ภาษาเหนือ Basic --> Advance นิด ๆ

เกริ่นนำนิด ๆ ครับ จะขอออกตัวว่า ผมเป็นคนเชียงใหม่ แท้ ๆ ชาติพันธ์ เป็นไทเขิน(ไตขืน) ศึกษาเรื่องภาษาเหนือ(กำเมือง) มาบ้างตามอัตภาพนะครับ ตอนนี้กำลังเรียนตั๋วเมือง(อักษรธรรมล้านนา)อยู่กับพระครับ ต้องไปเรียนตามวัดโรงเรียนตะก่อนไม่มีสอน จะผิดจะถูกอย่างไร ก้อขออภัยไว้ด้วยครับ

ลักษณะการพูดภาษาเหนือของผม จะเป็นสำเนียงผสมระหว่าง เชียงใหม่(ในเมือง) + สำเนียงไตเขิน
สำหรับสำเนียงเชียงใหม่ สำหรับบางท่านที่เคยมาเที่ยวเชียงใหม่ และมีแฟนเป็นคนเชียงใหม่ จะรู้ได้ คือ ช้า ๆ เนิบ ๆ นุ่ม ๆ หวาน ๆ ไม่กระโชกโฮกฮาก (คือ ภาษาเหนือด่าใครแล้ว คนถูกด่าไม่ค่อยรู้สึกเจ็บ)

ขออธิบายไว้นิดหนึ่ง เขิน, ลื้อ, ไต, ยอง(ไม่ใช่เสียง ย.ยักษ์ นะครับ ไม่มีตัวเขียนในภาษาไทย, เวลาอ่านออกเสียงนาสิก ขึ้นจมูกนิด ๆ ) เป็นชาติพันธ์ ล้านนา แต่เชียงใหม่จะเรียกตัวเอง และเรียกทั้งหมด ว่า "คนเมือง" "เขิน, ลื้อ, ไต, ยอง คือ คนเมือง" แต่ สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ใน กลุ่มจังหวัดล้านนา(หมายถึง กลุ่มไตลื้อ เมือง เจียงฮุ่ง(เชียงรุ่ง สิบสองปันนา ประเทศจีน) กลุ่มไตขืน เมืองเชียงตุง พม่า) เขาจะเรียกตัวเขาเองตามกลุ่มชาติพันธ์ เอาเป็นว่าคนที่พูดเหนือได้ ไปเชียงรุ่ง ก้อคุยกันรู้เรื่องแหละครับ เพียงแต่จับสำเนียงให้ออกแค่นั้น แต่ว่าจะมีบางคำที่ไม่เหมือนเลย เพราะภาษาเหนือ ถูกผสมเข้ากับภาษาไทยกลาง ทำให้บางคำหายไป หรือเปลี่ยนความหมายไป ยกตัวอย่าง คำว่า "อาย" ในปัจจุบัน ก้อคงรู้ ๆ ความหมายกัน แต่ในเชียงรุ่ง สิบสองปันนา คำว่าอาย จะแปลว่า "กลิ่น" เมื่อผสมกับคำว่า "หอม"  คือ "อายหอม" ใน สิบสองปันนา จะแปลว่า "กลิ่นหอม" ในภาษาไทย สังเกตุได้ว่า เป็นภาษาโบราณแท้ ๆ

แต่ไม่ต้องห่วง ภาษาเขิน, ลื้อ, ยอง จะใกล้เคียงกันมาก ๆ จะออกเสียงต่างกันนิดหน่อย เช่น คำว่า "เป็น" สำเนียง เชียงใหม่, เขินเชียงใหม่ จะออกเป็น "เป๋น" ส่วน ลื้อ, ยอง จะออกเป็น ปิ๋น, คำว่า "เมือง" เชียงใหม่, เขินเชียงใหม่ ออกเป็น เมือง แต่ ยอง, ลื้อ ออกเป็น "เมิง" ครับ
ส่วนเขินใน เชียงตุงนี่ ผมก้อมึนเยอะอยู่บ้าง แต่ก้อพอเข้าใจครับ เขินเชียงตุง เรียกตัวเองว่า จาวขืน แต่ที่แปลก ๆ ไปบ้าง คือเขาเรียกเมืองเชียงใหม่ ว่า "เก๋งใหม่" เมืองเขาเอง(เชียงตุง) เขาเรียก "เก๋งตุง" ออกไปทางแนว ไตใหญ่ ส่วนไตใหญ่ เขาเรียกตัวเองว่า "ไตหลวง" หรือ "ไตโหลง" แล้วแต่ท้องถิ่น

