นักวิ่งเล็บดำ!!! ขอเสียงหน่อยครับ

มาแชร์ประสบการณ์กัน มีใครเล็บเท้าดำบ้างครับ เป็นเล็บไหนกันบ้างอ่ะครับ แล้วรักษามันยังไงกันครับ

ผมเองก็นิ้วโป้งเท้ายังดำอยู่เลย เป็นตั้งแต่เมื่อต้นปีนี้เอง หลังจากเข้าร่วมงานวิ่งขอนแก่นมาราธอน 2015
ตอนนี้ไม่มีอาการเจ็บใดๆแล้ว ทิ้งไว้เพียงแค่สีดำทีเล็บไว้เป็นที่ระลึก ผมเลยปล่อยมันไว้ตัดออกไปเรื่อยๆ
ต้องบอกว่า ตั้งแต่ผมวิ่งมาพึ่งจะวิ่งจนเล็บดำแบบนี้เป็นครั้งแรก
นักวิ่งรุ่นพี่ท่านหนึ่งบอกผมว่า แค่เล็บดำมันเด็กๆ บางคนวิ่งจนเล็บหลุดเลย
งานนี้ยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดในการเลือกรองเท้าของผมแท้ๆ ตอนนี้ผมใส่ Asics Noosa Tri 10 ซึ่งปลายรองเท้าไม่กว้างมากนะ แถมไซส์ที่เลือกก็ค่อนข้างพอดีเกินไป ถ้าวิ่งไม่เกินระยะฮาล์ฟก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อวิ่งมาราธอนมันก็มีอาการเจ็บปลายเท้าในช่วงท้ายของการวิ่ง ก็เป็นประสบการณ์ครั้งแรกครับ


ไปเจอบทความเกี่ยวกับเรื่องเล็บดำ เลยเอามาฝากพี่ๆน้องๆที่ชอบวิ่งกันครับ

เล็บดำ-เล็บช้ำ-เล็บพอง
เหรียญตราแห่งนักวิ่ง


ถ้าคุณเป็นนักวิ่งที่ซ้อมหนักๆ ระยะทางไกลๆ หรือชอบวิ่งเส้นทางธรรมชาติ (Trail) ลองก้มดูเล็บเท้าตัวเองซักหน่อย อาจมีบางเล็บที่ดำช้ำน่าเกลียด รูปร่างผิดปกติ บางคนไม่ต้องก้มหาเลยเพราะมันเจ็บจี๊ดๆ อยู่ ข่าวร้ายคือ มันไม่หายง่ายๆ สาวๆ หลายคนถึงกับต้องโละรองเท้าเปิดนิ้วออกจากชั้นไปเลยทีเดียว

ข่าวดี..คุณไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีปัญหานี้ ปัญหาเล็บเท้าดำของนักวิ่งถือเป็นเรื่องปกติ พวกฝรั่งถึงกับตั้งชื่อเรียกกันติดปากว่า “นิ้วเท้านักวิ่ง (Runner’s toe)”   และก็ไม่ใช่เฉพาะวงการวิ่ง พวกนักเทนนิส แบทมินตัน สกี สรุปกิฬาที่ใช้เท้าหนักๆ ก็มีปัญหานี้ทั้งนั้น

สาเหตุของเล็บดำ


เรามาเข้าใจสรีระการวิ่งของมนุษย์กันก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆ ก้าวที่เราวิ่งนั้น
ในจังหวะที่เท้ากระทบพื้น รองเท้าหยุดนิ่งเพราะดอกยางจิกพื้น แต่โมเมนตั้มยังคงผลักตัวเราให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ส่งผลให้ปลายนิ้วเท้าถูกดันไปชนกับด้านหน้ารองเท้า เป็นสาเหตุสำคัญ
ในจังหวะที่ดันเท้าพ้นพื้น เราต้องออกแรงที่ปลายเท้าและนิ้วเท้าเพื่อให้เกิดแรงดีดตัว ส่งผลให้เกิดแรงดันใต้เล็บเท้า
  
ทีนี้ลองมาทำความรู้จักเล็บเท้าสักนิดนึง เล็บเท้าที่เราเห็นนี้ไม่ได้งอกอยู่บนเนื้อตรงๆ แต่งอกอยู่บนชั้นผิวหนังแบบปกตินี่แหละ ตัวแผ่นเล็บยึดติดอยู่กับชั้นหนังกำพร้า ใต้หนังกำพร้าก็เป็นชั้นหนังแท้ ดังนั้นหากมีแรงกระแทก,แรงกดที่ปลายนิ้วเท้าอย่างต่อเนื่อง (คนเราวิ่งโดยเฉลี่ย 1250 ก้าวต่อ 1 กิโลเมตร) อาจจะเกิดการฉีกขาดของชั้นผิวใต้เล็บ อาการก็คือมีเลือดคั่ง (Hematoma) หรือพอง มีน้ำคั่งอยู่ใต้เล็บ

