ใครว่าอยู่เมืองนอกสบาย By สะใภ้ฟินแลนด์#1

กระทู้คำถาม
สวัสดีค่ะ เรา เป็นสะใภ้ฟินแลนด์ และอยู่ฟินแลนด์มาได้จะ 4 ปี เดือนกันยานี้แล้วค่ะ

อยากแชร์ประสบการณ์ชีวิตเมียฝรั่งในต่างแดน การมาใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก ที่ผู้หญิงไทยหลายๆคนคิดว่าสบาย เป็นคุณนาย และไฮโซเหลือเกิน เบื้องลึกเบื้องหลัง และรายละเอียดยิบย่อยมันมีมากมาย ใจอยากจะเล่าให้ครบ ตอบให้หมดทุกคำถาม แต่เวลาแม่ลูกหนึ่ง ที่ต้องเรียนด้วย ทำงานไปด้วย ทั้งนอกบ้านในบ้าน เอาที่เนื้อๆ ที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้สนใจใคร่รู้ ไปก่อนนะคะ หากวันใดมีเวลา จะเข้ามาเพิ่มเติมเนื้อหาให้ค่ะ

แบ็คกราวน์

เราเป็นลูกสาวคนเดียวของบ้าน พ่อเสียตอนเรียนอยู่มหาลัยปีสุดท้าย รูปร่างหน้าตา ก็สาวเชียงใหม่ธรรมดาทั่วไป ครอบครัวฐานะปานกลาง พอมีพอกิน เรียนจบครู แต่ไม่อยากเป็นครู(ณ ตอนนั้น) เลยมา ทำงานโรงแรมอยู่ 4 ปี ส่งผลให้การใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์พอใช้-ดี ทำงาน อยู่ดีๆ เกิดเบื่อ ลาออกไปเป็นออแพร์ที่ประเทศเยอรมัน คิดว่าน่าจะสนุก ได้ไปเปิดโลกกว้าง แต่พอไปถึงจริงๆ มันไม่สนุกเลย คิดถึงแม่ คิดถึงแฟน  อยู่เยอรมันได้ 8 วัน ก็ดราม่าน้ำตาแตก โฮสท์ทนเห็นไม่ไหว เลยซื้อตั๋วเครื่องบินให้บินกลับมาไทย กล้าพูดได้เต็มปากเลยค่ะ ว่า ครอบครัวเราไม่ได้รวย ชนชั้นกลาง แต่แม่เลี้ยงให้เป็นคุณหนูที่สุด(แม่รักมากเกินไป) เกิดมาไม่เคยทำอะไรเองเลย แม่ทำให้หมด มีซักผ้ารีดผ้าของตัวเองบ้างบางครั้ง เท่านั้น ตอนเรียน ก็เที่ยวกินเหล้ายันเช้าเกือบทุกคืน ใช้ชีวิตเละเทะ ทั้งผู้ชายทั้งสุรา แต่ไม่เอายาเสพติดนะคะ เรียนไปแรดไป จบมาด้วยเกรด 2 กว่าๆ ตอนนั้นยังไม่รู้จักคิดอะไร ไม่เสียใจ คิดแค่ใช้ชีวิตสนุกสนาน ไร้แก่นสารไปวันๆ เงินไม่พอ ก็กลับบ้านไปขอแม่ แม่ก็ให้ทุกครั้ง ไม่เคยปฏิเสธ พอตอนทำงาน โรงแรม ได้เงินเดือนเยอะ(เซอวิสชาร์จบางเดือนสองสามหมื่น) ก็กินๆเที่ยวๆ ไปช้อปปิ้ง เมืองนอกบ่อยๆ ไม่เคยมีเงินเก็บในธนาคารเลยแม้แต่บาทเดียว

จนปี 2010 นึกอยากเป็นครู ก็ไปสมัครเป็นครูอัตราจ้าง สอนคณิตศาสตร์ ที่บนดอย ตอนนั้น ก็มีแฟน ที่ผ่านมาก็มีแฟนเป็นคนไทยซะส่วนใหญ่ มีแฟนญี่ปุ่นอยู่พักใหญ่ๆ แต่สุดท้ายด้วยความห่างไกล ก็ไปกันไม่รอด  
แต่ก็นั่นแหละค่ะ โชคชะตา ฟ้าลิขิต อยู่ดีๆ ก็รู้สึก นึกอยากมีครอบครัว(เหมือนนึกอยากกินส้มตำยังไงอย่างงั้น55) ชั้นอยากมีลูก (ไม่ได้คิดเรื่องแต่งงาน มีสามี คิดแต่อยากมีลูกเท่านั้น) ทำยังไงล่ะ? จะไปหาพ่อของลูก พ่อพันธุ์ดีๆได้ที่ไหน? ตัวเองก็ทำงานอยู่ไกลแสงสี สะบัดผม ชมวิว อยู่กลางป่าเขาลำเนาไพรซะขนาดนี้ กับแฟนตอนนั้นก็มีปัญหาไม่เข้าใจกัน หลายเรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือ แฟนเป็นทอมค่ะ ไม่สามารถเสกเด็กเข้าท้องให้ได้ เลยตัดสินใจ เริ่มปฏิบัติการ เข้าเว็ปหาคู่ แบบจงใจ ตอบตรงๆ ไม่แอ๊บเลยค่ะว่า ตอนนั้นอยากได้สามีชาวต่างชาติ(ชาวยุโรป สแกนดิเนเวียน เจาะจงภูมิภาคด้วยนะเออ 55) เพราะคิดอยู่อย่างเดียว ว่าลูกครึ่งฝรั่ง คือ 99.99% หน้าตาดี ลูกชั้นต้องออกมาขาว สวย จมูกโด่ง หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา ปากนิดจมูกหน่อย คิดเท่านั้นจริงๆ

เจอพ่อของลูกยังไง??

