ออกแบบบ้านฟรี ดีจริงหรือ

สวัสดีครับ นี่เป็นกระทู้แรกใน Pantip ของผม ผมสมัครมาเพื่ออธิบายและเล่าประสบการณ์เรื่องนี้โดยเฉพาะ
ผมเป็นสถาปนิกครับ เมื่อวานมีกระทู้นึงเกี่ยวกับรับออกแบบฟรี ผมขออนุญาตไม่อ้างอิงบุคคลหรือกระทู้ใดๆนะครับ ถ้าใครติดตามคงพอเห็นผ่านตามาบ้าง  เพราะหลังจากกระทู้นั้นแชร์กันออกไปอย่างล้นหลามก็มีสถาปนิกเข้ามาแสดงความเห็นอย่างมากมาย ส่วนใหญ่แล้วจะออกไปทางทำไมถึงทำลายวิชาชีพกันเองแบบนี้  ส่วนคนทั่วไปหลายคนก็มองว่าแค่เด็กมันอยากทำงานฟรีเพื่อเก็บเป็น Portfolio แค่นี้เอง เด็กก็ได้ผลงานเก็บไว้ เจ้าของบ้านก็ได้แบบบ้าน win win กันทั้งสองฝ่าย  ไอ้พวกสถาปนิกมันจะมาดิ้นๆอะไรกันนักหนา  หาว่าเราใจแคบบ้างล่ะ  รังแกเด็กบ้างล่ะ  กลัวโดนตัดราคาบ้างล่ะ เอาไปเปรียบเทียบกับวิชาชีพอื่นว่าทีคนอื่นเค้ายังทำฟรีได้  สถาปนิกนี่มันช่างใจแคบเลยเสียจริงๆ

เอาล่ะครับผมขออนุญาตแจกแจงเป็นข้อๆตามประสบการณ์ของผมนะครับ

ประเด็นที่ 1กรณีนี้ผิดจรรยาบรรณหรือไม่
          ประเด็นนี้ผมไม่สามารถฟังธงได้ซะทีเดียวนะครับว่าผิดหรือไม่เพราะจรรยาบรรณไม่ได้เหมือนข้อกฎหมายที่สามารถถอดตามตัวอักษรได้เป๊ะๆเป็นคำๆ แต่ถ้าถามถึงความเหมาะสมผมคิดว่าไม่เหมาะสม เพราะเค้ากำลังทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับสถาปนิก อย่างเช่น “จริงแล้วก็เป็นเรื่องปกตินะครับ ที่ขั้นตอนออกแบบในขั้นแรก หรือที่เรียกว่า design proposal นั้นส่วนมากบริษัทก็มักจะทำให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ”  ประโยคแบบนี้ทำให้คนเข้าใจว่าเรียกสถาปนิกมาทำงานให้ดูก่อนก็ได้ ทำงานไม่ถูกใจก็ไม่ต้องเลือก ถ้าเจ้าของบ้านให้สถาปนิก 10 คนทำงานแล้วเลือกสถาปนิกที่ถูกใจคนเดียว แล้วอีก 9 คนที่เหลือเค้าไม่ต้องหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงดูครอบครัว ดูแลพ่อแม่ ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน เหรอครับ  ปกติแล้วไม่ใช่แบบนั้นนะครับผมขอบอกเลย ปกติแล้วเราจะเลือกสถาปนิกจากผลงานที่ผ่านมา จากการพูดคุยถ้าพอใจก็ตกลงทำงานกันโดยเก็บค่าบริการก่อน แล้วถึงทำงานให้เจ้าของบ้านเห็น โดยอาจเก็บ 10-30% แล้วแต่บริษัทและประเภทของงาน  หากปรับแก้งานยังไงแล้วก็ไม่ได้อย่างใจซักที ก็ยกลงเลิกสัญญา เจ้าของบ้านก็จ่ายเงินค่งวดแรก  และสถาปนิกก็ได้เงินแค่งวดแรกเท่านั้น  แต่ส่วนใหญ่แล้วสถาปนิกที่มีความรับผิดชอบจะไม่ปล่อยให้ถึงขั้นยกเลิกสัญญาหรอกครับ ยังไงก็จะทำให้ถูกใจเจ้าของบ้านให้ได้  ผมบอกเลยว่ากระทู้นั้นสร้างบรรทัดฐานความเข้าใจผิดๆกับคนส่วนใหญ่ และจะเข้าใจว่างานออกแบบนั้นไม่มีต้นทุน  