รู้หรือไม่ว่า ... รัชกาลที่ 5 ทรงให้สร้างทางรถไฟขึ้นมาเพื่อ ...

กระทู้สนทนา
เหตุผลที่ รัชกาลที่ 5 ทรงให้สร้างทางรถไฟ

รัชกาลที่ 5 ทรงให้สร้างทางรถไฟในสมัยนั้นขึ้น ก็เพื่อปกป้องประเทศจากการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส และอังกฤษ ทรงตระหนักดีว่า การใช้ทางเกวียน และแม่น้ำลำคลองในการขนส่ง ไม่เพียงพอที่จะบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตไว้ได้  ราษฎรที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมีจิตใจโน้มเอียงไปทางประเทศใกล้เคียง

ดังนั้น จึงเห็นสมควรสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศ เพื่อติดต่อกับมณฑลชายแดน เพื่อความสะดวกในการปกครอง ตรวจตราป้องกันการรุกราน และ ยังเป็นการเปิดภูมิประเทศให้ประชาชนเข้าไปบุกเบิกที่รกร้าง เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ  เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าไปมาถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น

เมื่อปีพศ. 2430 จึงทรงโปรดเกล้าให้จ้างบริษัทฝรั่งทำการสำรวจเส้นทางรถไฟจาก กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีทางแยกที่ สระบุรีถึงนครราชสีมา จาก อุตรดิตถ์ไปยังท่าเดื่อริมฝั่งแม่น้ำโขง จาก เชียงใหม่ไปเชียงราย เชียงแสนหลวง ค่าจ้างสำรวจไมล์ละ 100 ปอนด์ เมื่อสำรวจเสร็จแล้ว ก็ทรงพิจารณาเห็นว่า สมควรสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นสายแรก จึงทรงก่อตั้ง “กรมรถไฟ” ขึ้นมาดำเนินการ

พระองค์ใช้เวลาแค่ 14 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งกรมรถไฟในปี 2439  และในวันที่ 23 ตุลาคม 2453 วันที่เสด็จสวรรคต ได้มีการก่อสร้างทางรถไฟเป็นระยะทางทั้งสิ้น 1,532 กม. เปิดให้บริการ 932 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 600 กม. สมัยรัชกาลที่ 6 ก็ทรงก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมอีก 1,546 กม. ทำให้มีทางรถไฟเปิดให้บริการ 2,581 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 497 กม. จนกระทั่ง รัชกาลที่ 7 บ้านเมืองประสบปัญหาการเมือง และสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีปัญหาการเงิน แต่ก็ยังสร้างทางรถไฟเพิ่มอีก 259 กม. ทำให้มีทางรถไฟยาว 3,337 กม.

จนกระทั่งปี พ.ศ.2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม  ครองเมือง ต้องการให้รถไฟเป็นเอกเทศ ไม่รู้ด้วยสาเหตุใด จึงออกกฎหมายเปลี่ยน “กรมรถไฟ” เป็น “การรถไฟแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2494 ด้วยทุนประเดิม 30 ล้านบาท ส่งผลให้รถไฟไทยขาดทุนตั้งแต่นั้นมา ขณะที่ผลงานการรถไฟฯตั้งแต่ปี 2494 จนถึงปัจจุบัน การสร้างทางรถไฟเพิ่มแค่ 1,009 กม. น้อยกว่าสมัย รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 ทำให้ปัจจุบัน มีทางรถไฟแค่ 4,346 กม. เป็นรถไฟรางคู่ 90 กม. 

กรมรถไฟ ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้งขึ้น มี “ยุทธศาสตร์” เหมือน รถไฟยุโรป  คือ เพื่อปกป้องดินแดน  ใช้ทางรถไฟเชื่อมกับหัวเมืองใหญ่ โดยมีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางใช้ขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าเชื่อมกับเมืองหลวง ยุทธศาสตร์นี้ทั่วโลกก็ยังใช้กันอยู่

ที่มา : ลม เปลี่ยนทิศ: ไทยรัฐออนไลน์


รถไฟในเมืองไทยมีให้บริการตั้งแต่เมื่อปีพศ. 2439 จนถึงปัจจุบันเกือบจะ 120 ปีแล้ว ซึ่งในสมัยนั้นประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในเอเซียที่มีรถไฟใช้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศอื่นๆ ได้มีการพัฒนาการเดินทางด้วยรถไฟจนล้ำหน้าไปมาก จนมีรถไฟความเร็วสูง แต่เราก็ยังคงอนุรักษ์การเดินทางแบบเดิมเดิมของรถไฟไทยเอาไว้

... ปู๊นๆ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่