สำหรับภาษาเหนือในสำเนียงเชียงใหม่ บางแห่งก็กลายพันธ์ไปแล้วเป็น สำเนียงเชียงใหม่ บางแห่งยังรักษาไว้เหมือนเดิม(แต่ของผมปนกันทั้งสำเนียงเชียงใหม่ และและสำเนียงเขิน) อาจจะมีเปลี่ยนไปบ้าง ด้วยอิทธิพลภาษาไทยภาคกลาง แต่ถ้าจะให้นับภาษาเหนือแบบโบราณแท้ ๆ ยกให้ ไตลื้อ ที่ สิบสองปันนา ครับ ถ้าให้พูดแบบถึงใจในภาษาเหนือก้อเรียกว่า  "เมืองไบ้ เมืองง่าว"

(ต่อ)

ลักษณะภาษาเหนือแท้ ๆ (เก่ามากเข้าขั้นโบราณ)จะใกล้เคียงภาษา "มคธ" ผสม ภาษา "บาลี" ครับ แต่จะมคธเยอะกว่า แต่ภาษาไทยภาคกลาง จะบาลีเยอะกว่า และเวลาคนเหนือพูดส่วนมากจะเป็นเสียงนาสิก คือเสียงขั้นจมูก ครับ แต่ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่านาสิกคืออะไร แต่ก้อพูดออกนาสิกไปแล้ว
ยกตัวอย่างภาษามคธ เสียง "ช.ช้าง" จะออกเป็น "จ.จาน" ตัวอย่างคำว่า ชัยมังคละ อันนี้เสียงบาลีอ่านว่า "ชัย-ยะ-มัง-คะ-ละ" แต่ถ้าออกเป็นเสียงมคธ กับ เหนือ จะออกเสียงว่า "ไจย-ยะ-มัง-กะ-ละ" ฉะนั้น มาเหนือเจอเขาอวยพร "โจ้กดีมีจัย" ให้ก็ให้รู้ว่า "โชคดีมีชัย"

เสียง "ท.ทหาร" ส่วนมากทางเหนือจะเป็น "ต.เต่า" ยกตัวอย่างก้อ "ดอยสุเทพเทียมฟ้า" ทางเหนือก้อจะเป็น "ดอยสุเตบเตียมฟ้า"
เสียง "ค.ควาย" เหนือจะเป็น "ก.ไก่" บ้างบางพื้นที่, "พ.พาน" บางคำจะเป็น "ป.ปลา" ยกตัวอย่าง "นพบุรีศรีนครพิงค์" เอาแบบคนเหนือโบราณจริง ๆ จะอ่านว่า "นบ-ป๊ะ-บุ-ลี-สะ-หลี-หนะ-กอน-พิง" แต่เด็ก ๆ รุ่นใหม่ กลัวนักวิชาการทั้งหลายที่ไปค้นชื่อมาเสียใจ  ก้ออ่านแบบ ภาษาไทยกลางไปเสีย
ภาษาเหนือแท้ ๆ จะไม่ม่เสียง ร.เรือ ครับ จะออกเสียง ฮ.นกฮูก แทน เช่น "โรงเรียน" จะเป็น "โฮงเฮียน", "รุ่งเรือง" จะเป็น "ฮุ่งเฮือง" แบบนี้ อันนี้เหนือแท้
เอ๊ะ แล้ว ร.เรือ มาตอนไหนหว่า  สันนิฐานของผมเอง(คือเดาเองเอง) มาตอน แม่เจ้าดารารัศมี(พระราชชายาเจ้าดารารัศมี) ดูพระนามสิครับ ร.เรือ หลายตัวเลย จริง ๆ มีมานานครับ แต่ออกเสียง ล.ลิง ไม่มีการผันลิ้น มาพร้อมกับ พระพุทธศาสนา และครับ และมีสมัยหนึ่ง ทาง กทม. ห้ามให้มีการเรียนการสอน ภาษาเหนือ ในกลุ่มจังหวัดล้านนา(กลุ่ม จ.ล้านนา เมื่อก่อนทาง กทม. เรียกเราว่า มณฑล "ลาวเฉียง" แล้วเปลี่ยนมาเป็น มณฑล "พายัพ" แล้วก้อยกเลิกระบบมณฑลไปเปลี่ยนเป็นแบบจังหวัด) ทำให้ตัวหนังสือของเหนือหายไป จะมีให้เรียนก้อมีแต่ในวัดเพราะมีคัมภีล้านนาอยู่ แต่นักวิชาการที่ไหนก้อไม่รู้มาตั้งชื่อให้สวยเลยว่า "อักษรธรรมล้านนา" ซึ่งคนเหนือเขาไม่เรียกแบบนั้นเขาเรียกว่า "ตั๋วเมือง" แต่เด็กสมัยใหม่ก้อ กลัวนักวิชาการทั้งหลายที่อุตส่าห์ตั้งชื่อให้เสียใจ ก้อเรียกแบบไทยภาคกลางอีก

