พลังของละครญี่ปุ่นที่มีต่อสังคม!

เรื่องโดย : ChaMaNow www.marumura.com


ละครญี่ปุ่นถือว่าเป็นสื่อบันเทิงชนิดหนึ่งที่ให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน คนเข้าถึงง่าย และด้วยความเข้าถึงง่ายของละครญี่ปุ่นนี่แหละค่ะ คนญี่ปุ่นเลยเกิดความคิดหัวใส สร้าง “พลัง” อะไรบางอย่างสอดแทรกเข้าไปในนั้น ที่สามารถช่วยขับเคลื่อนสังคมญี่ปุ่นในด้านต่างๆ  ได้

วันนี้ก็เลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟังถึง “พลังแห่งละครญี่ปุ่น” ว่าจะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ


1. พลังโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยว
แน่นอนว่าเวลาเราดูละครญี่ปุ่นเราก็ต้องเห็นฉากตามสถานที่ต่างๆ ตามประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวของญี่ปุ่นไปในตัว ละครญี่ปุ่นไม่ได้มีหน้าที่แค่โปรโมตสถานที่น่าเที่ยวให้กับคนต่างชาติ (ที่ดูละครญี่ปุ่น) เท่านั้น แต่ยังช่วยโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างจริงๆ จังๆ อีกด้วย เห็นได้จาก “Asadora” หรือ “ละครตอนเช้า” ทางช่อง NHK ของญี่ปุ่นค่ะ ละครตอนเช้าของญี่ปุ่นมักจะผูกเรื่องราวกับสถานที่จริงในญี่ปุ่น





เช่น เรื่อง “Amachan” ก็จะเป็นละครที่มีฉากอยู่ในเขต “Tohoku” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นค่ะ เรื่องก็จะเล่าถึงวิถีชีวิตของคนในแถบนั้น เป็นการแทรกกลิ่นไอของ Tohoku ไปในตัว หลังจากที่ละครเรื่องนี้ออกอากาศไป ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามมาก เป็นละครญี่ปุ่นที่คว้ามา 7 รางวัลด้วยกันในงาน “Tokyo Drama Award 2013” และด้วยความนิยมนี้เอง ทำให้มีผู้คนได้เห็นความสวยงามของสถานที่ในแถบ Tohoku ละครเรื่องนี้นอกจากโกยเรตติ้งถล่มทลายแล้ว ยังเรียกรายได้เข้า Tohoku  กว่า32.8 พันล้านเยนเลยทีเดียว! เรียกได้ว่าเป็นละครญี่ปุ่นที่สนับสนุน “ญี่ปุ่นเที่ยวญี่ปุ่น” (อารมณ์เดียวกับไทยเที่ยวไทย) ได้ดีจริงๆ ค่ะ


2. สร้างจิตสำนึกรักชาติ
ละครญี่ปุ่นมีหลากหลายแนวมากค่ะ และมีแนวหนึ่งที่มีพลังช่วยสร้างจิตสำนึกรักชาติได้ก็คือ “ละครไทกะ” กับละคร “จิไดเกคิ” ถ้าให้เรียกเป็นไทยก็คือพวก “ละครแนวอิงประวัติศาสตร์” นั่นเอง

“ละครไทกะ” จะเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ฟอร์มยักษ์ทางช่อง NHK ค่ะ ฉายปีละ 1 เรื่อง จะเป็นละครที่มีความยาวมาก ฉายตั้งแต่ต้นปียันท้ายปีเลยทีเดียว

ส่วน “จิไดเกคิ” จะเป็นชื่อประเภทของละครค่ะ ที่ไม่ได้จำกัดแค่ว่าต้องเป็นละครไทกะ แต่หมายถึงละครทั้งหมดที่มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์

เนื้อหาของละครแนวนี้ก็จะพูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นค่ะ และที่สำคัญญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับละครแนวนี้มาก เห็นได้จาก “ละครไทกะ” จะทำกันเป็นธรรมเนียมทุกๆ ปี ในแต่ละปีต้องมีละครไทกะฉาย มีพิธีส่งมอบตำแหน่งนักแสดงนำในปีถัดๆ ไป ด้วย และเขาว่ากันว่าคนที่จะมารับบทนักแสดงนำของละครไทกะเนี่ย จะต้องเป็นนักแสดงมากฝีมือ ถึงจะได้รับเกียรติให้มาแสดง ด้วยความที่ทำกันเป็นธรรมเนียม ให้ความสำคัญ ทำให้ผู้คนหันมาสนใจละครแนวนี้ ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแค่ในหนังสือ แต่มีในสื่ออื่นๆ ให้สามารถเข้าถึงได้มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “ละคร” นี่แหละค่ะ และดูจะเป็นวิธีที่น่าสนุกด้วย อย่างนี้ความต้องการที่อยากจะให้คนในชาติรุ่นหลังได้มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในชาติบ้านเมืองก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ร่ำเรียนประวัติศาสตร์อย่างเคร่งเครียดกันให้เหนื่อยค่ะ




