คนสอนยาก... สอนไม่ได้... เป็นคนเสียคนคนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง เพราะเป็นคนสอนไม่ได้

พุทธศาสนาของเรา แบ่งคนออกเป็น 4 จำพวก คือ อุคคติตัญญู วิปจิตัญญู เนยะ ปทปรมะ บุคคล คนในโลกนี้มี 4 จำพวกเท่านั้น

อุคคติตัญญูบุคคล คือคนสอนง่าย เรียนรู้ธรรมะได้เร็ว จิตใจสะอาด ไม่คลุกคลีกับคนชั่ว ไม่สร้างปัญหา มีปัญญา รู้จักสังเกตพิจารณาชีวิตของตนเอง พอเห็นเป็นรางๆ ตั้งแต่เป็นเด็ก หรือได้เกิดในตระกูลที่ฉลาด ได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาดีเป็นพื้น...คนจำพวกนี้ไม่ต้องพูดจ้ำจี้จ้ำไชมาก พอได้เห็นได้ยินอะไรหรือมีอะไรมากระทบ เขาจะเกิดความรู้สึก จับสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาว่าอันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้

เช่น เราเลี้ยงลูกบางคน แค่มองดูหน้าเขา เขาก็รู้แล้วว่าพ่อแม่ต้องการอะไร? ลูกศิษย์กับครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน เพียงดูกิริยาอาการกัน ศิษย์บางคนก็รู้แล้วว่าอาจารย์ต้องการอะไร? ไวมากคนจำพวกนี้สอนง่าย ไม่ต้องบอกด้วยปากก็ได้ แค่มองหรือได้ยินเท่านั้นรู้ทันทีเลย เขาฉลาดมาก ไม่ใช่มีเพียงแต่มนุษย์เราเท่านั้น แม้สัตว์เลี้ยงบางตัวเป็นอย่างนี้ก็มี พวกนี้หัวไว สอนง่าย ไม่ต้องสอนด้วยคำพูดก็ได้ สอนด้วยการทำให้ดู สอนด้วยอากัปกิริยา อย่างนี้เรียกว่าเขามีพื้นฐานดี หรือเรียกว่าอุคคติตัญญูผู้สอนง่าย

เปรียบเหมือนต้นไม้ในป่าที่มีลำต้นตรงสวยงาม ถ้าเราเอาทำเสาบ้านมันง่าย ง่ายเพราะอะไร? ง่ายเพราะลำต้นตรงอยู่แล้ว ไม่ต้องไปถากหรือตกแต่งอะไรมากมาย ลักษณะของต้นไม้ที่มีความตรงสวยงามนั่นแหละ เรียกว่ามีพื้นเดิมดี นายช่างก็ไม่ต้องเปลืองแรง เปลืองความคิด ได้ไม้เช่นนั้นมาทำอะไรก็ง่าย เพราะมันดีอยู่แล้วมนุษย์เราก็เหมือนกัน บางคนเป็นอุคคติตัญญู สอนง่าย เรียนเก่ง ทำอะไรก็ง่าย ภาวนาก็ง่าย อะไรๆ ก็ง่ายไปหมอ

พวกต้นไม้ก็เช่นกัน ถ้าพันธุ์ดี ดินดี ปุ๋ยดี ต้นไม่ก็โตเร็ว มันง่าย เพราะได้อาหารดี ยิ่งได้ผู้ฉลาดเชี่ยวชาญมาดูแลรักษา ก็ยิ่งได้ผลเร็ว นี่อุคคติตัญญูของต้นไม้

สมัยอาตมาเป็นเด็ก มะพร้าวแถวบ้านไม่ต้องปลูกเองหรอก มันหล่นเองเกิดเองทั้งนั้น ต้นหมากก็เหมือนกัน เพราะต้นมันดี ดินดี ถึงแม้ว่าไม่มีใครรักษามันก็มีดอกมีผลออกมาพอสมควร ถ้ามีคนที่ฉลาดเอาปุ๋ยใส่ ดูแลรักษาดีๆ มันก็ยิ่งให้ผลมากว่านั้น

ลูกหลานเราก็เหมือนกัน บางคนสอนยาก บางคนสอนง่ายเข้าใจง่าย เป็นเพราะอะไร? เพราะเขามีของเก่ามีปัจจัยอยู่แล้วในจิต เรียกว่าอุคคติตัญญูจิต เขามีจิตสะอาด จิตว่าง เป็นกุศล มีความฉลาด ถ้ามีใครมาแนะนำพร่ำสอนเพิ่มเข้าไปอีกนิด ก็จะไปได้เร็วมาก หรือถึงแม้จะไม่มีใครสอน เขาก็มีความฉลาดอยู่ในตัว แต่จะช้าหรืออ้อมไปนิด ถ้ามีครูอาจารย์จะเร็วกว่า นี่เรียกว่า อุคคติตัญญูบุคคล

วิปจิตัญญู นี่!... สอนยากขึ้นหน่อย ต้องบอกบอกทีหนึ่งยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง บอกครั้งที่สองนำไปปฏิบัติเลย แต่ช้าหน่อย

