วิถีผู้นำ 'ศุภชัย เจียรวนนท์' "เราไม่เหลืออะไรแล้ว"




คอลัมน์ คนหัวแถว: วิถีผู้นำ'ศุภชัย เจียรวนนท์' คุณ-เห็น-บวก-สร้าง-คน-รู้-ธรรม
โดย : ณัฎฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ


ด้วยภาวะผู้นำ แม้ต้องเผชิญปัญหาหนี้เกือบแสนล้านบาท จากพิษต้มยำกุ้งปี 2540 นักบริหารหนุ่มในช่วงนั้น ก็สามารถนำกลุ่มทรูฝ่าวิกฤตมาได้ จนล่าสุดด้วยเครดิตและความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรรอบข้าง ทำให้ล้างหนี้ได้เกือบหมด นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลักดันทรูให้เป็นผู้นำร่องให้บริการ 3จี กับ 4จี เป็นรายแรกในเมืองไทย
          
ผู้นำที่บุกเบิกเรื่องดังกล่าวคือ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ย้อนความให้ฟังถึงการฝ่าวิกฤตช่วงนั้นว่า วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นถือว่าทรูอยู่ในภาวะล้มละลาย Chapter 11 ทั่วประเทศ (หลังรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทแบบบริหารจัดการ จากเดิมจะฟิกซ์กับค่าเงินเหรียญสหรัฐ ผลดังกล่าวทำให้ผู้ที่มีภาระหนี้เป็นเงินเหรียญสหรัฐ ต้องมีหนี้เพิ่มกว่าเท่าตัว เมื่อค่าเงินบาทเทียบเหรียญสหรัฐอ่อนตัวเป็นกว่าเท่าตัว) และทรูตอนนั้นในชื่อบริษัท เทเลคอมเอเชีย (ซึ่งศุภาชัยเข้ามา บริหารเมื่อปี 2535 พอปี 2540 หนี้พุ่งขึ้น เท่าตัวเกือบแสนล้านบาททันที) หลักคิดในการแก้ปัญหาช่วงนั้นคือ จากที่ยิ่งใหญ่มากกลายเป็นจนติดลบ
          
"ต้องใช้คำว่า เราไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ว่าการที่เราไม่เหลืออะไรแล้ว นี่หมายความว่าอะไร จากนี้ไปมีแต่ได้ คือคิดบวกเข้าไว้ เพราะไม่มีอะไรจะเสียแล้วนี่ ฉะนั้นจากนี้ไป เราเดินหน้าต่อไป ก็มีแต่ได้ แต่ว่าได้แล้ว ไม่สามารถให้ต่อไป สิ่งที่ได้มา ก็ไม่มีความหมาย หมายความว่าเดี๋ยวก็ตายกันหมด ถ้าได้มาแล้วไม่ให้ต่อ คุณสร้างประโยชน์ต่อได้ไหม จากธุรกิจที่คุณสร้างขึ้นมา แล้วก็ความรู้ที่คุณรับรู้มา คุณสามารถให้ต่อได้หรือเปล่า
          
การให้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเอาเงินไปให้ใครนะ ลองเอาเงินไปให้ลูกสิ ให้ทั้งชีวิตเลย เป็นการฆ่าเขาทางอ้อม ต้องให้โอกาส ให้ความรู้ เพราะฉะนั้นอันนี้คือปรัชญาหนึ่งที่ผมใช้ การที่เราไม่เหลืออะไรแล้ว จากนี้ไปมีแต่ได้ แต่การที่ได้มา ก็คงไม่มีความหมายอะไร ถ้าเราไม่รู้จักให้ ก็เลยทำให้ฝ่าวิกฤต มาได้" ศุภชัย ฉายภาพการนำคุณค่าผู้นำ 8 ประการ ไปปฏิบัติใช้ฝ่าวิกฤต
          
สำหรับ "คุณค่าผู้นำ 8 ประการ คุณเห็น-บวก-สร้าง-คน-รู้-ธรรม" ที่ศุภชัยยึดเป็นแนวคิด คือ
1.คุณ-คุณธรรม
2.เห็น-เห็นการณ์ไกล
3.บวก-คิดบวก
4.สร้าง-สร้างคุณค่า
5.คน-เห็นคนอื่นเก่งกว่าเรา
6.รู้-เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
7.ธรรม-เป็นธรรมชาติ คือมีเหตุมีผล
และเมื่อรวมทั้ง 7 ข้อ จะเป็นข้อที่
8.คือสร้างคนรุ่นต่อไป
โดยคุณค่าผู้นำ 8 ประการนี้ ใช้เผยแพร่ในองค์กรซีพีทั้งเครือ

