รามายณะ มหากาพย์กับพุทธศาสนา โดย กลิ่นบงกช

จากมติชนออนไลน์

มติชนรายวัน 3 มิถุนายน 2558

ได้อ่านบทความชื่อ รามายณะ มหากาพย์แห่งชนชั้น ของ นพ.สมเกียรติ ธาตรีธร ซึ่งลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 หน้า 21 แล้ว ถูกใจมากตามมุมมองของท่าน บทความนั้น พอสรุปใจความเชิงสงสัยได้ 5 ประเด็น คือ

1.ทำไมฤๅษีวาลมิกิ ผู้แต่งรามายณะหรือรามเกียรติ์ จึงแต่งให้นางสีดา เป็นลูกของทศกัณฐ์ แล้วต่อมาทศกัณฐ์ต้องใช้ชีวิตยักษ์เป็นจำนวนมาก เพื่อทำสงครามแย่งเอาลูกสาวของตนมาเป็นเมีย

2.ทำไมผู้แต่งรามเกียรติ์จึงแต่งให้กำลังรบของทศกัณฐ์เป็นยักษ์และเป็นยักษ์ที่ชั่วช้าเลวทราม ขนาดทำสงครามเพื่อแย่งลูกสาวของตนมาทำเมีย

3.ทำไมผู้แต่งรามเกียรติ์ จึงแต่งให้ลิงเป็นทหารของพระราม โดยมีหนุมานเป็นหัวหน้าลิง แล้วแต่งให้ทหารลิงเก่งกว่ายักษ์สามารถปราบยักษ์ได้ราบคาบ พวกลิงแม้จะตาย แต่พอลมพัดมาอ่อนๆ พวกลิงก็ฟื้นมารบได้อีก แต่พวกยักษ์เมื่อตายแล้วก็ตายเลย

4.ทำไมผู้แต่งรามเกียรติ์ จึงแต่งให้หนุมานผู้ซึ่งช่วยพระรามฆ่ายักษ์ แล้วนำนางสีดากลับมาได้ แต่ไม่มีวาสนาจะครองเมืองได้

5.ทำไมผู้แต่งรามเกียรติ์ จึงแต่งเรื่องท้าวมาลีวราช ผู้เป็นพรหมผู้ทรงธรรม แต่แต่งให้ไม่ทรงธรรมคือหมายความว่า เมื่อให้พระพรหมมาลีวราชผู้ทรงธรรมมาตัดสินคดีทศกัณฐ์ทำสงครามแย่งเมียพระรามแล้วทำไมไม่แต่งให้ท้าวมาลีวราชวินิจฉัยว่า นางสีดานั้นเป็นลูกทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์จะเอามาเป็นเมียไม่ได้ เมื่อวินิจฉัยอย่างนี้แล้ว เรื่องก็จะจบ แต่ท้าวมาลีวราชไม่พูดความจริง กลับพูดเข้าข้างทศกัณฐ์ทำนองเห็นใจทศกัณฐ์ โดยใช้คำพูดพอสรุปได้ว่า อันนางสีดานี้เป็นหญิงงามหาหญิงในสามโลกเทียบไม่ได้ แม้แต่ตัวกูผู้ทรงธรรมก็ยังหวั่นไหวเพราะความสวยงามของนาง หากแต่กูอาศัยอุเบกขาญาณจึงกลับใจได้

ในบทความดังกล่าวคุณหมอได้อธิบายอย่างน่าอ่าน แต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ ผู้สนใจโปรดอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเองก็แล้วกัน สำหรับบทความต่อไปนี้จะกล่าวมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น

ผู้เขียนบทความนี้มีความเห็นเหมือนกันกับคุณหมอที่ว่าฤๅษีวาลมิกิมีนัยยะทางการเมืองในการแต่งเรื่องรามเกียรติ์ แต่นัยยะในมุมมองของผู้เขียน มองว่า ฤๅษีวาลมิกิมุ่งกดพระพรหมให้ตกต่ำ และมุ่งสร้างศรัทธาในพระเจ้าองค์ใหม่ที่ตัวสร้างขึ้นแทนพระพรหมซึ่งผู้เขียนจะขยายความต่อไป

