ขณะนี้ มีความพยายามวาดภาพเสมือนว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เป็นยักษ์เป็นมาร
สื่อมวลชนบางส่วนก็ปลุกระดมอย่างคะนองปาก ถึงขนาดพาลไปกล่าวทำนองว่าภาษีตัวนี้จะสูบเลือดสูบเนื้อคนจนทั่วประเทศ ต้องยุติโดยทันที
ก็เข้าใจว่า สื่อบางคน นักการเมืองบางพวก ต้องการจะแสดงตัวว่าเข้าข้างคนจน ยืนอยู่ข้างคนจน กล้าวิจารณ์รัฐบาล มันโก้ดี มันเท่ดี แต่ก็ควรจะลงไปดูรายละเอียดให้ถ่องแท้กันบ้างดีไหม
มิใช่จะพูดเอามัน เอาสะใจกันลูกเดียว
1) คนจนจริงๆ และคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีตัวนี้เลย แต่คนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนส่วนน้อยที่มีเสียงดัง มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง
ก็เพราะคนจน ไม่มีใครถือครองที่ดินมูลค่าเกินล้านบาท
ถ้ามีขนาดนั้น ก็ไม่ใช่คนจน
แถมคนส่วนใหญ่ในประเทศ ก็เป็นเจ้าของที่ดินเฉลี่ยไม่ถึง 1 ไร่
งานวิจัยของ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พบข้อเท็จจริงชัดเจนว่า ผู้ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินทั่วประเทศ หากจำแนกตามขนาดการถือครอง เมื่อปี พ.ศ. 2555 พบว่า
ร้อยละ 50 ของผู้ถือครอง ถือครองไม่เกิน 1 ไร่
ร้อยละ 22 ของผู้ถือครอง ถือครอง 1-5 ไร่
ร้อยละ 28 ของผู้ถือครอง ถือครอง มากกว่า 5 ไร่
อันนี้ ยังไม่นับคนอีกหลายล้านคนที่ไม่มีที่ดินอยู่ในครอบครองเลย!
ตรงกันข้าม ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิในประเทศไทยกลับกระจุกตัวอยู่ในมือของคนแค่เพียงหยิบมือเดียว
ทั่วประเทศไทย มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดประมาณ 95 ล้านไร่ จากพื้นที่ถือครอง 130 ล้านไร่ ซึ่งมีประชากรเพียง 19.5 ล้านราย ที่ได้รับสิทธิในการถือครอง
เมื่อแบ่งสัดส่วนการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนด 5 กลุ่ม จะพบว่า คนกลุ่มที่ 1 ถือครองที่ดินน้อยที่สุด กับคนกลุ่มที่ 5 ถือครองที่ดินมากที่สุด ห่างกัน 326 เท่า แสดงถึงความแตกต่างเรื่องที่ดินสูงมาก
“สัดส่วนกลุ่ม 20% สูงสุด มีการถือครองที่ดินราว 80% ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนด”
โดยที่ผู้กำหนดนโยบาย อย่างนักการเมือง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินและมีมูลค่าค่อนข้างสูง โดยจัดอยู่ในกลุ่ม 20% สูงสุด ถือครองที่ดินเฉลี่ยคนละ 71 ไร่
ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค 0.89 ยืนยันว่ามีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินสูงมากในสังคมไทย
ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาจึงได้มีเสียงเรียกร้องให้จัดเก็บภาษีที่ดิน เพื่อกระตุ้นการกระจายการถือครองที่ดินออกมา โดยให้มุ่งจัดเก็บจากคนที่ถือครองที่ดินเยอะๆ เป็นสำคัญ
และภาษีนี้ จะมาแทนภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเดิม ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ และจะเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่
2) ตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแนวทางการจัดเก็บล่าสุด ปรากฏว่า ได้มีการปรับลดเพดานภาษีลงจากร่างแรกกว่าครึ่ง ประกอบด้วย
ที่ดินเพื่อการเกษตร เพดานจัดเก็บใหม่เป็นอัตรา 0.25%
ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานจัดเก็บใหม่เป็น 0.50%
ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ เพดานจัดเก็บใหม่ 1% จากเดิม 2%
ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพดานจัดเก็บใหม่เป็น 2% (และหากไม่ใช้ประโยชน์จะเริ่มเก็บที่อัตรา 0.5% และเพิ่มหนึ่งเท่าตัวทุก 3 ปี)
นั่นคืออัตราเพดาน หมายถึง อัตราสูงสุด แต่อัตราจัดเก็บจริงจะต่ำกว่านั้นมาก และมีข้อยกเว้น นอกจากนี้ ยังจะมีการกำหนดค่าเสื่อมสำหรับสิ่งปลูกสร้างไว้กว่า 69 แบบ ซึ่งก่อนคิดภาษีจะต้องนำค่าเสื่อมมาหักก่อน
ยกตัวอย่าง กรณีบ้านที่อยู่อาศัย หากมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีเลย
บ้านมูลค่า 1-3 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน (ล้านละ 1,000 บาท) แถมเก็บจริงแค่ 50% ของมูลค่าภาษี เช่น บ้านมูลค่า 2 ล้านบาท คำนวณภาษีได้ 2,000 บาท แต่เก็บจริงแค่ 1,000 บาทต่อปี
บ้านที่มูลค่าเกิน 3 ล้านบาท จะเก็บ 0.1% แต่ใช้วิธีแยกคำนวณตามช่วงมูลค่า เช่น บ้านมูลค่า 5 ล้านบาท จะแบ่งเป็น ช่วง 3 ล้านบาทแรก เสียภาษีแค่ 1,500 บาท, ส่วนที่เกิน 3 ล้านขึ้นไป ค่อยนำมาคำนวณภาษี 0.1% นั่นก็คืออีก 2 ล้านที่เหลือ เสียภาษีล้านละหนึ่งพัน เท่ากับ 2,000 บาท รวมเป็นเสียภาษีจริง 3,500 บาท (1,500+2,000)
จะเห็นว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะไม่กระทบกับคนจน แต่จะกระทบกับคนที่มีบ้านและที่ดิน ซึ่งบางส่วนไม่ใช่คนรวย ไม่ใช่เศรษฐี เช่น บ้านและคอนโดในกทม. ปัจจุบันราคาเกิน 1 ล้านบาททั้งนั้น ก็จะต้องเสียภาษีกันบ้าง ประเด็นนี้ หากพิจารณาว่า คนกลุ่มนี้มิใช่เป้าหมายของการเก็บภาษีชนิดนี้ เพราะเจตนามุ่งตรงที่ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเยอะๆ เกินความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็ควรจะปรับแก้ข้อยกเว้น เพื่อมิให้คนชั้นกลาง-คนทำงานที่เพิ่งมีบ้านหลังแรก-เกษตรกรในต่างจังหวัด ไม่มีที่ดินสะสมเป็นร้อยไร่พันไร่ มีบ้านราคาสิบล้านร้อยล้าน ต้องมาจ่ายภาษีตัวนี้
เช่น ยกเว้นบ้านหลังแรก หรือเพิ่มมูลค่าบ้านที่ได้รับการยกเว้นให้สูงกว่า 1 ล้านบาท, ยกเว้นที่ดินการเกษตรพื้นที่กี่สิบไร่ก็ว่ากันไป มิให้ต้องจ่ายภาษีตัวนี้ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ก็ควรจะมุ่งไปจัดเก็บภาษีจากกลุ่มคนที่ถือครองที่ดินเยอะๆ ประเภทร้อยไร่พันไร่ คฤหาสน์ราคาหลายสิบหลายร้อยล้านบาท โดยอาจจะเก็บในอัตราก้าวหน้าด้วยซ้ำ เพื่อให้คายที่ดินออกจากการถือครอง นำไปสู่การกระจายทรัพยากรที่ดินต่อไป
ที่สำคัญ ขณะนี้ ร่างกฎหมายยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ ก่อนจะเสนอ ครม.ภายใน 2 สัปดาห์นี้ หลังจากนั้น หาก ครม.เห็นชอบก็จะต้องส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อผ่าน สนช.แล้ว มีสภาพเป็นกฎหมายแล้ว รัฐบาลก็ยังจะผ่อนผัน ยังไม่เก็บภาษีอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง เพื่อให้กรมธนารักษ์ประเมินที่ดินรายแปลงทั้งหมดทั่วประเทศให้ได้ครบถ้วน เพราะฉะนั้น แม้กฎหมายจะเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ ตามที่ประกาศให้คำมั่นเอาไว้สำเร็จ แต่คนที่จะเข้ามาตัดสินใจว่าจะจัดเก็บจริงในอัตราเท่าใด คือ รัฐบาลในอีกกว่า 3 ปีข้างหน้า ซึ่งประชาชนก็สามารถลงคะแนนเลือกเอาพรรคการเมืองที่มีนโยบายภาษีตรงกับความต้องการของตนเองได้
