ข้าบดินทร์ เสาะหาพลายงาม พานพบบุปผา ผงาดเป็นขุนศึก

สัปดาห์นี้ พระเอกต้องล่องไพรเพื่อโพนช้างสำคัญ ได้ผจญเหตุการณ์มากมาย

ช้างสำคัญ
ในที่นี้หมายถึงช้างที่มีลักษณะครบถ้วนถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ที่สืบสานกันมายาวนาน
อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ช้างมงคล
ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้คุณต่อบ้านเมืองนั้นๆ โดยเฉพาะช้างที่มีลักษณะพิเศษเป็นมงคล
หรือที่เรียกว่า ช้างเผือก
หากใครได้เป็นเจ้าของ ก็จะส่งให้ผู้เป็นเจ้าของพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง


สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ได้กล่าวถึงคำว่า ช้างเผือก ว่า
แต่เดิมเป็นคำสามัญที่คนทั่วไปใช้เรียกช้าง ซึ่งมีผิวหนังเป็นสีชมพูแกมเทา
อันเป็นสีที่ผิดแปลกไปจากสีของผิวหนังช้างธรรมดา
ที่ปกติมีสีเทาแกมดำ โดยมิได้คำนึงถึงลักษณะอื่น ๆ ประกอบด้วย


ช้างเผือกพม่า ณ โรงเลี้ยงช้างเผือก กรุงเนปิดอว์

ฉะนั้นคำว่า ช้างเผือก ตามความหมาย ที่เราเข้าใจกัน จึงอาจเป็นทั้งช้าง ซึ่งมีมงคลลักษณะครบ หรือไม่ครบก็ได้
และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในเรื่องนี้ ทางราชการจึงได้กำหนดศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อช้าง ซึ่งมีลักษณะพิเศษขึ้นใหม่
ตามพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า พุทธศักราช 2465
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 38 หน้า 45 วันที่ 26 มิถุนายน 2464) มาตรา 4  โดยระบุไว้ว่า


ช้างสำคัญ ให้พึงเข้าใจว่า เป็นช้างที่มีมงคลลักษณะ 7 ประการ ดังนี้

          1. ตาขาว
          2. เพดานขาว
          3. เล็บขาว
          4. ขนขาว
          5. พื้นหนังขาว (หรือสีคล้ายหม้อใหม่)
          6. ขนหางยาว
          7. อัณฑะโกศขาว (หรือสีคล้ายหม้อใหม่)

ส่วน "ช้างสีประหลาด" ให้พึงเข้าใจว่า เป็นช้างที่มีมงคลลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 7 อย่าง
ที่กล่าวไว้ในเรื่องช้างสำคัญ จากความหมายตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ชี้ให้เห็นชัดว่า

"ช้างสำคัญ" คือ ช้างเผือกที่มีลักษณะครบถ้วน

สำหรับช้างเผือกตามความหมายของคนทั่วๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่สังเกตจากลักษณะสีของผิวหนังนั้น
อาจไม่ใช่ช้างสำคัญ หรือช้างเผือก ที่มีลักษณะครบถ้วนก็ได้


ช้างเผือกพม่า ณ โรงเลี้ยงช้างเผือก กรุงเนปิดอว์

เพราะสีของช้างเป็นแต่เพียงมงคลลักษณะข้อ 1 ในจำนวนมงคลลักษณะ 7 ข้อ ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่เรียกว่า
"ช้างสีประหลาด" เท่านั้น ดังนั้น ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงไม่ใช้คำว่า "ช้างเผือก" เพราะเกรงว่า จะเข้าใจสับสนกัน

นอกจาก "ช้างสำคัญ" และ "ช้างสีประหลาด" แล้ว พระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้กล่าวถึง "ช้างเนียม" ไว้ด้วย
โดยระบุลักษณะของช้างเนียมไว้ 3 ประการ คือ

