คณะธรรมทูตอียูปกป้องมหาเถระ

กระทู้ข่าว
                                                            

ฉะกลุ่มต้านพวกสุดโต่งทำลายพระศาสนา

เครือข่ายพระธรรมทูตไทย-ชาวพุทธในยุโรป ออกแถลงการณ์ เรียกร้องนายกฯยุบคณะปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ยุติข่มขู่คุกคามมหาเถรสมาคม รวมถึงปรามกลุ่ม การเมืองที่เคลื่อนไหวโดยเอาศาสนาบังหน้า จวกแหลกเป็นพวก สุดโต่ง หลุดโลก

ขณะที่นักวิชาการด้านพุทธศาสนาก็เตรียมฟ้องกลับผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายดูหมิ่นคณะสงฆ์ อ้าง พ.ร.บ.สงฆ์ มีโทษทั้งจำคุกและปรับ ด้านโฆษก อสส.ยังไม่ฟันธงสามารถรื้อฟื้นคดีธัมมชโย ที่ถอนฟ้องเมื่อปี 2549 กลับมาพิจารณาได้อีกหรือไม่

จากกรณีพระพุทธะอิสระ ประธานสงฆ์วัดอ้อน้อย อ.สามพราน จ.นครปฐม เดินสายเอาผิดกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ที่มีมติว่าพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่ต้องอาบัติปาราชิก โดยระบุเป็นการฝ่าฝืนพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รวมถึงยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบคำสั่งของนายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุดเมื่อปี 2549 ที่ให้ถอนฟ้องคดีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเอาทรัพย์สินไปเป็นของตนโดยทุจริต ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่โรงแรมฮิลล์ไซด์ คันทรีโฮม กอล์ฟแอนด์รีสอร์ต จ.ปราจีนบุรี นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ระหว่าง การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับสื่อมวลชน ถึงเรื่องนี้ว่าต้องไปดูรายละเอียดในสำนวนคดีดังกล่าวก่อนว่า อัยการสูงสุดขณะนั้นให้ความเห็นในการถอนฟ้องไว้อย่างไร โดยหลักการของสำนักงานอัยการ สูงสุดมีกฎระเบียบบังคับว่า การสั่งคดีหรือถอนฟ้องคดีใดๆ ต้องลงลายลักษณ์อักษรไว้เป็นเหตุผลเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 2 มี.ค. ตนจะนำสำนวนดังกล่าวมาดูอีกครั้ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป

เมื่อถามว่าพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนที่มีความเห็นต่างกับนายพชร อดีตอัยการสูงสุดในการถอนฟ้องยังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่ นายโกศลวัฒน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวว่า ปัจจุบันอัยการ ท่านนั้นยังปฏิบัติหน้าที่เป็นอัยการอาวุโสอยู่ ส่วนการจะรื้อฟื้นคดีมาพิจารณาได้อีกหรือไม่นั้น ต้องดูรายละเอียดในสำนวนคดีก่อนว่า ขณะนั้นสั่งฟ้องข้อหาอะไรบ้าง และความผิดนั้นมีอายุความเท่าใด เมื่อฟ้องคดีไปแล้วถอนฟ้องจะนับอายุความเริ่มตรงไหน ต้องดูข้อกฎหมายประกอบให้ชัดเจนอีกครั้ง

