+++ อีกแง่มุมของความคิดเห็น เกี่ยวกับ ซีรี่ส์พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก +++

มีหลายคนที่ดู ซีรี่ส์พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก ทางช่อง 1 Workpoint  แล้วชื่นชอบ บอกว่า ประทับใจ ดูแล้วรู้เรื่องและมีความเข้าใจพุทธศาสนามากขึ้น  แต่ก็จะมีอีกหลายคนที่ดูแล้ว บอกว่า แต่งเติมเยอะ หรือไม่ตรงกับ พระไตรปิฏกที่ได้อ่านกันมาบ้าง ทำให้รู้สึกไม่ประทับใจ  ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา มีคนชอบ ก็ต้องมีคนไม่ชอบ ดังที่พระพุทธองค์เคยตรัสไว้

อยากให้อ่านบทความนี้ จาก คุณ Chomsopit Nualchanchai เขียนเกี่ยวกับ ซีรี่ส์พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก ได้ดีมาก อยากให้หลายๆ เปิดใจกับการดูซีรี่ส์เรื่องนี้ค่ะ

มีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เนื้อหาในซีรี่ส์พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกนั้น มีการแต่งเติมมาก เพราะไม่เหมือนกับที่เคยรู้มา จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากสำหรับคนที่พลาดชมเรื่องนี้เพียงเพราะข้อสงสัยนี้

ต้องท้าวความไปถึงการสังคายนาครั้งแรก หลังพระปรินิพพานได้ 3 เดือน พระสาวกซึ่งเคยได้สดับพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาจำนวน 500 รูป ได้ประชุมทำสังคายนา และใช้เวลาสอบทานอยู่ 7 เดือน จึงประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จครั้งแรก นับเป็นบ่อเกิดของคัมภีร์พระไตรปิฎก ( แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการลงลายลักษณ์อักษร) และได้นับถือกันสืบมา เรียกว่า"เถรวาท" ต่อมาอีก 100 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่มีการสังคายนาครั้งที่สอง เกิดความเห็นไม่ตรงกันในหมู่คณะสงฆ์ มีคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งเรียกว่า"มหาสังฆิกะ" ได้แยกตนออกไป แล้วแยกนิกายย่อยออกไปอีก 18 นิกาย จากกลุ่มเถรวาทเดิม

จนอีก 500 ปีต่อมา จึงเกิดนิกายมหายานขึ้น ซึ่งพัฒนามาจากนิกายมหาสังฆิกะ ผสมผสานกับปรัชญาของนิกายพุทธศาสนาอื่นทั้ง 18 นิกาย รวมถึงนิกายเถรวาทด้วย มหายานเป็นนิกายที่นับถือกันอยู่ในประเทศแถบตอนเหนือของอินเดีย เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม มองโกเลีย ไปจนถึงบางส่วนของรัสเซีย คัมภีร์มหายานใช้ภาษาสันสกฤต และต่อมาแปลเป็นภาษาทิเบต และจีน ซึ่งต่อมาก็พัฒนาเป็นคัมภีร์ในสายของตน ส่วนคัมภีร์เถรวาท บันทึกเป็นภาษาบาลี เก็บรักษาไว้ที่ศรีลังกา ซึ่งไทยนับถือนิกายนี้ การลงบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเริ่มมีขึ้นใน พ.ศ.236 ซึ่งได้มาจากการบอกเล่าต่อๆกันมา จึงไม่น่าแปลกใจที่รายละเอียดของพระพุทธประวัติในสองนิกายนี้จะต่างกันอยู่บ้าง เถรวาทจะเน้นพระธรรมคำสอน ในขณะที่มหายานเน้นการบำเพ็ญตนของพระโพธิสัตว์เพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตในโลกไปสู่ความพ้นทุกข์

Dr Ambedkar รัฐบุรุษของอินเดีย ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างพ.ศ.2434 ถึงพ.ศ.2499 เขาสนใจและศึกษาศาสนาพุทธมาตลอดชีวิต เขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในปีพ.ศ.2499 งานเขียนชิ้นสุดท้ายของเขาคือ "The Buddha And His Dharmma" ตีพิมพ์ในปีพ.ศ.2500 เป็นการเขียนพระพุทธประวัติโดยไม่มีเรื่องเหนือธรรมชาติ นับเป็นพระพุทธประวัติสำหรับให้คนยุคใหม่ได้ศึกษา และกลายเป็นหนังสือที่อินเดียใช้อ้างอิงสำหรับพระพุทธประวัติสืบมา