พื้นหนังดำ
งามีลักษณะดังรูปปลีกล้วย
เล็บดำ

ซึ่งเป็นลักษณะของช้างที่แปลกประหลาดหายาก ดังนั้น ในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า กำหนดให้ผู้ที่ครอบครอง
ช้างสำคัญ ช้างสีประหลาด ช้างเนียม ต้องนำช้างดังกล่าวขึ้นทูลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

กับได้กำหนดบทลงโทษไว้ในมาตรา 21 ว่า

ผู้ใดมีช้างสำคัญ ช้างสีประหลาด หรือช้างเนียม แล้วปล่อยเสียหรือปิดบังซ่อนเร้นช้างนั้นไว้
ไม่นำขึ้นทูลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500 บาท
และโทษนี้ ไม่ลบล้างการที่ช้างนั้นจะต้องพึงริบเป็นของหลวง


นอกจากนี้ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ยังได้บรรยายลักษณะสำคัญของช้างเผือก ไว้ดังนี้

ช้างเผือก เป็นช้างพลายรูปงาม
งาขวา-ซ้ายเรียวงาม
กายสีดอกบัวแดง
ขนตัวขุมละสองเส้น
ขนโขมด สีน้ำผึ้งโปร่ง
ขนบรรทัดหลังสีน้ำผึ้งโปร่งเจือแดง
ขนหูสีขาว
ขนหางสีน้ำผึ้งเจือแดงแก่
ตาขาวเจือเหลือง
เพดานปากขาวเจือชมพู
อัณฑะโกศขาวเจือชมพู
เล็บขาว เจือเหลืองอ่อน
หูและหางงามพร้อม
เสียงเป็นศัพท์แตรงอน

ช้างเผือกมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อองค์พระมหากษัตริย์ หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงได้ไว้ก็จะหวงแหน
และประกอบราชพิธีขึ้นระวางสมโภชเป็นพระยาช้างต้น มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา หรือพระยา
แต่ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับตระกูล (ลักษณะ) ของช้างเผือกนั้นๆ ด้วย


White Elephant Frankfurt Zoo ,April Fool Day 1949

ถึงกระนั้น ช้างเผือกก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีสีผิวกายเป็นสีขาวเพียงอย่างเดียว
และไม่ได้หมายถึงว่า ช้างเผือกจะต้องเกิดมาจากท้อง ที่มีพ่อแม่เป็นช้างเผือกเท่านั้น


ซึ่งตามคัมภีร์ พระคชศาสตร์ หรือตำรา คชลักษณ์ เชื่อว่า ช้างเผือก เป็นช้างที่เทพชั้นสูงหรือมหาเทพประทานมาให้พระมหากษัตริย์
ซึ่งเป็นผู้ทรงทศพิธราชธรรม หากพระองค์ใดมีช้างเผือกมาก จะเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า ทรงมีพระบารมีแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศ
และเป็นที่ยำเกรงต่ออริราชศัตรู รวมไปถึงมิตรประเทศ

ที่มาของการเลี้ยงช้างใช้งานมาจากอินเดีย

จำนวนสามชาติใหญ่ในอินเดียโบราณ ชาวอารยัน ไม่รู้จักช้างป่า ชาวทมิฬคุ้นกับช้างอยู่บ้าง

ส่วนชาวมุนดะ ชนกลุ่มน้อย กระจัดกระจายอยู่ไปทั่ว พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร
น่าเชื่อว่า นับถือช้างป่า จับช้างป่ามาเลี้ยงก่อนใคร


จนเมื่อสองพันปีที่แล้ว ศาสนาฮินดูลงตัว ผู้คนนับถือพระอิศวร พระนารายณ์

แต่ก็ยังยินดีไหว้พระพิฆเนศก่อน

อินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ ศาสนาฮินดูจึงต้องมีการแต่งนิยาย ที่เรียกว่าเทพปกรณัม
ประสมประสานระหว่างคนพื้นเมืองกับ ชนเผ่าที่รุกเข้ามาภายหลัง

เทพที่มีหัวช้าง จึงถูกนับญาติกับเทพเผ่าที่เข้ามาอยู่ใหม่ ขั้นแรกกำหนดให้พระอินทร์
เทพของชาวอารยัน ขี่ช้างเอราวัณ แสดงชัยชนะของชาวอารยันเหนือคนพื้นเมือง