ค่าพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าหมึก ค่ากิน ค่าเดินทาง อุปกรณ์สำนักงาน สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ได้งอกมาจากพื้นโลกนะครับ    มาเข้าเรื่องทำงานฟรีกัน โดยปกติแล้วสถาปนิกหลายคนก็จะมีงานฟรีบ้างแต่ส่วนมากจะเป็นงานช่วยเหลือ เพื่อน พี่ น้อง ญาติ หลวงเพื่อน หลวงพี่ ครูบาอาจารย์ต่างๆก็ว่ากันไป  เป็นการช่วยเหลือเพื่อตอบแทนบุญคุณที่เคยเลี้ยงดู เลี้ยงเหล้า เทศนา อบรม หรือเพื่อบุญกุศล ความจรรโลงใจ ความพอใจ หวังสร้างสังคมที่ดีต่างๆนานาก็ว่ากันไป  แบบนี้ไม่มีใครว่าหรอกครับเพราะทุกคนเข้าใจได้ว่างานที่ทำฟรีเนี่ยมีค่าใช่จ่ายนะแต่อยากทำให้ฟรีเพราะจุดประสงค์อย่างอื่นๆ  ถามว่ากรณีที่น้องคนนั้นโพสเนี่ยถือเป็นการโฆษณาตัวเองมั้ย เพราะจริงๆแล้วสถาปนิกห้ามโฆษณาตัวเอง  ดูแล้วไม่เข้าข่ายครับ เพราะไม่ได้โม้โอ้อวดว่าตัวเองเก่งกาจกว่าคนอื่นแต่อย่างใด ประเด็นนี้ตกไป อันที่จริงแล้วสถาปนิกสามารถแสดงผลงานผ่านสื่อได้บ้างอย่างเช่นในแมกกาซีนที่ท่านๆเห็นกัน แต่ถ้าจะมาบอกว่าตัวเองนั้นออกแบบได้เก่งอย่างนู้นอย่างนี้อันนี้อาจจะเข้าข่าย

ประเด็นที่ 2 ความรับผิดชอบต่อหน้าที่
               คืออย่างนี้ครับ ผมขออธิบายให้ฟังสำหรับคนที่ไม่เข้าใจว่า “อาชีพ”กับ “วิชาชีพ”ต่างกันอย่างไร  คำว่า “อาชีพ” นั้น หมายถึงการทำสิ่งใดสิ่งนึงเพื่อได้ผลตอบแทน มีการแลกเปลี่ยนทิ้งด้วยงินและสิ่งของ  ส่วนคำว่า “วิชาชีพ”นั้นคือการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วได้ผลตอบแทนและในการกระทำนั้นๆส่งผลต่อชีวิตและความปลอดภัยของมนุย์   นั่นคือความแตกต่างครับ  หมอ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร ทนายความ ฯลฯ ขออภัยหลายๆวิชาชีพที่ผมไม่ได้กล่าวถึง วิชาชีพเหล่านี้ต้องรับผิดชอบชีวิตของท่านครับ  หมอทำงานไม่เต็มที่คนไข้ตายเอาผิดกับหมอได้  วิศวกรคำนวณโครงสร้างไม่ดีอาคารถล่มคนเสียชีวิตเอาผิดกับวิศวกรได้  สถาปนิกก็เช่นกันออกแบบการยึดจับวัสดุบางอย่างไม่มั่นคงหล่นมาทับคนเสียชีวิตก็เอาผิดกับสถาปนิกได้  เห็นมั้ยครับ เราทำงานโดยคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ท่านนะครับ  สมมตินะครับว่า หมอคนนึงพึ่งเรียนจบร้อนวิชาออกมาเปิดคลินิครักษาคิดค่ารักษาแค่20 บาท  ท่านคิดว่าจะไว้ใจหมอคนนี้ได้เหรอครับ เค้าอาจจะวินิจฉัยโรคผิดพลาด จ่ายยาผิด แพ้ยาหนัก สุดท้ายก็ต้องยอมจ่ายค่ารักษากับหมอที่มีประสบการณ์  เรายังไม่พูดถึงหมดที่รักษาฟรีนะครับ นั่นเราจะพูดถึงในประเด็นต่อไป  
            สถาปนิกนั้นที่จริงแล้วไม่ได้ทำงานตัวคนเดียวนะครับ ยังต้องทำงานร่วมกับวิศกรอีกหลายๆแขนง เอาอย่างนี้นะครับผมขอถามสถาปนิกที่ทำงานฟรีหรือราคาถูกมากๆนะครับว่า