เนื้อหาของซีรี่ส์พระพุทธเจ้าฯตรงกับหนังสือเล่มนี้ จะต่างกันอยู่บ้างตรงรายละเอียดเล็กน้อย พิธีสยุมพรมีตรงกัน มีการต่อสู้แข่งขันระหว่างเจ้าชาย มีวังเริงรมย์ ซึ่งในหนังสือเรียกว่าฮาเรม พระพุทธเจ้าสุทโธทนะทรงให้มหาอำมาตย์สร้างขึ้นเพื่อดึงเจ้าชายให้ห่างจากการออกบรรพชา แต่สาวงามทั้งหลายก็ไม่สามารถดึงดูดพระทัยเจ้าขายได้ เพราะพระองค์ทรงมองเห็นความไม่จีรังของความงาม และเมื่อมาถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้พระองค์ออกบรรพชา คือสงครามระหว่างศากยะและโกลิยะ เกิดกรณีพิพาทแย่งการใช้น้ำจากแม่น้ำโรหินี ผลการออกคะแนนเสียงในที่ประชุมสหพันธรัฐ คือทำสงคราม แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงคัดค้าน โดยมีพระดำรัสว่า "ข้าขอคัดค้านการทำสงคราม สงครามไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การทำสงครามไม่อาจตอบสนองวัตถุประสงค์ของเราได้ มันมีแต่จะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งสงครามต่อๆไป คนที่เข่นฆ่าก็จะถูกผู้อื่นมาเข่นฆ่า ผู้ที่แย่งชิงก็จะถูกแย่งชิงต่อ ความเป็นปฏิปักษ์ไม่ได้หมดไปด้วยการเป็นปฏิปักษ์ตอบ ความรักเท่านั้นที่เอาชนะความเป็นปฏิปักษ์ได้"

แต่ในเมื่อเจ้าชายไม่ทรงเห็นด้วยกับผลการประชุม จึงทรงประกาศไม่ร่วมออกรบ จึงทำให้พระองค์ทรงมีความผิดในฐานะสมาชิกองค์หนึ่งของศากยะสังคะ พระองค์จึงเนรเทศพระองค์เอง ออกบรรพชา และเมื่อพระองค์ทรงไปขออนุญาติจากเจ้าหญิงยโสธรา ก็ทรงได้รับคำตอบว่า "การตัดสินพระทัยของเจ้าชายถูกต้องแล้ว หม่อมฉันเห็นด้วยและสนับสนุน หม่อมฉันอยากออกบวชเข่นกัน ถ้าไม่ติดว่าต้องดูแลราหุล ขออย่าได้ทรงห่วงพระบิดามารดาและราหุลเลย หม่อมฉันจะดูแลพวกเขาไปตลอดชีวิต พระองค์จงทรงละทิ้งพวกเราไว้ข้างหลังเถิด เพื่อพระองค์จะได้พบทางเดินใหม่ที่จะนำพาความสุขมาสู่มนุษยชาติ"
หนังสือ "The Buddha And His Dharmma" มีทั้งหมด 8 เล่ม ข้าพเจ้าได้อ่านบางส่วนที่เป็นพระพุทธประวัติไปบ้างแล้ว น่าสนใจมาก และชวนติดตามมาก เหมาะสำหรับคนยุคใหม่ที่ต้องการจะศึกษาพระพุทธประวัติอย่างลึกซึ้ง

กล่าวโดยสรุปคือ ซีรี่ส์พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกถูกเขียนบทขึ้นบนพื้นฐานของพระพุทธประวัติอย่างแท้จริง

By : Chomsopit Nualchanchai  https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1001775866512772&set=o.1566678510277025&type=1

References : - The Buddha And His Dharmma, by Dr.B.R.Ambedkar, columbia.edu
- Buddhist Texts, en.m.wikipedia.org.

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่