ไม่รู้ว่าจะเรียก พรหมลิขิต หรือกรรมลิขิตดี 55 หลังจากสมัครเว็ปหาคู่ออนไลน์เว็ปนึงไปแล้ว ลงรูป รายละเอียดอะไรหมดแล้ว ก็นั่งเช็คอีเมล ข้อความเข้ารัวๆ บางคนอ่านถึงตรงนี้อาจจะกำลังคว่ำปากเป็นสระอิ โถ่ววว ที่แท้ก็เจอผัวทางเน็ต บอกเลยนะคะว่า สวยไม่มาก แต่เรด้าเรื่องผู้ชายของเรานี่ พลาดน้อยมากนะคะ วาสนาพอมี บุญเก่าก็พอมี โชคดี ฟ้าเลยส่งคนดีๆมาให้พิจารณาอยู่เสมอๆ เราเจอกันทางอินเตอร์เน็ตค่ะ(โลกกลม คนเคยมีเวรมีกรรมทำบุญร่วมชาติกัน จะได้เป็นคู่ผัวตัวเมียกัน ยังไงก็หนีกันไม่พ้น จริงๆเราเคยเจอกันตัวเป็นๆที่ กทม. เค้าพยายามติดต่อ แต่ด้วยวิถีชีวิตของเรา  ที่วุ่นวายมาก ในตอนนั้น เลยไม่ได้สนใจอะไร แม้กระทั่งนามบัตรที่เค้าฝากเพื่อนให้ ก็ทิ้งไปตั้งแต่วันแรก) เราแสดงความรัก ความห่วงใย ติดต่อกันผ่านเน็ต(ส่งอีเมล โทรสไกป์) ตลอด จนกระทั่งแต่งงาน และย้ายมาอยู่กับสามีที่ประเทศฟินแลนด์ ถึงแม้ระหว่างทาง ชีวิตคู่จะไม่ได้ราบรื่น สวยงามอย่างที่เราวาดฝันไว้ แต่เราก็จับมือกัน ฝ่าฟันทุกเรื่องราวจนถึงวันนี้

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นครู เราไปทำงานเป็น GRO อยู่โรงแรมห้าดาวชุดฟอร์มไทยจักรี แห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำอยู่สามเดือน ก่อนจะลาออกแค่วันเดียว มีลูกค้า ชาวฟินแลนด์คนนึงฝากนามบัตรไว้ให้ ตอนเช็คเอ้าท์(แต่เราไม่อยู่) บอกว่าประทับใจรอยยิ้มสยามของเรา แน่ะ!! แต่ สอจอ เสียใจค่ะ ตอนนั้นไม่ได้คิดอารายเล้ยยย ไม่ได้เก็บนามบัตรฮีไว้ด้วยซ้ำ ไม่จำชื่ออีกด้วย แต่จำหน้าได้คลับคล้ายคลับคลา เพราะฮีไว้หนวดทรงคุณไมเคิล พูพาร์ท 555

เวลาผ่านไป เดือนมกราปี 2011 กลับมาที่เว็ปหาคู่ ณ โรงเรียนกลางดอย ที่เปิดออนไลน์ไว้ตลอด ทั้งวันทั้งคืน(กันพลาด55) ขณะกำลังนั่งทำแผนการสอน เห็นข้อความนึงเด้งเข้ามา เปิดอ่านดู เฮ่ยยยยย นี่มันคุ้นๆนะหนวดเคราแนวนี้ มันชายฟินแลนด์ผู้นั้นนี่นา 55 ฮีทัก IM เข้ามา อธิบายตัวเองเสียยืดยาว ว่าจำฮีได้ไหม? ทำไมไม่เห็นอีเมล ติดต่ออะไรมาเลย? ฮีโทรไปถามหาเราที่ โรงแรมเก่า คนที่นั่นก็บอกว่าลาออกไปแล้ว บอกถ้าจำไม่ได้ ฮีขอสไกป์เราได้ไหม จะได้คุยกัน แบบเห็นหน้า?? นี่ก็ใจง่ายมากกก เล่นตัวคืออัลไล สมองไม่ประมวลผล 555 ให้สไกป์เค้าไปเดี๋ยวนั้น(กับคนอื่นๆที่คุยที่ขอมาหลายๆคนในเว็ป ไม่เคยให้สไกป์เลยแม้แต่คนเดียว) ขอตัวไปเข้าห้องน้ำ 10 นาที(กรีดอายไลเนอร์ เติมแป้ง 55)