ต่อมาก็เกิดเทพปกรณัม ว่าด้วยพระนางอุมา ปั้นเทพบุตรจากคราบไคล สั่งให้เป็นนายทวารคุ้มกัน
เมื่อพระอิศวรกลับจากหิมาลัย เทพบุตรก็ห้ามมิให้เข้าหาพระนาง เกิดการสู้รบกัน
เด็กสู้ไม่ได้ถูกตัดเศียรขาด ต้องหาเศียรช้างมาต่อ

พระอิศวรรับเด็กที่มีหัวช้าง เป็นบุตร ได้ชื่อว่าพระพิฆเนศ ตอนนี้เอง

พระพิฆเนศเป็นบุตรพระอิศวร แต่มีคนสงสัย ถึงทุกวันนี้ ทำไมจึงต้องไหว้พระพิฆเนศก่อน...
คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่า พระพิฆเนศท่านมาก่อน ท่านเก่าแก่กว่าเทพอื่นใดที่มีพระพักตร์เป็นมนุษย์



เมื่อคณะพระเอกคล้องช้างเผือกได้แล้ว เป้าหมายต่อไปคือโพนเจ้าสังข์เพื่อล้างแค้นให้เสดียงที่ตาย
ตามแกะรอยเท้าไปจนพบกับคณะนางเอก โดยบังเอิญ จนต้องร่วมทางไปยังพระตะบอง
ระยะทางจากพระนครรวมร้อยหลายกิโลเมตร รอนแรมเป็นเดือน ฝ่าดงพญาไฟ
น่าจะผ่านทางจ.สระแก้ว ,เสียมราฐ มากกว่าจันทบุรี

ว่าแต่ตอนที่จับสองควาญที่ดูสาวๆอาบน้ำ พระเอกดูด้วยเปล่า

มีโคลงโลกนิติ ปรากฏในละคร

๏ ครรโลงโลกนิตินี้     นมนาน
มีแต่โบราณกาล             เก่าพร้อง
เป็นสุภสิตสาร             สอนจิต
กลดั่งสร้อยสอดคล้อง     เวี่ยไว้ในกรรณฯ

แม่ลำดวน
๏ นาคีมีพิษเพี้ยง     สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช     แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส     แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า     อวดอ้างฤทธีฯ

ขุนนาฏ
๏ เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม     ดนตรี
อักขระห้าวันหนี             เนิ่นช้า
สามวันจากนารี             เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า     อับเศร้าศรีหมองฯ

หลวงสรอรรถ
๏ พระสมุทรสุดลึกล้น     คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดวา             หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา             กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้             ยากแท้หยั่งถึงฯ
(สองวรรคสุดท้าย หลวงสรอรรถเปลี่ยนเสียใหม่)

๏ รักกันอยู่ขอบฟ้า     เขาเขียว
เสมออยู่หอแห่งเดียว     ร่วมห้อง
ชังกันบ่แลเหลียว             ตาต่อ กันนา
เหมือนขอบฟ้ามาป้อง     ป่าไม้มาบังฯ

พระเอกนางเอก ได้มาพบกันหลังพรากจากไปนาน พระเอกให้แหวนหางช้าง ลำดวนให้พระทองพิมพ์นางพญา
แต่เก็บไว้ที่เอว เพราะห้อยเขี้ยวหมูป่าตันไว้ที่คอ เหน็บมีด ตามสำนวนไทยว่า พร้าขัดหลังเล่มเดียว
เป็นคนดีเอาถ่าน ไม่ว่าผู้ดี ไพร่ ที่เป็นวิญญูชนย่อมอยากได้ไว้เป็นเขยทั้งสิ้น นางเอกชอบคนดี เลือกไม่ผิด


เรื่องแม่พังโต เป็นช้างต่อจนเจ้าสังข์มาติดบ่วง ด้วยราคะดำกฤษณา เป็นเหตุ สอดคล้องกับ โมรปริตร ความว่า

