บ้านกลางกรุง รัชวิภา..ร้าว ทรุด ใครรับผิดชอบ ฟัง "สคบ.-วสท." (ตอนที่ 1)

จากรายงานพิเศษ “ร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา” ในตอนที่ผ่านมา ได้สะท้อนปัญหาจากเหล่าลูกบ้าน พร้อมชี้แจงแถลงไขชัดๆ จากฟากฝั่งผู้ประกอบการกันไปแล้ว ในตอนนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้นำข้อเท็จจริงจากฝั่งภาครัฐมานำเสนอ...บทสรุปของเรื่องนี้ควรเป็นเช่นไร? ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ? ซ่อมแซมแบบใดถึงจะยั่งยืน? วันนี้เรามีคำตอบร้อนๆ มาเสิร์ฟ

ว่าด้วยเรื่องทรุด! ผิดปกติไหม? ใครต้องรับผิดชอบ?

นายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีบ้านทรุดว่า บ้านที่มีการทรุดตัวในระดับที่น้อยกว่า 10 ซม. ถือว่าเป็นการทรุดตัวโดยธรรมชาติ ส่วนบ้านที่ทรุดมากกว่า 10 ซม. จะอยู่ในข้อกำหนดที่ทาง AP จะให้การช่วยเหลือ

วสท. ---> ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ให้ความรู้ว่า พื้นที่ใน กทม. โดยเฉลี่ยแล้วจะทรุด 1-2 ซม.ต่อปี สำหรับการทรุดตัวของโครงการดังกล่าวนี้ ถ้าสร้างให้ดี จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทรุดมากนัก แต่ก็อาจจะเกิดการทรุดได้บ้างเล็กน้อย เนื่องจากการก่อสร้างสิ่งต่างๆ บนพื้นดิน เป็นการก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์ รวมทั้ง ปัจจุบันสมองของวิศวกรถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก ถึงขั้นสามารถสร้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ต่อต้านธรรมชาติได้ เช่น สร้างสนามบินถมทะเลที่ฮ่องกงก็มีมาแล้ว หรือแม้แต่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็ถือว่าเป็นดินที่มีลักษณะอ่อนที่สุดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหมายความว่ามนุษย์สามารถสร้างได้ทุกอย่าง แม้ว่าจะเป็นการก่อกวนธรรมชาติก็ตามที

สคบ. ---> นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวถึงบ้านทรุดกับทีมข่าวว่า ขณะนี้ สคบ. ได้แจ้งให้ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ช่วยดำเนินการตรวจสอบบ้านที่เกิดปัญหา โดยเฉพาะการตรวจสอบพื้นดินว่าจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาการทรุดตัวของดินอย่างผิดปกตินี้อย่างไร เพื่อที่ สคบ.จะเชิญผู้ประกอบการมาหาแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า เช่น บ้านทรุดก็ถมดินลงไปหรือปูพื้นกระเบื้องให้ใหม่ จากนั้นไม่นานดินก็ทรุดลงไปอีก ทำให้เป็นปัญหาซ้ำซาก ดังนั้น จึงต้องหาสาเหตุที่แท้จริงว่าดินทรุดเพราะอะไร และเมื่อไรจะหยุดทรุดตัว โดยพึ่งพานักวิชาการทางด้านนี้ เพื่อแก้ปัญหาการทรุดตัวผิดปกติของดินแล้วค่อยปูพื้นใหม่จะดีกว่า

ว่าด้วยเรื่องประวัติความเป็นมา ถมที่ ใบอนุญาต...(ก่อนจะมาเป็นบ้านกลางกรุง รัชวิภา)

“สำหรับการถมที่ ในพื้นที่ที่เป็นถนนจะใช้ดินที่มีลักษณะเป็นดินแห้ง ถมบริเวณหน้าดิน ส่วนตัวผังหรือพื้นสำหรับตัวบ้าน จะมีการขุดความลึก 2-3 เมตร แล้วถมทับด้วยดินเหนียวตามท้องนา โดยมีระยะการถมดินทิ้งไว้ประมาณ 2 ปี” นายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) แจงรายละเอียดในการถมที่ดินก่อนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์