ก็นั่นแหละค่ะ จากวันนั้นก็สไกป์คุยกันตลอดทุกวัน โทรคุยข้ามประเทศทุกวัน(เค้าโทรมา) จนกระทั่ง เค้าบินมาหาที่เชียงใหม่ วันที่ 8 เดือนเมษา วันที่ 14 เมษา ก็หมั้นกัน ท่ามกลางความตะลึงพรึงเพริด บวกกลัวว่าเราจะถูกหลอกไปขาย ของแม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อนสนิทมิตรสหาย(มาคิดตอนนี้ก็แปลกมาก ที่ตอนนั้น เราไม่นึกกลัวเลยสักนิดเดียว สาวๆคนอื่นที่อ่านเรื่องนี้ ควรใช้วิจารณญาณ ในการคิดและตัดสินใจมากๆนะคะ มิควรเอาเป็นแบบอย่าง คนเราโชคชะตา คราวดีเคราะห์ร้ายมันต่างกัน) เค้ากลับไปฟิน เราเตรียมงานแต่งที่เชียงใหม่ วันที่ 10 กรกฎา 2011 เค้าก็บินกลับมาแต่งงานกัน และทำเรื่องขอเรสสิเด้นเพอมิท(วีซ่าพักอาศัย) จนเราย้ายตามเค้า มาที่ฟินเดือนกันยาปี 2011 ในที่สุด

วีซ่าพักอาศัย(เรสฯ) ของที่นี่ เค้าให้ครั้งแรก 1 ปี ต่อครั้งที่สองให้ 4 ปี ครั้งที่สาม 7 ปี ครั้งที่สี่ ได้ถาวร ตลอดชีวิต(ถ้ามาถึงครั้งนี้ คนส่วนใหญ่ก็จะได้ พาสปอร์ตฟิน ได้สัญชาติฟิน ถือเป็นพลเมืองฟินแลนด์กันหมดแล้ว) มาถึงที่นี่ อะไรๆก็เหมือนจะดี สามีช่วยเหลือจัดการทุกอย่าง แต่ชีวิตคนเรา มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

ปัญหาเรื่องผัวๆเมียๆ

สามีเราอายุ 52 พ่อแม่เสียแล้ว เค้าเคยมีครอบครัวมาก่อน มีลูกติด 4 คนด้วยกัน(จะลูกดกไปไหน?) กับเมียเก่าที่หย่ากันไปได้ 2-3 ปี ก่อนจะมาแต่งงานกะเรา และทางเมียเก่า ก็มีสามีและลูกใหม่ไปแล้วด้วย สามีมีหน้าที่การงานดีมาก เงินเดือนดีมาก แต่หนี้สินเก่าก็มาก ตอนแต่งงานกันใหม่ๆ ก็ไม่ได้คุยรายละเอียด อะไรเรื่องพวกนี้เลย เพราะมองโลกในแง่ดี คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ฝรั่งเค้าคงไม่มีดราม่า เค้าคงเข้าใจอะไรได้ง่ายๆ แต่ หารู้ไม่ว่า ฝรั่ง มันก็คนเหมือนกัน คนเหมือนเรา กิน ขรี้ ปรี้ เยี่ยว เหมือนกัน มีความรัก ความเกลียด ตัณหา หน้ามืด โง่ บัดซบ ทำผิดพลั้ง ผิดพลาดได้เหมือนเรา

สั้นๆง่ายๆเลยนะคะว่า "ถ้าเลือกได้ เชื่อเถิดค่ะว่า อย่าไปเลือกมีสามีเป็น พ่อหม้ายลูกติด(ที่ลูกยังอยู่ในบ้านเดียวกัน) และถ้าเป็นไปได้ ให้เลือกพ่อหม้ายเมียตาย ไม่ใช่เมียหย่า จะดีที่สุด"

ระยะสามปีแรก เรามีปัญหาสองทาง ทั้งกับลูกติดทั้งเมียเก่า จนเกือบจะหย่ากัน ถึงสองครั้งสองครา เราพร้อมเต็มที่ เตรียมจะหอบลูก ย้ายออกไปอยู่ข้างนอกทุกเมื่อ แต่สุดท้าย เค้าก็เลือกเราและลูก เค้ายืนยันไม่ยอมหย่า แต่อ้อนวอนขอโอกาส จัดการเคลียร์ปัญหา ทุกอย่าง เพื่อพิสูจน์ตัวเอง จนจบไปทีละปัญหา แสดงให้เราเห็นว่าเรากับลูกสำคัญ กับชีวิตเค้ามากแค่ไหน จนตอนนี้ สถานการณ์ครอบครัวของเรา ก็ปกติสุขดีแล้วค่ะ แม่เราเคยพูดไว้ว่า ผัวเมียกัน เหมือนลิ้นกับฟัน อยู่ด้วยกันทุกวัน มันก็ผิดพลาดกันได้ กระทบกระทั่งกันได้ อันไหนให้อภัยได้ มองข้ามได้ ทำเป็นลืมๆ มองไม่เห็นได้ ก็ให้ทำ ทุกอย่างเริ่มใหม่ได้เสมอ ตราบใดที่มือของทั้งสองคนยังจับกันแน่นอยู่ ยังพร้อมจะเดินไปด้วยกัน ก็ไม่มีใครหรืออะไรมาแทรกตรงกลาง หรือบอกให้หยุด ให้แยกกันได้ แต่เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกเหนื่อยเกินไป ให้เราลองปล่อยมือเค้า แล้วพิจารณาว่า เรายืนคนเดียว เดินคนเดียวลำพัง ไหวไหม ถ้าไหวก็เดินต่อไป แต่ถ้าไม่ไหว ก็ต้องวางแผนชีวิตใหม่ เริ่มใหม่อีกที แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าเค้ารักเราจริง เค้าจะไม่มีวันปล่อยมือเรา(ลึกซึ้งบาดใจ เลือดไหลซิบ55)