สาเหตุหลักๆ ของเล็บดำจากผลสำรวจคือ

รองเท้าคับเกินไป - มีแรงกดปลายนิ้วกับรองเท้าเกิดขึ้นทุกก้าว อันนี้รับรองว่าวิ่งได้ไม่ไกลก็เจ็บแน่นอน
  
ผูกเชือกรองเท้าไม่แน่น - ส่งผลให้ปลายนิ้วเท้าเลื่อนไปชนกับด้านหน้ารองเท้าทุกก้าว เป็นสาเหตุสำคัญอันนึงทีเดียว
  
วิ่งลงเนิน หรือทางลาดลง - หลายๆ คนอาจชอบวิ่งลงเนินเพราะไม่ต้องออกแรงมาก แต่การวิ่งทางลาดลงทำให้น้ำหนักของตัวเราไปลงที่ปลายเท้ามากกว่าปกติ ยิ่งถ้ารองเท้าคับหรือผูกเชือกไม่แน่นละก้อ วิ่งนานๆ มีสิทธิ์เล็บหลุดได้
  
ซ้อมนานหรือหนัก - แน่นอนครับต่อให้รองเท้าพอดีผูกแน่น แต่ถ้าวิ่งนานๆ หรือระยะทางไกลๆ ก็มีสิทธิ์บวมเหมือนกัน ว่ากันว่าเล็บดำเป็นสัญลักษณ์ของนักวิ่งมาราธอนเลยทีเดียว

ไม่อยากเล็บดำทำไงดี

มาดูคำแนะนำสำหรับการป้องกันเล็บช้ำเล็บพองกันดีกว่า ลองทำเรียงจากต้นไปเลยนะครับ
ตัดเล็บเท้าให้ถูกต้อง   รองเท้าดันกับปลายนิ้วยังพอทน แต่ถ้ามันดันกับเล็บตรงๆ นานๆ ละก้อเปิดแน่ครับ การตัดเล็บเท้าให้สั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่าตัดให้สั้นจนติดเนื้อ ให้เหลือส่วนที่พ้นเนื้อมานิดหน่อย และให้ตัดเป็นแนวตรง อย่าตัดให้โค้งตามรูปนิ้วครับ เพราะการตัดเป็นแนวตรงจะช่วยกระจายแรงที่กระทำต่อปลายเล็บได้ดีกว่าแบบโค้ง

เลือกและใส่ถุงเท้าให้เหมาะสม   ควรเลือกถุงเท้าที่แห้งง่ายระบายความชื่นดี ถุงเท้าเปียกชื้นจะลื่นทำให้ปลายเท้าเลื่อนชนรองเท้าได้ง่าย ใครที่ชอบใส่ถุงเท้าหนาต้องระวังนะครับ มันช่วยลดแรงกระแทกต่อเข่าและข้อเท้าได้ไม่เยอะเลยเพราะมันเป็นแค่ผ้า การรับแรงกระแทกที่ได้ผลมาจากพื้นรองเท้าที่ออกแบบดีๆ เป็นหลัก การใส่ถุงเท้าหนายิ่งทำให้รองเท้าคับขึ้นเหลือพื้นที่ปลายเท้าน้อยลงด้วยครับ นอกจากนี้ผมแนะนำว่าไม่ควรดึงถุงเท้าให้ตึงมากเพราะเนื้อผ้าถุงเท้าจะรั้งนิ้วเท้าเกิดแรงกดที่เล็บเวลาวิ่งเช่นกัน เทคนิคที่ใช้วัดง่ายๆ คือใส่ถุงเท้าแล้วลองกางนิ้วเท้าเข้าออกให้สุดดูจะต้องไม่รู้สึกรั้งมากครับ

ผูกรองเท้าให้แน่นพอดี   การผูกให้แน่นช่วยให้เท้าไม่เลื่อนไปชนรองเท้าด้านหน้า โดยหลังเท้าจะเป็นจุดรับแรงแทน แต่ต้องระวังอย่าผูกแน่นเกินไปนะครับ ไม่งั้นวิ่งนานๆ หลังเท้าจะช้ำหรือบวม ในเวปไซท์นักวิ่งหลายแห่งได้แนะนำนักวิ่งที่มีปัญหาเล็บช้ำให้ผูกเชือกรองเท้าแบบทะแยงมุม (Diagonal lacing)  ซึ่งเชือกส่วนที่ทะแยงมุมจะช่วยดึงรั้งรองเท้าส่วนที่อยู่เหนือปลายนิ้วขึ้น นักวิ่งสามารถปรับระดับการยกโดยดึงปลายเชือก A