หากเราศึกษาเรื่องภารตวิทยา คือความรู้เรื่องดินแดนอินเดีย เราจะพบว่า ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะอุบัติขึ้น ประชาชนอินเดียนับถือศาสนาพราหมณ์ ซึ่งศาสนานี้สอนว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในโลก มนุษย์พระพรหมเป็นผู้สร้าง แม้แต่โลกพระพรหมก็เป็นผู้สร้าง แต่เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์กลับสอนตรงกันข้ามกับคำสอนของศาสนาพราหมณ์ กล่าวคือเมื่อพูดถึงกำเนิดโลก พระองค์ก็ตรัสไว้ในอัคคัญญสูตรว่าโลกเกิดโดยธรรมชาติ พระพรหมมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องเลย เมื่อพูดถึงการเกิดของมนุษย์ พระองค์ก็ตรัสว่า มนุษย์เมื่อเริ่มแรกปฐมกับป์เกิดโดยโอปปาติกะคือลอยเกิดขึ้น ส่วนมนุษย์ยุคหลังจากนั้น เกิดจากพ่อแม่อยู่ร่วมกัน

เมื่อพระพุทธเจ้าสอนความจริงที่เห็นกันชัดๆ อย่างนี้ ชาวอินเดียสมัยนั้นจึงนับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก เมื่อชาวอินเดียเกือบทั้งประเทศนับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาในยุคนั้นจึงรุ่งเรืองเหมือนแสงอาทิตย์ ส่วนศาสนาพราหมณ์ร่วงโรยอับแสงเหมือนแสงหิ่งห้อย

ประชาชนชาวอินเดียส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา ชาวพุทธอินเดียต่างก็พูดสรรเสริญพระพุทธเจ้ากันปากต่อปาก คำพูดสรรเสริญพระพุทธเจ้าอย่างอื่นหมื่นแสนพวกพราหมณ์พอฟังได้ แต่มีอยู่คำหนึ่งที่พราหมณ์ฟังไม่ได้ เพราะฟังไปแล้วมันแสนจะขมขื่น คำพูดคำนั้นก็คือ คำพูดว่าพระพรหมมากราบบูชาพระพุทธเจ้า ผู้เป็นมนุษย์ในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวไว้ว่า ในสมัยนั้นชาวชมพูทวีปลือกันทั่วว่า พระพรหมมาเฝ้าพระพุทธเจ้า มากราบไหว้พระพุทธเจ้า พวกพราหมณ์ฟังคำนี้แล้วยากที่จะทำใจได้ เพราะพวกพราหมณ์บูชาพระพรหมกับทั้งพระพุทธศาสนาก็เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับศาสนาพราหมณ์ แล้วในเมื่อพระพรหมมากราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าเสียเช่นนี้พวกพราหมณ์จะอดสูใจขนาดไหน

อนึ่ง การที่พวกพราหมณ์ได้ฟังว่า พระพรหมมากราบไหว้พระพุทธเจ้ายังพอทน แต่ที่พวกพราหมณ์ฟังไม่ได้จริงๆ ก็คือการที่ชาวบ้านพูดกันว่า ขณะชาวบ้านกำลังนำอาหารเลิศรสมาทำพิธีเผาเพื่อบูชาพระพรหมอยู่นั้น พระพรหมก็ปรากฏกายให้เห็นแล้วกล่าวกับชนผู้บูชาพระพรหมอยู่ว่า การที่พวกท่านนำอาหารมีค่ามากมาเผาบูชาเรานั้น เป็นการสูญเปล่า หาประโยชน์มิได้ ขอให้ท่านน้อมนำอาหารเลิศรสต่างๆ ไปถวายพระอรหันต์ที่ท่านนั่งคอยอยู่ในบ้านของท่านจะมีอานิสงส์มากกว่าบูชาเราด้วยการเผาของมีราคาเช่นนี้ (เรื่องนี้ปรากฏในพระไตรปิฎกผู้เขียนจำไม่ได้ว่าสูตรใด) ชาวบ้านผู้บูชาพระพรหมได้เห็นพระพรหมปรากฏกายให้เห็นพร้อมแนะนำความจริงเช่นนั้นก็เลยเลิกบูชาพระพรหม หันมานับถือพระพุทธศาสนา

คำพูดเช่นนี้แหละที่พวกพราหมณ์อดทนไม่ได้และก็คงมีความแค้นใจที่พระพรหมไม่ไว้หน้าตนทั้งที่ตนก็นับถือบูชาพระพรหมอยู่