วสท. ---> ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พูดถึงการถมที่ดินอย่างถูกวิธีและปลอดภัยว่า ก่อนการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ ผู้ประกอบการจะต้องถมดิน เพื่อให้หน้าดินมีการเซตตัว โดยอาจจะต้องปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานถึง 5 ปี หรือมากกว่านั้น ไม่มีใครตอบได้ ส่วนการถมดินที่ดีที่สุดคือ ใช้ทรายถม แต่ที่ผ่านมาโครงการส่วนใหญ่จะไม่ค่อยถมที่ด้วยทรายเท่าใดนัก เนื่องจากมีต้นทุนสูง หลังจากดินเริ่มเซตตัวเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการของการสร้างบ้าน

“โครงการส่วนใหญ่จะเอาดินเหนียวมาถมก็จะยิ่งเป็นปัญหาในระยะยาว เร่งการทรุดตัว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตอกเสาเข็มทั้งส่วนของตัวบ้านและถนน” นายก วสท. กล่าวถึงข้อเสียการถมที่ดินโดยใช้ดินเหนียว

สำนักงานเขตเจ้าของพื้นที่ ---> นายเทวฤทธิ์ เครือมณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตจตุจักร เล่าย้อนไปถึงความเป็นมาของหมู่บ้านดังกล่าวว่า สำหรับโครงการหมู่บ้านกลางกรุงรัชวิภา มีการขออนุญาตการก่อสร้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2547 แล้ว และในปี 2552 ซึ่งเป็นการทยอยขออนุญาตตามจำนวนหลังของสิ่งปลูกสร้างของโครงการ โดยในปี 2547 ได้ขออนุญาตการก่อสร้างเฟสแรก จำนวน 60 ห้อง โดยพื้นที่ของหมู่บ้านแต่เดิมเป็นที่ดินว่างเปล่า มีลักษณะเป็นที่ลุ่มใกล้บริเวณคลองเปรม ซึ่งหากน้ำในคลองลดลงจะส่งปัญหาดินทรุด และดึงพื้นที่โดยรอบไปด้วย

สำนักงานที่ดิน ---> นายสุวิชัย สินบังเกิด เจ้าพนักงานสำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ สาขาจตุจักร กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่า ทาง บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ได้ขออนุญาตการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงโฉนดที่ดินและแบ่งแยกตามผังอย่างถูกต้อง ซึ่งโดยทั่วไปพื้นที่กรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เป็นดินที่มีลักษณะเหนียวนุ่มและเป็นที่ราบลุ่ม

สคบ. ---> นายอำพล วงศ์ศิริ กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า บ้านทรุดกลางกรุง ทาง สคบ. ขอเวลา 2 เดือน ในการดำเนินการหาสาเหตุแท้จริงที่ทำให้บ้านทรุดตัว หากเสร็จเร็ว ก็จะรีบหารือเชิญผู้ประกอบการมาพบ และขอคำตอบที่แน่นอนว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไรให้กับลูกบ้านและคิดว่าจะทำให้เสร็จภายในกี่เดือน เพราะว่าลูกบ้านผู้ร้องเรียน กำลังรอคำตอบจาก สคบ. อยู่

ว่าด้วยเรื่อง งบประมาณในการซ่อมแซม

รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ กล่าวว่า ในเมื่อเกิดการทรุดตัวมากกว่าปกติเกิดขึ้น ทางบริษัทก็ยินดีที่จะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา โดยทางบริษัทได้ประเมินวงเงินอยู่ที่ 80,000 บาทต่อหลังที่มีปัญหา แต่ทางลูกบ้านบางรายบอกว่าไม่ต้องการวิธีการของ AP เนื่องจากอยากลงเสาเข็มด้วย ซึ่งการลงเสาเข็มจะเป็นวิธีที่จะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง

วสท. ---> ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แสดงทรรศนะในเรื่องงบประมาณการซ่อมแซมว่า การแก้ปัญหาจะตัองขึ้นอยู่แต่ละกรณี โดยเรื่องงบประมาณการตอกเสาเข็มมีมูลค่าค่อนข้างสูง สูงกว่าการถมดินมาก ซึ่งไม่สามารถประเมินราคาเป็นตัวเลขได้ หากจะสามารถประเมินได้ จะต้องเอาข้อมูลดินมา และจ้างวิศวกรมาประเมินว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไร

สคบ. ---> ในเรื่องของมูลค่าความเสียหายนั้น นายอำพล เผยว่า ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้จนกว่าจะรู้ว่าพื้นดินข้างล่างจะมีวิธีการซ่อมแซมอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ทั้งนี้ หากสรุปค่าเสียหายออกมาแล้ว ลูกบ้านผู้ร้องเรียนไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะว่าไม่ใช่ความผิดของลูกบ้าน เพราะตอนที่บริษัทโฆษณาไว้ก็ต้องทำให้อยู่ในสภาพที่ได้โฆษณา อีกทั้ง ถ้าชำรุดบกพร่องไม่เป็นไปตามสัญญา ต้องไปดูที่สัญญาว่ายังอยู่ในสัญญาหรือไม่ ต้องทำให้เรียบร้อย ถ้าไม่ทำ สคบ. ก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องและบังคับในทางศาล

ขณะที่ วสท. ได้เข้าไปดูพื้นฐานคร่าวๆ ว่าจะตรวจสอบอย่างไร ทำให้มีค่าใช้จ่าย โดยค่าตรวจสอบต่อหลังประมาณ 50,000 บาท ซึ่ง สคบ. กำลังประสานกับทางเอพีอยู่ว่าจะสุ่มตรวจเฉพาะบ้านหลังที่หนักๆ อาจจะ 1-2 หลัง รวมทั้งให้เอพีช่วยรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะให้ทาง วสท. เข้าไปดำเนินการซึ่งถ้าได้ผลการตรวจสอบจะสามารถสรุปภาพรวมได้

นายวิษณุ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ กล่าวว่า ทาง วสท.และ สคบ. จะให้ทางเอพีรับผิดชอบอย่างไร เอพียินดีที่จะรับผิดชอบ โดยล่าสุด นายก วสท. ได้เข้าไปดูพื้นที่โครงการนี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การเจาะสำรวจชั้นดิน จะมีค่าใช้จ่ายต่อหลุม 2-3 หมื่นบาท ทาง วสท. จึงชี้แจงว่า จะต้องมีหนังสือขออนุญาตไปยังลูกบ้าน เพราะมิฉะนั้นลูกบ้านสามารถฟ้องได้ ซึ่งเท่าที่ทราบคือ ตอนนี้ (จันทร์ที่ 13 ก.ค.58 เวลา 13.30 น.) วสท. ยังไม่มีหนังสือเข้าไป

วสท. ---> ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แนะนำสิ่งที่เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ควรจะทำว่า ก่อนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ การเจาะสำรวจชั้นดินมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยวิศวกรจะดำเนินการเจาะชั้นดิน เพื่อสำรวจว่าดินมีสภาพอย่างไร สามารถรับน้ำหนักได้พอหรือไม่ ถ้าผลออกมาว่าดินสามารถรับน้ำหนักได้พอ ก็สามารถสร้างได้เลย โดยที่ส่วนของถนนก็ไม่ต้องเจาะเสาเข็มก็ได้ เพราะต้องดูที่ตัวบ้านเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าทุกโครงการมีกระบวนการสร้างตามขั้นตอนเช่นนี้ จะทำให้เกิดการทรุดตัวน้อย

“เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 ก.ค.58 ที่ผ่านมา ทางลูกบ้านทำจดหมายส่งมาที่ สจล. โดยระบุว่า ยินดีและยินยอมให้มีการเจาะชั้นดิน โดยทาง สจล. ได้มีการมอบหมายให้ฝ่ายโยธาเข้าไปทำการเจาะดิน ซึ่งเจาะไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถทราบผล เนื่องจากอยู่ในห้องทดลอง คาดว่าอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็น่าจะทราบผล” นายก วสท. ยืนยันว่า วสท.มีการเจาะชั้นดินมาตรวจแล้ว

สำนักงานเขตเจ้าของพื้นที่ ---> เมื่อทีมข่าวถามว่า การที่จะปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ตามกฎหมายควรจะมีการตรวจสอบโดยการเจาะชั้นดินด้วยหรือไม่นั้น ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตจตุจักร ให้คำตอบว่า ตามกฎหมายแล้วไม่มีการบัญญัติไว้ ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของโครงการ ว่าจะมีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด

สคบ. ---> นายอำพล วงศ์ศิริ กล่าวว่า ในทางตรงกันข้าม เมื่อผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนมีความต้องการมากบริษัททั้งหลายจึงเข้ามาลงทุนทำเยอะ และหลักการของบริษัทเหล่านี้คือทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด แต่ว่าจรรยาบรรณหรือความรับผิดต่อผู้บริโภคขึ้นอยู่กับว่ามีมากมีน้อย บริษัทที่มีความรับผิดชอบก็มี บริษัทที่จ้องจะฟันกำไรอย่างเดียวโดยไม่สนใจผู้บริโภคก็มี จึงเป็นปัญหาให้ สคบ. ต้องตามแก้ตามเช็กอยู่เรื่อยๆ

ว่าด้วยเรื่องระยะยาว อนาคตตัวบ้านจะทรุดไปด้วยไหม?

นายวิษณุ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ ยืนยันว่า สำหรับตัวบ้านจะแยกการก่อสร้างออกเป็นส่วนโครงสร้างกับส่วนอาคาร สำหรับมาตรฐานของโครงสร้างทางเอพีมั่นใจว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากเสาเข็มและคานของโครงสร้าง ทำให้บ้านไม่ทรุด ไม่เอียง

วสท. ---> ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวว่า หากแยกการก่อสร้างออกจากกัน เช่น โครงสร้างตัวบ้านก็ส่วนหนึ่ง ที่จอดรถส่วนหนึ่ง และถนนส่วนหนึ่ง ก็จะไม่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อตัวบ้าน แต่จะทรุดลงไปมากถึงขนาดไหน ยังไม่สามารถระบุได้ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์จากการเจาะสำรวจ

“ครั้งแรกที่เข้าไปดูรู้สึกห่วงมากที่สุดคือ ความปลอดภัยของชาวบ้าน ซึ่งโชคดีมากที่ตัวบ้านไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ซึ่งสามารถอยู่ได้ แต่ทั้งนี้ บริเวณหน้าบ้านมีการทรุดตัวลึกถึง 1 เมตร รองลงมาก็ 50-60 ซม.” ศ.ดร.สุชัชวีร์ แสดงความเป็นห่วงชาวบ้าน

นายวิษณุ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพีฯ กล่าวถึงวิธีการซ่อมแซมว่า โดยวิธีการนำแผงโครงสร้างเหล็กกั้นบริเวณดินที่เป็นโพรง เพื่อไม่ให้ดินสไลด์เข้าในตัวบ้าน แล้วจึงอัดดินถมเข้าไปใหม่ รวมถึงลงทราย และเทคอนกรีต ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ทางบริษัทจะดำเนินการซ่อมแซมให้ แต่ทางลูกบ้านบางรายบอกว่าไม่ต้องการวิธีนี้ เนื่องจากอยากลงเสาเข็ม ซึ่งการลงเสาเข็มจะเป็นวิธีที่จะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง

วสท. ---> ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แนะแนวทางการซ่อมแซมบ้านอย่าถูกต้องตามหลักการ ว่า การแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การเจาะสำรวจดินก่อน ถ้าชาวบ้านมีการเอาดินไปถมเพิ่มมีโอกาสทรุดอีก เนื่องจากมีน้ำหนักไปอัดเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผิด เพราะทุกอย่างจะต้องผ่านการเจาะสำรวจก่อน แต่อาจจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการถมไม่ต้องแน่นหนา และปูเป็นตัวหนอนไปก่อน นอกจากนี้ พบว่า มีชาวบ้านอีกกลุ่มที่มีการแก้ปัญหาโดยการตอกเสาเข็ม ซึ่งอันนี้ไม่แนะนำและควรหยุดเป็นอย่างยิ่ง เพราะยิ่งทำให้มีความลึกและจะส่งผลให้ทรุดตัวไปพร้อมกับบ้านได้ ฉะนั้นมองว่า ไม่ว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีใด สุดท้ายก็ยังต้องเดือดร้อนอยู่ดี เพราะต้องแก้ไขทั้งระบบ ทั้งถนนและบริเวณหน้าบ้าน ชาวบ้านจะต้องพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องถนนที่มีสาธารณูปโภคอยู่ด้านล่างนั้น สามารถปรับแก้ได้ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก โดยใช้วิธีลอกออกแล้ววางระบบใหม่หรือลอกแค่บางจุดก็ได้

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/511904
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่