    -ในงานออกแบบฟรี หรือ ราคาถูกของคุณนั้น รวมไปถึงแบบวิศวกรรมโครงสร้างหรือไม่  ถ้ารวมวิศกรโครงสร้างมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน โดยปกติแล้วการก่อสร้างอาคารใดอาคารหนึ่งนั้นก่อนจะก่อสร้างต่อทำการขออนุญาตก่อสร้างกับทางเขต/เทศบาลก่อน เมื่อได้รับอนุญาตก่อสร้างจึงจะทำการก่อสร้างได้ ในแบบขออนุญาติก็จะประกอบไปด้วยแบบวิศวกรรมโครงสร้าง รายการคำนวณที่แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างที่ออกแบบมานั้นแข็งแรงและปลอดภัย ฉะนั้นแล้วถึงวิศวกรทุกคนจะออกแบบมาได้ปลอดภัยแต่ไม่ได้หมายความว่าออกแบบโครงสร้างได้ดี เพราะประสบการณ์จะทำให้วิศกรออกแบบอย่างไรให้ค่าก่อสร้างไม่แพงและยังแข็งแรงได้มาตรฐาน ต่างจากวิศวกรที่ไม่มีประสบการณ์ที่ใส่โครงสร้างมาเยอะเกินความจำเป็นทำให้เจ้าของบ้านต้องมารับภาระค่าก่อสร้างที่สูงขึ้นโดยไม่รู้เลยว่าที่แพงเพราะวิศวกรที่ไม่มีประสบการณ์ คิดว่าแพงจากผู้รับเหมา
    -ในงานออกแบบฟรี หรือ ราคาถูกของคุณนั้น รวมไปถึงแบบวิศวกรรมสุขาภิบาลหรือไม่ วิศกรสุขาภิบาลนั้นจะออกแบบให้ว่าบ้านต้องใช้ถึงบำบัดขนาดไหนถึงจะเพียงพอต่อคนที่ใช้งาน ต้องใช้ถังน้ำขนาดเท่าไหร่ถึงจะใช้เพียงพอในบ้านทั้งในกรณีปกติและกรณีที่น้ำประปาไม่ไหลก็ยังมีนำใช้ ต้องใช้ปั๊มแบบไหนถึงจะจ่ายน้ำได้ทั้วถึงทั้งบ้าน ต้องใช้ท่อประเภทไหนถึงจะทนแรงดันของน้ำให้สัมพันธ์กับประเภทของปั๊มที่เลือกใช้ได้  ต้องใช้ท่อรับน้ำฝนกี่จุดถึงจะเพียงพอไม่ให้ล้นรางน้ำฝนหรือดาดฟ้าของท่าน
    - ในงานออกแบบฟรี หรือ ราคาถูกของคุณนั้น รวมไปถึงแบบวิศวกรรมไปฟ้าหรือไม่ วิศวกรไฟฟ้าจะคำนวนให้ว่าฟ้าฟ้าที่ใช้ในบ้านของท่านต้องใช้ไฟฟ้ากี่เฟส กี่แอมป์ เบรกเกอร์อยู่ตรงไหน โทรศัพท์อยู่ตรงไหน สายล่อฟ้ายังไง แสงสว่างเพียงพอหรือไม่ถ้าสว่างไม่พออาจจะทำให้เสียสายตาหรือเปล่า ที่เราเห็นไฟไหม้บ้านไฟฟ้าลัดวงจรก็เพราะเราไม่ได้วางแผนการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่แรกนั่นล่ะครับ
    - ในงานออกแบบฟรี หรือ ราคาถูกของคุณนั้น รวมไปถึงวิศวกรรมเครื่องกลหรือไม่ วิศวกรเครื่องกลจะออกแบบงานระบบเครื่องกลภายในบ้านให้ท่านเช่น ฮูดในครัวต้องใช้ท่อขนาดไหนกำลังเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอไม่ให้ควันกระจายในบ้าน ต้องใช้เครื่องปรับอากาศกำลังเท่าไหร่ ประเภทไหนถึงจะเหมาะสมกับการใช้งานของเจ้าของบ้านทั้งประหยัดพลังงานและเหมาะสมสำหรับความเย็นสบาย
    - ในงานออกแบบฟรี หรือ ราคาถูกของคุณนั้น รวมไปถึงแบบขออนุญาตหรือไม่