เมื่อพวกพราหมณ์มีความรู้สึกเสียหน้า จึงเกิดการประชดเลิกบูชาพระพรหมโดยตั้งพระเจ้าองค์ใหม่ขึ้นมาแทน ผู้ที่เป็นหัวหอกในการเลิกบูชาพระพรหมและหาพระเจ้าองค์ใหม่แทนพระพรหมก็คือศังกราจารย์ ผู้นี้เกิดเมื่อปี พ.ศ.1331-1361 เขาแอบไปบวช แล้วศึกษาพระไตรปิฎกจนช่ำชอง แล้วสึกออกมาใช้ความรู้จากพระพุทธศาสนา ดำเนินการตั้งพระเจ้าองค์ใหม่ กลืนพระพุทธศาสนาเป็นฮินดู และแต่งเรื่องรามเกียรติ์หมิ่นพระพรหม เพื่อสร้างศรัทธาในพระเจ้าของใหม่ของเขา

งานขั้นแรก ของศังกราจารย์ ก็คือหาชื่อพระเจ้าองค์ใหม่ แทนพระอินทร์และพระพรหม ซึ่งเป็นเทพที่ชาวอินเดียรู้จักและมีนามปรากฏในพระเวท ดูเหมือนศังกราจารย์จะสร้างพระศิวะแทนพระพรหม เพราะให้เป็นผู้สร้าง แล้วสร้างพระวิษณุแทนพระอินทร์ ซึ่งมีผิวกายเขียวเหมือนกัน แล้วสร้างชื่อศาสนาใหม่ของเขาว่าศาสนาฮินดู แทนศาสนาพราหมณ์ แล้วสร้างกติกาให้พระวิษณุอวตารมาเกิดเพื่อปราบคนชั่ว

แผนการขั้นที่ 2 ก็คือกลืนพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาฮินดู โดยวิธีที่ชาวพุทธรับไม่ได้ กล่าวคือตั้งพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระวิษณุ หรือเป็นอวตารของพระนารายณ์ แผนนี้ทำให้ชาวพุทธอินเดียที่เป็นชาวบ้านคาดไม่ถึงว่าจะทำลายพุทธศาสนาได้อย่างไร สำหรับสงฆ์ในอินเดียยุคนั้นก็เสื่อมสุดสุดแล้ว เพราะเป็นลัทธิมหายานที่เพิกถอนวินัยอยู่ร่ำไป มิได้คำนึงถึงความเสื่อมสูญของพระพุทธศาสนา พอมาถึงพุทธศตวรรษที่ 17 เมื่อพวกมุสลิมมาทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทา ทำลายวิหาร ทำลายชีวิตพระสงฆ์มหายานที่อาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยนาลันทาอย่างโหดเหี้ยม แล้วจากนั้นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาก็หมดสิ้นไปจากดินแดนอินเดีย และนั่นคือโอกาสอันงามของศาสนาฮินดู

แผนขั้นที่ 3 ของศังกราจารย์ คือแต่งรามเกียรติ์ หมิ่นพระพรหม สร้างศรัทธาในพระเจ้าองค์ใหม่ของเขา ลักษณะโครงสร้างรามเกียรติ์ของศังกราจารย์และฤๅษีวาลมิกิ ก็คือ สร้างตัวละครฝ่ายพระพรหมให้เป็นฝ่ายคนชั่ว เช่น แต่งให้ทศกัณฐ์ชั่วถึงขนาดจะแย่งลูกสาวของตนซึ่งเป็นเมียของคนอื่นอยู่เอามาเป็นเมียของตน ทศกัณฐ์เป็นลูกของยักษ์ชื่อ ท้าวลัสเตียน ซึ่งครองกรุงลงกา ท้าวลัสเตียนเป็นลูกของพระพรหม และคงจะหมายให้เป็นพระพรหมที่มาไหว้พระพุทธเจ้านั่นแหละ

