“ยาแก้กรดไหลย้อน” ต้องรู้จักและใช้ให้เป็น

กระทู้สนทนา


พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตที่ไม่มีวินัยของคนยุคปัจจุบันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย เช่นเดียวกับ GERD หรือโรคกรดไหลย้อน โรคสุดฮิตของหนุ่มสาวสมัยใหม่ ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าประชากรชาวไทยป่วยเป็นโรคนี้สูงถึง 1 ใน 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวและติดบุหรี่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อสงสัยว่าตนเองเป็นโรคนี้ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ถูกวิธี ไม่เช่นนั้นอาจก่อปัญหาร้ายแรงถึงขั้นกลายเป็นโรคปอดอักเสบและโรคมะเร็งหลอดอาหารได้

สาเหตุ

          โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

    ส่วนปลายของหลอดอาหารคลายตัวผิดปกติ
    ความดันในหูรูดหลอดอาหารลดต่ำลง
    กระเพาะและบริเวณหลอดอาหารมีการบีบตัวผิดปกติ
    กรรมพันธุ์
    พฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขลักษณะบางประการ เช่น นอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ เป็นต้น

อาการของโรค

    ท้องอืดท้องเฟ้อเนื่องจากการไหลของกรด
    หากเกิดการไหลย้อนมาก อาจส่งผลกระทบถึงลำคอ กล่องเสียง และปอด ทำให้เกิดอาการไอ เสียงแหบผิดปกติ
    รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่หรือหน้าอก (อาการ Heart Burn)
    หลอดอาหารอักเสบ เจ็บคอ แสบบริเวณลิ้น กลืนอาหารลำบาก คลื่นไส้
    ได้กลิ่นและรสของกรดเปรี้ยวติดลำคอ มีเสมหะและระคายคอตลอดเวลา

การรักษา

          การรักษาภาวะกรดไหลย้อนมี 3 แนวทางด้วยกัน ดังนี้

    การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เลี่ยงอาหารประเภทของทอดของมัน รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่นอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ
    การผ่าตัด ผู้ป่วยรายใดที่เลือกรักษาด้วยวิธีนี้หรือแพทย์ประเมินแล้วว่าต้องผ่าตัด สามารถทำได้โดยการผ่าตัดผูกหูรูดกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะไหลย้อนไปสู่ทางเดินทาหารส่วนบนและระบบทางเดินหายใจ การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่อาการรุนแรงหรือผู้ป่วยไม่สามารถทานยาได้
    การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาที่สะดวก ง่าย และครอบคลุมทุกระดับความรุนแรงมากที่สุด หากได้รับยาที่เหมาะสมกับภาวะและหมั่นรับประทานเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ อาการก็จะทุเลาลงอย่างต่อเนื่องและหายเป็นปกติในที่สุด ยาแก้กรดไหลย้อน สามารถแบ่งได้ตามกลุ่มการออกฤทธิ์ คือ

– ยาประเภทลดกรด : มีคุณสมบัติลดความเป็นกรดของน้ำย่อยในกระเพาะ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมาก

– ยาประเภทกระตุ้นการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร : ช่วยเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เป็นตัวช่วยเร่งให้อาหารต่างๆ เคลื่อนตัวออกจากกระเพาะเร็วขึ้น

– ยาประเภทยับยั้งฮิสตามีน : เป็นยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีนเพื่อลดปริมาณการหลั่งของกรดในกระเพาะ

– ยาประเภทยับยั้งโปรตอนปั๊ม : โปรตอนปั๊มคือกระบวนการสุดท้ายก่อนหลั่งกรด เมื่อทานยาชนิดนี้จึงช่วยลดปริมาณกรดในกระเพาะได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

          หากคุณรู้ตัวว่าเกิดอาการกรดไหลย้อน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและรับประทานยาที่ตรงกับระดับอาการอย่างทันท่วงที ไม่ควรปล่อยไว้จนอาการรุนแรงจนถึงขั้นต้องผ่าตัด

ขอบคุณที่มา http://www.healthydeejung.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่