เลือกรองเท้าที่มีขนาดพอเหมาะ อันนี้ผมไว้เป็นข้อสุดท้ายเพราะถ้าลองทำสามวิธีแรกไม่ช่วยก็คงต้องลงทุนเปลี่ยนรองเท้าที่เหมาะสมแล้วหละครับ ตามหลักการควรเลือกรองเท้าวิ่งให้ใหญ่กว่ารองเท้าลำลองปกติประมาณครึ่งเบอร์ถึงหนึ่งเบอร์ เพื่อให้มีพื้นที่ปลายนิ้ว (Toe box) พอสมควร วิธีง่ายๆ ให้ลองใส่แล้วผูกเชือกเหมือนจะวิ่งจริงแล้วลองกดที่ปลายรองเท้าดู ควรจะต้องเหลือที่ระหว่างปลายนิ้วเท้ากับรองเท้าประมาณหนึ่งหัวแม่มือครับ


แล้วถ้าดำอยู่จะรักษายังไง

ปล่อยให้หายเอง ง่ายที่สุดครับ ถ้าเล็บพองหรือช้ำแต่ไม่เจ็บมาก ส่วนใหญ่จะดีขึ้นถ้าพักสัก 2-3 วัน ส่วนมากเราก็ทำวิธีนี้กันโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้วครับ
  
เจาะของเหลวที่คั่งออก กรณีที่เจ็บ,รำคาญหรือผู้เสพติดการวิ่งอยากหายเร็วๆ ก็สามารถรักษาหรือลดอาการได้โดยการใช้เข็มเจาะชั้นหนังกำพร้าแล้วรีดน้ำหรือเลือดที่คั่งออก ฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ ไม่เจ็บครับเพราะไม่ได้เจาะถึงชั้นหนังแท้ วิธีการไม่ยุ่งยากได้ยินว่ามีนักวิ่งหลายคนก็ทำกันเอง แต่ผมแนะนำว่าถ้าไม่มั่นใจก็ไปให้หมอทำดีกว่าครับ

ขั้นที่หนึ่ง - ความสะอาดเป็นอันดับแรก เช็ดแอลกอฮอล์หรือเบตาดีนบริเวณแผลและเข็มให้สะอาด
  
ขั้นที่สอง - ถ้าส่วนที่พองอยู่บริเวณปลายเล็บก็ใช้เข็มเจาะที่หนังตรงนั้นได้เลย พอมีน้ำเล็ดก็รีดไล่ให้หมด ถ้าส่วนที่พองอยู่ตรงกลางเล็บ ต้องใช้การเจาะผ่านเล็บเข้าไป ซึ่งก็ไม่ยากครับใช้เข็มฉีดยาขนาดใหญ่หน่อยหรือหรือเข็มกลัดเผาไฟให้ร้อน จิ้มที่เล็บเหนือจุดที่พอง กดเบาๆ แล้วหมุนไปมา เข็มจะค่อยๆ ทะลุผ่านเล็บลงไป (มีกลิ่นไหม้นิดๆ ปกติครับ) กะดีๆ นะครับ กดแรงไปเดี๋ยวทะลุถึงเนื้อได้เลือดเพื่ม ให้เข็มแทงทะลุจนถึงชั้นหนังกำพร้า ควรต้องคว้านเข็มนิดนึงให้ได้รูกว้างจะได้รีดน้ำออกได้สะดวก
  
ขั้นที่สาม - หลังจากรีดน้ำออกแล้วแนะนำให้พันพลาสเตอร์กันเชื้อโรคเข้า พักการวิ่งและหลีกเลี่ยงอย่าโดนน้ำสัก 1-2 วันครับ
สุดท้ายนี้ขอฝากว่าเจ็บเล็บเป็นเรื่องเล็กน้อย แลกกับสุขภาพกายสุขภาพใจที่ได้มาแสนจะคุ้มค่า สำหรับสาวๆ นักวิ่งทั้งหลายมีคำแนะนำครับ ทาเล็บสีเข้มๆ หรือใส่รองเท้าปิดนิ้ว ไม่ก็มั่นๆ เลยครับโชว์ความเป็นสาวสุขภาพดีให้คนอื่นอิจฉา !!

ที่มา : http://www.burnallout.com/#!bruisedtoenails/c1c2f
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่