ข้าบดินทร์ ในมุมมองของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

- สวัสดีวันอาทิตย์ที่ 21 มิ.ย. 2558 ครับ

- ช่วงเวลานี้ วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีละครอิงประวัติศาสตร์ สมัย ร.3 ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ออกอากาศทางช่อง 3 เรื่องข้าบดินทร์ ละครดี พระเอก นางเอก และผู้แสดงหลายคน หล่อ/สวย ชุด+ฉากเยี่ยม ถ่ายทำยอด คนดูติดกันตรึม ผมเห็นว่า มีมุมสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่อยาก Share กับท่านประชาชน ถ้าสนใจเชิญติดตามอ่านได้ครับ

- คือ ตัวหลักที่ขับเคลื่อนเรื่อง (Story) ของละครนี้ เป็นเรื่องการเมืองระดับโลก ระดับภูมิภาคและการเมืองในประเทศของเราเอง ซึ่งมีส่วนทำให้ผลออกมาเป็นสยาม เป็นประเทศไทย ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

- ขอเรียนว่า เหตุการณ์ในเรื่องข้าบดินทร์เกิดขึ้นสมัยร.3 สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว- นามเดิม กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ที่มาของชื่อ เจ้าพระยาบดินทรเดชา และของเหม- หมื่นสุรบดินทร์) ครองราชย์ปีค.ศ.1824-1851 (ขอใช้ปีฝรั่งเพื่ออ้างอิง) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษสมัย Queen Victoria เข้ายึดเมียนมาบางส่วนแล้ว และกำลังใช้สงครามฝิ่น (ครั้งแรก 1839-1842) เข้ารุกรานจีน ส่วนสงครามในภูมิภาคเราก็คือ ระหว่างไทยกับญวนรบกันแย่งอำนาจเหนือเขมร (กัมพูชา) เรียกว่า อานามสยามยุทธ ปี 1831-1834 และ 1841-1845 โดยมีลาวเกี่ยวข้อง

- ส่วนการเมืองในสยามเอง ก็คือช่วงต่อร.3 ไปร.4 ที่มีราชวงศ์จักรีปกครอง โดยมีตระกูลบุนนาค สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์- ดิศ บุนนาค (บิดาคุณชายช่วงในละคร) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ- ทัต บุนนาค มีบทบาทสำคัญ

- ในละคร จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเหมมาจากการเมือง 3 ระดับนี้

- ครอบครัวเหม (เจมส์ มาร์) อยู่ปากน้ำ บิดามีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการค้าอังกฤษ (วิลาศ) มีการแย่งชิงผลประโยชน์ มีการฆ่าพ่อค้าชาวอังกฤษ แล้วกล่าวโทษบิดาเหม พระยาบริรักษ์ (จักรกฤษณ์ อำมรัตน์) จนเหมต้องตกระกำลำบาก ต้องไปตะพุ่นหญ้าช้าง (เลี้ยงช้าง) ฝึกฝนจนเก่งทางคชศาสตร์ มามีโอกาสในชีวิต ก็เพราะช่วยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ในสงครามอานามสยามยุทธ ที่เขมร ต่อมาได้เป็นถึงหมื่นสุรบดินทร์ มาช่วยงานคุณชายช่วง แต่ก็ยังต้องพบกับวิบากกรรมในขบวนการต้านอิทธิพลของอังกฤษ (กรณีซื้อเรือกลไฟไม่เหมาะสม) จนในที่สุดต้องจบบทบาททางการบริหารกลายไปเป็นผู้ช่วยอยู่นอกเวทีแทน

