หลบหลีกภาษีอย่างถูกกฎหมาย

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ไปเรียนเรื่องภาษีจากเจ้าหน้าที่สรรพากรและอดีตผู้พิพากษาศาลภาษีอากร
ได้ความรู้ดีๆ เชิงแนวความคิดไม่ใช่แนวท่องจำกฎหมายภาษีอย่างที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่สรรพากรสอนว่า การหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) คือ
การวางแผนภาษีใช้ช่องทางที่กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีให้น้อยลงอย่างถูกกฎหมาย
ต่างกับการหลีกเลี่ยงภาษีหรือหนีภาษี (Tax Evasion) ซึ่งเราไม่ควรทำเด็ดขาด

ตัวอย่างการหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance)
- ตนเองมีรายได้สูงต้องเสียภาษีจึงลงทุนเพื่อสิทธิลดภาษี เช่น ซื้อประกัน LTF RMF
- พี่น้องคนที่มีรายได้สูงที่สุด เป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดาสูงอายุไม่มีรายได้
- ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และกำไรจากการลงทุนได้รับยกเว้นภาษี

ตัวอย่างการหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Evasion)
- มีเงินได้ 2 ล้าน แต่แจ้งว่ามีเงินได้เพียง 5 แสน
- ไม่ได้ซื้อ ประกันชีวิต หรือ LTF RMF แต่แจ้งว่ามีการซื้อและนำมาใช้สิทธิอย่างไม่ถูกต้อง
- ให้คนอื่นรับเงินได้แทน ทั้งที่เป็นเงินได้ของตนเอง

การวางแผนการเงินที่ผมเคยพูดคุยที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่อง
-การหารายได้
-การใช้จ่ายเงิน
-การออมเงิน
-การทำประกัน
-การลงทุน
ที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้เกี่ยวโยงกันมากเลยทีเดียว
โดยจะมีสิ่งหนึ่งที่เชื่อมทุกเรื่องการวางแผนการเงินเข้าด้วยกัน สิ่งนั้นคือ ภาษี
   

       ลองคิดดูว่าเริ่มตั้งแต่ การหารายได้ของบุคคลธรรมดา ก็แบ่งรายได้ออกเป็น 8 ประเภท
แต่ละประเภทก็เสียภาษีต่างกัน เช่น รายได้จากเงินเดือน หรือ รับจ้างทำงาน
เป็นรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายได้ ไม่เกิน 6หมื่นบาท
ส่วนรายได้จากการทำธุรกิจ หรือ อาชีพเฉพาะ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 40-85%
หรือ หักได้ตามจริงไม่มีเพดาลขั้นสูง ทำให้เกิดความแตกต่าง เช่น

มนุษย์เงินเดือน รายได้        2 ล้านบาท เสียภาษี     340,000 บาท
หมอเปิดคลีนิค  รายได้        2 ล้านบาท เสียภาษี       57,000 บาท
พ่อค้า              รายได้        2 ล้านบาท เสียภาษี         8,500 บาท
   

      ส่วนการใช้จ่ายเงิน ถ้าคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน เงินที่คุณใช้จ่ายกับสิ่งจำเป็นในทุกวัน
ก็เอามาหักอะไรเกี่ยวกับภาษีไม่ได้  แต่รู้ไหมว่าคนที่รับรายได้แบบธุรกิจหรือทำเป็นรูปแบบบริษัท
สามารถ นำค่าโทรศัพท์ ค่าซื้อรถยนต์ ค่าคอนโดที่พักอาศัย ค่าเลี้ยงอาหารเพื่อน
ค่าเดินทางท่องเที่ยว ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม ค่าใช้จ่ายอะไรที่มีบิล ฯลฯ
มาเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทเพื่อตัดออกจากรายได้ทำให้เสียภาษีน้อยลงได้ด้วย
แต่มนุษย์เงินเดือนหักค่าใช้จ่ายเหมาได้เพียงปีละ 60,000 บาท!!!

        การออมเงิน ถ้าเราเก็บแบออมทรัพย์กับธนาคารพาณิชย์ ได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 10,000 บาทก็ไม่ต้องเสียภาษี
แต่ถ้าฝากประจำเพื่ออยากได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นแต่ดอกเบี้ยที่ได้ต้องเสียภาษี 15%
ส่วนถ้าซื้อกองทุนผลตอบแทนที่ได้จากกองทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่ปันผลจากกองทุนต้องเสียภาษี 10%
ส่วนการออมเงินแบบประกันชีวิตนอกจากจะไม่เสียภาษีแล้วยังสามารถเอาเบี้ยที่จ่ายมาลดภาษีได้อีกด้วย


       การทำประกันชีวิต ประกันชีวิตถ้าเป็นของตนเองเบี้ยประกันสามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน100,000 บาท
ประกันชีวิตแบบบำนาญลดได้เพิ่มอีก 200,000 บาทแต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม
ซื้อประกันสุขภาพให้บิดา-มารดา ลดภาษีได้อีก15,000 บาท ลูกกี่คนจะซื้อให้พ่อแม่ ลูกทุกคนที่ซื้อก็สามารถใช้สิทธินี้ได้ทุกคน

        การลงทุน ถ้าลงทุนในธุรกิจก็ได้สิทธิในการหักค่าใช้จ่ายเพื่อประหยัดภาษีเงินได้
ถ้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กำไรจากการซื้อขาย ก็ไม่ต้องเสียภาษี
ส่วนเงินปันผลที่ได้จะต้องเสียภาษีแต่ก็สามารถเครดิตภาษีคืนได้

      จะเห็นได้ว่า เรื่องภาษีเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงินในทุกด้าน
ถ้าเราวางแผนภาษีดี ก็เหมือนเราย้ายเงินจากกระเป๋าซ้าย ไปกระเป๋าขวา
โดยได้ประโยชน์ในการลดภาษี ส่วนเงินที่ย้ายก็ยังเป็นของเรา
ที่สำคัญถ้าเราไม่ย้ายมาเก็บไว้อย่างนี้ เงินที่อยู่ตรงหน้าเราก็อาจจะถูกเอาไปใช้ ฟุ่มเฟือยหรือช็อปปิ้งจนหมดอยู่ดี

เพื่อนๆ อาจจะไม่ได้รู้ในทุกด้านของภาษีเพราะรายละเอียดมาก มีความซับซ้อน
และเป็นภาษากฎหมาย แต่เบื้องต้นในฐานะที่เราเป็นมนุษย์เงินเดือนไม่มีเวลามาก
การวางแผนเบื้องต้นเช่น การนำค่าลดหย่อนทั่วไปมาใช้ เช่น
การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เบี้ยประกันชีวิต การลงทุน LTF RMF ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน ฯลฯ
ก็ช่วยให้ประหยัดภาษีไปได้มากทีเดียวนะครับ ^_^

------------------------------------------------------------------------------------------------
ติดตามบล็อกบริหารการเงินแบบง่ายๆ ในรูปแบบ FB ได้ที่นี่
https://www.facebook.com/Pefinance?ref=hl

เพื่อนๆสามารถไปติดตามอ่านได้ที่ บล็อก PEFINANCE
https://pefinance.wordpress.com/2015/05/05/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่