28 คำภาษาไทย ที่คุณสะกดผิดมาตลอดชีวิต

ไปอ่านเจอก็เลยเอาฝาก (อีกแล้ว)  ลองดูกันนะคะ

มีคำภาษาไทยมากมายที่เราสะกดผิดกันมาตลอดชีวิต โดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันผิด และเชื่อแน่นอนว่า คำเหล่านี้คุณอาจสะกดผิดเกินครึ่งด้วยซ้ำไป เอาเป็นว่า ใครที่ดูคำเหล่านี้แล้วสะกดถูกเกิน 10 คำก็ถือว่าเก่งแล้ว

1. กะเทย VS กระเทย
คำที่ถูก >> กะเทย
คำที่ผิด >> กระเทย
เขียนผิดกันมากสำหรับคำๆ นี้ ให้จำไว้ว่า อยากเป็นกระเทย ไม่ต้อง “รอ”

2. โควตา VS โควต้า
คำที่ถูก >> โควตา
คำที่ผิด >>โควต้า
ตามหลักการเขียนคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ไม่ต้องเติมวรรณยุกต์ค่ะ ดังนั้น Quota จึงเขียนได้ว่าโควตา ไม่ต้องเติมไม้โทให้คำว่า “ตา” นะ

3. ต่างๆ นานา VS ต่างๆ นาๆ
คำที่ถูก >> ต่างๆ นานา
คำที่ผิด >> ต่างๆ นาๆ
โดยปกติคำซ้ำจะเติมเครื่องหมายไม้ยมกไว้ด้านหลังคำที่ต้องการซ้ำ ยกเว้นคำว่า “นานา” “จะจะ” ที่ไม่ต้องซ้ำนะ เขียนแบบเดิมสองครั้งได้เลย

4. ผลัดวันประกันพรุ่ง VS ผัดวันประกันพรุ่ง
คำที่ถูก >> ผัดวันประกันพรุ่ง
คำที่ผิด >> ผลัดวันประกันพรุ่ง
ผัดวันประกันพรุ่งไม่ต้องมี “ล” นะคะ “ผลัด” แบบนี้ใช้สำหรับ “ผลัดผ้า”

5. ผาสุข VS ผาสุก
คำที่ถูก >> ผาสุก
คำที่ผิด >> ผาสุข
เชื่อว่าหลายคนไปโยงกับความหมายความสุข ก็เลยใช้ “ข” สะกด แต่จริงๆ แล้วใช้ “ก” สะกด

6. กงเกวียนกำเกวียน VS กงกำกงเกวียน

คำที่ถูก >> กงเกวียนกำเกวียน
คำที่ผิด >> กงกำกงเกวียน
ที่ถูกต้องคือ”กงเกวียนกำเกวียน” เพราะทั้ง กง และ กำ เป็นส่วนประกอบของล้อเกวียน

7. กังวาล VS กังวาน
คำที่ถูก >> กังวาน
คำที่ผิด >> กังวาล
กังวาน เป็นอีกคำที่สะกดด้วย “น” ได้เลย ไม่ต้องไปสะกดแบบอื่นให้มันยากกว่าเดิม

8. ผัดไทย VS ผัดไท
คำที่ถูก >> ผัดไทย
คำที่ผิด >> ผัดไท
คำนี้มีวิธีการจำง่ายๆ ตามที่ราชบัณฑิตยสถานบอกไว้ก็คือ คำว่า “ไทย” ในผัดไทย เขียนเหมือนคนไทย นั่นเอง

9. อานิสงส์ VS อานิสงฆ์
คำที่ถูก >> อานิสงส์
คำที่ผิด >> อานิสงฆ์
อานิสงส์ มีความหมายในตัว คือ ผลแห่งกุศลกรรม ซึ่งเป็นคำบาลี(อานิสํส) ไม่ใช่ พระสงฆ์ ดังนั้นจึงใช้ “ส์”

