โพลชี้ผู้ป่วยเอดส์ถูกละเมิดสิทธิ ห้ามกิจกรรม-ไม่รับประกันชีวิต

ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายธวัช มณีผ่องอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวในงานประชุมระดับชาติ เรื่อง การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในสังคมไทย เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งจัดโดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชน และสหประชาชาติ ว่า เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯได้สำรวจความเห็นของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วย เอดส์ เกี่ยวกับปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ 233 คน เป็นชาย 57 คน หญิง 148 คน และเพศอื่นๆ 28 คน โดยพบว่ามีผู้ติดเชื้อเคยถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้ติดเชื้อเกือบครึ่ง หรือ 47.21% ไม่แน่ใจว่าถูกละในสิทธิหรือไม่ 12.03%โดยถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนมากถึง 34.33%ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด คือ 94.85% รองลงมาคือ ถูกปฏิเสธทำประกันชีวิต 21.2%ถูกปฏิเสธเข้ารับการบริการทางการแพทย์19.74%และในกลุ่มที่ไม่ถูกปฏิเสธก็จะถูกเลือกปฏิบัติ เช่น เปลี่ยนคิวให้รักษาอันดับสุดท้าย โดยเฉพาะการรักษาด้านทันตกรรม
นาย ธวัชกล่าวว่า สำหรับเรื่องการถูกเปิดเผยว่าเป็นผู้ป่วยเอดส์โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม โดย 50.21% ไม่รู้ว่า ประวัติการรักษาหรือผลตรวจเลือดถูกเก็บเป็นความลับหรือไม่ ในจำนวนนี้มี 26.18%ที่รู้แน่ชัดว่าบันทึกทางการแพทย์ของตนไม่ถูกเก็บเป็นความลับ และมีปัญหาถูกคนอื่นบอกกับคนที่ทำงาน หรือหัวหน้างานว่าติดเชื้อเอชไอวีโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม มากถึง 38.43% ส่งผลกระทบให้ผู้ติดเชื้อถูกคนรอบข้าง นินทา มากถึง 77.02% ในจำนวนนี้ ถูกทำร้ายร่างกาย ขมขู่ด้วยวาจามากถึง 47.21% ขณะที่มีผู้ติดเชื้อ 32.19%ต้องสูญเสียงานและแหล่งรายได้ และ 26.18%ถูกปฏิเสธงานด้วยเหตุผลว่าติดเชื้อเอชไอวี ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า โดยมีผู้คิดอยากฆ่าตัวตายมากถึง16.74% หรือ 39 คน ขณะที่อีก 63.95% รู้สึกละอาย รองลงมาคือรู้สึกผิด 47.64% โทษตัวเอง 42.92% และรู้สึกว่าตัวเองควรถูกลงโทษ 21.89%แต่ที่น่าตกใจคือ ผู้ติดเชื้อ 74.68%ไม่เคยพยายามที่จะร้องเรียน หรือแก้ไขปัญหา เพราะผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่ง คือ 56.65% ไม่รู้ว่าผู้ติดเชื้อมีสิทธิได้รับการปกป้องสิทธิ ผลงานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยแม้จะถูกมองว่ามีผลการทำงานด้านเอดส์ ที่ดีในระดับนานาชาติ แต่การปฏิบัติต่อกันในเชิงลึก ยังมีบรรยากาศของความกังวลและเลือกปฏิบัติ
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ มีการทำงานเชิงรุกในเรื่องนี้โดยผู้ติดเชื้อที่ถูกละเมิดสิทธิ สามารถฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ละเมิดสิทธิทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง และคดีปกครอง ขอความช่วยเหลือมาที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ซึ่งจะมีกองทุนยุติธรรม ให้ความช่วยเหลือเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตั้งแต่ค่าประกันศาล ทนาย การพิสูจน์หลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

ที่มา :มติชน

Report : LIV Capsule
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่