′กฤษฎีกา′ชี้ขาด! ใช้โทรศัพท์ขณะรถติด ผิด! แม้รถไม่เคลื่อนตามข้อแย้งอดีตผู้พิพากษา

จากมติชนออนไลน์

ถ้ายังจำกันได้  เมื่อราวปลายปีที่แล้ว เกิดประเด็นข้อพิพาทระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และอดีตผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ในเรื่อง การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะหยุดรถตามสัญญาณจราจรสีแดง (ไฟแดง)

ซึ่งฝั่งหนึ่งคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า ผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก ในขณะที่ อดีตผู้พิพากษาท่านนั้น แย้งว่าไม่ผิด

โดยอดีตผู้พิพากษาท่านนั้น ได้ตั้งประเด็นไว้ในเฟซบุ้คส่วนตัว  เห็นว่า  ไม่เป็นความผิดตาม ม. 43 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เนื่องจากความหมายตามพจนานุกรมคำว่า "การขับขี่" หมายความว่า สามารถบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้ โดยอ้างว่าขณะรถติดสัญญาณไฟแดง รถไม่ได้เคลื่อนที่ จึงก่อให้เกิดปัญหาความเคลือบแคลงในทางกฎหมาย

ทาง สตช. ได้สอบถามความเห็นของหน่วยงานในสังกัดแล้ว ปรากฎว่า มีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน ว่า การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะรถจอดติดสัญญาณไฟแดง "โดยไม่มีอุปกรณ์สำหรับสนทนา" เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522  เนื่องจากผู้ขับขี่รถ ถือว่าเป็นบุคคลผู้ใช้ทางเดินรถ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย   ทั้งที่ เป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ มิใช่ตีความตามพจนานุกรม กรณีการจอดรถในขณะติดสัญญาณไฟแดง ยังถือว่า ผู้ขับขี่ ต้องควบคุมรถอยู่ตามกฎหมายจราจร และพร้อมที่จะขับเคลื่อนต่อไปเมื่อมีสัญญาณไฟเขียว ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีสติและสมาธิตลอดเวลาในการใช้มือทั้งสองข้างควบคุมรถ


แต่เนื่องจากกรณีดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งผู้ให้ความเห็นเป็น "อดีตผู้พิพากษา" จึงอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติหากมีการจับกุมในกรณีดังกล่าว อันอาจทำให้เจ้าพนักงานถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่หากไม่ดำเนินการใดๆ ก็อาจทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดความเคยชิน และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ทาง สตช. จึงขอหารือตามรายละเอียดข้างต้นว่า การใช้โทรศัพ์เคลื่อนที่ในขณะหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟแดง เป็นความผิดตามมาตรา 43 (9) แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 หรือไม่

ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีความเห็น ตาม  เรื่องเสร็จที่ 1181/2558 สรุปว่า เมื่อความในมาตรา 43(9) แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะห้ามการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะผู้ขับขี่ควบคุมรถอยู่ในทางเดินรถไม่ว่ารถดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างการเคลื่อนที่หรืออยู่ระหว่างการหยุดรถตามสัญญาณจราจรโดยยกเว้นไว้เฉพาะการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้"อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา"โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือ หรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น

ฉะนั้น การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่หยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมตามข้อยกเว้นดังกล่าว จึงเป็นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างการขับรถ และเป็นความผิดตามมาตรา 43 (9) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 157 แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

ทั้งนี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ข้อยกเว้นการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถได้ จะต้องใช้กับอุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ต้องไม่ถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น สมอลล์ทอล์ค หรือ บลูทูธ จึงสามารถใช้ได้ไม่ถือเป็นความผิด

แต่ถ้าเป็นการใช้มือกดเพื่อรับโทรศัพท์ โดยเปิดลำโพง หรือ Speakerphone  ซึ่งติดตั้งในตัวโทรศัพท์ ถือเป็นการใช้โทรศัพท์ตั้งแต่เริ่มแรก โดยมิได้ใช้อุปกรณ์เสริม แม้ภายหลังจะไม่ได้ถือหรือจับ ก็ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนี้แล้ว

ส่วนกรณีการนำแท่นวางโทรศัพท์มายึดติดกับพวงมาลัยรถยนต์ เพื่อใช้ในการพิมพ์ข้อความสนทนา (chat) ขณะขับรถนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายถือว่าเป็นการใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่