“Ryoma den” ละครญี่ปุ่นแนวไทกะยอดนิยม
เป็นเรื่องราวของ Sakamoto Ryoma ซามูไรผู้มีบทบาทสำคัญต่อสังคมญี่ปุ่น




3. สร้างอาชีพ
มีละครแนวหนึ่งที่พบเจอได้มากรองๆ จากละครแนวสืบสวนสอบสวนก็คือ แนว “อาชีพ” ค่ะ ละครที่เล่าเรื่องราวของอาชีพแต่ละอาชีพในแต่ละแง่มุม พร้อมเรื่องราวชีวิตของคนที่ประกอบอาชีพนั้น ซึ่งละครแนวนี้สามารถผลิตกำลังคนในแต่ละสายอาชีพที่กำลังขาดแคลนได้ด้วย





อย่างเช่น เรื่อง “Good Luck” ละครญี่ปุ่นเกี่ยวกับอาชีพนักบิน และอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน นำแสดงโดย “ทาคุยะ คิมูระ” พระเอกขวัญใจคนญี่ปุ่นตลอดกาล หลังจากที่เรื่องนี้ได้ออกอากาศไป สิ่งที่ตามมาในสังคมญี่ปุ่นก็คือ มีผู้คนจำนวนมากแห่กันมาสมัครงานด้านสายการบินเพิ่มขึ้นค่ะ





หรือเรื่อง “Code Blue” ละครเกี่ยวกับอาชีพของทีมแพทย์กู้ภัยทางเฮลิคอปเตอร์ สาเหตุที่สร้างละครเรื่องนี้ขึ้นมาก็คือ ในช่วงนั้นญี่ปุ่นกำลังขาดแคลนคนที่ประกอบอาชีพนี้อยู่พอดีค่ะ

“ละครแนวอาชีพ” จะนำเสนอทั้งชีวิตที่ยากลำบาก รวมถึงอุดมการณ์ในการทำงาน และโมเม้นต์ความเท่ ความน่าภาคภูมิใจของอาชีพผ่านละคร ด้วยสิ่งนี้เลยสามารถดึงพลังใจ ความรู้สึกอยากเป็น “ฮีโร่” ในสายอาชีพนั้นๆ จนผู้คนอยากจะลุกขึ้นมาทำงานอย่างขยันขันแข็งมากขึ้นค่ะ เรียกได้ว่า ถ้ากำลังขาดแคลนอาชีพไหน หรืออยากจะสนับสนุนอาชีพไหนมากขึ้นล่ะก็...สื่อละครญี่ปุ่นช่วยสังคมได้!


4. กล่อมเกลาจิตใจของผู้คน พร้อมชี้นำสังคมได้
ถ้าอยากสนับสนุนให้สังคมเดินไปในทิศทางแบบไหน สื่อละครก็จะเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะช่วยได้ค่ะ เห็นอย่างชัดๆ เลยก็คือ เรื่อง “Kaseifu no Mita” ที่เคยเล่าไปในบทความที่ผ่านๆ มา ว่าเป็นละครที่เสริมสร้างกำลังใจให้ชาวญี่ปุ่นที่กำลังผ่านพ้นภัยจากสึนามิให้ลุกขึ้นก้าวเดินได้อีกครั้ง ผ่านรูปแบบละครแนวครอบครัว ไม่ได้สื่ออย่างตรงๆ แต่ก็รับรู้ถึงพลังใจได้ไม่ยาก

แม้แต่พวกละครแนว “วัยรุ่น” ที่เล่าถึงชีวิตเด็กนักเรียน หลายคนอาจมองว่าเป็นละครวัยใสธรรมดาทั่วๆ ไป แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ด้วยความสนุกสนานในละครพวกนี้ พอดูแล้วจะทำให้เด็กรู้สึก “อยากไปโรงเรียน” มากขึ้น หรือบางเรื่องก็สร้างมาเพื่อขจัดปัญหาในรั้วโรงเรียน





เช่น เรื่อง “LIFE” ที่นำเสนอปัญหาการกลั่นแกล้งกันของเด็กญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก พอได้ดูเรื่องนี้ไป ผู้ใหญ่ก็จะได้เห็นถึงปัญหาที่มีในสังคมเด็กวัยรุ่น ชวนให้ตระหนักถึงการแก้ปัญหา และถ้าเด็กได้ดู เด็กก็จะได้เห็นอีกมุมค่ะว่า การที่เป็นเด็กไปแกล้งคนอื่นมันไม่ดีอย่างไร

หรือพวกละครแนวสืบสวนสอบสวนก็ไม่ได้สร้างเพื่อให้ได้ไขคดีกันสนุกๆ นะคะ แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคม การก่ออาชญากรรมที่น่าสะพรึงกลัว ที่มันสมควรหมดๆ ไปจากสังคม ถือว่าเป็นการยกระดับจิตใจของผู้คนให้สูงขึ้น จากเรื่องราวที่โหดร้ายในละครค่ะ

