ปฏิรูปตัวเองก่อนดีไหม "สำนักข่าวอิศรา"...ก่อนปฏิรูปคนอื่น!

กระทู้ข่าว
ในห้วงที่สื่อดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้กุมอำนาจจากการทำหน้าที่เปิดโปงความอื้อฉาวต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่สื่อร่วมกันเปิดโปงพฤติกรรมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พาเหรดกันตั้งลูก-เมียและเครือญาติเข้ามาเป็นผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ช่วยปฏิบัติงาน กินเงินเดือนภาษีประชาชนอย่างโจ๋งครึ่ม สร้างรอยด่างพร้อยให้กับองค์กร สนช.อย่างหาที่สุดไม่ได้นั้น

บทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อดูจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่ออย่างสมาคมนักข่าวที่วันนี้ต้องยอมรับว่าอยู่ในภาวะที่ถูกแรงกดดันรอบด้าน ไหนจะถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตีกรอบการทำงาน ด้วยประกาศ คสช.ที่ 97/2557 และฉบับที่ 103 ที่ควบคุมการทำงานของสื่อเอาไว้ชนิดไม่ยอมให้กระดิก ไม่สามารถจะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นได้อย่างอิสระ

ขณะที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็กำลังโม่แป้งแนวทางการปฏิรูปสื่อ ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช. เตรียมทำคลอดออกมา นัยว่าล่าสุดได้มีการส่งแนวทางการปฏิรูปสื่อไปให้ประธาน สปช.ไปแล้ว ประกอบด้วยการปฏิรูปด้านเสรีภาพสื่อบนความรับผิดชอบ การปฏิรูปด้านการกำกับดูแลสื่อ และการปฏิรูปด้านการป้องกันการแทรกแซงสื่อ

โดยทั้ง 3 วาระนั้น ทางคณะกรรมาธิการ ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อให้ได้โครงสร้างการกำกับดูแลสื่อวิชาชีพที่มีระบบ ส่งเสริมสวัสดิการการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติหน้าที่และให้สวัสดิการที่เหมาะสมแก่บุคลากรสื่อ มีกลไกประกันความเป็นอิสระจากการถูกครอบงำ และการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ รวมทั้งกลุ่มทุนต่างๆ

แม้ทุกฝ่ายจะเล็งเห็นความจำเป็นในการปฏิรูปสื่อสารมวลชน เพราะความเคลื่อนไหวของโลก Social ในวันนี้มีความอ่อนไหว ข้อมูลที่มีการนำเสนอหรือส่งผ่านฟอร์เวิร์ดเมล์กันหลายต่อหลายครั้ง ขาดการคัดกรอง ตรวจสอบ ประชาชนถูกดึงเข้าสู่วงจรของการบิดเบือนข้อมูลเพื่อการใดการหนึ่งได้โดยง่าย

แต่...คนที่จะเข้ามาปฏิรูปสื่อจัดระเบียบเขาได้นั้นก็ต้อง "ดูเงาหัวตัวเอง" เสียก่อน ประเภทที่แต่งตั้งลูก-เมียตนเองเข้ามาเป็นผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ช่วยผู้ปฏิบัติงานประจำตัว สนช.อย่างที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือ สนช.ลากตั้งชุดนี้ดำเนินการไปนั้น สังคมคงรับไม่ได้แน่

จะไป “เพรียกหา” เส้นทางการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสื่อ แต่ตัว สนช.กลับสำรอกทาสแท้ของตัวเองออกมาเสียเอง ก็คงยากที่จะไปชี้หน้าด่ากราดว่านักการเมือง ส.ส.หรือ ส.ว.ชุดไหนเลว หรือมีพฤติกรรมโกงกินเห็นแก่ได้ เพราะตัวเองก็กระทำเป็นตัวอย่าง แถมทั้งตัวประธานและหัวหน้า คสช.ที่ตั้งคนเหล่านี้เข้ามายัง “มีหน้า” ออกมาปกป้องว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามเอาไว้เสียอีก

พูดถึงการปฏิรูปสื่อแล้วเลยทำให้นึกเลยไปถึงบทบาทของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่วันนี้เพิ่งปรับเปลี่ยนหัวขบวนในการขับเคลื่อนโดยมี “วันชัย วงศ์มีชัย” จาก นสพ.แนวหน้าเข้ามานั่งเป็นหัวเรือหลักของการขับเคลื่อนสื่อมวลชนในยุคปฏิรูป

แม้ที่ผ่านมาบทบาทของสมาคมฯค่อนข้างได้รับการยอมรับ ในฐานะองค์กรวิชาชีพด้านสื่อที่มีกิจกรรมมุ่งเน้นการพัฒนาจริยธรรมของสื่อมวลชนด้วยกัน แต่กระนั้นการพัฒนาจริยธรรมสื่อดังกล่าว ก็ยังคงมีข้อจำกัดที่ส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงการดูแลสื่อด้วยกันเองเท่านั้น ไม่ได้ปกป้องผู้บริโภคประชาชนอย่างแท้จริง!

