รู้เขารู้เรา : ทีมฟุตบอลชายอิรัก

กระทู้สนทนา
อยากทำบทความเล็ก ๆ แบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่มีเวลาสักที หายไปจากบอร์ดได้ สามสี่วัน กลับเข้ามาดูมีแต่ประเด็นอะไรไม่รู้เต็มบอร์ดไปหมด งั้นผมขอเป็นกระทู้คลายเครียดเล็ก ๆ เพื่อให้เห็นภาพโดยรวมของ "เพื่อนร่วมสาย" ศึกคัดฟุตบอลโลกละกันนะครับ โดยวันนี้ผมจะขอพูดถึง ทีมที่น่าจะมีศักยภาพที่ "เหนือ" กว่าไทยอยู่หน่อย ๆ อย่าง อิรัก และน่าจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของเพื่อนร่วมสายที่สุดเลย


Usood Al Rafidain : สิงโตแห่งสองแม่น้ำ
(credit : wikipedia)


หลังยุคมืดของวงการฟุตบอลอิรัก ที่ถูก อูเดย์ ฮุสเซน ลูกชายของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน (ในขณะนั้น) ที่ต้องพูดว่า "ผ่านยุคมืด" เพราะในระหว่างที่ทีมชาติอิรักอยู่ภายใต้การนำของอูเดย์  มีการลงโทษและข่มขู่รุนแรง เช่น หากขาดซ้อมจะถูกตัดขา, จับขังคุก, เฆี่ยนตี ฯลฯ (www.theage.com เรื่อง Under Uday, soccer was a game of life and death)  ซึ่งเป็นการลงโทษแบบไร้มนุษย์ธรรมเพียงเพื่อหวังผลทางด้านกีฬาเท่านั้น (แต่มันก็ทำให้อิรัก มีอันดับ FIFA สูงสุดที่ อันดับ 39 ในเดือน ตุลาคม ปี ค.ศ. 2001 หรือประมาณ พ.ศ. 2544)

จากนั้นหลังผ่านยุคดังกล่าว ภายใต้การนำของ อัดนัน ฮามัด ได้เข้ามาสานต่องานตรงนี้ ทำให้ ทีมชาติอิรัก ผ่านรอบคัดเลือกการแข่งขันโอลิมปิก 2004 (พ.ศ. 2547) และได้อันดับ 4 ในการแข่งขันครั้งนั้น

ผลงานล่าสุดของทีมชาติอิรัก ในแมตซ์อย่างเป็นทางการ คือ การผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลเอเซีย 2015 แต่ไปสะดุดแพ้เกาหลีใต้ไป 2-0 และ ชิงอันดับ 3 ก็แพ้ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ไป 2-3 ทำให้จบด้วยอันดับ 4 ของการแข่งขันครั้งนี้ เรามาดูรายชื่อตัวหลัก ๆ ที่คาดว่าน่าจะได้ลงทำศึกกับทีมชาติไทยกันดีกว่าครับ


(credit : theworldgame.sbs.com)

ญะลาล ฮัสซัน : ผู้รักษาประตูดาวรุ่งพุ่งแรงของทีมชาติอิรัก สังกัดสโมสรอาร์บิล เอสซี ในประเทศอิรัก แม้จะอายุแค่ 23 ปี แต่มีประสบการณ์ในเกมส์ระดับทวีปเป็นอย่างดี เป็นรองแชมป์กับต้นสังกัด ในรายการ AFC มาสองครั้ง ในปี 2012 และ 2014 รวมถึงรองแชมป์ลีกในประเทศ 2 สมัยติดเช่นกัน ติดทีมชาติมาตั้งแต่ช่วงปี 2011 แต่เพิ่งมาได้รับโอกาสจริงจัง ในศึก กัลฟ์ คัพ ปี 2014 และจากนั้นก็ยึดมือหนึ่งตลอดมา


(credit : zimbio.com)

อาหมัด อิบราฮิม : กองหลังดาวรุ่งวัย 23 ปี ของทีมชาติอิรัก สังกัดสโมสร อัจมาน ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ได้รับความไว้วางใจให้ยืนตัวหลักตั้งแต่คัดฟุตบอลโลกปี 2014 และยึดตำแหน่งตัวหลักในทีมชาติมานับตั้งแต่นั้น ด้วยความสูงใหญ่ที่สามารถพิชิตนักฟุตบอล Size ยุโรปได้อย่างสบาย ๆ ความแข็งแกร่ง และ ความเร็ว คืออีกหนึ่งความสามารถที่กองหลังคนนี้มีอยู่เต็มเปี่ยม


(credit : lookpro.photoshelter.com)

อาลี อัดนาน กอซิม : แบ็กซ้ายดาวรุ่งพรสวรรค์สูงอีกคนนึงที่น่าจับตามองของวงการฟุตบอลเอเซีย จากสโมสรเคเคอร์ รีเซสปอร์ ในลีกตุรกี นักเตะคนนี้เคยได้รับความสนใจจาก โรม่า และ เชลซี เมื่อปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าในสโมสรต้นสังกัดจะยังเบียดตำแหน่งตัวจริงไม่ได้ แต่เชื่อว่าด้วยศักยภาพแล้วนักเตะคนนี้น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เป็นตัวความหวังในแนวรับในอนาคตของอิรักเลยก็ว่าได้