ถ้าอยากสร้างคนดีในสังคมก็แสดงให้คนเห็น โดยการสร้างผ่านตัวละคร อยากทำให้คนเข้าใจว่าผลกระทบจากความชั่วร้ายเป็นอย่างไร ก็เล่าผ่านพล็อตในละคร ในเมื่อผู้ใหญ่ชอบดูละคร ก็สั่งสอนผู้ใหญ่ในทางนี้เสียเลย แทนที่จะมานั่งสอน นั่งตำหนิกัน วิธีการเล่าผ่านละครน่าจะเข้าถึงได้ง่ายกว่าค่ะ


5. สร้างแรงบันดาลใจ ชี้ทางออกให้กับชีวิต
เขาว่ากันว่า ถ้าดูละครญี่ปุ่นแล้ว นอกจากความสนุกที่จะได้กลับไป ก็คือ “แรงบันดาลใจ” จากละครค่ะ อย่างที่เห็นกันว่าละครญี่ปุ่นมีแนวอาชีพเยอะมากๆ ซึ่งเหมาะกับคนกำลังตามหาความฝันที่ไม่รู้ว่า โตขึ้นเราจะอยากไปอะไรดี รวมทั้งยังเป็นกำลังใจให้กับคนที่ทำอาชีพแต่ละอาชีพอยู่ แต่รู้สึกเหนื่อยล้า ให้กลับมามีแรงใจขึ้นค่ะ

หรือใครกำลังทุกข์ใจ เคร่งเครียดกับชีวิต ละครญี่ปุ่นช่วยได้ค่ะ     จุดเด่นของละครญี่ปุ่นอีกอย่างก็คือ มักเป็นละครที่สอดแทรก “ข้อคิด” ไว้เยอะมากค่ะ ข้อคิดที่ว่านี่ก็จะสอดแทรกไปตามคำพูดของตัวละครออกมาเป็นคำพูดที่คมๆ ที่ฉุกให้ชวนคิด แต่ก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าจงใจยัดเยียดเกินไป เป็นคำพูดสั้นๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เข้ามาสนับสนุนแนวคิดค่ะ หรือบางทีก็ถ่ายทอดออกมาผ่านการกระทำ บุคคลิกและชีวิตของตัวละคร

เพื่อที่จะทำให้ละครจะเป็นสื่อหนึ่งที่สร้างพลังและแรงบันดาลใจได้ ทำให้ละครญี่ปุ่นค่อนข้างมีแนวเครียดๆ เยอะ หยิบเอาประเด็นปัญหาของสังคมขึ้นมาเล่า ปัญหาในชีวิตทั่วๆ ไป ที่ไม่ว่าใครก็มีโอกาสได้พบเจอ แต่ท้ายที่สุดก็เสนอทางออกให้กับปัญนั้นด้วย





อย่างเช่นเรื่องนี้ “Dr. Rintaro” แทนที่ละครญี่ปุ่นจะหาเรื่องคลายเครียดมาให้เราได้หลบหนีปัญหาไปได้สักพัก แต่กลับพาเราให้เผชิญหน้ากับปัญหาชีวิตแบบจะๆ อีกครั้ง พร้อมแนะนำว่า...เรื่องความเจ็บปวดในชีวิตน่ะ มันลืมไปไม่ได้หรอก แต่เราต้องพยายามอยู่ร่วมกับมันให้ได้อย่างปกติสุขต่างหาก...

เคยมีละครญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งได้เคยพูดเอาไว้ค่ะว่า...


“ความทุกข์” ก็เหมือนกับ “ขนนก” ไม่มีวันหายไป มีเพียงแต่จะเบาบางลง



และนี่ก็คือพลังแห่งละครญี่ปุ่นค่ะ ที่ไม่ได้ให้แค่ความสนุกและเพลินเพลินอย่างเดียว แต่มีพลังที่ส่งผลต่อสังคม เพราะว่าละครเป็นสิ่งที่ผู้คนเข้าถึงง่าย ฉะนั้น เรื่องสำคัญที่คนญี่ปุ่นคิดจะสร้างมากกว่าความสนุก ก็น่าจะเป็น...ทำยังไงที่จะทำให้สิ่งนี้สามารถขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ถูกที่ควรและสงบสุขมากกว่าเดิม

มันก็คงจะดีกว่าการนั่งฟังคนมาสั่งสอนแบบหูซ้ายทะลุหูขวา ถ้าสามารถทำให้ผู้คนพร้อมยินดีรับฟังเรื่องราวของสังคมในแง่มุมต่างๆ ไปอย่างความเต็มใจ ตระหนักถึงปัญหาได้ด้วยตัวเอง สารที่อยากจะส่งถึงสังคมก็จะมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนสังคมได้อย่างแท้จริง


แบบนี้สิ ถึงเรียกว่าเป็นการกล่อมเกลาจิตใจผู้คนด้วยสันติวิธีจริงๆ ค่ะ!



ขอบคุณบทความจาก  : ChaMaNow
www.marumura.com
http://www.marumura.com/entertainment/?id=7582
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่