แถมที่ผ่านมาสังคมยังตั้งข้อกังขา การทำหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่ออย่างสมาคมนักข่าว และโดยเฉพาะ "สำนักข่าวอิศรา" ที่จัดตั้งขึ้นมาโดยสมาคมเอง โดยขณะนี้มี "ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" นั่งเป็นผู้อำนวยการนั้น แม้ที่ผ่านมาจะสามารถสร้างชื่อจากการเข้าไปตรวจสอบเรื่องอื้อฉาวต่างๆ ทำหน้าที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันให้กับองค์กรวิชาชีพสื่อ แต่กระนั้นบทบาทของสมาคมฯเอง หรือสำนักข่าวอิศราเองก็ถูกตั้งข้อกังขาว่า ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานขององค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ หรือถูกกลุ่มทุน หรือองค์กรใดครอบงำหรือไม่...

อย่างการที่องค์กรวิชาชีพสื่อรับเงินสนับสนุนกิจกรรมของสมาคม หรือขององค์กรจากหน่วยงาน หรือองค์กรที่ตัวเองต้องเข้าไปตรวจสอบในรอบงบดุลปี 2557 เม็ดเงินกว่า 24 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือแม้แต่บริษัทเอกชน Corporate รายใหญ่อย่างบริษัทเหล้า-เบียร์ ธุรกิจการเกษตรครบวงจรอย่าง ซี.พี.ที่วันนี่แทบจะผูกขาดการทำธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจร เป็นต้น

มีข้อเท็จจริงคือ หลายองค์กรเหล่านี้มีข่าวฉาวโฉ่ออกมาให้เห็นอย่าง ป.ป.ช.ที่ถูกสังคมตั้งข้อกังขา “ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด” เอาแต่ตั้งกรรมการสอบไล่เบี้ยนโยบายหรือโครงการของรัฐบาลชุดหนึ่ง ขณะที่งานหรือนโยบายของรัฐบาลอีกชุดกลับไม่แตะต้อง หรือแม้แต่นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ส่อไม่ชอบมาพากลหลายประการ อย่างการประเคนโครงการสัมปทานรถไฟฟ้าออกไปให้บริษัทเอกชนโดยไม่ประมูล หรือการปั้นโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่ากว่า 8-9 แสนล้านที่ไม่รู้มีที่มาที่ไปอย่างไร

หรืออย่างบริษัทเหล้า-เบียร์ที่มีพฤติกรรมทางการตลาดแอบแฝงในทุกรูปแบบ บริษัทปูนซีเมนท์ยักษ์ใหญ่อย่าง SCG ที่มีปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อม ทั้งการระเบิดภูเขาหินปูนหรือโรงงานกระดาษปล่อยน้ำเสียนั้น แต่องค์กรวิชาชีพสื่ออย่างสำนักข่าวอิศราเอง ก็กลับไม่สามารถจะกระชากหน้ากากองค์กรเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้ความจริง!

การเอารัดเอาเปรียบขององค์กรเหล่านี้รอดพ้นสายตาอันแหลมคมของเหยี่ยวข่าวอย่าง "ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์" ได้อย่างไร หรือเป็นเพราะถูกอะไรบางอย่างปิดปากอยู่หรือไม่ ยกตัวอย่างชัดๆ กรณีของกองทุน สสส.ที่ผลาญ “ภาษีบาป” ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมากว่า 30,000-40,000 ล้านบาท แต่ผลงานความสำเร็จของการดำเนินโครงการเพื่อควบคุม/ลดการบริโภคเหล้า-เบียร์ ของผู้คนในสังคมเป็นอย่างไร?

สถิติของการเกิดอุบัติเหตุ การที่ภาครัฐต้องเพิ่มงบประมาณในการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยจากอุบัติเหตุหรือโรคที่เกิดจากพิษภัยของบุหรี่ และเหล้า - เบียร์ที่เพิ่มขึ้นทุกปีนั้นน่าจะเป็นคำตอบที่ดี แต่สำนักข่าวอิศราฯที่มา "ประสงค์" เป็นโต้โผใหญ่ไม่เคยแตะ ไม่เคยขุดคุ้ย สสส.ที่ผลาญภาษีของประชาชนจำนวนมหาศาลและมีผลงานล้มเหลวในทุกมิติ

จึงไม่แปลกใจที่กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสื่อขนานใหญ่ยังคงกระหึ่มอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสำนักข่าวอิศราฯเป็นองค์กรสื่อในลำดับต้นๆ ที่จะถูกปฏิรูปอย่างเลี่ยงไม่พ้น โดยเฉพาะการปฎิรูปจริยธรรมสื่อของผู้อำนวยการสำนักข่าว อิศราฯคนปัจจุบัน!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่