สมาธิเกิดโกสัชชะ-ความเกียจคร้าน : หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท



พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม
อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

...


เมื่อเราทำสมาธิอย่างนั้นได้เกิดความสงบแล้วเราก็อย่าไปเสวยความสุขมาก
ท่านจึงเรียกว่า ติดสุข-สุขเวทนา เมื่อเข้าไปเสวยสุขเวทนามากเข้าแล้ว
มันก็จะเกิด "โกสัชชะ*"ตามมาคือ ความเกียจคร้าน

ขณะที่ใจสบายอย่างนั้น ยิ่งสบายมากเท่าไรมันยิ่งเกิดความเกียจคร้าน
ใจอันนี้มันให้เกิดกิเลสขึ้นมาเอง ความเกียจคร้าน..ไม่อยากนึก ไม่อยากนึก
ไม่อยากทำอะไรทั้งหมด นั่งดูเฉยๆๆอยู่อย่างนั้น นั่นสมาธิเกิดโกสัชชะ ความเกียจคร้าน
เมื่อโกสัชชะเกิดขึ้นแล้ว "ถีนมิทธะ" ความง่วงเหงาหาวนอนมันจะตามเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว
พอมากเข้า มากเข้า ประเดี๋ยวก็ง่วงนอน..สมาธิเสีย นี่พอสมาธิเสียก็ต้องไปเจริญใหม่
นี่ต้องแก้ตรงนี้ให้ตก การบำเพ็ญอยู่ตรงนี้สำคัญที่สุด

พอได้สมาธิแล้วเราก็ต้องไปพิจารณาขันธ์ ๕ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรานี่
อะไรเป็นเรา..ถามใจลงไป ไหนตัวเรา แข้งขามือตีน หูตาจมูกลิ้นกาย
แล้วก็ถามลงไปไหนตัวเรา พระพุทธเจ้าแสดงว่า เนมะมะ เนตังมะมะ นี่ไม่ใช่เรา
ถามปัญญจวัคคีย์ รูปัง อนิจจัง ไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง เหล่านี้ไม่ใช่ตัวตน
แล้วเราก็ต้องเอาคำสอนตัวนี้มาพินิจพิจารณาบ้าง เมื่อใจสงบแล้ว

...

ขอน้อมรำลึก ๙๙ ปี ชาตกาล "พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท
"พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง"


เดิมจริงๆ ชื่อว่า โอวเจี๊ยะ แปลว่า หินดำ เพราะมีปานดำที่แผ่นหลัง
ท่านเมตตาให้คติธรรมเรื่องชื่อของท่านว่า

“จริงๆ แล้ว คำว่า “โอวเจี้ยะ” มีความหมายในทางธรรมอีกอย่างหนึ่ง
คนที่มีปานประเภทนี้ จะต้องเป็นคนมีจิตใจแข็งแกร่งดุจศิลาแลง
ทนร้อน ทนหนาว ทนทุกข์ ทนสุข อดทนได้ รับได้
แก้ไขได้ทุกสภาวการณ์ เหมือนจะเป็นธรรมะเตือนเราว่า
จงทำจิตใจให้เข้มแข็งดุจแผ่นหิน
ใครจะนำเอาของสกปรกมาเทใส่แผ่นหินก็คงนิ่งอยู่อย่างนั้น
ใครจะนำเอาน้ำหอมมาเทใส่แผ่นหินนี้
ก็คงอยู่อย่างนั้นเหมือนเดิม ไม่หวั่นไหว ไม่โยกคลอน
หรือโอนเอนไปกับอารมณ์ตางๆ ที่มายั่วเย้า หลอกลวง”


อุปนิสัยของท่านสมัยวัยหนุ่มก่อนบวชว่า
ท่านเป็นคนแข็งแรง สู้ทุกรูปแบบ จริงจัง ยอมหักไม่ยอมงอ
ทำอะไรต้องทำให้ได้ดั่งใจและมีความเพียรเป็นเลิศในการประกอบการงาน
พูดจาโฮกฮาก ตรงไปตรงมา ไม่กลัวคน ท่านไม่ยอมแพ้ใครเรื่องการงาน
ไม่ว่าจะเป็นงานหนัก เช่น แจวเรือ แบกหามสิ่งของ
เรียกว่า มีความอดทนบึกบึนเป็นอันมาก  ดังที่ท่านว่า

“ในวัยหนุ่มทำมาค้าขาย ขายเงาะ ขายทุเรียน ขายมังคุด
นิสัยออกจะติดทางนักเลง เป็นคนจริงจังในหน้าที่การงาน ไม่เกเร พูดจาโฮกฮาก
ไม่กลัวคน ต้นตระกูลเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ชอบโกหก
จึงเป็นมรดกทางอุปนิสัยติดต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงผู้เป็นลูกหลาน
เราเป็นคนทำอะไรต้องทำให้ได้ดั่งใจ
เวลาไปบรรทุกผลไม้ที่ท่าแฉลบ เรือลำไหนมันขึ้นฝั่งไม่ได้
เรือเขาขึ้นไม่ได้ทั้งหมด แต่สำหรับเรือเราต้องขึ้นได้ คือเอาขึ้นจนได้
เราเป็นคนแข็งแรง สู้ทุกรูปแบบ เป็นคนจริงจัง ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ
เป็นคนซุกซน แต่ไม่เคยซุกซนเรื่องผู้หญิง
และไม่เคยยอมแพ้ใครในหน้าที่การงานทั้งปวง”

“สมัยยังหนุ่มแน่น เราไม่เคยคิดถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษอะไร
มุ่งแต่ทำงานอย่างเดียว แม้แต่คำว่า นโม ตสฺส ยังว่าไม่จบ
แม้บางครั้งไปวัดได้ยินพระท่านเทศน์ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายในภายนอก เช่น ตาเห็นรูปอย่างนี้เป็นต้น ฟังแล้วไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย
บางทียังคิดเลยว่า ท่านพูดเรื่องอะไร ไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วไม่เห็นเข้าใจ
พอตอนหลังมาบวชจึงได้ทราบว่า อันนี้เป็นธรรมะที่บ่มอินทรีย์เป็นสำคัญ”

ส่วนหนึ่งจากประวัติและปฏิปทา "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท"

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่