เส้นทางการใช้ชีวิต/เรียน/ทำงาน ที่ฟินแลนด์

ในส่วนนี้ยาวหน่อยนะคะ เพราะเราต้องการจะโฟกัส ประเด็นนี้

บางคนอาจจะเคยได้ยิน ได้อ่านข่าวมาบ้างแล้ว ว่าประเทศฟินแลนด์ เป็นประเทศที่มีสวัสดิการของรัฐที่ดีที่สุดในโลก ประเทศหนึ่ง เราเข้าประเทศนี้ มาด้วยวีซ่าแต่งงาน(พักอาศัยถือเรส) ย้ายติดตามสามีมา เราโชคดี ที่มาถึงที่นี่ วันที่ 10 กันยา ก็ได้เริ่มเรียนภาษาฟินนิช ในวันที่ 14 กันยา ไม่ต้องรอสมัครใดๆ เพราะสามีจัดการ เดินเรื่องให้ทุกอย่าง ก่อนจะมาถึง(ข้อดีข้อแรกของฮี คือ well organized) แต่ที่โชคดีกว่า คือ เราได้เงินค่าเรียนภาษาจากรัฐ โอนเข้าบัญชีธนาคารของเรา ทุกเดือน ประมาณ 900-950 ยูโร(เงินค่าเรียนที่ได้นี้ จะได้มากน้อยต่างกันไป ตามจำนวนบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปีที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันกะเรา) ตอนมาแรกๆ มีลูกติดสามีอยู่ในบ้าน 3 คน เราเลยได้เยอะ แต่พอสามสี่ปีหลัง ลูกสาวคนโตอายุครบ 18 ก็ย้ายออกไปอยู่กับเพื่อน ลูกชายคนที่สอง อายุครบ 18 รัฐก็ไม่คิดเงินรวมให้ พอตอนเรามีลูกสาวปี 2013 ก็พอดีกับรัฐบาลเค้า ปรับลดเงินตัวนี้ ลงอีกนิดหน่อย เลยเหลือแค่ 750- 800 กว่ายู

แต่แค่นี้ก็ถือว่าโอเคแล้ว สำหรับเรา เพราะอยู่ที่นี่เราแทบไม่ได้ใช้เงินจ่ายอะไรเลย(ยกเว้นช้อปปิ้งออนไลน์ แฮ่ๆ) สามีเรารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่างในบ้าน ทั้ง ค่าอาหาร ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ ประกันสุขภาพ ค่ายา ค่าเดินทาง ค่าเดย์แคร์ลูก ค่าตั๋วเครื่องบิน ตลอดจนถึงของใช้ส่วนตัวของเรา เค้าทำแบบนี้ตั้งแต่แรก จนถึงปัจจุบัน โดยที่ไม่เคยปริปากบ่นเลย ว่าเราเป็นตัวเพิ่มภาระ ที่เค้ามีหนี้ต้องจ่ายอยู่ทุกวันนี้ จริงๆเราก็มีส่วน เพราะตอนแต่งงานกัน ค่าสินสอด กับค่าจัดงานแต่ง รวมกันก็เกือบล้านบาทแล้ว ซึ่งเค้าก็ไม่ได้รวย  ไม่ได้มีสมบัติเก่า เป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดา ที่มีลูกสี่คนต้องเลี้ยงดู เรามาสืบรู้ทีหลังว่า เค้าใช้เครดิตหน้าที่การงานของเค้า ขอกู้เงินแบงค์ มาแต่งงานกับเรา แต่เค้าก็ไม่เคยเอ่ยปากบอกเรื่องนี้เลย (นี่คือข้อดีของสามี ข้อที่สอง คือ ไม่ทวง ไม่พล่ามและ ไม่ลำเลิก บุญคุณ) ระยะหลังตอนเรียนภาษาปีสุดท้าย ตอนลูกได้สองขวบ กลายเป็นเราเองต่างหาก ที่รู้สึกเกรงใจ รู้สึกอยากช่วยแบ่งเบาภาระเค้าบ้าง จนเราเป็นคนเอ่ยปาก บอกเค้าเองว่า จะช่วยออกค่าอาหาร เดือนละ 200ยู(ช่วยได้ไม่มาก เพราะเราก็ได้เดือนละไม่มาก และระยะเวลาที่ได้เงิน ก็ไม่แน่นอน แต่ระลึกและวางแผนไว้ในใจเสมอ ว่าถ้าเราได้งานทำเมื่อไหร่ เราจะช่วยเค้าให้มากกว่านี้)

ป.ล.เงินค่าเรียน เราได้ประมาณ 3 ปีเท่านั้น (จำระยะเวลาที่แน่นอนไม่ได้ ต้องขออภัยด้วย) แต่ถ้าเรียนจบ แล้ว เราไปเรียนต่อสายอาชีพ(ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และความถนัดของเรา) รัฐก็จะช่วยสนับสนุน จ่ายเงินเข้าบัญชีเราต่อไปให้อีก 24 เดือน(เท่าเดิมที่เราเคยได้ตอนเรียนภาษา) แต่ถ้าเราเรียนจบหมดแล้วแต่ ยังไม่มีงานทำ หางานยังไม่ได้ ก็ให้เราไปรายงานตัวเป็น บุคคลว่างงาน รัฐก็จะจ่ายให้เราทุกเดือนๆละ 500-700 ยูโร นอกจากนั้น รัฐยังช่วยจ่ายค่าที่พักอาศัย 80% ยกตัวอย่างเช่น กรณีหากเรามีปัญหาครอบครัว หรือหย่าร้างกับสามี แล้วย้ายออกไปเช่าอพาร์ตเม้นท์อยู่เอง เป็นต้น
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
เราส่งเงินกลับบ้านให้แม่ทุกเดือนไม่เคยขาด 250-300 ยู แต่แม่ก็ไม่เคยเบิกไปใช้ส่วนตัวเลย แม้แต่บาทเดียว นางบอกว่าเก็บไว้ให้เรามาใช้ ตอนกลับไทยไปเยี่ยมแก ทุกปี(เรากลับปีละครั้ง) แม่ ก็ยังเป็นแม่ ที่คิดถึงลูกก่อนเสมอ อยู่ทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออกจริงๆ ..

