Interactive มีดีมากกว่าเช็คข่าว เป็นตัวกลางทำ Pay TV, VOD ได้

สวัสดีครับ

แหม่ ช่วงที่ผ่านมานี่บรรยากาศในแท๊กนี่ "ร้อนแรง" เหลือเกินนะครับ สำหรับทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินของเมืองไทย

สำหรับกระทู้วันนี้ เป็นเรื่องของระบบ Interactive TV ที่ใช้กับทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (ใน ต่างประเทศ) ซึ่งระบบนี้สามารถใช้ทำอย่างอื่น นอกจากเช็คข่าวสาร รายการทีวีน่าสนใจ หรือผังรายการ แต่สามารถใช้ร่วมกับ Pay TV ได้ (ไม่เน้นหลักวิชาการค่าเทคนิค เน้นการใช้งานดีกว่า)

* กระทู้นี้ จะเน้นไปเรื่องของทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ระบบดาวเทียมบางประเทศก็มีใช้อยู่เหมือนกัน เดี๋ยวโดนหาว่าอวยสุดลิ่มทิ่มประตู (โลกนี้อยู่ยาก)

-------



ระบบ Interactive TV หรือ Datacasting ที่ใช้กันบนทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินทั่วโลก จะมีหลักๆอยู่ 5 ระบบ คือ
- MHEG ใช้กับอังกฤษ นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และอีกหลายๆประเทศ (เรียกระบบนี้ง่ายๆว่า "Red Button หรือ ปุ่มแดง" เพราะตอนจะเรียก ต้องกดปุ่มแดง)
- MHP ใช้กับอิตาลี และระบบดาวเทียมของเกาหลี
- HbbTV ใช้กับฝรั่งเศส ออสเตรเลีย (กลางปีนี้ นิวซีแลนด์ จะตามมา)
- Datacasting ใช้กับญี่ปุ่น
- Ginga ใช้กับบราซิล อาร์เจนติน่า (ร่างจำแลงของ Datacasting เอามาปรุงใหม่ เพราะใช้ระบบทีวีญี่ปุ่น)



(Datacasting สุดฮิตในญี่ปุ่น ไปเที่ยวญี่ปุ่น อย่าลืมกด d บนรีโมททีวีเพื่อเล่นนะครับ)

โดยจากการหาข้อมูลของผม จะมี Datacasting และ Ginga (MHEG BBC Red Button อีกอันนึง) ที่ไม่ต้องใช้เน็ตในการเรียกข้อมูลหน้าต่างๆ ส่วนระบบอื่นต้องทำการต่ออินเทอร์เน็ต ส่วนการเรียกดูวิดีโอต่างๆหรือการส่งข้อมูลไป ต้องต่อเน็ตกันทุกระบบอยู่แล้ว
* ที่อังกฤษ จะมี Red Button (ส่งมาพร้อมช่องทีวี) กับ Red Button+ ที่มาใหม่ (สัญญาณทีวีเป็นตัวกลางคำสั่ง ใช้อินเทอร์เน็ตเรียกข้อมูล)
โดย Red Button+ ต้องใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งดีกว่าของเดิมคือเรียกข้อมูลวิดีโอได้ และหน้าตาดูดีกว่ามาก


(BBC Red Button+ สวยใหม่ ไฉไลกว่าเดิม)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะใช้งานระบบ Interactive ได้ แม้จะเป็นระบบที่เรียกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต คุณจะต้องรับสัญญาณทีวีให้ได้ก่อน เหมือนการจูนทีวีตามปกติ พอเข้าไปแล้ว มันจะมีข้อมูลเรียกขึ้นมาเอง (การเรียก Interactive บางประเทศกดปุ่มพิเศษ, บางประเทศปุ่มแดง หรือใช้เป็นตัวเลข เหมือนกดช่องทีวีปกติ) (ตามที่บอก จะมี 2ระบบหลัก และ 1ระบบย่อย ที่ไม่ต้องใช้เน็ตก็เรียกได้)



ถ้าจะเอาประโยชน์จากระบบพวกนี้ ก็เช่น...
- นึกถึง Teletext ครับ แบบนั้นเลย ในบางประเทศ เมนูนี่แบบ Teletext ชัดๆ กดตัวเลขเพื่อเรียกข้อมูลได้ (รอมันรันหน่อย)
- ข่าวต่างๆ หรือการแนะนำรายการ เช่น นักแสดง เรื่องย่อ
- เล่นมินิเกมส์ผ่านหน้าจอทีวี (Datacasting และ Ginga ที่ทำได้)
- ใช้เป็น EPG แบบพิเศษสำหรับระบบโครงข่ายช่อง (เช่น FreeviewPlus Australia) หรือสำหรับช่องเจ้าเดียวกัน (เช่น Rai Italia) ที่ตัวหน้า EPG พิเศษนี้จะใช้รูปร่างเหมือนกันหมดในทีวีหรือกล่องทุกรุ่นที่รองรับ
- ร่วมสนุก กดโหวต กดให้คะแนนได้ (ต่อเน็ตด้วย แต่ถ้าทีวีหรือกล่องรุ่นเก่าๆ ใช้เน็ต Dial-Up ก็พอ เพราะข้อมูลส่งนิ๊ดเดียว ปัจจุบัน LAN หมดล่ะ)
- ดูวิดีโอรายการย้อนหลัง คลิปข่าว (ต่อเน็ตด้วย)
- สามารถใช้เป็นตัวกลางในการใช้งาน VOD Service (Video On Demand), Live TV หรือ Pay TV ที่ส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้

