ตีความเรื่อง “วันวิสาขบูชา”

ทุกเรื่องเล่ามีนัยให้ตีความได้เสมอ เรื่องเล่าทางศาสนาก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน

ในฐานะที่คลุกคลีกับพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก และพุทธศาสนาคือศาสนาที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน (แต่ก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเป็นพุทธศาสนิกชน)



วันวิสาขบูชาเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า


ถ้าพิจารณากันตรงๆไม่ต้องตีความ มันยากที่จะเชื่อว่าทั้ง 3 วัน คือวันเดียวกัน  (แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้) บางทีมันอาจเป็น “วันคล้าย” ตามชื่อของมัน เพื่อความสะดวกในการรวมกลุ่มประกอบพิธีกรรมในสมัยก่อนที่การเดินทางไม่สะดวกในแบบปัจจุบัน


หรือบางทีมันถูกเล่าอย่างจงใจเพื่อให้ได้ขบคิดตีความถึงนัยของสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการบอกเล่า





นัยที่ 1


มาพิจารณา ความหมายของทั้ง 3 คำกัน

-    ประสูติ คือ การเกิด
-    ตรัสรู้ คือ การรู้แจ้ง
-    ปรินิพพาน คือ การดับสนิท


ในวันวิสาขบูชาเมื่อ “ตรัสรู้” (เข้าใจธรรม) แล้ว พระพุทธเจ้าก็ “ประสูติ” (หรือเกิดเป็นคนใหม่) เป็นอีกคนที่เข้าใจในธรรม พร้อมกันนั้นตัวตนเก่าก็ได้ปรินิพพาน (การตายไปของตัวตนเก่า หรืออาจหมายถึงดับสนิทซึ่งกิเลส)



ดังนั้นแท้จริงแล้ว การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะมองมุมไหน เพ่งไปที่สิ่งใด





นัยที่ 2


ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกัน อาจหมายถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยบอกว่า การเกิดและดับเกิดขึ้นเสมอพร้อมกัน ซึ่งมันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพของทุกอย่างในธรรมชาติที่เสามารถกิดขึ้นตลอดเวลา


ดังนั้นการให้คนได้ระลึกถึง 3 สิ่งนี้พร้อมกัน ในวันเดียวกัน เป็นการเตือนใจให้คิดว่าความไม่เที่ยง คือ “การเกิด” และ “การดับ” เกิดขึ้นพร้อมกัน และจะเข้าใจได้เมื่อ “รู้” ถึงมัน





นัยที่ 3


ตามเรื่องเล่า หนึ่งในสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็คือเรื่องของขันธ์ (ในทางพุทธศาสนาหมายถึงองค์ประกอบทั้ง 5 ของมนุษย์) ดังนั้นความหมายของวันนี้อาจหมายถึงการตรัสรู้ในการเกิด-ดับ หรือการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์




หมายเหตุ:

ขันธ์ แปลว่า กอง, หมวด, หมู่, ส่วน ในทางพุทธศาสนาหมายถึงร่างกายของมนุษย์ คือแยกร่างกายออกเป็นส่วนๆ ตามสภาพได้ 5 ส่วน หรือ 5 ขันธ์ คือ
1.    รูป ได้แก่ ส่วนที่ผสมกันของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เช่น ผม หนัง กระดูก โลหิต
2.    เวทนา ได้แก่ ระบบประมวลความรู้สึกว่า ชอบหรือไม่ชอบ และเฉยๆ
3.    สัญญา ได้แก่ จำสิ่งที่ได้รับและรู้สึกนั้นๆ
4.    สังขาร ได้แก่ ระบบคิดปรุงแต่ง แยกแยะสิ่งที่รับรู้สึกและจำได้นั้นๆ
5.    วิญญาณ ได้แก่ ระบบรู้สิ่งนั้นๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่