​นักวิจัยเสนอโมเดล"เอกภพคู่ขนาน"มีอยู่จริง


เราทราบได้อย่างไรว่าเอกภพที่เราอยู่นี้เป็นเพียงเอกภพเดียว บางทีอาจจะมีเอกภพหนึ่งหรืออีกหลายๆเอกภพที่มีอยู่และเป็นไปคู่ขนานกับเราก็เป็นได้ เรื่องที่ดูเป็นนิยายวิทยาศาสตร์นี้ นักวิจัยเริ่มหันมาให้ความสนใจและวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์กันแล้ว

นักวิชาการมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ออสเตรเลีย เริ่มท้าทายหลักการของควอนตัมฟิสิกส์ด้วยทฤษฎีแบบใหม่ที่เชื่อว่า "เอกภพคู่ขนาน" มีอยู่จริงและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Physical Review X โดยศาสตราจารย์โฮเวิร์ด ไวส์แมน และ ดร.ไมเคิล ฮอลล์ จากศูนย์วิจัยกลศาสตร์คอนตัม มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ และ ดร.เดิร์ค-อังเดร เด็คเคิร์ท แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เริ่มนำเรื่องของโลกคู่ขนานออกจากโลกของนิยายวิทยาศาสตร์เข้าสู่โลกจริง

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เสนอว่า เอกภพคู่ขนานนั้นมีอยู่จริงและมีอันตรกิริยาต่อกันได้ กล่าวคือ ไม่ได้เป็นอิสระต่อกัน แต่จะมีแรงผลักต่อกันบางๆอยู่ และนักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า อันตรกิริยาเหล่านี้อาจจะนำไปใช้เพื่ออธิบายเรื่องแปลกประหลาดในกลศาสตร์ควอนตัมได้ทั้งหมด

เราจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีควอนตัมในการอธิบายการทำงานของเอกภพที่ระดับเล็กมาก และเชื่อกันว่า หลักการนี้น่าจะนำไปใช้เพื่ออธิบายได้ทุกอย่าง แต่เราก็ทราบกันดีว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะการอธิบายปรากฏการณ์ที่แปลกๆบางทีก็ดูจะขัดกับหลักการของเหตุและผลเสียด้วยซ้ำ

ดังที่ริชาร์ด ไฟย์แมน นักฟิสิกส์ชื่อดังชาวอเมริกันเคยกล่าวเอาไว้ว่า "ผมว่า ผมบอกได้เลยว่า ไม่มีใครเข้าใจกลศาสตร์ควอนตัมหรอก"

แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ได้สร้างหลักการ "โลกที่มีอันตรกิริยามากมาย" ที่จะทำให้เรามองโลกที่ซับซ้อนนี้ในมุมมองใหม่

"แนวคิดเรื่องเอกภพคู่ขนานในทางกลศาสตร์ควอนตัมเริ่มมาตั้งแต่ปี 1957" ศาสตราจารย์ไวส์แมน อธิบาย

"เรารู้จักกันดีในชื่อ "การตีความหมายของหลายโลก" กล่าวคือ เอกภพแต่ละเอกภพจะแตกกิ่งก้านสาขาไปเป็นเอกภพใหม่ๆทุกครั้งที่มีการวัดทางควอนตัม จึงเป็นไปได้ที่ว่า ในบางเอกภพ ไดโนเสาร์อาจจะไม่ได้สูญพันธุ์เพราะอุกกาบาตชนโลก ในบางเอกภพ ออสเตรเลียอาจจะถูกชาวโปรตุเกสเข้ายึดครอง ทุกอย่างมันดูเป็นไปได้หมด"

"แต่คนที่ไม่เชื่อ ก็จะตั้งคำถามว่าเอกภพอื่นๆที่ว่านี้มีอยู่จริงหรือไม่ เพราะเอกภพหนึ่งๆไม่ได้มีอิทธิพลใดๆกับเอกภพอื่นๆเลย แต่ตามทฤษฎีของเรา หลักการ"โลกที่มีอันตรกิริยามากมาย" นี้แตกต่างออกไป และชื่อมันก็บอกอยู่ในตัวอยู่แล้ว"

