คุณคิดว่าเพียงเงินเก็บจากการทำงาน จะพอเลี้ยงชีวิตคุณไปจนแก่ตายไหม? (3 ขั้นตอน สู่การเกษียณ...อย่างเกษม)

“วงเวียนชีวิต ... สกู๊ปชีวิต ... วันนี้ที่รอคอย ฯลฯ” เชื่อว่าหลายท่านคงจะคุ้นเคยกับรายการทีวีเหล่านี้อย่างแน่นอน รายการเหล่านี้ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของชายหญิงวัยเกษียณอายุ ที่กำลังเจอปัญหาการขาดแคลนรายได้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนหลายๆคนต้องออกมาขอความช่วยเหลือจากสังคมและภาครัฐฯ
จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้งหมด 9.4 ล้านคน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีๆละ 5 แสนคน นั่นทำให้ในแต่ละปีรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นจำนวนเงินมากกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี... และถึงแม้จะมีการจ่ายเงินตามจำนวนดังกล่าวแล้ว ก็ยังไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายๆองค์กรจะพยายามรณรงค์ให้หันมาใส่ใจการวางแผนวัยเกษียณกันมากขึ้น แต่กลับพบว่าปัจจุบันคนไทยสนใจวางแผนวัยเกษียณเพียง 15% เท่านั้น เนื่องจากยังมองว่าเป็นเรื่องที่ทำยาก ไกลตัว และจะเริ่มทำเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป นั่นทำให้วันนี้ Mutual FundsPedia จะนำเสนอเคล็ดไม่ลับสำหรับการเกษียณอย่างเกษมให้ทุกท่านได้ลองทำดูครับ

•    ต้องใช้เงินเท่าไหร่..? ในวัยเกษียณ
ขั้นตอนแรกของการเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณนั้น เราต้องรู้ก่อนว่า หากเราเริ่มต้นใช้ชีวิตยามเกษียณแล้วจะต้องมีเงินเท่าไหร่สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งวิธีการคำนวณง่ายๆนั้นทำได้โดยนำค่าใช้จ่ายต่อปีในปีที่จะเกษียณอายุ x 80% (สัดส่วนของค่าใช้จ่ายที่จะใช้เกษียณอย่างเกษม) และคูณด้วยจำนวนปีที่ต้องใช้เงิน ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเจี๊ยบมีอายุ 40 ปี ตั้งใจจะเกษียณอายุตอน 60 ปี และจะใช้เงินจนถึงอายุ 80 ปี โดยเจี๊ยบคาดการค่าใช้จ่ายในปีก่อนที่จะเกษียณต่อเดือนๆละ  30,000 บาท คิดเป็นปีละ 360,000 บาท ทำให้จำนวนเงินที่จะใช้หลังเกษียณของเจี๊ยบเท่ากับ (360,000 บาท x 80%) x 20 ปี รวมเป็นเงินที่ต้องใช้ตลอดอายุการเกษียณทั้งสิ้น 5,760,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

•    วางแผนเตรียมพร้อมรับวัยเกษียณ
ในขั้นตอนนี้ทุกท่านต้องทำความเข้าใจว่า การวางแผนการลงทุนสำหรับวัยเกษียณนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆเสียด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเจี๊ยบอายุ 40 ปี วางแผนจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี โดยเจี๊ยบคำนวณแล้วว่าจะต้องใช้เงินจนถึงอายุ 80 ปี เป็นจำนวน 5,760,000 บาท ดังนั้นเจี๊ยบจึงไปขอคำปรึกษาจากผู้แนะนำการลงทุนของหลักทรัพย์บัวหลวง ซึ่งได้ให้คำแนะนำว่า เจี๊ยบต้องลงทุนปีละ 100,000 บาทในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนหลังหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ 10% ต่อปี ซึ่งจะทำให้เจี๊ยบมีเงิน 5,727,500 บาทตอนเกษียณอายุ และทำให้เจี๊ยบดำเนินชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข อย่างไรก็ตามหากทุกท่านเริ่มวางแผนเร็วหรือช้ากว่าเจี๊ยบ ผลที่ออกมาคือ



จากภาพ ทุกท่านจะเห็นว่าการเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ ยิ่งเริ่มวางแผนเร็วเท่าไหร่ จำนวนเงินลงทุนที่ต้องใช้ในแต่ละปีก็จะน้อยลงด้วย หรือหากมองในมุมกลับกันหากทุกท่านลงทุนด้วยเงินจำนวนเยอะขึ้น เมื่อถึงปีที่ท่านอายุ 60 ปีก็จะมีเงินที่จะใช้สำหรับวัยเกษียณมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ และนั่นจะทำให้ชีวิตเกษียณมีความสุขมากขึ้นไปอีก

•    ลงทุนอย่างชาญฉลาด
เมื่อรู้แล้วว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ และรู้ว่าจะเริ่มลงทุนตอนไหน ใช้เงินในการลงทุนเป็นจำนวนเท่าใด ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเสาะหาสินทรัพย์ลงทุนที่ใช่ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะแม้ว่าเราจะมีแผนการลงทุนที่ดีเลิศแค่ไหน แต่หากไม่มี Investment Vehicles ที่ดีแล้ว ก็ไม่อาจไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ ซึ่งสินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนเพื่อวัยเกษียณนั้น ควรเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือหากเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงก็ต้องเป็นการลงทุนระยะยาวจริงๆ กล่าวคือ ในระหว่างที่เรากำลังลงทุนอยู่นั้น ราคาสินทรัพย์อาจจะปรับเพิ่มขึ้นสูงมากๆ หรือต่ำลงมากๆ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนักลงทุนต้องสามารถถือลงทุนต่อไปได้ โดยไม่มีการเปลี่ยนใจไปตามสิ่งเร้า ขายทำกำไร หรือเข้าไปเก็งกำไรในช่วงที่ผลตอบแทนจูงใจนั่นเอง นอกจากนี้ยังควรลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายขึ้น อย่างเช่นลงทุนในหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% ตามหลักของการกระจายความเสี่ยง

นี่เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ที่ผมเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้ทุกท่านเกษียณอย่างมีความสุขได้ แต่ยังมีอีกหลายวิธีการที่สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันแบ่งปันผ่านกระทู้นี้ แต่ที่แน่ๆ คงไม่ใช่ฝากออมทรัพย์แน่นอน ... แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า สวัสดีครับ #ลูกแม่หน่อง

------------------------------------------------------------------
บทความเกี่ยวกับการลงทุน และการวางแผนการเงิน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่...
https://www.facebook.com/themasterfund
ผมจะทยอยแบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจ ลองติดตามดูครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่