เรื่องศาสนาวิทยาศาสตร์

ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเชื่อกัน (ผิดๆ) ว่าพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์นั้นเข้ากันไม่ได้ เพราะพุทธศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ แต่วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการพิสูจน์ ที่มีเหตุผลมาอธิบายให้เข้าใจได้ และมีความจริงมายืนยัน

แต่ในความเป็นจริงนั้น พุทธศาสนาดั้งเดิมหรือแท้จริงนั้น ไม่ได้สอนให้ใช้ความเชื่อเป็นหลักในการศึกษาและปฏิบัติเลย เพราะพระพุทธเจ้าจะไม่สอนให้เชื่อก่อน แต่จะสอนให้เกิดปัญญาก่อน โดยจะสอนให้พิจารณาดูก่อน แล้วนำเอามาพิสูจน์ด้วยการทดลองปฏิบัติ เมื่อได้ผลจึงค่อยปลงใจเชื่อ แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ให้ละทิ้งเสีย ซึ่งหลักนี้มันก็ตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั่นเอง

คำว่า ศาสตร์ (ศาสตรา-อาวุธ) หมายถึง เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหา ซึ่งก็หมายถึง ความรู้ที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาต่างๆของชีวิต โดยศาสตร์ต่างๆของมนุษย์นั้นมีมากมาย เช่น ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ อักษรศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่กำลังเจริญก้าวหน้าที่สุด และผู้คนยอมรับที่สุด แล้วทำไมปัจจุบันจึงไม่มีศาสนาที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์เป็นหลักในการศึกษาและปฏิบัติบ้าง

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า วิทยาศาสตร์ คือความรู้ที่เกิดขึ้นมาจากการสังเกตปรากฏการของธรรมชาติ ซึ่งวิทยาศาสตร์นี้เองที่เป็นวิธีการค้นหาความจริงของธรรมชาติ ทั้งในเรื่องของวัตถุและจิตใจ ที่ได้ผลเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก และสร้างความเจริญทางวัตถุให้แก่มวลมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยหลักที่เป็นหัวใจของวิทยาศาสตร์นั้นก็สรุปได้ ๔ ข้ออันได้แก่

๑. ศึกษาจากของจริง ที่เราสามารถสัมผัสหรือพิสูจน์ได้

๒. ศึกษาโดยใช้เหตุผล จากสิ่งที่มีอยู่จริง ที่เราสามารถสัมผัสหรือพิสูจน์ได้

๓. ศึกษาอย่างเป็นระบบ คือ จากพื้นฐานไปหายอด จากง่ายไปหายาก มีการแตกกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างเป็นระบบ และมีการสรุปเนื้อหาและบันทึกไว้เอย่างเป็นระเบียบ เป็นต้น

๔. พิสูจน์ก่อนเชื่อ คือจะเชื่อว่าหลักการหรือทฤษฎีใดถูกต้องหรือเป็นความจริง ก็ต้อเมื่อได้มีการพิสูจน์จนเห็นผลอย่างแน่ชัดก่อนแล้วเท่านั้น

ส่วนศาสนานั้นเป็นเรื่องของความเชื่อ ที่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาของจิตใจของมนุษย์ และเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ โดยปัญหาของจิตใจมนุษย์นั้นก็มีทั้ง เรื่องของความทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน กับเรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากความกังวลใจ ในเรื่องของชีวิตในโลกหน้า ส่วนหลักในการดำเนินชีวิตนั้น ศาสนาก็จะสอนให้รู้จักใช้ชีวิตเพื่อไม่ให้ชีวิตมีความเดือดร้อนและให้สังคมมีความสงบสุข ซึ่งแต่ละศาสนาก็จะมีหลักในการสอนแตกต่างกันไปตามพื้นเพของสติปัญญาของผู้คน จึงทำให้มีศาสนาหลายศาสนาที่มีหลักความเชื่อที่แตกต่างกัน