พูดง่ายๆ ว่า รัฐบาล คสช. เขาวางรากฐานเอาไว้ให้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลนักการเมืองไม่เคยผลักดันเรื่องนี้สำเร็จเลย ส่วนจะจัดเก็บจริงๆ เท่าไหร่ อย่างไร รัฐบาลต่อๆ ไปก็กำหนดกันเอง อาจจะ 0% ก็ได้ แต่นักการเมืองจะไม่สามารถอ้างว่าเหตุที่ไม่ยอมจัดเก็บเพราะยังไม่มีกฎหมายได้อีก
3) หากพิจารณาบนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริงข้างต้น มิใช่ด่ากราด เหมารวม ปลุกระดม พูดจาเอามัน ต่อต้านภาษีดังกล่าวอย่างไม่แยกแยะ ก็จะเห็นว่า ภาษีตัวนี้เป็นประโยชน์ หากกำหนดอัตราจัดเก็บที่แม่นยำ ตรงเป้า จะเป็นเครื่องมืออันทรงอานุภาพต่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างแท้จริง แถมเป็นการกระจายอำนาจทางการคลังออกไปสู่ท้องถิ่นอย่างได้ผลอีกด้วย
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล เปิดเผยว่า ในหลายประเทศแถวบ้านเราก็มีการจัดเก็บกันแล้ว (ไม่ต้องพูดถึงชาติตะวันตก) เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ (เก็บอัตราก้าวหน้าด้วย) ประเทศสิงคโปร์ (เก็บอัตราก้าวหน้าเช่นกัน) ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ
ประเด็นสำคัญ คือ รัฐบาลจะต้องชัดเจนในเป้าหมายว่า มิใช่จะรีดเอาเงินเยอะๆ จากคนทั่วไป แต่เป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระตุ้นให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินจากคนที่ถือครองที่ดินเอาไว้เยอะๆ พวกเศรษฐีที่ดินหรือกักตุนที่ดินไว้เก็งกำไร ประเภทถือครองทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลจริงๆ
กวนน้ำให้ใส สารส้ม
แนวหน้า มั่นคง ตรงไป ตรงมา @
จัดหนัก! ‘ภาษีที่ดินฯ’ เป็นมารร้าย จริงหรือ? พวกอ่านไม่เกิน3บรรทัด อย่าเข้ามาเด็ดขาด..!
ขณะนี้ มีความพยายามวาดภาพเสมือนว่า “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เป็นยักษ์เป็นมาร
สื่อมวลชนบางส่วนก็ปลุกระดมอย่างคะนองปาก ถึงขนาดพาลไปกล่าวทำนองว่าภาษีตัวนี้จะสูบเลือดสูบเนื้อคนจนทั่วประเทศ ต้องยุติโดยทันที
ก็เข้าใจว่า สื่อบางคน นักการเมืองบางพวก ต้องการจะแสดงตัวว่าเข้าข้างคนจน ยืนอยู่ข้างคนจน กล้าวิจารณ์รัฐบาล มันโก้ดี มันเท่ดี แต่ก็ควรจะลงไปดูรายละเอียดให้ถ่องแท้กันบ้างดีไหม
มิใช่จะพูดเอามัน เอาสะใจกันลูกเดียว
1) คนจนจริงๆ และคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีตัวนี้เลย แต่คนที่ได้รับผลกระทบเป็นคนส่วนน้อยที่มีเสียงดัง มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง
ก็เพราะคนจน ไม่มีใครถือครองที่ดินมูลค่าเกินล้านบาท
ถ้ามีขนาดนั้น ก็ไม่ใช่คนจน
แถมคนส่วนใหญ่ในประเทศ ก็เป็นเจ้าของที่ดินเฉลี่ยไม่ถึง 1 ไร่
งานวิจัยของ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พบข้อเท็จจริงชัดเจนว่า ผู้ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินทั่วประเทศ หากจำแนกตามขนาดการถือครอง เมื่อปี พ.ศ. 2555 พบว่า
ร้อยละ 50 ของผู้ถือครอง ถือครองไม่เกิน 1 ไร่
ร้อยละ 22 ของผู้ถือครอง ถือครอง 1-5 ไร่
ร้อยละ 28 ของผู้ถือครอง ถือครอง มากกว่า 5 ไร่
อันนี้ ยังไม่นับคนอีกหลายล้านคนที่ไม่มีที่ดินอยู่ในครอบครองเลย!