ศาสตราจารย์ไวส์แมนและทีมงานได้เสนอหลักการสามข้อคือ

    - เอกภพที่เราอยู่นี้ถือว่าเป็นเพียงหนึ่งในหลายโลก และบางโลกก็เกือบจะเหมือนกับที่เราเจออยู่ในตอนนี้ ขณะที่บางโลกก็ต่างออกไปเลย
    - โลกเหล่านี้ทั้งหมดถือว่าเป็นจริงเท่าๆกัน และมีอยู่ต่อเนื่องมาตลอดผ่านกาลเวลา และมีคุณสมบัติที่นิยามได้อย่างแม่นยำ
    - ปรากฏการณ์ควอนตัมที่เกิดขึ้นจากเอกภพหนึ่งจะทำให้เกิดแรงผลักกับโลกที่อยู่ใกล้ (เช่น โลกที่คล้ายกัน) ซึ่งก็จะทำให้โลกทั้งสองดูแตกต่างกันมากขึ้น

ดร.ฮอลล์ เผยว่าทฤษฎี "โลกที่มีอันตรกิริยามากมาย" นี้อาจทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่เราจะทดสอบความมีอยู่ของโลกอื่นๆ

"ความสวยงามของหลักการของเรานี้คือว่า ถ้าเกิดมีแค่เพียงโลกเดียว ทฤษฎีของเราก็จะยุบกลายเป็นกลศาสตร์นิวตัน แต่ถ้าโลกมีอยู่หลายล้านโลกมากมาย ทฤษฎีนี้ก็จะเป็นเหมือนกลศาสตร์ควอนตัม"

"แต่ถ้าอยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนั้น ทฤษฎีของเราก็จะทำนายอะไรใหม่ๆโดยที่ไม่ใช่ทั้งกลศาสตร์นิวตันและกลศาสตร์ควอนตัม"

"เรายังเชื่อด้วยว่า หากเรามีภาพของกลศาสตร์ควอนตัมแบบใหม่นี้แล้ว เราจะสามารถใช้เพื่อการวางแผนการทดลองเพื่อทดสอบปรากฏการณ์ทางควอนตัมและใช้งานให้เป็นประโยชน์ได้"

ความสามารถในการประมาณค่าการเปลี่ยนแปลงทางควอนตัมโดยใช้จำนวนโลกที่จำกัดนี้ อาจจะแตกแขนงไปมีความสำคัญในด้านพลวัฒน์ของโมเลกุลได้ ซึ่งถือว่าจำเป็นต่อความเข้าใจปฏิกิริยาของตัวยาที่เรากำลังทำวิจัยอยู่ในปัจจุบันและอนาคต

ทางด้านศาสตราจารย์บิลล์ พอร์เรียร์ นักเคมีชื่อดังที่มหาวิทยาลัยเทคซัสเท็คเชื่อว่า "นี่เป็นแนวความคิดที่ยอดเยี่ยมเลย ไม่เพียงแต่หลักการเท่านั้นที่ยอดเยี่ยม แต่ในด้านการดำเนินการเชิงตัวเลข วิธีแบบใหม่นี้เกือบจะถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่เลยทีเดียว"


Credit Vichakhan.com
อ้างอิง: Griffith University. "Scientists propose existence and interaction of parallel worlds: Many Interacting Worlds theory challenges foundations of quantum science." ScienceDaily. ScienceDaily, 30 October 2014. <www.sciencedaily.com/releases/2014/10/141030101654.htm>

งานวิจัย: Michael J.W. Hall, Dirk-André Deckert, Howard M. Wiseman. Quantum Phenomena Modeled by Interactions between Many Classical Worlds.Physical Review X, 2014; 4 (4) DOI: 10.1103/PhysRevX.4.041013
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่