Beauty and the Beast The Musical in Bangkok (2015)



ผมไม่ใช่คนชอบดูการ์ตูนดิสนี่ย์มาตั้งแต่ต้น พวกสโนไวท์ ซินเดอเรลล่า อะไรพวกนี้ผมไม่เคยสนใจเลยเพราะรู้สึกมันเชยมาก จนมาถึงยุคใหม่ของการ์ตูนดิสนี่ย์ที่ได้คู่หูนักแต่งเพลง Alan Menken (แต่งทำนอง) กับ Howard Ashman (เขียนเนื้อร้อง) มาร่วมกันพลิกประวัติศาสตร์ทำให้การ์ตูนดิสนี่ย์กลับมาบูมอีกครั้งตั้งแต่ The Little Mermaid และ Beauty and the Beast (การ์ตูนเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนต์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ในยุคที่ยังไม่มีการแยกรางวัลสำหรับหนังการ์ตูนอนิเมชั่นอกมาต่างหากอย่างในปัจจุบัน) ผมก็ยังไม่เคยสนใจ เพราะตอนที่หนังการ์ตูนทั้งสองเรื่องเข้าฉายในโรงภาพยนต์ ผมยังเป็นเด็กบ้านนอกที่มีโอกาสมาเรียนในกทม.แต่ไม่ค่อยมีเวลาไปเที่ยวไหนเหมือนใครๆเขา เพราะผมต้องนั่งรถไปกลับรร.เตรียมอุดมกับปากน้ำ (สมุทรปราการ) ทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ซักผ้ารีดผ้าทำการบ้าน ตอนนั้นเหนื่อยมากจนไม่คิดจะออกไปเที่ยวไหนในวันหยุด อีกอย่างหนึ่งผมเคยดูการ์ตูน The Little Mermaid ที่ไม่ใช่เวอร์ชั่นดิสนี่ย์ มันจบเศร้าและทำร้ายจิตใจมากจนเมื่อมีคนมาชวนดูวีดีโอเวอร์ชั่นดิสนี่ย์ผมก็ไม่อยากดูอีก

เมื่อผมมาเรียนปีหนึ่ง มีเวลาว่างมากขึ้น เพื่อนๆเริ่มชวนไปดูหนัง แล้วหนังเรื่องแรกๆที่ได้ดู (ในโรงภาพยนต์) ก็คือ การ์ตูน Aladdin ของดิสนี่ย์ ความไพเราะและแปลกใหม่ของเพลงที่ผมได้ยินมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มชอบ ฟัง และศึกษาเพลงละครเวที (Musical) อย่างบ้าคลั่ง ผมเริ่มตามงานของนักแต่งเพลงทั้งสองท่าน ทำให้ได้ย้อนกลับไปดู The Little Mermaid กับ Beauty and the Beast ที่เพลงมันไพเราะมากและมีความเป็นละครเวทีในตัวสูง (คือสามารถเล่าเรื่อง ผลักดันให้เรื่องราวดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธภาพ) แล้วก็เริ่มหางานเพลงละครเวทีเรื่องอื่นๆมาฟัง ไม่ว่าจะเป็น The Little Shop of Horrors (ละครเพลงที่สร้างชื่อให้นักแต่งเพลงทั้งสองก่อนจะมาทำการ์ตูนให้ดิสนี่ย์), Phantom of the Opera, Evita, Jesus Christ Superstar, Sunset Boulevard, Miss Saigon และ Les Miserablés



น่าเสียดายที่กว่าผมจะได้รู้จักผลงานอันทรงคุณค่าของคู่หูคู่นี้ หนึ่งในดรีมทีม (รายหลัง) ก็จากโลกนี้ไปแล้วจากการติดเชื้อ HIV ในขณะที่ยังแต่งเพลงให้กับการ์ตูน Aladdin ไม่เสร็จ ในประวัติกล่าวไว้ว่าระหว่างการทำเพลงให้กับ Beauty and the Beast นั้น Ashman สุขภาพทรุดโทรมลงมากจนต้องเขียนเพลงอยู่บนเตียงนอนที่เขาเสียชีวิตแต่ตอนนั้นมีไม่กี่คนที่รับรู้เรื่องอาการเจ็บป่วยของเขา มีเพียง Alan Menken กับผู้กำกับที่ต้องเดินทางไปหาเขาที่บ้านบ่อยๆ ซึ่งเมื่อ Ashman จากไปแล้ว Tim Rice (เขียนเนื้อร้อง Evita, Jesus Christ Superstar, Chess) จึงเข้ามารับผิดชอบโปรเจค Aladdin และการแต่งเพลงเพิ่มเติมสำหรับ Beauty and the Beast ฉบับละครเวที (ฉบับการ์ตูนเป็นผลงานของ Haward Asthman ทั้งหมด)



