งานวิจัยคีนันเผย “ต้นตอหนี้ครัวเรือน” เข้าถึงแหล่งเงินทุนแต่ขาดตรรกะการใช้เงิน – ระดับการออมลดวูบ 10 ปีจาก 20% เหลือ 1.2

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เปิดเผยผลวิจัยจากโครงการ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขั้นในปัจจุบันเกิดจาก
1) ระดับความรู้ทางการเงินน้อย
2) ทัศนคติต่อการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล
3) ความไม่สมดุลของการเข้าถึงแหล่งเงินและกลไกควบคุมดูแล
โดยในกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่ม คือ นักเรียน เกษตรกร และแรงงานรายได้น้อย กลุ่มแรกน่าจะเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากไม่มีรายได้ แต่อีกสองกลุ่มยังพอแก้ปัญหาได้ และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประชาชนยังมีพฤติกรรมจับจ่ายมากกว่ารายได้ของตนเอง จะทำให้เกิดภาระหนี้สินล้นพ้นตัวของหลายๆ ครัวเรือน

ข้อแรก ประชากรที่เป็นผู้ก่อหนี้ยังขาดทักษะการคิดอย่างมีตรรกะและความรู้เรื่องคณิตศาสตร์พื้นฐาน จึงทำให้บุคคลเหล่านี้มักตกอยู่ในวงจรหนี้สินและความยากจน ส่วนทัศนคติต่อการบริหารจัดการการเงินที่ไม่ดีมักก่อให้เกิดพฤติกรรมผิดๆ เช่น การไม่ชำระหนี้อย่างหนี้เพื่อการศึกษา ส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินนั้น ปัจจุบันคนไทยยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น แต่ทางกลับกันยังไม่มีการคุ้มครองทางการเงินที่ดี” นายปิยะบุตรกล่าว

ด้านนายดาเรน บัคลีย์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขหนี้ครัวเรือนเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี มาตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่การออมต่ำลง จาก 20.2% ต่อปี ในช่วง 2545-2550 มาเป็น 4.6% ในช่วง 2551-2553 และข้อมูลล่าสุดในปี 2555 เหลือเพียง 1.2% เท่านั้น ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อระบบการเงินในประเทศต้องร่วมมือเพื่อให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างรับผิดชอบ

นายดาเรนกล่าวอีกว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการดำเนินการในหลายประเทศผ่านมูลนิธิซิตี้ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จมากมาย เช่น การมุ่งเน้นให้ความรู้ไปที่กลุ่มนักเรียน เป็นวิธีการที่ดีที่จะสร้างทักษะและพฤติกรรมที่ถูกต้อง ติดตัวไปตลอดชีวิต สำหรับประเทศไทยโครงการคนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน เป็นโครงการระดับนโยบายโครงการแรกที่จะตอบโจทย์ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

“การให้ความรู้ทางการเงิน เป็นความพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงิน ทำให้ตระหนักถึงทางเลือกทางการเงินที่ดีและไม่ดี และตัดสินใจได้ถูกต้อง ส่วนการที่ประชาชนบางส่วนมีหนี้จำนวนมากแล้ว ไม่ว่าจะมาจากความจำเป็นหรือเพื่อใช้จ่ายเกินตัวก็ตาม ถามว่าความรู้การเงินเพียงพอในการแก้ปัญหาหรือไม่ อาจจะไม่ แต่จำเป็นต้องรู้ เพื่อจะได้บริหารจัดการแก้ปัญหาได้ในอนาคต แต่การแก้ปัญหาหนี้เดิมที่มีอาจจะต้องใช้การปรับโครงสร้างหนี้ ยืดเวลาผ่อนชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยลงมา หรือล้างหนี้ไปเลย ซึ่งต้องจัดการร่วมกัน ความรู้ทางการเงินเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปัญหา” นายดาเรนกล่าว

ด้านนางสาวกนกพร นิตย์นิพฤทธิ์ ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายธุรกิจและพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า ขั้นต่อไปของโครงการในปีที่ 2-3 สถาบันจะศึกษาเจาะลึกรายกลุ่มหา “กล่องเครื่องมือ” ที่สามารถใช้แก้ปัญหาได้ โดยจะทำงานร่วมมือกับส่วนอื่นๆ ของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความรู้ทางการเงินหรือประชาชนกลุ่มต่างๆ