          
ทั้งนี้ หลักสำคัญในการนำคุณค่าผู้นำ 8 ประการไปใช้ คือผู้นำต้องมีจิตยึดหลัก พื้นฐานคุณธรรมก่อน เพราะในวิกฤตทุกครั้งจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การตัดสินใจ ทุกครั้งจะต้องดูว่าเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือเปล่า ถ้าเกิดประโยขน์ต่อส่วนรวม ทำให้เรากล้าที่จะเดินต่อ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นหลักสำคัญ ซึ่งมันก็จะกลับมาตรงที่ว่า เมื่อเราตัดสินใจในพื้นฐานของคุณธรรม หรือว่าการเห็นส่วนรวมเป็นที่ตั้งแล้ว เราทำแล้วมีกำลังใจด้วย เพราะเรารู้ว่าเป็นแนวทางให้พนักงานดี ลูกค้าดีและสังคมก็ดี
          
"ถ้าดีขึ้น เราก็มีกำลังใจ" ในการทำงาน แม้มีอุปสรรคทั้งหมดทั้งปวง กำลังใจหลักของเรา ก็คือครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นส่วนประกอบสำคัญอยู่แล้ว ในแต่ละวันที่เราเผชิญปัญหาการทำงาน เราต้องรู้ว่าเราได้ทำอะไรออกไปแล้วเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจหรือไม่ เรื่องที่น่าภาคภูมิใจก็คือ เรื่องที่ทำแล้วส่วนรวมได้ประโยชน์ ตรงนี้เป็นตัวที่ทำให้เรามีโมทิเวทีฟหรือแรงขับ"
          
นอกจากนั้น เพื่อให้มีกำลังใจและยืนหยัดอยู่ได้ นอกจากครอบครัวแล้ว ยังมีคำสอนที่คุณพ่อ "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ได้ให้แก่ลูกหลานและพนักงานทุกคน เพื่อเป็นกำลังใจในการฝ่าฟันอุปสรรคด้วย
          
อันที่สองคือ ต้องมีมุมมองที่เป็นบวก แล้วก็มองในวิกฤตให้มีโอกาสได้ อันนี้ก็เป็นอีกตัวขับเคลื่อนหนึ่ง ที่ทำให้สามารถที่จะนำเสนอสิ่งที่อาจจะเป็นโซลูชั่นในยามที่เจอปัญหา เพราะมองคิดบวกอยู่ตลอดเวลา แม้ในยามที่แย่ที่สุด ก็จะค้นหาและมองว่า อะไรคือทางแก้ปัญหาที่จะทำให้ดีขึ้น
          
อันที่สาม คือต้องมีข้อมูลเพียงพอ ข้อมูลในที่นี้จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าวิสัยทัศน์ คือถ้ามีข้อมูลเพียงพอและสัมผัสกับความจริงได้เพียงพอ ก็จะเกิดความกล้าในการตัดสินใจ ว่าตัดสินใจไปแล้วไม่ผิด เพราะตัดสินใจแล้วจะเห็นผลที่อยู่ข้างหน้า ถ้าข้อมูลค่อนข้างจะรู้ว่าถ้าทำอย่างนี้ จะเกิดอย่างนั้นขึ้น
          
สุดท้ายคือความเพียรพยายาม คือบางครั้งไม่ได้มีโซลูชั่นให้แก้ได้ทันที เพราะฉะนั้นถ้ามีความอดทน มีความเพียร ก็คิดว่าอันนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ แล้วยิ่งถ้ารู้ว่าทำแล้วเกิดประโยชน์ เกิดผลดี เกิดมูลค่า ก็ต้องมีความเพียร ความอดทนเป็นที่ตั้ง
          
จริงอยู่แม้ศุภชัยจะมีต้นทุนสูงกว่าคนทั่วไปที่เป็นลูกเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของอาณาจักรซีพี แต่ด้วยผลงานที่ผ่านมา คงได้พิสูจน์ถึงภาวะผู้นำได้แล้วว่า ลูกไม้ผลนี้หล่นไม่ไกลต้นจริงๆ
          
เสี่ยงนำร่องให้บริกร 3จี-4จี

ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ถือเป็นผู้นำร่อง เริ่มให้บริการ 3จี ในประเทศไทย ประมาณปี 2552 ศุภชัยต้องฝ่าวิกฤตมากมาย เพราะถือว่าเป็นรายแรกที่ประกาศตัวเข้าชิงคลื่น 3จี กับรายใหญ่ และยังเป็นคนที่เร่งผลักดันให้เกิดการประมูล 3จี เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ จนเรียกได้ว่าเป็นรายแรกของการให้บริการ
          
