมยุทธนาธิการตำแหน่งผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ จึงได้เป็นผู้รักษาและจัดการการไฟฟ้าอันมีอยู่แล้ว ได้จุดใช้ราชการหลายครั้งก็ไม่เป็นการสะดวกติดบ้างดับบ้างต้องจัดการแก้ไขกันไปต่างๆ ไม่หยุด แก้ไปแก้มาเครื่องไหม้จุดอีกไม่ได้ต่อไป ทำไม่ได้ในเมืองไทยต้องส่งเครื่องออกไปทำใหม่ที่ยุโรป ... บัญชีจ่ายในการซ่อมทำเครื่องไฟฟ้าเช่นนี้แพงมิใช่เล่น ได้เคยเห็นมาแต่ก่อนเมื่อรับราชการเป็นผู้บัญชาการใช้จ่ายในกรมยุทธนาธิการ ได้ตั้งเบิกเงินที่จ่ายในการทำเครื่องไฟฟ้านั้นด้วยร้อยด้วยพันชั่ง ซึ่งรู้สึกเต็มใจว่าไม่ได้รับประโยชน์จากทุนที่ลงไป แม้แต่หนึ่งในส่วนร้อยก็ทั้งยาก ลมเจียนจะจับทีเดียวแต่จำต้องเบิกจ่ายไป ตัดรอนไม่ได้เพราะเป็นการเก่าที่ทำแล้ว" ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่รัชกาลที่ 5 ทรงจะต้องพระราชประสงค์ใช้ข้อมูลแสดงความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย ว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไรกรณีบริษัทไฟฟ้าสยามขาดเงินลงทุน เพื่อทรงพระบรมราชวินิจฉัย (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 น/93 น10/2)

มีต่อตอนที่ 2 https://ppantip.com/topic/35383731

ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6576.60
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่