ฮ.รัสเซียบน ต.911 (เรือหลวงจักรีฯ) Ka. 27 of Ka. 32 (Kamov Naval Helicopter )

ฮ.รัสเซียบน ต.911 (เรือหลวงจักรีฯ) Ka. 27 of Ka. 32 (Kamov Naval Helicopter ) น่าสนใจกว่า S70-B Seawak ไหมครับ


เฮลิคอปเตอร์ตระกูลคามอฟ (Kamov) ประกอบด้วยเครื่องบินแบบ Ka-27, Ka-28, Ka-29, Ka-32 ซึ่งสามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งงานด้านการทหารและงานด้านพลเรือน โดยทุกแบบที่กล่าวมาล้วนพัฒนามาจาก แบบ Ka-27
เฮลิคอปเตอร์แบบ Ka-27  ผลิตโดยบริษัทคามอฟ (OAO Kamov) สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งพัฒนามาจากเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือแบบ Ka-25 ที่ปลดประจำการในทศวรรษที่ 60 และคณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตได้มอบหมายให้ สำนักงานออกแบบของนิคาลัย อีลิช คามอฟ (Nikolay Ilich Kamov) เป็นผู้ออกแบบพัฒนาเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือที่มีสมรรถนะที่สูงกว่าเรียกว่า Ka-252 มาประจำการแทน โดยให้สามารถตรวจจับเรือดำน้ำในรัศมี 200 กิโลเมตรให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง 25 นาที
นิคาลัย คามอฟได้ทุ่มเทให้กับงานออกแบบและทดลองเพื่อพัฒนา Ka-25 รุ่นที่ 2 อยู่ 1 ปี 7 เดือนจึงได้เสียชิวิตลง และหนึ่งเดือนต่อมา ซีรเกย์ วิคตอรอวิช มีคีเยฟ(Sergey Victorovich Mikhiyev) ได้ทำงานของคามอฟต่อจนสำเร็จ จึงได้ทดสอบการบินของเฮลิคอปเตอร์ เป็นครั้งแรกในวันที่ 24 ธันวาคม 1973
ตั้งแต่ปีค.ศ.1974 -1977 สำนักงานออกแบบคามอฟได้ร่วมกับวิสาหกิจผลิตอากาศยานของมอสโกและกองทัพอากาศสหภาพโซเวียตพัฒนาเฮลิคอปเตอร์ Ka-252 จนเข้าสู่การผลิตและบรรจุเข้าประจำการเป็นครั้งแรกโดยเรียกว่าแบบ Ka-27
เฮลิคอปเตอร์แบบ Ka-27  เป็นเฮลิคอปเตอร์โรเตอร์ 2 ชั้น หมุนสวนทางกันโดยแต่ละชั้นมีใบพัด 3 ใบ ลำตัวของเครื่องเป็นโลหะทั้งหมด เพื่อการทรงตัวที่ดีคามอฟได้ออกแบบครีบหางคู่  มีล้อสำหรับจอดบนพื้น 4 ล้อ สามารถติดตั้งทุ่นยางใต้ลำตัวเครื่องสำหรับการลงจอดฉุกเฉินบนน้ำได้ เครื่องยนต์ TB3-117KM ขนาด 2,225แรงม้าจำนวน 2 เครื่อง มีถังน้ำมัน 10 ถัง (5 ถังต่อ 1 เครื่องยนต์) โดยในห้องเก็บระเบิดสามารถติดตั้งถังน้ำมันสำรองได้อีก 2 ถัง
เฮลิคอปเตอร์รุ่น Ka-27PL เป็นเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำมีหน้าที่ตรวจจับ ติดตามและทำลายเรือดำน้ำที่ลึกไม่เกิน 500 เมตรและความเร็วไม่เกิน 75 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ในรัศมีจากบริเวณที่ตั้งของเรือไม่เกิน 200 กิโลเมตร คลื่นสูงไม่เกินระดับ 5 ในทุกลักษณะภูมิอากาศ เฮลิคอปเตอร์สามารถปฏิบัติการได้ตามลำพัง เป็นฝูงหรือร่วมกับเรือต่างๆได้ในทุกภูมิภาค
ในปี ค.ศ. 1978 เฮลิคอปเตอร์รุ่น Ka-27PL 5 ลำแรกได้เข้าประจำการในเรือบรรทุกเครื่องบิน “มินสค์” (“Minsk”) ซึ่งเป็นเรือชั้นเคียฟ (Kiev Class - Project 1143) และเรือชั้นเดียวกันลำอื่นๆ เรือพิฆาตชั้นคีรอฟ (Kirov Class - Project 1144) ได้ Ka-27PL ไปประจำ 2 ลำต่อเรือ 1 ลำ ส่วนเรือฟรีเกตชั้นอูดาโลย (Udaloy Class - Project 1155) ได้ไปประจำลำละ 1 ลำ
ในปี ค.ศ. 1986 เฮลิคอปเตอร์รุ่น Ka-27PL จำนวน 30 ลำได้ถูกจัดหาเข้าประจำการในกองทัพเรือของประเทศจีน อินเดีย ซีเรียและยูโกสลาเวีย โดยใช้ชื่อรุ่นว่า Ka-28