10. ใบกะเพรา VS ใบกระเพรา
คำที่ถูก >> ใบกะเพรา
คำที่ผิด >> ใบกระเพรา
การเขียนที่ถูกต้องจริงๆ มี “ร” เพียงแค่ที่เดียว คือ”เพรา” ส่วน “กะ” ไม่ต้องมี “ร”

11. ข้าวเหนียวมูน VS ข้าวเหนียวมูล
คำที่ถูก >> ข้าวเหนียวมูน
คำที่ผิด >> ข้าวเหนียวมูล
“มูล” หมายถึง ราก หรือเศษสิ่งของต่างๆ รวมไปถึงอุจจาระ ซึ่งต้องใช้คำว่า “มูน” หมายถึง การเอากะทิมาคลุกเคล้ากับข้าวเหนียวเพื่อให้เกิดความมันนั่นเอง

12. คลินิก VS คลีนิก VS คลินิค
คำที่ถูก >> คลินิก
คำที่ผิด >> คลีนิก, คลินิค
คำนี้เขียนกันหลากหลายรูปแบบเลย ทั้ง คลินิก, คลีนิก, คลีนิค, คลินิค แต่ที่ถูกต้องจริงๆ เป็นเสียงสั้นใช้สระอิ และใช้ “ก” สะกด

13. คัดสรร VS คัดสรรค์
คำที่ถูก >> คัดสรร
คำที่ผิด >> คัดสรรค์
“คัดสรร” ไม่ต้องมีตัว “ค์” จ้า เพราะคำว่า “สรร” หมายถึง การเลือก, การคัดอยู่แล้ว และคำนี้ก็เป็นคำซ้อนที่เอาความหมายเหมือนกันมาซ้อนคำกันนั่นเอง

14. สังสรรค์ VS สังสรร
คำที่ถูก >> สังสรรค์
คำที่ผิด >> สังสรร
อีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับคำตระกูล “สัน” แต่สำหรับคำว่า สังสรรค์ จะต้องตามด้วย “ค์” เสมอ

15. โคตร VS โครต
คำที่ถูก >> โคตร
คำที่ผิด >> โครต
ทั้ง 2 คำอ่านว่า “โคด” เหมือนกัน แต่ถ้าสังเกตการออกเสียงดีๆ จะรู้ว่าคำนี้ไม่มีควบกล้ำ ดังนั้นวิธีเขียนที่ถูกต้องคือ เอา “ร” ไว้หลังสุด คือ โคตร

16. จลาจล VS จราจล
คำที่ถูก >> จลาจล
คำที่ผิด >> จราจล
วิธีจำให้เขียนถูกง่ายนิดเดียว คำว่า “จราจร” ใช้ “ร” ทั้งสองตัว ส่วน “จลาจล” ก็ใช้ “ล” ทั้งสองตัวเช่นเดียวกันค่ะ

17. น้ำมันก๊าซ VS น้ำมันก๊าด
คำที่ถูก >> น้ำมันก๊าด
คำที่ผิด >> น้ำมันก๊าซ
ให้จำเอาไว้ว่าเขียนให้ง่ายๆ ตามแบบคนไทยใช้ “ด” ไม่ต้องสนใจว่ามาจากภาษาอังกฤษคำว่า Gas

18. ทะเลสาบ VS ทะเลสาป
คำที่ถูก >> ทะเลสาบ
คำที่ผิด >> ทะเลสาป
คำว่า “สาป” ในภาษาไทยมีเพียงความหมายเดียว หมายถึง คำแช่ง ดังนั้นจึงต้องใช้คำว่า “สาบ”

19. เครื่องสำอางค์ VS เครื่องสำอาง
คำที่ถูก >> เครื่องสำอาง
คำที่ผิด >> เครื่องสำอางค์
ที่ถูกต้องจริงๆ ต้องเขียนว่า “เครื่องสำอาง” โดยคำว่า “สำอาง” มีความหมายว่า สิ่งเสริมแต่ง บำรุงใบหน้า