จากความเป็นมาข้างต้น ละครเพลง Beauty and the Beast จึงมีเพลงจากนักนักแต่งเนื้อสองคน ซึ่งถ้าใครสนใจลองสังเกตเนื้อหาดีๆ เพลงของนักแต่งเพลงทั้งสองท่านนี้มีลักษณะต่างกันชัดเจน เพลงของ Howard Ashman อย่าง Belle, Gaston, Be Our Guest จะเต็มไปด้วยจินตนาการ คำพูดง่ายๆแต่สละสลวยลื่นหู ที่เด็กๆฟังแล้วจะสนุกตามไปด้วยและไม่ยากต่อการทำความเข้าใจ แต่ของ Tim Rice อย่าง Home และ If I can't love her. จะดูจริงจังลุ่มลึก มีความเป็นผู้ใหญ่สูงซึ่งคงเป็นเพราะต้องเป็นเพลงที่เสริมเข้ามาในฉบับละครเวทีที่ต้องการจะเติมเต็มเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่เพลงที่เด่นที่สุดและเป็นอมตะที่สุดของละครและการ์ตูนคือ Beauty and the Beast มันบอกสิ่งที่ผ่านมาและกำลังจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของตัวละครเองทั้งสองอย่างคมคายโดยใช้คำพูดไม่กี่คำและท่วงทำนองที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งกินใจ  คนแต่งเพลงยอมรับเองว่าเป็นเพลงที่แต่งยากใช้เวลาปลุกปล้ำกับเพลงนี้นานที่สุดที่เคยแต่งมา โดยหวังว่ามันเป็น "a song that could have a life outside the movie" ในการ์ตูนฉากนี้เป็นฉากโชว์ผลงานคอมพิวเตอร์อนิเมชั่นที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมากในยุคนั้น บนเวทีละครออกมาในอีกรูปแบบหนึ่งที่โรแมนติกแต่เรียบง่าย



ความสามารถในการแสดงของนักแสดงทั้งหลายก็สมบูรณ์แบบ นางเอกเสียงดี รวมถึงตัวละครอื่นๆอย่างกัสตองที่ดูเหมือนถอดตัวละครในการ์ตูนออกมาเลย เจ้าชายอสูรแสดงความน่าสงสารและน่าเอ็นดูออกมาผ่านท่าทางภายใต้เมคอัพได้อย่างน่าทึ่ง



สำหรับโปรดักชั่นของละครนั้นอลังการมากมายตามแบบฉบับของดิสนี่ย์ แม้มันอาจจะเทียบไม่ได้กับโปรดักชั่นต้นฉบับที่ผมเคยดูเบื้องหลัง (เทียบจากเพลง Be Our Guest) แต่มันก็สมบูรณ์แบบมากๆแล้วในความคิดของผม ในการ์ตูนที่เรื่องราวมีความดราม่าสูงแต่ก็ยังมีความตลกขบขัน มีฉากแอกชั่น และความเป็น magic ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาอยู่ในละครได้อย่างสมบูรณ์จนน่าทึ่งตั้งแต่ฉากแรก (Proloque) ที่เล่าที่มาของคำสาบและเจ้าชายอสูรที่เปิดตัวได้อารมณ์เหมือนในการ์ตูนเลย ฉากหมาป่าที่จะเข้ามาทำร้ายตัวเอก็ทำได้ค่อนข้างเนียนและน่าจะเป็นต้นแบบที่พัฒนาไปเป็นสัตว์ป่านานาชนิดในละคร The Lion King แล้วก็ฉากสุดท้ายที่พระเอกกลายร่างกลับเป็นเจ้าชายรูปงานก็ทำได้ไม่มีที่ติแม้จะพอเดาได้ว่าเขาจะทำอะไรแต่สิ่งที่เห็นบนเวทีนั้นมันก้าวล้ำจินตนาการของเราเข้าไปอีก สิ่งที่ขัดความรู้สึกและไม่ปลื้มเอามากๆมีอย่างเดียวคือละครตัดฉาก The Battle ที่เหล่าคนรับใช้ในปราสาทต้องรับมือกับชาวบ้านที่บุกมาจับตัวเจ้าชายอสูร มันทำให้เรื่องราวช่วงใกล้จบมันรวบรัดตัดตอนเกินไป ไม่ได้เห็นพวกตัวโกงถูกเอาคืนอย่างสาสมเหมือนในการ์ตูน และที่เสียดายอีกอย่างคือแนวคิดของดนตรีประกอบฉากนี้คือการเอาเพลง Be Our Guest มาเป็นโครง เป็นการ "รับแขก" ในอารมณ์ที่แตกต่างกับการต้องรับนางเอกในช่วงต้นของละคร ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีมากๆในความคิดของผม



เพลง Be Our Guest ที่ผมโปรดที่สุดในเรื่อง มาจากเรื่องราวที่นางเอกหิวข้าวเพราะปฏิเสธอาหารเย็นมื้อแรกกับเจ้าชายอสูร ทำให้เหล่าคนรับใช้ในร่างของภาชนะต่างๆต้องมาต้อนรับนางเอกกันกลางดึก กลายมาเป็นฉากโชว์อลังการและเปี่ยมไปด้วยจินตนาการของเรื่อง ซึ่งจริงๆเพลงนี้มันมีดีตั้งแต่ทำนองและเนื้อร้องแล้ว ใครสนใจลองหา lyric ของเพลงนี้มาดูจะพบว่ามันมีแต่คำพูดที่เรียบง่ายแต่ลื่นไหลไพเราะเสนาะหูและมีชีวิตชีวาอย่างไม่น่าเชื่อว่านี่คือผลงานของนักแต่งเพลงที่ชีวิตเขากำลังดำเนินสู่วาระสุดท้ายของชีวิต มันคือพรสวรรค์ของนักแต่งเพลงอัจฉริยะที่ผมเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เห็นผลงานลำดับต่อๆไปของเขา ผมรู้จักเขาเมื่อเขาได้ลาโลกนี้ไปแล้ว

จากวันที่ผมโหยหาจะได้ดูละครเรื่องนี้จนถึงวันนี้ละครมีอายุครบ 20 ปีแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าวัยเด็กของเราผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่เพลงและความทรงจำจากในการ์ตูนยังสดใหม่เป็นอมตะอยู่เสมอ หากใครยังลังเลว่าจะไปดูหรือไม่ดูดี ผมเชียร์ขาดใจเลยครับ รับรองว่าดีกว่า CATS ที่หลายๆคนผิดหวังมามากมาย

หมายเหตุ....ภาพประกอบทั้งหมดผมค้นหามาจาก google นะครับ

สุดท้าย ผมขออนุญาตฝากประวัติช่วงสุดท้ายของชีวิต Howard Ashman กับความสำเร็จของการ์ตูน Beauty and the Beast ให้อ่านนะครับ

On the night of the 62nd Academy Awards, Ashman told Menken that they needed to have an important talk when they got back to New York, wherยิ้มvealed to Menken that he was HIV positive. He had been diagnosed in 1988, midway through the making of The Little Mermaid. During the making of Beauty and the Beast, the Disney animators were told to go work with Ashman at his home in Fishkill, New York, but nobody told them why they were being flown out there. A lot of the animators thought it was because he was a big shot, but then it became clear to them that he was seriously ill. He grew weaker, but he remained productive and continued to write songs. On March 10, 1991, the Disney animators had their first screening forBeauty and the Beast and it was an enormous success. Afterward, they visited Howard in the hospital. He was 80 pounds, lost all of his sight, and could barely speak. His mother showed the animators that he was wearing a Beauty and the Beast sweatshirt. The animators told him that the film was incredibly well received by the press and described to him in detail how it had gone. He nodded appreciatively to the news. As everyone said their goodbyes, producer Don Hahn leaned over to Howard and said, "Beauty and the Beast is going to be a great success. Who'd have thought it?", to which Ashman replied with "I would have." Four days later, on March 14, Ashman died following complications from AIDS at the age of 40 in New York City.[5]Beauty and the Beast is dedicated to him: "To our friend Howard, who gave a mermaid her voice and a beast his soul, we will be forever grateful. Howard Ashman 1950–1991."
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่