เหมือนกับการฟังธรรมะ บางคนฟังพระท่านบอกว่าสังขารร่างกายไม่เที่ยง เขารู้เรื่องเข้าใจเลย พอสังเกตวัยวะร่างกายตัวเอง เห็นผมหงอกสักเส้นหนึ่ง เดี๋ยวนี้หงอกแล้ว เขาก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือคนแก่นี่ก็เคยเป็นหนุ่มมาแล้ว คนหนุ่มนี่ต่อไปจะต้องแก่ เขาจะรู้จักคิดเปรียบเทียบอย่างนี้ แล้วเกิดความเข้าใจว่าสังขารนี่มันไม่เที่ยง มันไม่แน่นอนนะ นี่เรียกว่าวิปจิตัญญู ผู้รู้จักการเปรียบเทียบ

เนยยะบุคคล คนจำพวกนี้สอนได้ยาก แต่พอสอนได้ ต้องย้ำไปย้ำมาจนกว่าเขาจะเข้าใจ ใช้เวลามากกว่าสองจำพวกแรก สอนยาก...แต่ก็พอสอนได้

พวกสุดท้ายคือ ปทปรมะบุคคล เป็นพวกที่สอนไม่ได้ พวกนี้มืดมิด หลงมัวเมา ไม่รู้เรื่องเลย ผมหงอกหมดศีรษะ ยังไม่รู้เรื่องของสังขารร่างกายไม่เข้าใจเรื่องของธรรมชาติว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มิหนำซ้ำยังซื้อน้ำยามาย้อมผมที่หงอกเพิ่มความหลงมืดทึบเข้าไปอีก ยิ่งปกปิดความจริงก็ยิ่งบอด ยิ่งบอดก็ยิ่งมืด ยิ่งมืดก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง นี่เรียกว่า ปทปรมะบุคคล คือบอกให้ฟังก็เหมือนไม่ได้บอก ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากเข้าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นบุคคลที่หลุดพ้นไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า

คนสอนยาก... สอนไม่ได้... เป็นคนเสียคนคนอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านทิ้ง เพราะเป็นคนสอนไม่ได้

ใครเป็นคนประเภทสุดท้ายนี้บ้าง? เป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ แม้คนที่ได้รับการศึกษาสูงๆ ก็เป็นได้ คนไม่ได้เรียนก็เป็นได้ เป็นเพราะกรรม เป็นเพราะกำเนิดและทิฐิมานะของเขา

บางคนเรียนมากซะจนโง่ พูดกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง คนไม่เรียนยิ่งโง่ก็มี เพราะมันไม่พอดี ถ้าสูงก็เกินไป ถ้าต่ำก็หลุดลงมา จึงไม่พบทางสายกลาง

เหมือนเราจะสอยมะม่วง ถ้าไม่สอยยาวเลยลูกมะม่วงไปสักสาม-สี่เมตรก็สอยลำบาก ถ้าไม้สั้นก็สอยไม่ถึง ก็เลยไม่ได้มะม่วง นี่!...เพราะความสูงเกินไปต่ำเกินไป ไม่พอดี จึงใช้ไม่ได้ ไม่มีความหมาย

ถ้าเรียนมากๆ จะเข้าใจว่าเราฉลาดก็ยังไม่ถูกบางทีฉลาดเกินไป ใช้ไม่ได้ บางคนเรียนมาก เข้าใจว่าตัวเองฉลาดมาก เกิดทิฐิมานะขึ้นมา เห็นเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายโง่เหมือนสัตว์ไม่ใช่คนสักคน คิดว่าตัวเองมีอำนาจกว่า ดีกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า ดูดถูกคนอื่นไปหมด คิดอย่างนี้ก็มีแต่ความเดือดร้อนเท่านั้น

ถ้าเห็นว่า เออ!...ตาสีตาสาก็เหมือนเรา คนแก่ก็เหมือนเรา ต่อไปเราต้องแก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน หรือเห็นเด็กวุ่นวาย ก็คิดได้ว่าเราก็เคยวุ่นวายอย่างเด็กเหมือนกัน ใครเห็นอะไรแล้วนำมาพิจารณาตัวเองอย่างนี้จะเข้าใจชีวิต รู้เหตุที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้ง่าย

ธรรมะคือความพอดี ไม่ต่ำ ไม่สูงจนเกินไป ถ้าสูงกว่าเขาก็หยิ่งยะโส ดูถูกคนอื่น ถ้าคิดว่าตัวเองต่ำกว่าเขา ก็คิดน้อยใจ คิดอายคนอื่น กลัวว่าเขาจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ บางทียิงตัวตาย หรือกินยาฆ่าตัวตายก็มี ส่วนคนที่ดูถูกเขาถูกกระสุนตายไปก็มี นี่ก็เพราะไม่รู้จักความพอดีนั่นเอง

http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_cha/lp-cha_66.htm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่