- การเมืองภายในของสยามเองก็น่าสนใจมาก มีความปรองดอง จนสู้ศึกนอกจากอังกฤษ รวมทั้งการต่อต้านการค้าฝิ่น ที่อังกฤษเป็นผู้ค้าใหญ่สุด และรบศึกรอบบ้านจนสงบในปี 1834 ก่อนที่ฝรั่งเศสจะบุกเข้ามายึดญวน เขมร และลาวในปี 1887 คือ เมื่อร.3ขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาเป็นร.4) อุปสมบทอยู่ที่วัดสมอราย (เปลี่ยนชื่อเป็นวัดราชาธิวาสวิหาร) ต่อมา ร.3 ก็ทรงสร้างวัดบวรนิเวศ ถวายให้เจ้าฟ้ามงกุฎในสมณภาพประทับ (ชื่อบวร แปลว่า วังหน้า คือวังของกษัตริย์ระดับถัดวังหลวง) และร.3 ก็ไม่ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้า การสืบทอดราชบัลลังค์เป็นไปโดยเรียบร้อย ส่วนเสนาบดี ก็จะมีจากตระกูลบุนนาคมีบทบาทสำคัญ คุณชายช่วง บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (การิน ศตายุ) จึงมีความสำคัญมาก และสำคัญต่อชีวิตของเหม ต่อมาคุณชายช่วงเป็นเจ้าพระยาพระคลัง (วิวัฒน์ ผสมทรัพย์) และเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในสมัยร. 5

- ในละครมีเรื่อง ข้อตกลงทางการค้า ที่ทูตอังกฤษชื่อ เจมส์ บรู๊ค มาเจรจา ซึ่ง เหม (หมื่นสุรบดินทร์) และคุณชายช่วง- พระยาพระคลัง มีบทบาทเจรจาเรื่องนี้ ตอนหลังมาเป็นสนธิสัญญาเบาว์ริงปี 1855 ที่ไทยเปิดการค้าเสรีให้อังกฤษ รวมทั้งให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งต่อมาก็ทำกับประเทศในยุโรปอีกหลายประเทศ จนโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ไปเป็นเศรษฐกิจที่ผลิตตามกลไกการค้าโลก

- การเมืองอีกมิติหนึ่งในละครข้าบดินทร์โยงใยมาทางสังคม คือนางเอกชื่อ ลำดวน (ภีรนีย์ คงไทย) ในละครเป็นชาวอัมพวา หลานสาวคุณชายช่วง- พระยาพระคลัง สายภรรยาของต้นตระกูลบุนนาค คือเจ้าคุณนวล (วัดนวลนรดิศ) เป็นชาวอัมพวา ซึ่งเป็นพี่น้องกับเจ้าคุณนาค (เจ้าคุณอรุณอัมรินทร์) มเหสีของร.1 โดยร.2 สมเด็จพระบิดาของร.3 ประสูติที่อัมพวา จึงตอนหลัง เมื่อเหมมาแต่งงานกับลำดวนก็เท่ากับเป็นหลานเขยของคุณชายช่วง

- น่าสนใจนะครับ พื้นที่ไทยกับอินโดจีนผ่านจากการช่วงชิงอำนาจระหว่างกัน ไปเป็นฝรั่งเศสเข้ามายึดครอง ผ่านสงครามผ่านการสู้รบทางลัทธิสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ กับทุนนิยม/ประชาธิปไตย วันนี้ เวลานี้ สันติภาพมีอยู่ทั่ว สัปดาห์หน้านี้ วันอังคารที่ 23 มิ.ย. ก็จะมีการประชุมกัน เรื่องกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV Meeting) ที่กรุงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมา เพื่อเพิ่มความร่วมมือ โดยท่านนรม.ของไทยไปร่วมประชุมด้วย

- สุดท้ายครับ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา สิงห์ สิงหเสนี ผู้ซึ่งชุบชีวิตใหม่ให้เหม มีบทบาทสำคัญในการสร้างอานุภาพของสยามในยุคนั้น เช่นในการรบกับลาว-เจ้าอนุวงศ์ และในการควบคุมสถานการณ์ในเขมร ซึ่งในกรณีหลัง ท่านต้องอยู่เขมรถึง 15 ปี เวลานี้ เราก็ได้เห็นสถานที่สำคัญในชื่อท่านหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนบดินทร์เดชา หลายโรงเรียน

- เวลาดูละครข้าบดินทร์ จะนึกโยงใยไปถึงประวัติศาสตร์เหล่านี้บ้าง ก็อาจจะน่าสนใจอีกมิติหนึ่งนะครับ

- สวัสดีครับ...

ที่มา https://www.facebook.com/NarongchaiAkrasanee
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่