จากนี้ลองมาดูตัวละครฝ่ายดีของฤๅษีวาลมิกิบ้าง ฤๅษีวาลมิกิสร้างตัวละครฝ่ายพระศิวะให้เป็นฝ่ายดีให้มาปราบทศกัณฐ์ ผู้เป็นฝ่ายชั่ว กล่าวคือสร้างพระรามเป็นลูกของท้าวทศรถ ท้าวทศรถเป็นลูกของท้าวอัชบาล ท้าวอัชบาลเป็นลูกของอโนมาตัน อโนมาตันเป็นลูกของพระศิวะ

มูลเหตุของสงคราม เกิดจากทศกัณฐ์วางแผนแย่งลูกสาวของตนเอง ซึ่งเป็นเมียพระรามอยู่ นำมาเป็นเมียของตน ผลของสงครามทศกัณฐ์เป็นฝ่ายแพ้ พระรามเป็นฝ่ายชนะ การชนะของพระรามเป็นการชนะทั้งในเรื่องรามเกียรติ์ และศาสนาฮินดูชนะศาสนาพุทธในประเทศอินเดีย ถ้าจะพูดสำนวนปัจจุบัน ต้องพูดว่าชนะทั้งในจอและนอกจอ ชนะในจอก็คือในเรื่องรามเกียรติ์พระรามซึ่งเป็นฝ่ายพระศิวะชนะทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นลูกหลานพระพรหม ชนะนอกจอก็คือฮินดูชนะพุทธศาสนา ปัจจุบันนี้ประเทศอินเดียเกือบทั้งประเทศนับถือพระศิวะ แทบทุกคนพร่ำภาวนาแต่คำว่าสีดารามๆ พุทธศาสนาแทบจะไม่มีเหลือ

อยากจะบอกความจริงแก่ชาวพุทธทั้งหลายว่า เรื่องรามเกียรติ์ที่ฤๅษีวาลมิกิเขียนนั้น แกนำเนื้อเรื่องในชาดกชื่อ ทศรถชาดกไปเขียน ชื่อตัวละครเหมือนกัน ความในชาดกนั้นมีโดยสรุปว่า พระราชาพระนามว่าทศรถ (ทดรด) ครองเมืองพาราณสี พระองค์มีพระโอรส ราชธิดา 3 องค์ คือ พระราม พระลักษณม์ และนางสีดา

ต่อมาเมื่อพระมารดาของพระรามสิ้นพระชนม์ท้าวเธอจึงมีพระมเหสีใหม่ เมื่อพระมเหสีใหม่มีพระโอรสสององค์ พระราชามีพระโสมนัสทำนองคนแก่หลงลูกชายจึงออกปากให้พรพระมเหสีใหม่ว่าต้องการอะไรให้ขอ แล้วจะพระราชทานให้ นางจึงขอราชสมบัติให้ลูกชายของตัวเอง พระราชาทศรถทรงพิโรธ ตวาดมเหสีใหม่ว่า อีถ่อยจะให้ลูกชายกูยิ้มหรือ! แล้วไม่พระราชทานให้

ต่อมาท้าวเธอดำริว่า ธรรมดาผู้หญิงมุ่งจะเอาชนะอย่างเดียว ถ้าพระรามยังอยู่ในวัง อาจมีอันตรายแก่ชีวิต จึงให้โหรคำนวณอายุของพระองค์ว่าจะมีอายุอยู่กี่ปี โหร คำนวณแล้ว กราบทูลว่าจะมีอายุต่ออีก 12 ปี ท้าวเธอให้เรียกหาพระรามมาเฝ้า แล้วรับสั่งให้ลูกชาย ราม-ลักษณม์ออกไปอยู่ในป่า 12 ปี เมื่อพ่อตายแล้วให้มาเอาราชสมบัติ ในการไปอยู่ป่านางสีดาน้องสาวขอตามไปด้วยพ่อก็อนุญาต พระรามไปอยู่ป่าได้เพียง 9 ปี พ่อก็สวรรคต เมื่อพ่อสวรรคต มเหสีใหม่ก็สั่งให้เสนาบดีมอบราชสมบัติให้พระภรต ลูกชายของตน

คำสั่งของมเหสีใหม่ พระภรตและเสนาบดีไม่เอาด้วย แต่ยกกองทัพไปเชิญพระรามมาครองเมืองแทน วันราชาภิเษกพระประยุรญาติและประชาชนน้อมถวายนางสีดา ผู้เป็นน้องสาวให้เป็นมเหสี นี่คือเนื้อความโดยสรุปในทศรถชาดกที่ฤๅษีวาลมิกินำไปแต่งเรื่องรามเกียรติ์ ผู้สนใจชาดกเรื่องนี้โปรดไปอ่านในพระไตรปิฎกเล่ม 60 หน้า 72 พิมพ์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัยปี 2525