ภาพรวม 88% เข้าถึงแหล่งเงิน แต่ขาดการควบคุมและกำกับที่ดี
รายละเอียดของรายงานวิจัย ซึ่งเน้นการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง อธิบายถึงภาพรวมของระดับการดำเนินการในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ใช้บริการทางการเงินที่มีอยู่ของไทย 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การเข้าถึงแหล่งเงิน (Financial Inclusion) 2) การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Financial Consumer Protection) และ 3) การศึกษาด้านการเงิน (Financial Education) ว่าจากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย ประชาชนจำนวน 10,613 ครัวเรือนในปี 2556 เข้าถึง “แหล่งเงินที่เป็นทางการ” 88% มีเพียงประมาณ 4.2% ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นทางการได้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท สอดคล้องกับตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ 4.6% ในปี 2556

ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องจากประชาชนกลุ่มดังกล่าวอาจจะมีรายได้ไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงทางการเงินสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะไปหาแหล่งเงินทุนผ่านระบบสหกรณ์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กู้เงินนอกระบบ หรือหยิบยืมจากญาติพี่น้อง นอกจากนี้ ยังมีโครงการภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลืออีกมากมาย โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกร เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน เป็นต้น

“จริงๆ แล้วจากข้อมูลของเรา ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่มีปัญหาเรื่องการควบคุมกำกับดูแลมากกว่า ถ้าประชาชนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ตัวเลขของหนี้ครัวเรือนคงไม่เติบโตได้ 15% ต่อปีมานานขนาดนี้ รวมถึงขนาดที่ใหญ่ถึง 85% ของจีดีพีด้วย มันคงเป็นไปได้ยาก” นางสาวกนกพรกล่าว

ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน พบว่ายังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย และยังไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองได้เพียงพอในบางแง่มุม ตัวอย่างเช่น หน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) นอกจากทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและให้ข้อมูลด้านสิทธิและความรับผิดชอบด้านการเงินแก่ผู้บริโภคแล้ว ควรจะเพิ่มบทบาทในการสร้างกลไกช่วยจัดการความรู้แก่ผู้บริโภคด้วย เช่น การกำหนดเพดานหนี้ของครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันครัวเรือนอาจจะกู้ยืมเงินจากหลายแหล่งจนมีภาระหนี้สูงถึง 2-5 เท่าของรายได้และล้มละลายได้ในที่สุด หรืออาจจะจัดทำโครงการส่งเสริมการออม เป็นต้น

“ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่มากเท่าที่ควร ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน เราเริ่มเห็นการชำระหนี้ที่ล่าช้ามากขึ้น ทั้งในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต และหากภาระหนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย”

ขณะที่การให้การศึกษาด้านการเงิน แม้ปัจจุบันจะมีหลายโครงการพยายามอยู่ แต่ยังขาดทิศทางหรือกลยุทธ์ “ระดับชาติ” ที่ชัดเจนร่วมกันของแต่ละโครงการ ดังนั้น เพื่อสร้าง “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ขึ้นมา จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนของบทบาทและความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐ จะต้องแต่งตั้งหน่วยงานหลักมารับผิดชอบโดยตรง อาจจะตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยโครงสร้างแบบใหม่ก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเพียงหน่วยงานเดียวที่จะจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว

อนึ่ง คะแนนทักษะทางการเงินของประเทศไทย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี ร่วมกับ ธปท. สำรวจเมื่อปี 2556 ระบุว่า ประเทศไทยได้คะแนน 58.5 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ อีก 16 ประเทศที่ได้คะแนน 62.3

เจาะลึกกลุ่มเสี่ยง นักเรียน-เกษตรกร-ผู้ใช้แรงงาน
รายงานยังเจาะลึกถึงกลุ่มเสี่ยงอีก 3 กลุ่ม ได้แก่
1) นักเรียนนักศึกษา
โดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาคิดเป็นสัดส่วน 17-18% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 12 ล้านคน (มากกว่า 40% กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) โดยรวมมีคะแนนความรู้เรื่องทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาทางการเงินเนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจ นอกจากนี้ ยังถูกชักจูงจากวัฒนธรรมการบริโภคนิยมและการเลียนแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย ในบางกลุ่ม โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ถึงขั้นนำเงินกู้ยืมทางการศึกษามาใช้ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจนไม่สามารถชำระเงินกู้ยืมดังกล่าวได้ ด้านกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลนักเรียนนักศึกษา ได้ดำเนินการพัฒนาความรู้ความสามารถในการให้ความรู้ทางการเงิน แต่ยังไม่มีโครงการการให้ความรู้เรื่องทางการเงินที่ครบถ้วนสมบูรณ์แต่อย่างใด

