จาก OEM สู่ OBM: กรณีศึกษา เกี๊ยวกุ้ง CP

“หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” หลายครั้งที่เราเกิดอาการหิว มองซ้ายมองขวาหาอะไรทานไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องแวะเข้าร้านสะดวกซื้อ และเมนูที่มักจะเห็นจนชินตาเมนูหนึ่งก็คือ “เกี๊ยวกุ้ง”
เจ้าเมนูฮิตเมนูนี้มาได้อย่างไรกัน?

จากที่ผู้เขียนได้ไปสอบถามผู้รู้ใน CP มาพักใหญ่ทำให้ทราบว่า เจ้าเมนูเกี๊ยวกุ้งนี้มีเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อก่อนธุรกิจกุ้งของ CP เป็นธุรกิจแบบรับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer: OEM) โดยลูกค้าแบรนด์ต่างๆ จะเป็นผู้กำหนด Spec ของกุ้งมาให้ แล้ว CP ก็ทำหน้าที่เลี้ยงให้ได้ตาม Spec นั้นต่อมาคนเริ่มเห็นว่า เลี้ยงกุ้งขายแล้วได้กำไรดี ก็เลยเข้ามาเลี้ยงกุ้งกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ จึงมีกุ้งเข้าสู่ตลาดในปริมาณที่มากขึ้นไปโดยปริยาย

ตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน เมื่ออุปทาน (Supply) มาก ในขณะที่อุปสงค์ (Demand) มีน้อยกว่า ก็จะเกิดความไม่สมดุลขึ้น  อุปสงค์ดูดซับอุปทานได้ไม่หมด มีอุปทานส่วนเกิน ราคาจึงตกต่ำลง เกิดการแย่งกันขาย ธุรกิจกุ้งจึงเข้าสู่สถานการณ์แข่งขันด้านราคา (Price War)

ธุรกิจกุ้งของ CP เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะขาดทุนในที่สุด

เจ้าสัวธนินท์จึงต้องหาทางกอบกู้วิกฤตินี้
เวลานั้นเจ้าสัวตัดสินใจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจเสียใหม่ จากเดิมที่เป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งต้องพึ่งพิงคำสั่งซื้อจากลูกค้าเพียงอย่างเดียวมาเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า (Value Added) ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง (Original Brand Manufacturer: OBM)
เจ้าสัวเล็งเห็นว่า ธุรกิจกุ้ง CP มีจุดแข็งสำคัญคือ สามารถเลี้ยงกุ้งออกมาได้มีคุณภาพสูง กุ้งมีเนื้อหวานกรอบอร่อย ดังนั้นจึงมีแนวคิดให้นำกุ้งคุณภาพดีเหล่านี้มาผลิตเป็นอาหารแปรรูปภายใต้แบรนด์ของตัวเอง โดยให้ลองนำเอากุ้งทั้งตัวมาห่อด้วยแป้งเกี๊ยว ซึ่งเป็นการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ให้กับตัวสินค้า เนื่องจากเกี๊ยวกุ้งในตลาดขณะนั้น มักจะเป็นการนำเนื้อกุ้งมาผสมกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ
หลังจากที่ได้ออกตลาด พบว่า เกี๊ยวกุ้งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี จนวันนี้สามารถแตกไลน์สินค้าออกไปได้อีกหลายตัว เช่น บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง เป็นต้น และที่สำคัญยังเป็นสินค้าส่งออกดาวเด่นที่ดึงเงินตราต่างประเทศเข้ามาได้มากมาย
จากธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ที่ประสบภาวะขาดทุน มาสู่การมีสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง (OBM) สิ่งสำคัญที่ทำให้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจขึ้นมาได้ สำหรับผู้เขียนแล้ว ขอมองไปที่ 3 เรื่องหลัก

หนึ่ง ต้องรู้จักวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งและมองโอกาสทางธุรกิจให้ออก (SWOT Analysis)
สอง ผู้นำต้องไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลง (Accept Change)
และเรื่องสุดท้าย ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง (Implementation)

ปล. เนื้อหาในบทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของเจ้าสัวให้กับนักธุรกิจโดยเฉพาะผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ SMEs และผู้ที่สนใจ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน ดังนั้น ผู้เขียนของดพูดถึงประเด็นขัดแย้งทางสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าสัว และ CP ในกระทู้นี้ค่ะ ^^

The Side Story
FB: https://www.facebook.com/Dhaninsidestory
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่