    -ในงานออกแบบฟรี หรือ ราคาถูกของคุณนั้น รวมไปถึงแบบก่อสร้างที่มีรายละเอียดชัดเจนหรือไม่  มือจับประตูใช้รุ่นไหน พื้นไม้อะไร กระเบื้องรุ่นไหน สุขภัณฑ์อะไร  ฯลฯ  หรือต้องให้เจ้าของบ้านไปเผชิญชะตากรรมด้วยตัวเอง
    - ในงานออกแบบฟรี หรือ ราคาถูกของคุณนั้น รวมไปถึงการจัดเอกสารสำหรับประมูลงานหรือไม่ การประมาณราคาได้ทำหรือไม่ หรือว่าส่งให้ผู้รับเหมาตีราคา ฟันราคามาแพงๆโดยไม่มีอะไรเปรียบเทียบ แล้วภาระตกอยู่ที่ใครเจ้าของบ้านใช่หรือไม่  
    - ในงานออกแบบฟรี หรือ ราคาถูกของคุณนั้น ถ้าออกแบบมาเกินงบเพราะไม่มีประสบการณ์ว่าราคาค่าก่อสร้างจริงๆแล้วมันเท่าไหร่ พอทำมาเกินงบ ต้องทำอย่างไร Value engineering คืออะไรรู้จักหรือไม่  สรุปถ้าเจ้าของไม่มีเงินสร้างใครรับผิดชอบ
    - ในงานออกแบบฟรี หรือ ราคาถูกของคุณนั้น รวมไปถึงการตรวจสอบคุณภาพงานหรือไม่ หรือว่าปล่อยให้เจ้าของบ้านดูเองตามมีตามเกิด
    คือจะบอกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบของ “วิชาชีพ”นั้นมีมากครับ มากจนไม่สามารถลดความรับผิดชอบลงได้ เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับชีวิตของคุณๆท่านๆทั้งหลาย

ประเด็นที่ 3 วิชาชีพอื่นยังทำฟรีได้เลย
    เห็นคนที่ไม่เข้าใจเข้ามาเปรียบเทียบว่า สถาปนิกนี่มันใจแคบจริงๆ คนอื่นเข้ามีน้ำใจยังทำฟรีได้เลย เอาไปเทียบกับแพทย์อาสา เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับ คำว่าแพทย์อาสาเนี่ย  ค่าอุปกรณ์การแพทย์ ยารักษาโรง และค่าบริการของแพทย์เนี่ย  แพทย์ที่เคลื่อนที่ที่รักษาฟรีเค้าไม่ได้เป็นคนแบบรับค่าใช้จ่ายนะครับ  แต่รัฐบาลเป็นคนแบกรับภาระนั้นครับ  หมอที่มารักษาฟรีๆๆๆ นั่นเค้าได้รับเงินเดือนนะครับ  แต่สถาปนิกท่านๆมาขอให้ออกแบบฟรีเค้าไม่มีใครมาออกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าหมึก ค่ารักษาสุขภาพๆ ต่างๆนานาให้นะครับ  หมอที่รักษาฟรีจริงๆก็มีครับประเภทที่แบบว่าหลังเลิกงานหรือหลังเกษียณก็ออกมาช่วยเหลือผู้คน คนแบบนี้น่านับถือและยกย่องครับ  แต่ไม่ใช่แค่วิชาชีพหมอหรอกครับที่ทำเพื่อสังคมกัน  คนทุกอาชีพ ทุกวิชาชีพมีคนแบบนี้อยู่ทั้งนั้น  สถาปนิกที่ทำเพื่อสังคมก็มีมากมาย เพียงแค่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจกันเท่านั้นเอง  ออกแบบโรงเรียน วัด อาคารสาธาธารณะประโยชน์ หรือแม้กระทั่งออกแบบชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนโดยไม่แสวงหาผลกำไรเลยก็มี  

    เดี๋ยวผมจะทยอยเอาบทความต่างๆที่เกี่ยวกับหน้าที่การทำงานของสถาปนิกมาลงในคอมเม้นท์ต่อไปนะครับ เผื่อจะได้เข้าใจมากขึ้นว่าเราทำอะไรบ้าง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่