(credit : imgarcade.com)

อะหมัด ยาซีน : กองกลางตัวรุกสารพัดประโยชน์ ตัวหลักจากสโมสรโอเรโบร ในลีกสวีเดน ที่สามารถเล่นได้เกือบทุกตำแหน่งในเกมส์รุก นี่คืออีกหนึ่งอาวุธที่ทีมชาติไทยต้องระวังให้หนัก แม้ว่าฤดูกาลนี้จะยังหาฟอร์มเก่งกับต้นสังกัดไม่เจอ แต่เชื่อว่านี่คืออาวุธที่อิรักจะเอามาใช้ในการเก็บเกี่ยวคะแนนในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกอย่างแน่นอน


(credit : mirror.co.uk)

ยาซิล กอซิม : กองกลางจอมทัพดาวรุ่ง จาก สโมสรสวินดอน ทาวน์ ในลีกวัน ประเทศอังกฤษ น่าจะเป็นจอมทัพของทีมชาติอิรักชุดนี้ ด้วยการผสมผสานฟุตบอลสไตล์ยุโรปกับอาหรับเข้าไว้ด้วยกัน โดยเพิ่งได้รับโอกาสให้ยืนบัญชาการแดนกลางในนามทีมชาติ ในรายการเอเชี่ยนคัพ 2015 ที่ผ่านมา และทำได้ดีด้วยเช่นกัน


(credit : goal.com)

ยูนิส มะห์มูด : ศูนย์หน้ากัปตันทีมจอมเก๋า ในวัย 32 ปี ดาวยิงระดับพระกาฬของอิรัก ที่รับใช้ชาติมา 77 นัด ซัดไป 30 ประตู ดีกรีแชมป์เอเชี่ยนคัพ ปี 2007 ปัจจุบันสังกัดสโมสรอาร์บิล เอสซี (แม้ในสโมสรจะลงเตะให้กับสโมสรแค่ในรายการ AFC ก็ตาม)


(credit : zimbio.com)

มาห์ดี้ อาลี ฮัสซัน : เฮดโค้ชชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งได้มาคุมงานตั้งแต่ช่วงสิงหาคม ค.ศ. 2012 และมีผลงานคือ เหรียญทองแดง เอเชียนเกมส์ 2014 แต่ครั้งนี้คือบทพิสูจน์ของเขาว่า เขาเป็น "ของจริงในระดับเอเซีย" หรือไม่ การคว้าที่ 1 ของสายเพื่อเข้าสู่รอบต่อไป คงต้องอยู่ที่แผนต่าง ๆ ของอดีตยอดเฮดโค้ชของ อัล อาลี คนนี้ ด้วยเช่นกัน

นั่นคือสิ่งที่ทีมชาติไทยต้องเจอ ถามว่าผม "กลัวไหม?" ขอบอกว่า "หวั่น ๆ" ครับ เพราะด้วยประสบการณ์ในระดับเอเซียแล้ว ถึงแม้ว่าประเทศเขาจะเกิดความไม่สงบมากมาย ยังทำผลงานได้ขนาดนี้ ลองคิดเล่น ๆ หากไม่มีสงครามและประเทศสงบสุขทีมชาตินี้จะก้าวไปขนาดไหน

ส่วนเรื่องสนามนั้น ปกติ อิรักใช้ สนาม อัลชาอับ สเตเดี้ยม, กรุงแบกแดด แต่รู้สึกว่าตั้งแต่ปี 2014 หลาย ๆ รายการที่อิรักเป็นเจ้าบ้านจะไปเตะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และอุ่นเครื่องสองแมตซ์ล่าสุดก็ย้ายไปเตะ คาริด บิน โมฮาเหม็ด สเตเดี้ยม ที่ ชาร์จาห์, สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์  ริมคาบสมุทรอาหรับ ใกล้ ๆ กับดูไบเลย ก็ไม่รู้ว่าจะใช้สนามนี้ไปต่อเนื่องหรือไม่อาจจะต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการของทาง FIFA อีกครั้งนึงครับ

ทั้งหมดนั่น คือเรื่องราวโดยย่อ ของ "สิงโตแห่งสองแม่น้ำ" ทีมชาติอิรัก ที่เป็นเพื่อนร่วมสายคัดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ของเรา ส่วนเวียดนาม, อินโดนีเซีย และ ไต้หวัน เดี๋ยวว่าง ๆ จะค่อย ๆ ทยอยทำให้นะครับ (ถ้าชอบกด Like ถ้าใช่กด Love อร๊ายยส์ 55+)

ผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้
ปอปฏิเวธ

Edit : ตกหล่นบางคำที่อ่านแล้ว อ่านไม่รู้เรื่อง 555+
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่