"ตอนที่เราทำเรื่องมือถือ 3จี ความชัดเจนของการทำ ธุรกิจ 3จี มันไม่ชัดเจนมาหลายปี การประมูลก็ถูกยับยั้งสัมปทานก็ใกล้หมด ทำให้เราเข้าซื้อฮัทชินสัน เพราะฮัทชินสันเหลือสัญญาอีก 5 ปี ตอนนั้นวิธีที่เรามองคือ การซื้อกิจการครั้งนี้คือ การเข้าลงทุนเรื่อง 3จี มันมีความเสี่ยง ทั้งในแง่ธุรกิจและการเมือง แต่ก็มองว่า แม้มีความเสี่ยง หากถ้าซื้อแล้วลงทุนจริงจังที่จะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง มันก็เกิดประโยชน์ ต่อส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสาร ส่วนรวมอาจจะมี ความเสี่ยงเหมือนกัน แต่ประโยชน์จากการทำความดีกับ ส่วนรวมมันก็จะคุ้มครองเรา" ศุภชัย กล่าว
          
ด้วยหลักคิดที่ศุภชัยมั่นใจคือ ถ้าทำดีกับสังคมแล้ว ก็จะได้รับสิ่งที่ดีกลับมาเช่นกัน เมื่อเจอเงื่อนไขของการทำงานคือ ทำไม่ได้ เหมือนเจอทางตัน แต่ถ้าเป็นการทำที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตนแล้ว ผลดีนี้ก็จะทำให้อุปสรรคลดน้อยลงและเกิดผลดีกับส่วนรวม
          
"เหมือนเราเจอเงื่อนไขว่าทำไมทำไม่ได้ ความเสี่ยงเต็มไปหมดเลย เราจะเดินต่ออย่างไรล่ะ ถ้าเกิดเราใช้หลัก ไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิด แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เราก็จะฝ่าวิกฤตตรงนี้ไปได้ ก็จะกลายเป็นว่า ทำไมทรูถึงลงทุนเรื่อง 3จี คนแรกและลงทุนหนักที่สุด เพราะเราใช้หลักการนี้ เรามองว่าทำแล้วดีต่อส่วนรวม ถ้าทำแล้วดีต่อเราคนเดียวก็ไม่ทำ แล้วมันก็จริง คือพอทำปุ๊บ ก็เกิดการประมูลคลื่น 2100 ขึ้น แต่อันนี้คือ ถ้ายังไม่ลุยตอนนั้นนะ อาจจะเกิดการเปิดประมูลคลื่นช้ากว่านี้" ศุภชัย กล่าว
          
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาทรูเริ่มมีการสยายปีกด้วยการเพิ่มทีมงานคุณภาพเข้ามาพัฒนาธุรกิจมากขึ้น โดยขยายภาพธุรกิจในเครือซีพีด้านไอที ด้วยการปรับโฉมและพัฒนาเว็บไซต์ช็อปปิ้งคอมเมิร์ซชื่อดัง อย่าง We Love Shopping ให้โดนใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น และยังมีแผนลงทุนด้านเพย์เมนต์และโลจิสติกส์อีกด้วย
          
ทิศทางการขยายธุรกิจดังกล่าว สอดรับกับวิสัยทัศน์หรือวิชั่น ที่ผู้ในกลุ่มซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มหาเศรษฐีอันดับแรกของประเทศไทย จากการจัดอันดับของนิตยสาร ฟอร์บส์ เคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์ฟอร์บส์ไทยแลนด์ว่า ได้ให้นโยบายของกลุ่มซีพีต้องขยายเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ การค้าออนไลน์ ผ่านโมบาย เครื่องมือต่างๆ และต้องขยายธุรกิจลำเลียงสินค้า หรือโลจิสติกส์ บริหารสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่ หรือทั้งเชน เข้าถึงมือผู้บริโภค
          
"ภาพธุรกิจของทรูจะมองเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นโครงสร้างหลักของธุรกิจ แต่ในด้านของรายละเอียดปลีกย่อยในการดำเนินงานนั้น เราจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด โดยมองในเรื่อง ของไลฟ์สไตล์ในรูปแบบ 4C คือ Content Commerce Communicator Community ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในเครือเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำเพื่อส่งเสริมภาพรวมของธุรกิจและผู้บริโภคด้วย" ศุภชัย กล่าว


บทความจาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่