ตรงข้อสุดท้ายนี่แหละครับคือใจหลักของกระทู้นี้

เนื่องจากระบบมันส่งข้อมูลมาทาง Internet ทำให้บางประเทศ นำประโยชน์ตรงนี้ไปใช้ส่ง Pay TV โดยที่ไม่ต้องติดจานหรือเคเบิ้ล แต่ใช้การที่ทีวีหรือกล่อง (ที่รองรับ Interactive + Internet) คุณรับทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (เสาอากาศ) + อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วถึงเกณฑ์

ซึ่งปัจจุบัน Pay TV แบบนี้มีใช้งานแล้ว นั่นก็คือ VUTV ของประเทศอังกฤษ ปัจจุบันมีให้บริการ 13ช่องทีวี (น่าจะ SD) ตามในเว็บบอกว่าใช้เน็ตอย่างต่ำ 2Mbps
โดยบริการนี้ใช้ระบบ MHEG ร่วมกับอินเทอร์เน็ต ในการเรียกข้อมูลและใช้งานทั้งหมด เช่น ตัวช่องทีวี, EPG, หรือหน้าต่างกรอกรหัส (เน็ตไม่ต่อ จะเปิดช่องนี้ไม่ได้)
* ตามที่หาข้อมูลมา จะรองรับกับทีวีและกล่อง ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2010-2011 ขึ้นไป (รองรับ Freeview HD ได้ [DVB-T2])

วิธีการใช้คือ
- เราก็ไปสมัครแพ็คเกจช่องจากเว็บของ VUTV มา จะได้รหัสโค๊ดเปิดใช้งานมา
- กดไปที่เลขช่อง 238 (สำหรับประเทศอังกฤษ เลขช่องตั้งแต่ 225-248 ถูกเรียงไว้สำหรับ VOD Service)
* ส่งมาพร้อม Mux SDN (COM3) ซึ่งมีช่องหลักๆอย่าง ITV3, QVC, CBS Reality (DVB-T 27Mbps ส่งช่องมา 13ช่องทีวี แน่นแท้)
- จะขึ้นหน้าของ VUTV มา ให้กดปุ่มแดง เพื่อกรอกรหัส
- รอแปบนึง แล้วรับชมได้เลย โดยการรับชมนั้น จะอ้างอิงตามรหัสที่ใส่ไป (ทีวีดิจิตอลอังกฤษ รับช่องฟรี ไม่ต้องใช้การ์ด การยืนยันตัวก็เลยไม่มีการใช้การ์ดเป็นหลัก)




จากที่วิธีที่กล่าวไป ใช้งานไม่ยากเลยนะครับ แต่ข้อสำคัญตามสูตรคือ
ทีวีหรือกล่อง ต้องรองรับระบบ Interactive ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (สาย LAN หรือ Wi-Fi) ถึงจะใช้งานได้

นอกจากนั้นทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินของอังกฤษ ยังมีช่อง VOD Service ดูฟรีอีก 14ช่อง SD + TVPlayer อีก 16ช่อง SD (กดเลขไป ถ้าต่อเน็ตอยู่ ก็ดูได้ฟรี)
แต่ต้องรับสัญญาณ Mux COM4 และ COM6 ให้ได้ก่อน เพราะใช้คำสั่งและการเรียงช่องจาก Mux เป็นตัวเรียกข้อมูล


(TV Player เลขช่อง 241 พอกดเข้าไป จะมีเมนูให้เลือกช่องทีวีให้ดูได้ 16ช่อง ดูฟรี! ช่องอินเดียทั้งนั้น... // JSTV เป็นช่องรายการทีวีของญี่ปุ่น เจ้าของคือ NHK ก็ดูฟรีเช่นกัน)

อ่านๆไป คงคิดว่า IPTV ชัดๆ แต่ต้องรับสัญญาณทีวีให้ได้ก่อน
ใช่ครับ มันมาแนวนั้นเลย เค้าใช้ระบบที่พัฒนามา อย่างคุ้มค่าที่สุด ไหนๆมันก็ต่อเน็ตได้ เรียกคลิปข่าวได้ ทำทีวีสดไปเลย โดยให้สัญญาณทีวีเป็นตัวกลางในการเชื่อมข้อมูล ก็คงคล้ายๆกับเข้าลิ้งค์เว็บให้ถูก URL แล้วถึงจะดูได้ โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยให้เปลี่ยนโดยการ OTA ผ่านสัญญาณทีวีแทน