พูดถึงเรื่องระบบการรักษาพยายาลของที่นี่ ก็ฟรีหมดค่ะ(จริงๆก็ไม่ได้ฟรีเสียทีเดียว เพราะเราก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประจำปี ทุกปีๆละ 28€) แต่นี่ก็ถูกแสนถูกแล้ว อันที่จริง สมาชิกครอบครัวเราทุกคน สามีทำประกันสุขภาพไว้ให้ หมายความว่า 90% เวลาเราป่วย ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เราก็จะไปหาหมอที่คลีนิคเอกชน สามีจ่ายก่อน แล้วไปเบิกคืนกับบริษัทประกัน อีกวันรุ่งขึ้น ก็ได้เงินคืนทันทีเต็มจำนวนค่ะ ดังนั้น ถ้าถามว่า ระบบโรงพยาบาลพื้นฐานที่นี่ดีไหม เราเคยไปใช้บริการอยู่ 3-4 ครั้ง เราว่า รพ.รัฐที่ไทยเราโอเคกว่าอ่ะค่ะ ที่นี่ เรารอนานมากกก หมอมีน้อย(ส่วนมากเป็นหมอจบใหม่ หมอรัสเซีย มักจะวินิจฉัยผิดพลาด บอกว่าไม่เป็นอะไรมากตลอดๆ) และการจะซื้อยาที่นี่ ก็เคร่งครัดมากนะคะ จะเดินดุ่มๆๆ เข้าไปร้านขายยา ขอซื้อยาแก้ไอ ยาแก้อักเสบ แบบนี้ทำไม่ได้นะ ต้องมีใบสั่งยาจากหมอทุกครั้ง โดยเฉพาะการจ่ายยาให้เด็กเล็กๆ เค้าจะเคร่งครัดมาก ดังนั้น ที่ รพ. จะไม่มีห้องจ่ายยา และ ห้องแคชเชียร์ เหมือนบ้านเราค่ะ ยิ้ม

จากก่อนแต่งงาน ตอนอยู่ไทย ดังที่ได้พูดไปแล้วตอนต้น ว่า "ไม่เคยทำงานบ้าน ทำกับข้าวอะไรเลย" เพราะแม่ทำให้หมดทุกอย่าง ชีวิตหลังแต่งงาน คือ เปลี่ยนแบบ หลังเท้าเป็นฝ่ามืออ่ะค่ะ คือ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น อย่างมากโข รู้จักอดทนอดกลั้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา เสียสละ ละเอียดอ่อน เป็นแม่บ้านเต็มตัว และเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นมาก เพราะตอนนี้เราทำเป็นหมดทุกอย่าง เรียกว่า เทิร์นโปรแม่บ้านได้เลย 55 กับข้าวหรอคะ เมื่อก่อน นึ่งข้าวเหนียว ผัดมาม่า ยังทำไม่เป็นเลย แต่ เดี๋ยวนี้ แอ๊ดว๊านซ์ขนาดทำ น้ำพริกอ่อง ขนมจีนน้ำเงี้ยว ต้มยำกุ้ง น้ำยาตีนไก่ แกงเผ็ด พะแนง เขียวหวาน ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า บลาๆๆ จะเอาเมนูไหน ขอให้บอก ทำได้หมด อร่อยด้วย ยิ้ม แล้วยิ่งพอมีลูกนะ ต้องเลี้ยงเองคนเดียว วิ่งขาขวิด ทำเองหมดทุกอย่าง ทั้งงานบ้าน ล้างขวดนม ทำกับข้าว พาลูกไปเดินเล่น และอื่นๆ โอ้วโหววว จะบอกว่า สกีลการใช้ชีวิต นี่สตรองขึ้นมาอีก หลายระดับเรยทีเดียวเชียว การเลี้ยงลูกต่างแดน คนเดียว นี่มันเหนื่อยโฮกๆเลยนะคะ ไม่เชื่อก็ลองดู นี่คิดหนักมาก สามีบ่นอยากจะมีลูกชายอีกซักคน(ข้อเสียของสามี คือ ฮีไม่เป็นเรื่องช่วยเลี้ยงเด็กเลย ไม่มีจิตอาสากะเรื่องนี้ เล่นกะลูกได้ แต่ไม่นาน ทั้งที่ฮีมีลูกมาแล้วตั้งสี่ห้าคน แปลกแต่จริง)