พญานกยูงทองโพธิสัตว์ จึงได้ออกจากคูหา แล้วโผผินบินไปสู่ที่ที่นางนกยูงยืนส่งเสียงร้องในทันที
ขณะที่มัว แต่สนใจแต่รูปโฉมของนางนกยูง พลันเท้านั้น ก็เหยียบยืนเข้าไปในบ่วงบาศของพรานที่วางดักไว้
บ่วงใด ๆ ที่มิได้เคยร้อยรัด พระมหาโพธิสัตว์ยูงทอง ตลอดเวลา ๗๐๐ ปี
บัดนี้พญายูงทองโพธิสัตว์ ได้โดนบ่วงทั้ง สองร้อยรัดสิ้นอิสระเสียแล้ว บ่วงทั้งสองนั่นก็คือ


บ่วงกาม แล บ่วงบาศ
      
โอ้หนอ บัดนี้ทุกข์ภัยได้บังเกิดต่อพญานกยูงทองโพธิสัตว์เสียแล้ว เป็นเพราะเผลอสติแท้ๆ
เพราะนางนกยูงตัวนี้เป็นเหตุ จึงทำให้พญายูงทอง มีจิตอันเร่าร้อนไปด้วยกิเลส จนต้องมาติดบ่วงของเรา


ฉากช้าง ถ่ายทำดีมากใช้โดรนบินถ่ายจากมุมสูง ได้ภาพป่าเขาที่งดงาม คิวถ่ายทำได้ดีไม่อันตรายเกินไป
ช้างที่ร่วมฉากน่ารัก ฉลาดมาก ใช้งวงหยิบมาขว้างใส่ท่านขุนได้ ต้องมีซ่อนกล้วยเพื่อให้ช้างยืนนิ่งจนถ่ายเสร็จ
สัตว์ เด็ก เอฟเฟค สลิง เอาอยู่ และใช้เรื่องเล่าแทนการนำช้างออกฉาก แต่นางเอกชอบออกตามลำพังบ่อยๆ
สงสัยมีของดีหลายอย่างคุ้มครองถึงแคล้วคลาดตลอด

ทัพเขมร ญวน แต่ตัวคล้ายกันมาก พลทหารญวนสวมฝาชี ที่จริงเป็นหมวกใบจาก เรียก น๊อน ล้า(non la)
หรือ บางที่เรียก กุบ

คิวบู๊ ในคิวที่จับทหารญวนได้ กับประลองดาบคัดเลือก มีบรรยากาศมาคุบางครั้ง
เพื่อให้ได้ท่าสวยๆเน้นๆ เนื่องจากมีท่าบิดหักจับทุ่ม ทำให้เสียเวลามากในการถ่ายทำ

คณะพระเอกเดินทางถึงพระตะบอง ได้ซ้อนแผนสำเร็จแต่ไปเสริมหล่อนานหน่อย จนเกือบมาทดสอบไม่ทัน
สิบปีต่อมา พระเอกฝีมือดาบรุดหน้าไปมาก คุณพระสู้ไม่ได้ถูกเผด็จศึกด้วยท่า ลับหอกลับดาบ
สมศักดิ์ศรีศิษย์อาทมาฏเหนือ ส่วนหัวหมื่นป้อแป้จนสอบตก


นางเอก เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานถวายแหวน ให้แก่นางสีดา
ตั้งใจรำ เหมาะกับบทนี้ เพราะสีดาเป็นแขกขาว หน้าตา ผิวพรรณ เป็นอารยัน
บางแหล่งตีความว่า สีดา คือ แผ่นดิน การช่วยสีดา คือการชิงแผ่นดินหรือปกป้อง
เป็นการสร้างขวัญกำลังใจในยามศึก เพราะมียอดกระบี่หนุมานชาญสมรร่วมรบ


สัปดาห์หน้า หวังว่าจะลุยกันเต็มที่ เพราะมีcg เลือดกระจายเป็นระยะจากสามตอนนี้


ท้ายนี้ผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต่อขออภัยมา ณ ที่นี้ ขอบคุณครับ



อ้างอิง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่