20. นะค่ะ VS นะคะ VS น๊ะค๊ะ
คำที่ถูก >> นะคะ
คำที่ผิด >> นะค่ะ, น๊ะค๊ะ
เป็นคำที่ผู้หญิงใช้ผิดมากที่สุดคำหนึ่ง จริงๆ จำไว้แค่ว่า “นะคะ” ไม่ต้องมีวรรณยุกต์ใดๆ ไม้เอก ไม้โท ไม่ตรี ไม่มีทั้งนั้น จบ

21. บังสุกุล VS บังสกุล
คำที่ถูก >> บังสุกุล
คำที่ผิด >> บังสกุล
บังสุกุล เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าที่พระสงฆ์ชักจากศพหรือผ้าที่ทอดไว้หน้าศพ คำนี้เมื่อพูดเร็วๆ รัวๆ อาจฟังเป็น บังสกุล ซึ่งเป็นการสะกดที่ผิด

22. ผีซ้ำด้ามพลอย VS ผีซ้ำด้ำพลอย
คำที่ถูก >> ผีซ้ำด้ำพลอย
คำที่ผิด >> ผีซ้ำด้ามพลอย
ที่ถูกคือ “ด้ำ” แต่อาจเพี้ยนกลายเป็นคำว่า “ด้าม” เพราะคนไม่เข้าใจความหมายคำว่า “ด้ำ” ซึ่งหมายถึง ผีเรือน

23. พิธีรีตอง VS พิธีรีตรอง
คำที่ถูก >> พิธีรีตอง
คำที่ผิด >> พิธีรีตรอง
พิธีรีตอง หมายถึง งานพิธีตามแบบตามธรรมเนียม เวลาเขียนคำนี้ไม่ต้องเติม “ร” ในคำว่า “ตอง” ท่องเลยๆ

24. แพทยศาสตร์ VS แพทย์ศาสตร์
คำที่ถูก >> แพทยศาสตร์
คำที่ผิด >> แพทย์ศาสตร์
“แพทยศาสตร์” เป็นคำสมาสระหว่างคำว่า “แพทย์” + “ศาสตร์” เมื่อเอามารวมกัน คำก่อนหน้าที่มีการันต์ให้ตัดทิ้งได้เลย

25. ริดรอน VS ลิดรอน
คำที่ถูก >> ลิดรอน
คำที่ผิด >> ริดรอน
วิธีการเขียนคำนี้ให้ถูกต้อง ต้องเขียนว่า “ลิดรอน” พยางค์หน้าใช้ “ล” พยางค์หลังใช้ “ร”

26. ไล่เรียง VS ไล่เลียง
คำที่ถูก >> ไล่เลียง
คำที่ผิด >> ไล่เรียง
“ไล่” หมายถึง การขับออก, บังคับให้ไป ส่วน “เลียง” ก็หมายถึง การไล่สิ่งไม่บริสุทธิ์ออก ดังนั้นคำนี้จึงเป็นคำซ้อน

27. วิ่งเปี้ยว VS วิ่งเปรี้ยว
คำที่ถูก >> วิ่งเปี้ยว
คำที่ผิด >> วิ่งเปรี้ยว
ปกติคำนี้เราใช้แต่วิธีพูด ไม่ค่อยได้ลงมือเขียนกันเท่าไหร่ ฉะนั้นเวลาต้องมาเขียนจริงๆ ก็นึกไปเองว่าใช้ “เปรี้ยว” เหมือนรสเปรี้ยว แต่ที่ถูกต้องจริงๆ เขียน “เปี้ยว”

28. ยิ้ม VS ยิ้ม
คำที่ถูก >> ยิ้ม
คำที่ผิด >> ยิ้ม
จำไว้เหมือน “กะเทย” เลยว่า เป็นกะเทย เป็นยิ้ม ไม่ต้องมี “รอ”

ที่มา : mcpswis.mcp.ac.th

ปล.แท็กผิดห้องต้องขออภัย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่