ตรงกันข้าม ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิในประเทศไทยกลับกระจุกตัวอยู่ในมือของคนแค่เพียงหยิบมือเดียว
ทั่วประเทศไทย มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดประมาณ 95 ล้านไร่ จากพื้นที่ถือครอง 130 ล้านไร่ ซึ่งมีประชากรเพียง 19.5 ล้านราย ที่ได้รับสิทธิในการถือครอง
เมื่อแบ่งสัดส่วนการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนด 5 กลุ่ม จะพบว่า คนกลุ่มที่ 1 ถือครองที่ดินน้อยที่สุด กับคนกลุ่มที่ 5 ถือครองที่ดินมากที่สุด ห่างกัน 326 เท่า แสดงถึงความแตกต่างเรื่องที่ดินสูงมาก
“สัดส่วนกลุ่ม 20% สูงสุด มีการถือครองที่ดินราว 80% ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนด”
โดยที่ผู้กำหนดนโยบาย อย่างนักการเมือง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินและมีมูลค่าค่อนข้างสูง โดยจัดอยู่ในกลุ่ม 20% สูงสุด ถือครองที่ดินเฉลี่ยคนละ 71 ไร่
ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค 0.89 ยืนยันว่ามีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินสูงมากในสังคมไทย
ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาจึงได้มีเสียงเรียกร้องให้จัดเก็บภาษีที่ดิน เพื่อกระตุ้นการกระจายการถือครองที่ดินออกมา โดยให้มุ่งจัดเก็บจากคนที่ถือครองที่ดินเยอะๆ เป็นสำคัญ
และภาษีนี้ จะมาแทนภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเดิม ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ และจะเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่
2) ตามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแนวทางการจัดเก็บล่าสุด ปรากฏว่า ได้มีการปรับลดเพดานภาษีลงจากร่างแรกกว่าครึ่ง ประกอบด้วย
ที่ดินเพื่อการเกษตร เพดานจัดเก็บใหม่เป็นอัตรา 0.25%
ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานจัดเก็บใหม่เป็น 0.50%
ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ เพดานจัดเก็บใหม่ 1% จากเดิม 2%
ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพดานจัดเก็บใหม่เป็น 2% (และหากไม่ใช้ประโยชน์จะเริ่มเก็บที่อัตรา 0.5% และเพิ่มหนึ่งเท่าตัวทุก 3 ปี)
นั่นคืออัตราเพดาน หมายถึง อัตราสูงสุด แต่อัตราจัดเก็บจริงจะต่ำกว่านั้นมาก และมีข้อยกเว้น นอกจากนี้ ยังจะมีการกำหนดค่าเสื่อมสำหรับสิ่งปลูกสร้างไว้กว่า 69 แบบ ซึ่งก่อนคิดภาษีจะต้องนำค่าเสื่อมมาหักก่อน
ยกตัวอย่าง กรณีบ้านที่อยู่อาศัย หากมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีเลย
บ้านมูลค่า 1-3 ล้านบาท จัดเก็บอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน (ล้านละ 1,000 บาท) แถมเก็บจริงแค่ 50% ของมูลค่าภาษี เช่น บ้านมูลค่า 2 ล้านบาท คำนวณภาษีได้ 2,000 บาท แต่เก็บจริงแค่ 1,000 บาทต่อปี
บ้านที่มูลค่าเกิน 3 ล้านบาท จะเก็บ 0.1% แต่ใช้วิธีแยกคำนวณตามช่วงมูลค่า เช่น บ้านมูลค่า 5 ล้านบาท จะแบ่งเป็น ช่วง 3 ล้านบาทแรก เสียภาษีแค่ 1,500 บาท, ส่วนที่เกิน 3 ล้านขึ้นไป ค่อยนำมาคำนวณภาษี 0.1% นั่นก็คืออีก 2 ล้านที่เหลือ เสียภาษีล้านละหนึ่งพัน เท่ากับ 2,000 บาท รวมเป็นเสียภาษีจริง 3,500 บาท (1,500+2,000)