การพัฒนาเฮลิคอปเตอร์แบบ Ka-27 เพื่อใช้ในกิจการต่างๆ
- Ka-252 – เป็นเฮลิคอปเตอร์ต้นแบบ มีลักษณะภายนอกที่แตกต่างที่ส่วนหัวด้านหน้าของลำตัวเครื่อง
- Ka-27PL – เป็นเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ
- Ka-27PS – เป็นเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย ค้นหาและช่วยเหลือ
- Ka-28 – เป็นเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำเพื่อการส่งออก มีข้อแตกต่างที่เครื่องยนต์ TB3-117BK อุปกรณ์ และถังน้ำมันสำรอง
- Ka-29(Ka-252TB)  – เป็นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงและโจมตีมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างที่ส่วนหัวด้านหน้าของลำตัวเครื่อง เครื่องยนต์ TB3-117B ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่
- Ka-31(Ka-252TB)  – เป็นเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งระบบเรดาร์เพื่อตรวจจับเป้าหมายบนพื้นน้ำ บนพื้นดินและในอากาศที่อยู่ระดับต่ำกว่าเพดานการบินปกติ(lower than the flight altitude) ขณะบินฐานล้อสามารถพับเก็บได้ มีอุปกรณ์รับสัญญาณติดตั้งใต้ลำตัวเครื่อง
- Ka-32   – เป็นเฮลิคอปเตอร์ใช้ในกิจการพลเรือนทั่วไป สามารถติดตั้งรอกยกของที่มีน้ำหนักถึง 5 ตันได้
- Ka-32A – เป็นเฮลิคอปเตอร์ตรวจการณ์และโดยสาร
- Ka-32A1 – เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใช้ในภารกิจดับเพลิง
- Ka-32A2 – เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใช้ในกิจการตำรวจ
- Ka-32A7 – เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใช้ปราบเรือผิวน้ำ
- Ka-32K – เป็นเฮลิคอปเตอร์เครนลอยฟ้าที่พัฒนาขึ้นใช้ในงานก่อสร้าง
- Ka-32PS – เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใช้ในภารกิจค้นหาและช่วยเหลือลาดตระเวนและต่อต้านอากาศยาน
- Ka-32C – เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใช้ในสภาพภูมิประเทศที่เป็นน้ำแข็งหรือทุรกันดาร ใช้งานได้ทุกสภาพภูมิอากาศ ใช้ขนของจากเรือสู่ฝั่งที่มีงานสำรวจขุดเจาะโดยเรือไม่ต้องหยุดรอ ใช้ในงานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซโดยทุ่นลอยกลางทะเล
- Ka-32T – เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใช้ในภารกิจขนส่ง โดยสามารถยกของที่มีน้ำหนักถึง 5 ตันได้โดยใช้รอก หรือบรรทุกของหนัก 4 ตันในห้องบรรทุก นอกจากนั้นยังสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 16 คน ในกรณีที่ใช้ในภารกิจขนย้ายผู้ประสบภัยสามารถขนย้ายได้ 14 คน โดยนั่ง 10 คนและนอนบนเปลพยาบาล 4 คน
เฮลิคอปเตอร์ตระกูลคามอฟมีการพัฒนาตนเองมาโดยตลอด ทั้งสมรรถนะของเฮลิคอปเตอร์เองและอุปกรณ์ที่ใช้ในเครื่องทำให้เฮลิคอปเตอร์ตระกูลนี้มีรุ่นใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา
เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ตระกูลคามอฟเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีสมรรถนะสูง ใช้งานง่าย ประยุกต์ใช้ได้กับงานแทบทุกประเภท บำรุงรักษาง่ายมีความทนทาน ใช้ได้ในทุกภูมิประเทศและภูมิอากาศ และดังนั้นจึงได้ถูกคัดเลือกให้ ใช้ในกิจการทางทหารและกิจการพลเรือนกว่า 20 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีสหรัฐอเมริกา แคนนาดา สเปนสวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติและองค์การกาชาดสากลก็ใช้เครื่องบินตระกูลนี้ด้วย

เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงและโจมตีแบบ Ka-29(Helix-B)
เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงและโจมตีแบบ Ka-29 พัฒนามาจากเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบ Ka-27 โดยบริษัทคามอฟ (OAO Kamov) สหพันธรัฐรัสเซีย จุดเด่นของเฮลิคอปเตอร์ตระกูลคามอฟมีหลายประการเช่นการออกแบบที่ลงตัวเป็นโลหะทั้งลำ มีความทนทาน มีขนาดใหญ่แต่ใช้พื้นที่ในการจอดน้อย เป็นเฮลิคอปเตอร์ใบพัดสองชั้นที่หมุนสวนทางกันมีครีบหางคู่ ทำให้การทรงตัวดีเยี่ยมในทุกสภาพอากาศ ระบบไม่ซับซ้อนใช้งานง่าย จึงทำให้การดูแลรักษาง่ายไปด้วย

เฮลิคอปเตอร์แบบ Ka-29 ถูกออกแบบมาให้เป็นเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ ซึ่งสามารถประจำบนเรือได้หลายชั้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ปฏิบัติการในเขตน่านน้ำ ทำลายเป้าหมายบนผิวน้ำ และบนพื้นดินทั้งรถถัง ยานเกราะและเป้าหมายอื่นๆ ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของเฮลิคอปเตอร์แบบ Ka-29 คือการลำเลียงพล ขนส่งยุทธปัจจัยและยิงสนับสนุนในการโจมตี
ด้วยขนาดของใบพัดที่ไม่กว้างมากนัก อีกทั้งสามารถพับเก็บได้ในเวลาจอดจึงทำให้ใช้พื้นที่ในการจอดน้อย สามารถจอดได้ทั้งบนดาดฟ้าเรือและชั้นใต้ดาดฟ้า โดยใช้พื้นที่เพียง 10x10 เมตร โลหะและวัสดุที่ใช้สร้างมีความทนทานต่อความชื้นจากทะเล สามารถบินปฏิบัติการในทะเลเปิดได้เป็นระยะเวลานาน
ในการค้นหาเป้าหมายและเล็งเป้าของจรวดต่อต้านรถถังได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นกล้องตรวจจับ ส่วนเป้าหมายที่เป็นเป้านิ่งได้ติดตั้งระบบการเล็งเป้าด้วยเลเซอร์ ในการป้องกันเฮลิคอปเตอร์จากการโจมตีโดยจรวดที่นำวิถีด้วยความร้อน ได้มีการติดตั้งแผงปิด-เปิดสำหรับเครื่องยนต์ รวมทั้งระบบคลื่นรบกวนกล้องอิเล็คทรอนิคส์และเป้าลวงที่เป็นแสงอินฟราเรด ในห้องโดยสารสามารถลำเลียงทหารพร้อมอาวุธได้ 16 นาย ในกรณีที่ใช้ขนย้ายผู้ประสบภัยสามารถโดยสารนั่งได้10 คน  และนอนบนเปลพยาบาล 4 คน นอกจากนั้นยังสามารถติดตั้งรอกเพื่อยกของอยู่ที่ด้านนอกลำตัวเครื่องได้อีก 300 กิโลกรัมด้วย
การติดตั้งอาวุธในเฮลิคอปเตอร์แบบ Ka-29 เพื่อใช้ในการโจมตี มีการติดเฟรมทั้งสองด้านของลำตัวเครื่องเพื่อติดตั้งอาวุธที่มีน้ำหนัก 2 ตัน ประกอบด้วยปืนกลขนาด 30 มิลิเมตรพร้อมกระสุนกระ 250 นัด จรวดนำวิถีต่อสู้รถถัง 8  ชุด(8 x 9M114 Shturm- AT 6 Spiral) จรวด 80 มิลลิเมตร 80 ชุด (non- controlled rocket) สามารถติดตั้งฐานปืนกลขนาด 7.62 มิลิเมตร เมตร 2 กระบอก พร้อมกระสุนกระบอกละ 1800 นัด (9A662) หรือติดตั้ง ปืนกลขนาด 23 มิลิเมตร 2 กระบอก พร้อมกระสุนกระบอกละ 250 นัด (9A662) หรือติดตั้งปืนกลขนาด 30 มิลิเมตรพร้อมกระสุนกระ 250 นัด หรือติดตั้งระเบิดก็ได้
ในการสื่อสารระหว่างเฮลิคอปเตอร์กับฐานปฏิบัติการ กับเฮลิคอปเตอร์ลำอื่น กับเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์แบบ Ka-29  ทุกลำได้ติดตั้งสถานีวิทยุสื่อสาร VHF/UHF  Eucalyptus-M24 ที่มีคลื่นความถี่ระหว่าง 30-80 เมกะเฮิรตซ์
ห้องนักบินกว้าง 50 เซนติเมตร หุ้มเกราะมีประตูปิดเปิดได้ทั้งสองด้านของลำตัวเครื่อง เก้าอี้นักบินมีร่มชูชีพ ในห้องโดยสารมีเสื้อชูชีพและใต้พื้นห้องโดยสารถัดจากห้องเก็บสัมภาระเป็นถังน้ำมัน

Credit www.crs.chula.ac.th
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่