ในด้านการใช้ Data ใน Mux ของระบบ Interactive พวกที่ใช้เน็ตดึงข้อมูลเอา ใช้น้อยมากครับ ไม่เกิน 50-60Kbps ต่อ 1เลขช่อง เพราะส่งแค่คำสั่งเท่านั้น
* ระบบ Datacasting ของญี่ปุ่น ส่งจาก Mux ประมาณ 1.5-2Mbps ข้อมูลมีรอเรียกบ้าง คล้ายๆยุค Teletext แต่ก็รอไม่นาน เพราะเค้าทำการบีบอัด จัดการข้อมูล มาแบบเฉพาะกิจ เขียนโค๊ดพิเศษ (ของอังกฤษ น่าเศร้ากว่าเยอะ Data ไม่ถึง 500Kbps หน้าตาบ้านๆ แถมรอโหลดนาน [นานที่นี้คือประมาณ 10-15วินาที])


(VUTV ใช้คำสั่งอย่างเดียว ใช้ Data Mux ไปแค่ 49Kbps)

สำหรับเมืองไทย.....อืม...

กสทช. แทบไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้เลย สงสัยเน้นขยายโครงข่ายก่อน (ตอนก่อนเริ่มออกอากาศ เห็นบอกว่าระบบนี้ต้องรอประมูล และผ่านข้อกำหนดต่างๆก่อน สงสัยให้ระบบนี้มีการหากินได้ด้วย [ทำ Pay TV?, ส่ง Banner โฆษณาได้?])

การรับรองมาตรฐาน Interactive บ้านเรายังไม่มีการเลือกระบบไว้ ทำให้ถ้าเกิดมีการต้องทำระบบ จะทำให้มีเฉพาะทีวีรุ่นใหม่ๆรับได้ (รุ่นที่ต่อเน็ตได้ พวก Smart TV อาจอัพซอฟ์ทแวร์เพื่อรองรับ เพราะที่ออสเตรเลีย มีการอัพซอฟ์ทแวร์ทีวีให้รองรับ HbbTV สำหรับทีวีรุ่นปีก่อนหน้าที่ระบบจะเริ่มใช้ [เริ่มใช้ 2014])

คิดว่าถ้าจะทำ ผมคิดว่าคงทำมาในรูปแบบของ HbbTV ซึ่งใหม่สุด ข้อดีคือแทบไม่ใช้ Data Rate ในตัว Mux เลย (เป็นแค่คำสั่งเรียก) แต่ทีวีก็ต้องต่อเน็ตได้ ไม่สาย LAN ก็ Wi-Fi (ไม่ต้องใช้เน็ตเยอะ 1Mbps พอแล้วสำหรับข้อมูลทั่วไป ไม่เรียกวิดีโอ) พอถ้ามีระบบนี้ ทีวีรุ่นอื่นๆก็จะสามารถต่อเน็ตได้หมดไปโดยปริยาย (เหมือนที่ญี่ปุ่น แม้ระบบเรียกวิดีโอไม่ได้ [เมื่อก่อนนะ ตอนเริ่มทีวีดิจิตอลใหม่ๆ ปัจจุบันมีให้ใช้ที่ช่อง NHK] แต่มันส่งข้อมูลโหวตได้ ทำให้ทีวีมีช่องต่อเน็ตมาทุกรุ่นมาหลายปีแล้ว ไม่ต้องเป็น Smart TV ก็มี)



-------

จบแล้วครับ เนื้อหากระทู้
หวังว่าจะได้รับความรู้และประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ
ระบบ Interactive เป็น 1 ในลูกเล่นที่ทีวีระบบดิจิตอล สามารถทำได้ เป็นตัวเชื่อมไปสู่การรับส่งข้อมูลต่างๆที่เป็นดิจิตอล ซึ่งตามหลักเทคนิค ทำได้ทั้งทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน, ทีวีดิจิตอลระบบดาวเทียม, ทีวีดิจิตอลระบบเคเบิ้ล (ที่พูดถึงทีวีดิจิตอล ใจผมอยากให้นึกถึงภาคพื้นดินเป็นหลัก แต่ก็คงขึ้นอยู่กับการเรียกในแต่ละประเทศ แถบยุโรปจะเรียกรวมๆกับทุกระบบว่าทีวีดิจิตอล, แถบอเมริกาเหนือเรียกทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินว่า OTA [Over The Air])

ถ้ามีข้อมูลตรงไหนผิดพลาด หรือจะมาเพิ่มเติม ผมอาจจะเข้ามาแก้ไขพิมพ์เพิ่มเติมนะครับ
สวัสดีครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่