จะเห็นว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะไม่กระทบกับคนจน แต่จะกระทบกับคนที่มีบ้านและที่ดิน ซึ่งบางส่วนไม่ใช่คนรวย ไม่ใช่เศรษฐี เช่น บ้านและคอนโดในกทม. ปัจจุบันราคาเกิน 1 ล้านบาททั้งนั้น ก็จะต้องเสียภาษีกันบ้าง ประเด็นนี้ หากพิจารณาว่า คนกลุ่มนี้มิใช่เป้าหมายของการเก็บภาษีชนิดนี้ เพราะเจตนามุ่งตรงที่ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเยอะๆ เกินความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็ควรจะปรับแก้ข้อยกเว้น เพื่อมิให้คนชั้นกลาง-คนทำงานที่เพิ่งมีบ้านหลังแรก-เกษตรกรในต่างจังหวัด ไม่มีที่ดินสะสมเป็นร้อยไร่พันไร่ มีบ้านราคาสิบล้านร้อยล้าน ต้องมาจ่ายภาษีตัวนี้
เช่น ยกเว้นบ้านหลังแรก หรือเพิ่มมูลค่าบ้านที่ได้รับการยกเว้นให้สูงกว่า 1 ล้านบาท, ยกเว้นที่ดินการเกษตรพื้นที่กี่สิบไร่ก็ว่ากันไป มิให้ต้องจ่ายภาษีตัวนี้ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ก็ควรจะมุ่งไปจัดเก็บภาษีจากกลุ่มคนที่ถือครองที่ดินเยอะๆ ประเภทร้อยไร่พันไร่ คฤหาสน์ราคาหลายสิบหลายร้อยล้านบาท โดยอาจจะเก็บในอัตราก้าวหน้าด้วยซ้ำ เพื่อให้คายที่ดินออกจากการถือครอง นำไปสู่การกระจายทรัพยากรที่ดินต่อไป
ที่สำคัญ ขณะนี้ ร่างกฎหมายยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ ก่อนจะเสนอ ครม.ภายใน 2 สัปดาห์นี้ หลังจากนั้น หาก ครม.เห็นชอบก็จะต้องส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อผ่าน สนช.แล้ว มีสภาพเป็นกฎหมายแล้ว รัฐบาลก็ยังจะผ่อนผัน ยังไม่เก็บภาษีอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง เพื่อให้กรมธนารักษ์ประเมินที่ดินรายแปลงทั้งหมดทั่วประเทศให้ได้ครบถ้วน เพราะฉะนั้น แม้กฎหมายจะเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ ตามที่ประกาศให้คำมั่นเอาไว้สำเร็จ แต่คนที่จะเข้ามาตัดสินใจว่าจะจัดเก็บจริงในอัตราเท่าใด คือ รัฐบาลในอีกกว่า 3 ปีข้างหน้า ซึ่งประชาชนก็สามารถลงคะแนนเลือกเอาพรรคการเมืองที่มีนโยบายภาษีตรงกับความต้องการของตนเองได้
พูดง่ายๆ ว่า รัฐบาล คสช. เขาวางรากฐานเอาไว้ให้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลนักการเมืองไม่เคยผลักดันเรื่องนี้สำเร็จเลย ส่วนจะจัดเก็บจริงๆ เท่าไหร่ อย่างไร รัฐบาลต่อๆ ไปก็กำหนดกันเอง อาจจะ 0% ก็ได้ แต่นักการเมืองจะไม่สามารถอ้างว่าเหตุที่ไม่ยอมจัดเก็บเพราะยังไม่มีกฎหมายได้อีก
3) หากพิจารณาบนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริงข้างต้น มิใช่ด่ากราด เหมารวม ปลุกระดม พูดจาเอามัน ต่อต้านภาษีดังกล่าวอย่างไม่แยกแยะ ก็จะเห็นว่า ภาษีตัวนี้เป็นประโยชน์ หากกำหนดอัตราจัดเก็บที่แม่นยำ ตรงเป้า จะเป็นเครื่องมืออันทรงอานุภาพต่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างแท้จริง แถมเป็นการกระจายอำนาจทางการคลังออกไปสู่ท้องถิ่นอย่างได้ผลอีกด้วย
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล เปิดเผยว่า ในหลายประเทศแถวบ้านเราก็มีการจัดเก็บกันแล้ว (ไม่ต้องพูดถึงชาติตะวันตก) เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ (เก็บอัตราก้าวหน้าด้วย) ประเทศสิงคโปร์ (เก็บอัตราก้าวหน้าเช่นกัน) ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ
ประเด็นสำคัญ คือ รัฐบาลจะต้องชัดเจนในเป้าหมายว่า มิใช่จะรีดเอาเงินเยอะๆ จากคนทั่วไป แต่เป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระตุ้นให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินจากคนที่ถือครองที่ดินเอาไว้เยอะๆ พวกเศรษฐีที่ดินหรือกักตุนที่ดินไว้เก็งกำไร ประเภทถือครองทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลจริงๆ
กวนน้ำให้ใส สารส้ม
แนวหน้า มั่นคง ตรงไป ตรงมา @