เมื่อศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล แต่วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของความจริงที่มีเหตุผล จึงเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน ไม่สามารถเข้ากันได้ ดังนั้นเรื่องศาสนาวิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่ดูว่าจะเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าเราจะนำเอาหลักวิทยาศาสตร์ มาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของจิตใจ และนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ วิทยาศาสตร์ก็จะกลายมาเป็นศาสนาไปทันที และถ้ามีศาสนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาในโลก ผู้คนที่มีหลักวิทยาศาสตร์อยู่ในจิตใจก็จะยอมรับทันที

พุทธศาสนาในปัจจุบันนั้น มีคำสอนอยู่ ๒ ระดับ คือศีลธรรม (คำสอนระดับพื้นฐาน) กับ ปรมัตถธรรม (คำสอนระดับสูง) ซึ่งหลักคำสอนของศีลธรรมนั้น เป็นหลักคำสอนเพื่อให้ชีวิตมีความปกติสุขและช่วยให้สังคมสงบสุข รวมทั้งช่วยให้โลกมีสันติภาพ ซึ่งศีลธรรมนี้เป็นคำสอนสำหรับคนทั่วไปที่ยังมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอ

ส่วนคำสอนระดับสูงนั้น เป็นคำสอนเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน โดยคำสอนระดับสูงนี้จะมีหลักการปฏิบัติตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ คือ ศึกษาจากร่างกายและจิตใจของเราเองในปัจจุบัน โดยใช้เหตุผลจากร่างกายและจิตใจของเราเองในปัจจุบันมาพิจารณา และมีการศึกษาตั้งแต่พื้นฐาน (คือเรื่องความทุกข์) ไปหาจุดสูงสุด (คือดับทุกข์ได้ถาวร) อย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีการพิสูจน์จนเห็นผลจริงก่อนจึงค่อยปลงใจเชื่อ

คำสอนระดับศีลธรรมในพุทธศาสนานั้น ปัจจุบันได้มีคำสอนของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเข้ามาผสมปลอมปนอยู่ด้วยมากมายโดยชาวพุทธไม่รู้ตัว จึงได้มีคำสอนที่มีแต่ความเชื่ออยู่เต็มไปหมด จึงทำให้คนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ไม่ยึดติดในศาสนาใดๆมองว่า พุทธศาสนาก็เป็นศาสนาธรรมดาๆ ที่สอนให้มีความเชื่อเหมือนกับทุกศาสนาของโลก หรือเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นเพียงสาขาหนึ่งของศาสนาฮินดูเท่านั้น

แต่ในความจริงนั้นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น คือคำสอนระดับสูง ที่เป็นคำสอนสอนเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ ดังนั้นหลักในการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบันนี้ จึงเป็นคำสอนที่แตกต่างจากทุกศาสนา เพราะไม่ใช้ความเชื่อใดๆ แต่สอนให้เกิดปัญญาที่เข้าใจและเห็นแจ้งชีวิต ที่คนที่มีหัวใจเป็นวิทยาศาสตร์จะต้องชอบใจ จึงเรียกได้ว่าคำสอนระดับสูงของพระพุทธเจ้านี้ เป็นศาสนาวิทยาศาสตร์

สรุปได้ว่า พุทธศาสนานั้นมีทั้งคำสอนศีลธรรม สำหรับคนทั่วไปที่ใช้ความเชื่อเหมือนศาสนาทั่วไปที่เคลือบอยู่ภายนอก และมีทั้งคำสอนระดับสูงเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ที่เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรสนใจนำคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ที่เป็นวิทยาศาสตร์มาศึกษาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้รับประโยชน์จากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า และขอให้ช่วยกันนำคำสอนที่เป็นวิทยาศาสตร์ อันเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามาเผยแผ่แก่ชาวโลก เพื่อช่วยให้คนที่กำลังมีความทุกข์ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ และช่วยให้โลกมีสันติภาพตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้ากันต่อไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่