เอาล่ะค่ะ มาเริ่มกัน เรื่อง "เส้นทางการเรียน" ของเรากัน

เราเรียนภาษาฟิน ทั้งหมดสามปี 2011-2015( ลาคลอดเลี้ยงลูกอยู่บ้านปีนึง) เอิ่ม เมื่อตะกี้ ลืมบอกไปค่ะว่า ตอนลาคลอดเราก็ได้เงินแม่จากรัฐนะคะ 550€ คูณ 10 เดือน บวกกับ พอท้องเดือนที่เจ็ด-แปด รัฐจะส่ง กล่องบรรจุภัณฑ์ ใส่เสื้อผ้า ของใช้จำเป็นสำหรับเด็กแรกเกิด และคุณแม่มือใหม่ ของดี ใช้วัสดุดีด้วยนะคะ มูลค่าน่าจะเกือบ 500€ เค้าส่งมาให้ทางไปรษณีย์ ถึงที่เขตบ้านเราเลยค่ะ คุณแม่ในฟินแลนด์จะได้กล่องนี้ ทุกคน ... ไอเดียอันนี้น่าชื่นชมยกย่อง ควรปรบมือรัวๆให้ รัฐบาลประเทศนี้จริงๆ ยิ้ม

พอเรียนจบภาษาฟิน ปี 2015 เราได้ kieli taito ระดับ B1.1 มา ก็ ถือว่า ไม่เลว แต่ที่ไม่พอใจคือ เราพูดภาษาฟินน์ได้ไม่ดี ไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร เพราะอยู่บ้าน พูดแต่กำเมือง กับลูกสาว และภาษาอังกฤษกับสามีและลูกๆสามี ทุกวัน เพื่อน ก็มีแต่เพื่อนคนไทยที่สนิทอยู่ 2-3 คน ก็เม้าท์ไทยเป็นไฟใส่กันตัลลอด แนะนำเลยนะคะว่า สาวๆคนไหน ที่จะมีสามีเป็นคนฟินน์ แพลนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ ให้ฝึกพูด ฝึกใช้ภาษาฟินน์ กับแฟนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆเลยนะคะ ฝึกวันละเล็กๆน้อยๆก็ยังดี มันมีประโยชน์มากๆ เพราะ ถ้าคุณมาถึงที่นี่แล้ว คุณสามารถฟังและพูดภาษาฟินได้ดี ยิ่งมากเท่าไหร่ โอกาสการได้ทำงาน/ได้ที่เรียนต่อ ของคุณก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ทักษะการอ่าน การเขียน มันฝึกกันได้ และมันต้องใช้เวลาค่ะ

ที่นี่ เค้าจะมีหน่วยงานๆนึง สำหรับให้คนต่างด้าวอย่างเรา ไว้ปรึกษา วางแผน เรียนต่อ ทำงาน เรื่องตลาดแรงงาน ว่าเราควรเรียนจะเรียนต่อด้านใด เพื่อจะไปทำงานอะไร เรียกว่า TE-toimisto ในหน่วยงานนี้ก็จะมี ป้าคนนึง ที่ภาษาอังกฤษดีมาก คอยให้คำแนะนำ เรา ตั้งแต่ปีแรกที่มา เรียกว่า ช่วยแนะแนวชีวิตเราจนกว่า เราจะได้งานทำ ...

ทีนี้ วุฒิที่เราได้มาจากเมืองไทย คือ ปริญญาตรี ศึกษาศาสตร์(คณิตศาสตร์) ประสบการณ์ การทำงานของเราก็ดู จะแยกเป็นสองสาย คือ สายงานโรงแรม(หน้าฟร้อนท์) ทำอยู่ 4 ปี กับสายงายครู(ที่ทำแค่ปีเดียว เป็นอัตราจ้างอีกต่างหาก) เราก็สับสนอยู่หลายปีเหมือนกัน ว่าจะไปทางไหนดี ทางสายโรงแรมก็ดูจะหางานทำง่ายกว่า แต่ก็ต้องแลกกับเวลาทำงานที่ ไม่ลงตัว กับเวลาครอบครัว  สามีกับป้าที่ TE ก็เชียร์เหลือเกิน ให้เราเป็นครู เพราะที่นี่ ครูเป็นอาชีพที่มั่นคงและรายได้สูงอันดับต้นๆ เงินเดือน เดือนนึงก็แสนกว่า รวมวันหยุดปิดเทอมประจำปี (ที่นี่ นร.หยุด รร.ปิด คือ ปิดจริง ครูก็หยุดด้วย ไม่มีการต้องมาเข้าเวร นอนเวร หรือมาทำงาน ประชุม สัมมนาพิเศษ ในวันหยุด เหมือนคนเป็นครูที่บ้านเรา) ฟังแล้วน่าสนใจมาก ใครบ้างไม่สน จริงไหมคะ?? แต่!!!!! การจะเป็น คุณครู ที่ประเทศนี้ มันไม่ได้เป็นกันง่ายๆเลย!! มาดูกัน!!!

1. ต่างด้าว หัวดำ ริอยากจะเป็นครู ภาษาฟินนิชของคุณอยู่ระดับไหน ถึง C1.1 ทุกทักษะเมื่อไหร่ ค่อยมาว่ากัน บางคนอาจจะคิดว่า ก็ไปเป็นครู ที่ใช้ภาษาอังกฤษสอนสิ ที่ รร.นานาชาติงี้ รร.สอนหลักสูตรอินเตอร์งี้ มิง่ายกว่าหรือ??!! ถามกลับคำเดียวค่ะ ว่า ระหว่าง ฝรั่งสำเนียงเนทีฟสปีคเก้อร์ กับ เอเชี่ยนเลดี้ สำเนียงใกล้เคียง แต่ก็ยัง กึ่งๆกลางๆ อย่างเรา สุดท้ายแล้วเค้าน่าจะจ้างใคร?นอกจากคุณจะเทพเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นประโยชน์จริงๆ ซึ่งตอนนี้เรา ยัง ไม่ มี เศร้า

2. ครูที่นี่ "ต้องจบ ป.โท" ทุกคน ทุกกรณีค่ะ!! อันนี้ เราก็ ยังไม่มี เหมือนกัน ..

