<< 8 รอมฎอน >> กระบวนการสันติภาพในเดือนรอมฎอน: มุมมองจากประเทศต่าง ๆ

ฟารีดา ปันจอร์
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี


เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินจันทรคติของศาสนาอิสลาม เนื่องจากประชากรโลกราว 20 เปอร์เซ็น (มากกว่า 1.5 พันล้านคน) ได้หยุดบริโภคอาหารและน้ำในช่วงตอนกลางวันติดต่อกันเป็นเวลากว่า 30 วัน และมีการปฏิบัติศาสนกิจที่เข้มข้นตลอดทั้งเดือน ช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงเวลาของการทบทวนตัวเอง การขอบคุณ การขออภัยโทษ และการอุทิศตนเองเพื่อสังคม อีกทั้งเป็นช่วงเวลาของความเชื่อมโยงตัวเองกับพระผู้เป็นเจ้าและระหว่างผู้คนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างคำสัญญาแห่งสันติภาพ ความยุติธรรม และความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ กระนั้นความรุนแรงทางเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศต่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังเช่นในตะวันออกกลางอย่าง อียิปต์  ซีเรีย และอิรัก  ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าในช่วงเดือนรอมฎอนจะสามารถนำสันติภาพมาสู่ตะวันออกกลางและประเทศอื่น ๆ ที่เกิดความขัดแย้งได้หรือไม่อย่างไร มีความพยามใดบ้างที่แสดงให้เห็นถึงสัญญาณดังกล่าว

รอมฎอนกับสันติภาพ: ความหมายในเชิงศาสนา

สันติภาพที่หลายคนคาดหวัง คือ การไม่เห็นความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง แม้แต่องค์การสหประชาชาติได้ขอร้องเป็นประจำทุกปีให้ทุกประเทศหยุดความรุนแรงในช่วงของเดือนรอมฎอน อย่างไรก็ตามความรุนแรงในเดือนรอมฎอนยังคงเกิดขึ้น จากการศึกษาของนักวิชาการหลายท่านค้นพบว่า  เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการสร้างแรงผลักดันและแรงบันดาลใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับเราว่าจะใช้วิธีการแบบไหนในการสร้างสันติภาพและสงคราม เจมส์ เกววิน ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางแห่งมหาวิทยาลัย UCLA สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในความเป็นจริง ตามหลักการของศาสนาอิสลาม มีเพียงสี่เดือน เท่านั้น ไม่รวมเดือนรอมฎอนที่การต่อสู้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องห้าม การต่อสู้ในเดือนรอมฎอนถือเป็นความชอบธรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้เพื่อป้องกันความวุ่นวายจากการที่หลักการของศาสนาไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติในเดือนนี้

ส่วนศาสตราจารย์ จอห์น เอสโปซิโต อาจารย์ประจำสาขาวิชาศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอิสลามศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อกล่าวถึงเดือนรอมฎอน หากจะพูดถึงความรุนแรง ก็คงจะเหมือนกับช่วงเทศกาลคริสต์มาสในไอร์แลนด์ ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดความรุนแรง  อันที่จริง ข้อเรียกร้องในการยุติความรุนแรงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากว่า 20 ปีมาแล้ว  แต่ในความเชื่อของศาสนาอิสลาม การต่อสู้สามารถเกิดขึ้นหากผู้คนรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ภายใต้การคุกคาม การต่อสู้ไม่ใช่สิทธิตามหลักการศาสนาเท่านั้น แต่ในบางบริบทมันเป็นข้อบังคับสำหรับชาวมุสลิมด้วย

ด้าน นีซาร์ อัลเซยาด ประธานศูนย์ตะวันออกกลางศึกษา มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย เบิร์กเลย์ กล่าวว่า ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม สงครามใหญ่ครั้งต่าง ๆ เกิดขึ้นในเดือนนี้  แม้ว่าการต่อสู้จะไม่ได้เป็นข้อห้ามในเดือนรอมฎอน แต่ในคัมภีร์อัลกุรอานได้สนับสนุนให้ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาด้วยเช่นกัน เช่น หากว่าเราแสดงความเอื้อเฟื้อกับเพื่อนบ้านในช่วงเริ่มต้นของเดือนรอมฎอน แต่หากเขาปฏิเสธ  เราอาจไม่ใส่ใจคำปฏิเสธของเขาก็ได้ แต่สำหรับเดือนรอมฎอน มีข้อเรียกร้องสำหรับเราในการพยายามใช้หลักการศาสนาเข้ามาแก้ไขความขัดแย้งนั้น

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่