การศึกษาไทยกับความเป็นผู้ประกอบการ

ความเห็นผม
การศึกษาไทยควรเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน

ถ้าว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์ ตามแนวคิดของ Schumpeter
ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างมากกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของผู้คนในสังคม รวมถึงทำให้มีการก้าวข้ามชนชั้นทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากความทะเยอทยานของผู้ประกอบการจะทำให้คนพวกนี้ "ทำสิ่งใหม่ หรือไม่ก็ทำสิ่งเก่าด้วยวิธีใหม่" หรือการมีอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงการสร้างฐานะและความมั่งคั่งของผู้ประกอบการเอง


หันกลับมาดูประเทศไทย

การศึกษาไทยสอนให้เด็กไทยเรียนจบไปเป็นลูกจ้าง อันนี้คงพอจะทราบกันดี
ส่วนแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ โดยมากแล้วจะถูกถ่ายทอดผ่านทางครอบครัว

แล้วการไม่สอนเรื่องผู้ประกอบการในโรงเรียน จะเป็นปัญหายังไง?

เด็กที่เกิดขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่ได้ทำมาค้าขาย เช่น รับราชการ พนักงานบริษัท หรือลูกจ้างทั่วไป มีแนวโน้มที่จะไม่มีแนวคิดเรื่องการเป็นผู้ประกอบการอยู่ในหัว (ผมเน้นคำว่ามีแนวโน้มเพื่อให้เข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงทุกคน )

ส่วนเด็กที่เกิดมาในครอบครัวค้าขาย ทำธุรกิจอยู่แล้ว ได้เห็น ได้สัมผัสอยู่ทุกวัน จึงน่าจะมีเลือดของความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในตัวไม่น้อย

และไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ครอบครัวของเด็กพวกหลัง มักจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าครอบครัวที่เป็นลูกจ้าง
นี่คือความไม่เท่าเทียมกันอย่างแรก ที่ลูกของลูกจ้างได้รับ

อย่างไรก็ตาม หลายคนเชื่อว่า โอเค ไม่เป็นไร ถึงแม้จะเกิดมาด้วยต้นทุนที่ไม่เท่ากัน
แต่การศึกษาน่าจะช่วยลดช่องว่างตรงนี้ได้

แต่ทว่า การศึกษาไทยกลับไม่ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่
เพราะเด็กที่เป็นลูกของลูกจ้าง ต่อให้ขยันแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้มี mindset ของความเป็นผู้ประกอบการอยู่เลย
สุดท้ายแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะจบไปเป็นลูกจ้างเหมือนพ่อแม่ หรือถึงแม้ว่าจะพยายามสร้างตนเองขึ้นมาให้เป็นผู้ประกอบการ
แต่ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ ถามที่บ้านก็ไม่มีใครรู้ จึงมีโอกาสสูงที่จะประสบความล้มเหลว

ตรงกันข้ามกับลูกนักธุรกิจ ถึงแม้ว่าในโรงเรียนไม่ได้สอน แต่ที่บ้านเห็นป๊าเห็นม้า ทำอยู่ทุกวัน
พอคนเหล่านี้จบ พวกเขาก็สามารถกลายเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จได้อย่างสบายๆ

ด้วยสมมติฐานที่ว่า การเป็นผู้ประกอบการจะทำให้เกิดการก้าวข้ามชั้นทางเศรษฐกิจได้ง่ายกว่าการเป็นลูกจ้าง
การก้าวข้ามชั้นทางเศรษฐกิจโดยลูกของลูกจ้างจึงทำได้ยากยิ่งขึ้น
เนื่องจากลูกนักธุรกิจที่มีพื้นฐานแนวคิดด้านการประกอบการ จะมีโอกาสออกไปทำธุรกิจและประสบความสำเร็จมากกว่า

ดังนั้น การศึกษาไทย ควรมีการปลูกฝังเรื่องการเป็นผู้ประกอบการให้กับเด็กนักเรียน เพื่อให้เป็นทักษะทางเลือกในการประกอบอาชีพของตนในอนาคต
ถึงจะลดช่องว่างด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจไม่ได้ แต่อย่างน้อย ก็เป็นการลดช่องว่างด้านต้นทุนทางความรู้ ทักษะให้กับเด็ก
เพื่อต่อไปจะได้มีโอกาสไปสร้างฐานะของตนเองให้ดีขึ้นได้


เน้นอีกครั้งตรงนี้นะครับว่า ทุกอาชีพมีดีในตัวของมันเอง
หลายคน เลือกที่จะรับเงินเดือนน้อยเพื่อที่จะทำในสิ่งที่ตนเองชอบ แทนที่จะทำเพื่อฐานะทางเศรษฐกิจของตัวเอง
แต่ที่เสนอมานี้ เพื่อจะให้เป็นทักษะทางเลือก เพราะมีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ให้ความสำคัญกับฐานะทางเศรษฐกิจมากกว่าการทำงานในสิ่งที่ชอบแต่เงินน้อยและการศึกษาจำเป็นต้องให้โอกาสผู้คนเหล่านี้ด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่