ภาษาเหนือของแต่ละชาติพันธ์ จะมีเพียงสำเนียงต่างกันหรือบางคำเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน จะยกตัวอย่างคำว่า
น้ำ ในภาษาไทยภาคกลางเท่าที่ผมฟัง จะออกเป็น "น้าม" มากกว่า "น้ำ"
เหนือ แบบเชียงใหม่ ก้อจะออกเป็น "น้าม" เหมือนกัน  แต่เหนือแบบเขิน(ผมเอง) จะออกเป็น "น่าม" แบบลื้อที่ สิบสองปันนา และ ยอง จะออกเป็น น่ำ หรือ น้ำ เลย แต่ไม่ต้องห่วงฟังเข้าใจ หายห่วง

คำว่า "ไม้" ภาษาไทยกลางจะออกเป็น "ม้าย" เหมือน "ละม้าย"
แต่เหนือเท่าที่ฟัง ทั้ง ลื้อ, ขืน, ยอง จะออกเป้น "ไม้" จริง ๆ สระ ไ- ไม่ใช่ -้าย ซึ่งคำ สระ ไ- เกือบทั้งหมด(หรือทั้งหมดก้อไม่รู้คิดคำไม่ออก) ทางเหนือแท้จะออก ไ- แท้ ๆ ครับ

คำว่า "ข้าว" ภาษาไทยกลาง ก้อ ข้าว ตรง ๆ เลย แต่เหนือแท้ ๆ จะออกเป็น "เค่า" เผลอ ๆ เป็น "เข่า" เลย เคยได้ยิน ยองลำพูน ชวนไปกินข้าว "โต๋ไปกิ๋นเข่ากั๋น" แปลว่า "ตั๋วไปกินข้าวกัน" แต่ก้อเข้าใจครับ ไม่ใช่ไปกินเข่าที่เป็นอวัยวะ แต่กินข้าว

ภาษาเหนือแท้ คำว่า "หล่อ" ไม่ได้แปลว่ารูปหล่อ แต่แปลว่า "พุ่งเข้าใส่, พุ่งเข้าหา" เคยเล่นกับเพื่อนครับ คำว่าหล่อ ไปชมเขา
ผม : คิงนี่หล่อแต้ต๊ะ (แปลว่า เมิงนี่หล่อจริงนะ)
เพื่อน : ฮาฮู้ตั๋วว่าฮาหล่อ (แปลว่า กรูรู้ตัวว่ากรูหล่อ)
ผม : อื่อ คิงตึงหล่อเข้าหาตี๋นน่อ (แปลว่า เออ มรึ่งเป็นแต่พุ่งเข้าหาตีนแหละ)
เพื่อน : ไอ่วอก (แปลว่า ไอ้โกหก)

แล้วก้อหัวเราะกัน ๕๕๕๕

คำว่าหล่อที่แปลว่ารูปหล่อในภาษาเหนือแท้ ๆ จะใช้คำว่า "งาม" สาว ๆ จะซุบซิบ กันครับ นินทาผู้ชาย "อ้ายนี่งามแต้" แปลว่า "พี่ชายคนนี้รูปงาม(ก้อหล่อนั่นแหละ) ชมผู้หญิงว่าสวย ก้อใช้คำว่า "งาม" เหมือนกัน อย่างเช่น "สาวงามจ้างฟ้อน" แหละว่า "สาวสวยช่างฟ้อน"

เอาแค่นี้ก่อน 5800+ ตัวอักษรแล้ว ไว้ค่อยมาต่อ
ฝากเพลงให้ศึกษา อันนี้มีภาษาไทยภาคกลางผสมนิด ๆ ครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ลองฟังเสียง "ย" ที่เป็นเสียงนาสิก แบบเหนือนะครับ ตรงนาทีที่ 1:52 - 1:54 คำว่า สามกษัตริย์พญา

มือหงิกแล้ว ใครสงสัยอะไร ถามได้ครับ หลังไมล์ก้อได้ ตอบได้ตามความรู้ความสามารถ ผิดพลาดประการใด ขออภัย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่