ทำอย่างไรดี?ควรวางแผนชีวิตด้านนี้ยังไง?

เราคิดใหม่ทำใหม่ค่ะ ทบทวนตัวเอง และปรึกษาสามี ว่าไหนๆก็อยากจะ มาทางสายครูนี้แล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ หากเราไม่ละความพยายาม เราก็เลยคิดว่า ไปลองสมัครเรียน เป็นครูผู้ช่วยสอนก่อน(Koulunavustaja)  ก็แล้วกัน

เราไปสมัครที่เกวด้า (Keuda คล้ายๆ รร เทคโนฯ อาชีวะ บ้านเรา แต่ใหญ่กว่า และครอบคลุมหลายสาขากว่านัก) ไปสอบข้อเขียนกับสัมภาษณ์ ก็มีอุปสรรค เยอะแยะเหลือเกิน จำได้ว่าวันนั้นฟ้าฝนไม่เป็นใจ สมงสมองก็ไม่ทำงานดี ลุกลี้ลุกลนเหลือเกิน ผลคือ สอบตกค่ะ ไม่ผ่านข้อเขียน (คนสมัครหลายร้อย คนฟินส่วนใหญ่ แต่รับแค่ 20 คน) เราก็เฟลอยู่พักนึง เบนเข็มไปแล้ว ว่า ภาษาฟิน เราคงห่วยจริงๆ คนจะเป็นครู เป็นผู้ช่วยสอนอะไรแนวนี้ เค้าคงต้องการคนที่พูด ที่สื่อสารได้ ระดับดีเยี่ยม เราคงยังอีกไกล กว่าจะไปถึงระดับนั้น ตัดใจสินว่า จะฟิตอ่านหนังสือ สอบ ไอเอล แล้วยื่นสมัครสอบ เรียนต่อ ป.โท ด้านคณิตศาสตร์ ในมหาลัยที่นี่เอา อาจจะมีความเป็นไปได้มากกว่า แต่ก่อนที่จะได้จองวันสอบไอเอล เราก็ได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง จากเกวด้า ที่ๆเราสอบตกนั่นแหละค่ะ ว่า มีโปรแกรมๆ หนึ่ง น่าจะเหมาะกับผู้อพยพหัวดำอย่างเรา เรียกว่า OIVA(ชื่อโปรแกรมเต็มๆภาษาฟินคือ ยาวมากกกก ไม่รู้จะยาวไปไหน คำแต่ละคำในภาษานี้น่ะค่ะ บางทีก็ถอนหายใจใส่เบาๆ) โปรแกรมนี้ สำหรับพวกต่างด้าวอย่างเรา โดยเฉพาะค่ะ เป็นโปรแกรม "เรียนเตรียม" เพื่อจะเป็น คนดูแลเด็กน้อย ที่เดย์แคร์ (perhepäivähoitaja) ..

ทำไมถึงเรียกว่า เรียนเตรียม??

เพราะ คนสวยหัวดำอย่างเรา ภาษายังไม่แน่นพอ ประเพณี วัฒนธรรม อะไรทุกอย่างของเค้า เราก็ยังไม่แน่น แล้วอย่างที่บอกไป ว่า ที่นี่เค้าให้ความสำคัญกับเด็ก ผู้หญิง และคนชรา มากค่ะ ดังนั้นแล้ว คอร์สนี้จึงบังเกิดขึ้น ระยะเวลาเรียน เพียง 10 เดือน ซึ่งมีการไปฝึกงานที่เดย์แคร์ไว้แล้วด้วย 2-3 เดือน และแน่นอนค่ะว่า เรียนฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม ยิ้ม

ทีนี้ค่ะ จะบอกว่า คนดูแลเด็กน้อย ที่เราจะไปเรียนนี้ จัดอยู่ในสาขาวิชาชีพ lähihoitaja(ผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด แปลไทยตรงตัว ไม่ผ่านกูเกิ้ล ผ่านกุเองนี่แหละ55) แล้ว lähihoitaja เนียะค่ะ มันสามารถแยกออกเป็นสองสาย คือ ดูแลเด็กน้อยต่ำกว่า 5 ขวบ(วัยเข้าเรียนอนุบาล) และดูแลคนชรา เราคิดเอง ก่อนสมัคร ว่า ดูแลเด็ก น่าจะโอเคกว่า ดูแลคนแก่ ไม่ได้ปรึกษาสามี และ ป้าที่ TE ถึงเรื่องตลาดแรงงานอะไร แต่มารู้ทีหลัง ว่า งานดูแลคนแก่ มันมีเยอะมากกกก รายได้ก็ดีมากเช่นกัน แอบเสียดายเบาๆ แต่ไม่เปนไร เรียนไปดูไป ค่อยว่ากันอีกที เพราะยังไง เราก็แพลนจะเรียนต่อ ในระดับสูงขึ้นไป(ป.ตรี ป.โท) ในด้านใดด้านนึง อยู่แล้ว