เท่านั้นยังไม่พอ ! ศังกราจารย์และฤๅษีวาลมิกิยังนำเอากุณาลชาดก มาแต่งเป็นเรื่อง มหาภารตยุทธ ที่ชาวอินเดียหลงใหลอยู่ทุกวันนี้ คนไทยบางส่วนก็พลอยหลงใหลไปด้วย ความสรุปในกุณาลชาดกมีว่า นางกัณหาราชธิดาติดแม่ของพระเจ้าพาราณสี ขอมีสิทธิเลือกคู่เอง ถึงวันเลือกคู่นางเลือกพระราชบุตรพี่น้อง 5 คนของพระเจ้าบัณฑุราช เป็นสามีทั้ง 5 คน นามราชบุตร 5 คนนั่นคือ อรชุน นกุล ภีมเสน ยุธิษฐิละ และสหเทพ นางกัณหามีสามีคราวเดียวถึง 5 คนแล้ว ก็ยังไม่อิ่มในกาม ยังแอบไปสังวาสกับบุรุษเปลี้ยอีก

จุดหมายของชาดกเรื่องนี้ คือตำหนิผู้หญิงไม่อิ่มในกาม

ข้อสังเกต

ในทศรถชาดก นางสีดาเป็นลูกสาวของท้าวทศรถ แต่ศังกราจารย์และฤๅษีวาลมิกิเปลี่ยนมาเป็นลูกทศกัณฐ์ มีจุดมุ่งหมายอะไร มุ่งจะประณามทศกัณฐ์ผู้เป็นหลานพระพรหมว่าเลวทรามขนาดจะเอาลูกทำเมียใช่ไหม ในชาดกเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระรามเป็นอดีตชาติของพระองค์ แต่ศังกราจารย์และฤๅษีวาลมิกิเปลี่ยนเป็นอวตารของพระวิษณุ

ในกุณาลชาดก เป็นเรื่องของนางกัณหา มีสามีคราวเดียว 5 คน โดยสามีทั้ง 5 คนนั้นเป็นพี่น้องกัน ศังกราจารย์ได้เปลี่ยนดังนี้ พี่น้อง 5 คนนั้นศังกราจารย์เปลี่ยนยุธิษฐิละมาเป็นพี่ใหญ่แทนอรชุน นางกัณหาเปลี่ยนไปเป็นเทราปตี เพิ่มการทำสงครามระหว่างวงศ์บัณฑุราชกับวงศ์เการพ เพิ่มพระกฤษณะเข้ามาโดยไม่มีในชาดก

ในการทำสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร (อยู่เมืองเดลี) อรชุนเป็นแม่ทัพฝ่ายบัณฑุราช ทุรโยชน์เป็นแม่ทัพฝ่ายเการพ เมื่อกองทัพเผชิญหน้ากันอรชุนไม่กล้าสั่งรบ เพราะล้วนแต่ญาติพี่น้องทั้งนั้น พระกฤษณะเป็นสารถีให้อรชุน เกลี้ยกล่อมอรชุนให้สั่งรบในฐานะกษัตริย์ต้องทำสงคราม คำยุของกฤษณะอินเดียยกย่องว่า เพลงขับพระเจ้า (ภควศิตะ) ผลของสงครามอรชุนเป็นฝ่ายชนะ ศังกราจารย์ก็สรุปว่า พระกฤษณะคือพระนารายณ์อวตารมา สำหรับในกุณาลชาดกพระพุทธเจ้าตรัสว่าอรชุนเป็นอดีตชาติของพระองค์ ผู้สนใจกุณาลชาดก โปรดอ่านในพระไตรปิฎกเล่ม 62 หน้า 559 พิมพ์โดยมหามกุฏราชวิทยาลัยปี 2525

ชาวพุทธทั้งหลาย! เมื่อทราบเรื่องนี้แล้ว ขอให้มีสติ แล้วมองตากัน ส่วนใครจะหัวเราะหรือร้องไห้ก็ตามอัธยาศัยเทอญ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่