2) เกษตรกร
กลุ่มเกษตรกรคิดเป็น 22-24% ของประชากรทั้งหมด แม้ว่าเกษตรกรจะเข้าถึงด้านการศึกษาที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังตามหลังกลุ่มประชากรที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ อยู่มาก เช่นเดียวกับการเข้าถึงบริการและข้อมูลข่าวสารทางการเงิน นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่าง อาทิ เรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นไปตามตลาดโลกและควบคุมไม่ได้ ทำให้ส่วนใหญ่จึงยากจนและมีความรู้ทางการเงินค่อนข้างต่ำ และกลายเป็นอุปสรรคในการบริหารการเงิน อีกทั้งเกษตรกรส่วนมากยังนิยมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งราคาผลผลิตค่อนข้างผันผวน จากข้อมูลมีเพียง 20% ของเกษตรกรทั่วประเทศเท่านั้นที่ปลูกพืชมากกว่าหนึ่งชนิดหรือทำการเกษตรแบบผสมผสาน

3) ผู้ใช้แรงงาน  
กลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อย (นอกภาคเกษตร) คิดเป็น 37-38% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มแรงงานที่มีรายได้น้อยในอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน และกลุ่มแรงงานอิสระที่มีรายได้น้อย โดยกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมเฉพาะด้านจะได้รับค่าตอบแทนจากการปฏิบัติงานโดยทั่วไปวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงการทำงานล่วงเวลา ซึ่งช่วยสนับสนุนระบบค่าตอบแทนแบบลอยตัว ดังนั้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาจนต้องลดหรือจำกัดการทำงานล่วงเวลาเกิดขึ้น แรงงานเหล่านี้โดยส่วนใหญ่จะไม่สามารถจัดการกับการสูญเสียรายได้ของตนเองได้ ทำให้ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการมีภาวะหนี้สิน ในทางกลับกัน กลุ่มแรงงานอิสระมักจะไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่เป็นทางการได้ เนื่องจากโดยทั่วไปจะไม่มีข้อมูลบัญชีเงินเดือนที่ต่อเนื่อง ทำให้แรงงานเหล่านี้หันไปพึ่งพาผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในกรณีที่จำเป็นต้องใช้สินเชื่อ และบ่อยครั้งก็ไม่มีความเข้าใจว่า การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบในอัตราที่สูงจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาในอนาคตอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ประชากรกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่มนี้มิได้เพียงแค่ขาดความรู้เรื่องทางการเงินเท่านั้น แต่ยังขาดทักษะความรู้เรื่องคณิตศาสตร์พื้นฐานและการคิดอย่างมีตรรกะ เพื่อเป็นการพัฒนาความสามารถด้านการบริหารจัดการทางการเงินส่วนบุคคลและสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินด้วย

ข้อเสนอแนวทางเชิงนโยบายประกอบงานวิจัย
ระยะสั้น
1) สร้างความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่าทุกภาคส่วนมีการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความรู้เรื่องทางการเงินไปในทิศทางเดียวกัน และส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วมกัน
2) จัดตั้งเครือข่ายของการเรียนรู้เรื่องความรู้ทางการเงินสำหรับประชาชนแต่ละกลุ่ม
3) ทำความเข้าใจประชาชนแต่ละกลุ่มเพื่อออกแบบแนวทางและรูปแบบการฝึกอบรมความรู้เรื่องทางการเงินที่เหมาะสม
4) ศึกษาและพัฒนาเทคนิคการให้ความรู้ทางการเงิน เครื่องมือการเรียนรู้ รูปแบบการให้ความรู้ทางการเงิน และแผนการดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมสาหรับประชาชนแต่ละกลุ่ม
5) ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความรู้เรื่องทางการเงินต่อการดำรงชีวิตประจาวัน
ระยะยาว
1) กำหนดวาระแห่งชาติและแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ รวมทั้งแผนแม่บทในการพัฒนาความรู้เรื่องทางการเงิน
2) จัดตั้งศูนย์ให้บริการความรู้เรื่องทางการเงินแบบเบ็ดเสร็จในประเทศไทย
3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักจำเป็นต้องดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติร่วมกัน
4) จัดทาโครงการ (กึ่ง) ภาคบังคับเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องทางการเงินและการออมเงิน
5) ควบคุมเพดานหนี้สินส่วนบุคคล
6) เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
7) ปรับทัศนคติต่อเงินของประชาชนใหม่
Report : http://thaipublica.org/wp-content/uploads/2015/03/1.Citi-LIFT-FL-Research-Report-THAI_Draft.pdf

http://thaipublica.org/2015/03/kenan_1/
http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=602542
http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1425373234
http://www.easybranches.co.th/politics/1823401
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่