เราสมัครออนไลน์ไป เค้าก็เรียกไปสอบข้อเขียน โดยมีข้อแม้ว่า ต้องผ่านที่ ระดับ B1.1 มีคนไทยไปสอบหลายคนอยู่ คนชาติอื่นก็มีประปราย วันสอบสมองประมวลผลดีมาก เขียนอะไรไหลปรื๊ดๆๆ ค่อนข้างมั่นใจว่า ผ่านข้อเขียน แล้วประกาศผลมา ก็ผ่านจริงๆ ดีใจมาก เค้าเรียกไปสัมภาษณ์ อีกสองวันถัดมา เราก็ไป แต่หิ้วลูกสาวไปด้วยสุดฤทธิ์ เพราะเค้าไม่ได้ไปเดย์แคร์แล้ว เราคิดว่า คงไม่เป็นทางการอะไร แต่เราคิดผิด มันเป็นทางการมาก-มากที่สุด ดราม่าเกิดเยอะหลายประเด็น วันนั้น แต่สุดท้ายเราก็ สอบผ่าน คนสมัคร เกือบ 50 เค้ารับแค่ 12 คน กรรมการผู้สอบ เอาข้อสอบข้อเขียนที่เราทำให้ดู เค้าบอก ประทับใจมาก เพราะเราถูกหมด 100% (มั่วเก่ง55) แม้ว่าทักษะ writing ภาษาฟินของเรายังไม่ถึง ระดับที่น่าพอใจ แต่เค้าบอกว่าเค้าชอบวิธีการคิด และแก้ปัญหา ของเราที่เขียนในนั้นมากกว่า ยิ้ม

สรุป เราสอบผ่าน และตอนนี้ก็ส่งจดหมายตอบรับ การเข้าเรียนไปหมดแล้ว คอร์สเริ่มเรียน 8 กันยายนนี้ ในส่วนของ แพลนด้านอาชีพ การทำงาน และการเรียนต่อ ก็ได้วางแผนไว้บ้างแล้ว กับสามี หากเรียนคอร์สนี้จบ หากเราโชคดี เราอาจจะได้ทำงานที่เดย์แคร์(Trial work) แต่ต้องเรียนต่อเพื่อเอาดีกรี(วิชาชีพ)ไปด้วย ในเวลาเดียวกัน(อาจจะเป็นเรียนตอนเย็น) เรียนต่อเอาวิชาชีพก็อีก 2-3 ปี และหรือ long plan หากเรามีไฟ เราสามารถเรียนต่อในระดับ ป.ตรี หรือ ป.โท ทางด้าน Social/Hospital Business แนวนี้ ในมหาวิทยาลัยที่นี่ได้ ยิ้ม ฟังดู ชีวิตเราเริ่ม เข้าที่เข้าทางมาบ้างแล้ว ..

แช๊พเตอร์ใหม่ในชีวิตของเรา กำลังจะเริ่มต้น มีหลายเรื่องราวเหลือเกิน ที่เล่าไม่ครบ และกำลังจะเกิดขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งเรื่อง ผ่าตัดไทรอยด์ เรื่องเรียน เรียนต่อ เรื่องขอพาสปอร์ตฟิน(ต้องอยู่ครบ 5 ปี) ขออนุญาติ มาเล่าให้ฟังใหม่ ตอนทุกอย่าง done แล้วนะคะ

ขอบคุณทุกท่าน สำหรับการมีสมาธิอ่าน มาจนถึงบรรทัดนี้ ข้อมูลใดผิดพลาด(พิมภาษาฟินผิดไป) ยังไง โปรดให้อภัยกันด้วยค่ะ ยิ้ม
ความคิดเห็นที่ 6
ในฐานะที่ได้ชื่อว่า "เมียฝรั่ง" คนหนึ่ง  ที่เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าก้าวขึ้นเครื่องบินมาอยู่เมืองของสามีเอง โดยไม่มีใครบังคับหรือถูกหลอกลวงชักจูง

ฉันบอกตัวเองว่า  พร้อมเสมอในการต้องเจอกับความลำบาก ไม่เคยคิดว่ามันจะสุขสบายเลย กับการไปอยู่ในบ้านเมืองที่ไม่รู้จักสภาพอากาศไม่คุ้นเคยสุดขั้ว ผู้คนแตกต่างทั้งแนวคิดและภาษาอาหารการกิน  มันจะสบายไปได้อย่างไร   แต่เมื่อ ตัดสินใจมา  ฉันก็ไตร่ตรองอย่างมั่นใจแล้ว มันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของฉัน

ฉันจะไม่มาคร่ำครวญความลำบากให้ใครฟัง  ไม่ใช่เพราะ อาย  แต่เพราะฉันเป็นคนที่เคารพในการตัดสินใจของตนเอง   ฉันมองว่า สบาย หรือ ลำบาก สำหรับฉันไม่ได้ตั้งจากระดับเดียวกับคนอื่นๆ   บางทีที่ฉันบ่น ลำบากๆ คนอื่นอาจไม่เข้าใจว่า ลำบากตรงไหน  หรือถ้าฉันบอกว่า ฉันอยู่เมืองนอกแล้วสบาย หลายคนก็ไม่เชื่อ เพราะแต่ละคน เอามุมมองเรื่องความลำบากหรือสบายของตัวเองเป็นที่ตั้ง

เรื่องตั้งความหวัง มันแน่นอนอยู่แล้ว  ใครบ้างที่ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีทางเดินชีวิตโดยไม่ได้คิดหวังว่ามันจะดีกว่าเก่า  ความรู้สึกมันเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้นแหละ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่