คนไทยรู้จักปีนักษัตรตั้งแต่สมัยไหน

คือรู้ว่าคนไทยผูกพันกับคนจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีรับวัฒนธรรมจีนเข้ามามากมาย แต่กลับไม่เคยเจอว่าในสมัยนั้นคนไทยรู้จักปีนักษัตร พวกปีชวด ฉลู ขาล เถาะฯ เลย มีก็แต่พวกข้างขึ้นข้างแรม การทำนายโหราพยากรณ์ก็เป็นในแบบของพราหมณ์มากกว่า
เลยสงสัยว่า คนไทยไปรู้จักปีนักษัตรในตอนไหนครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
ปีนักษัตรแบบปัจจุบันสมัยสุโขทัยมีใช้แล้วครับ ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลายหลัก แต่จะมีบางหลักเช่นจารึกนครชุม หรือจารึกปู่ขุนจิดขุนจอดโดยใช้นักษัตรแบบที่เราคุ้นเคยควบคู่ไปกับการนับปีนักษัตรแบบไท-ลาวโบราณ(ไจ้ เป๊า ยี่ เม้า สี ไส้ ซง้า เม็ด สัน เร้า เสด ไก๊) โดยจะเรียกแบบหลังว่า 'หนไท(แบบไท)'

นอกจากนี้ไทยโบราณก็ใช้นักษัตรจากกลุ่มดาวฤกษ์ ๒๗ กลุ่ม ซึ่งน่าจะรับต่อจากขอมซึ่งน่าจะรับต่อจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง(จีนมี ๒๘)

เข้าใจว่านักษัตรแบบปัจจุบัน(ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ) ไทยน่าจะรับมาผ่านทางขอม-เขมรอีกต่อ เพราะในจารึกจะมีกำกับว่าใช้วันเดือนปีไทหรือขอม เช่นในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอดที่ว่า
'จลศกราชได ๗๕๔ มหาศกราชได ๑๓๑๔ ขอมปวอกไทปเตาสนน เดิอนสี่บูรณมีขอมวนนพรหสสบดีไทวนนเตาเมด'
(จุลศักราชได้ ๗๕๔ มหาศักราชได้ ๑๓๑๔ ขอมปีวอก ไทปีเต่าสัน เดือนสี่บูรณมี ขอมวันพฤหัสบดี ไทวันเต่าเม็ด)

หรือตัวอย่างในจารึกล้านนาเช่นจารึกฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ์ที่ว่า
'สฺรีสุภมสฺตุ จุฬสกฺกราชไฑ้ ๙๒๗ ต̑ว ไนปีสลุสนํากเพาชพิไสไทวาปีฑับเปล้าเข้าไนกาตติกมาส สุกลบกขพิไสไทวาเฑิอรญีออก ๓ ฅําพรําไฑวันสุตุร มีส̑งไสไทวาวนรวายญียามกลองแลงแลเบนสุภวาร'
(ศรีศุภมัสดุ จุลศักราชได้ ๙๒๗ ตัว ในปีฉลูสนำกัมโพชพิสัย ไทว่าปีดับเป้าเข้าใยกัตติกามาส ศุกลปักษ์ พิสัยไทว่าเดือนยี่ออก ๓ ค่ำพร่ำได้วันศุกร์ มิสงสัยว่าไทว่าวันรวายยี ยามกลองแลงแลเป็นศุภวาร )

ไทยน่าจะรับคติทางนี้มาจากขอมตั้งแต่โบราณแล้ว แต่จะรับมาสมัยไหนก็ไม่ปรากฏหลักฐานครับ  จารึกสุโขทัยสมัยหลังๆก็นิยมใช้ปีนักษัตรแบบขอมมากขึ้น ไม่ค่อยใช้ปีแบบไทดั้งเดิม

ล้านนาจะใช้ปีแบบไท-ลาวเป็นหลักเหมือนกับสุโขทัย แต่ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างอยุทธยาซึ่งได้อิทธิพลขอม-เขมรมามากจะใช้ปีแบบขอมครับ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ใช้สืบทอดมาจนปัจจุบันตามคติของอาณาจักรที่กลายเป็นศูนย์กลางของประเทศไทยในปัจจุบันครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่