ขณะที่วันเดียวกัน เครือข่ายพระธรรมทูตไทย กลุ่มชาวพุทธในยุโรปและสหราชอาณาจักร ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีไทย สั่งยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯพระพุทธศาสนา ของ สปช. และสั่งให้ยุติการข่มขู่คุกคามสถาบันพระศาสนา และ มส.โดยทันที โดยระบุว่า ขณะนี้ได้มีกลุ่มบุคคลที่ล้วนเคยเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเดิมๆ มีความคิดสุดโต่ง หลุดโลก ได้ร่วมกันวางแผนเคลื่อนไหว อย่างแยบยล ถึงขั้นหน้ามืดตามัว ร่วมกันก่อกรรมอย่างมหันต์ โดยบังอาจนำพระศาสนามาบังหน้าแบบ แอบแฝง เคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เช่น คณะกรรมการ ปฏิรูปฯพระพุทธศาสนา โดย สปช.ซึ่งมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นผู้ออกหน้า พร้อมร่วมกันวางแผนเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม กปปส. เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเดิม โดยมีผู้ที่อ้างตัวชื่อว่า หลวงปู่พระพุทธะอิสระ ซึ่งล้วนมีประวัติเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสิ้น กลุ่มดังกล่าวนี้นับวันจะมีพฤติกรรมมุทะลุ สุดโต่ง หลุดโลก เหิมเกริมยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ พระสุเทพก็นำร่องสร้างความเสื่อมเสียและลบล้างอุดมการณ์สวนโมกข์ของท่านพุทธทาสจนหมดสิ้นไปแล้ว ต่อมาบุคคลที่อ้างชื่อว่า หลวงปู่พุทธะอิสระนำกลุ่มม็อบจำนวนมากไปบุกวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นที่จำพรรษาของผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จ พระสังฆราช ก่อพฤติกรรมที่น่ารังเกียจต่อกรรมการ มส.อย่างไม่สนใจจารีตประเพณี ระบบอาวุโสภันเตใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนลูกทีมคณะก็ออกให้สัมภาษณ์รายวันว่าจะตรวจนั่นตรวจนี่ ทั้งที่รู้ว่าหน่วยงานต่างๆ เช่น มส. และมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองมีกฎหมายรองรับอยู่

พฤติกรรมดังกล่าวมานี้ นำมาซึ่งความแตกแยก เป็นบาดแผลลึกในสังคมอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งยังเป็นที่สงสัยของนักการศาสนาทั่วโลกว่า พระศาสนาเถรวาทในเมืองไทย เกิดอะไรขึ้น ทั้งที่มติสภาวิสาขบูชาโลกมอบความไว้วางใจให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกทุกปี ด้วยเหตุผลดังกล่าว 1.ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฟังพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศบ้าง และมีคำสั่งยุบ สปช. ชุดดังกล่าวโดยทันที และขอให้นายกรัฐมนตรีปรามกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวโดยเอาศาสนาบังหน้า ให้หยุดเคลื่อนไหวโดยทันที โดยเฉพาะการคุกคามข่มขู่ มส.องค์กรปกครองสูงสุดคณะสงฆ์

2.ขอเรียกร้องให้ข้าราชการที่นับถือพระพุทธศาสนา อย่าให้ความร่วมมือในการรับเรื่องไร้สาระ เพราะปรากฏข่าวพุทธะอิสระ (ผู้ต้องหาคดี) ไปยื่นเรื่องที่ใด ถึงขนาดมีรัฐมนตรีออกมารับนอบน้อม แต่เมื่ออีกฝ่ายโดยพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดี มจร.ไปยื่นบ้าง มีแต่ระดับเจ้าหน้าที่ผู้น้อยมารับเรื่องแทน เช่นนี้ความปรองดองในชาติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร 3.ขอเรียกร้องให้พระภิกษุสามเณรในประเทศ ไทยทุกรูปได้ออกมาช่วยกันปกป้องภัยที่จะเข้ามาคุกคามพระศาสนาในครั้งนี้โดยทันที เพื่อทันสถานการณ์ เพื่อพระพุทธศาสนา 4.เครือข่ายพระธรรมทูตไทยในยุโรปจะติดตามสถานการณ์ และข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด และพร้อมยกระดับการเคลื่อนไหวเข้มข้นขึ้นทุกรูปแบบทันที เช่น ร่างหนังสือ ยื่นองค์กรศาสนา วัฒนธรรม และประมุขของกลุ่ม ประเทศในอียู หากเหตุการณ์หมิ่นเหม่ที่จะเกิดภัยร้ายต่อพระพุทธศาสนา เพื่อรักษามรดกของบรรพ-บุรุษไทย โดยมีเป้าหมายจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกลุ่มปกป้องพระศาสนาในประเทศไทยทุกกลุ่ม เพราะมีเป้าหมายเพื่อรักษาพระศาสนาเช่นเดียวกัน โดยยืนยันคัดค้านกรรมการปฏิรูปฯศาสนา ชุด สปช.ให้ถึงที่สุด

ขณะที่สถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย 2 แห่ง ประกอบด้วย Government Of Uttrakhand Minority Commission และ International Buddha Education Institute แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ผ่านทางพระธรรมทูตที่ปฏิบัติศาสนกิจ ในอินเดีย-เนปาล ถึงนายกรัฐมนตรีไทย ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย

ด้านนายเสถียร วิพรมหา รักษาการนายกสมาคม นักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวว่า ทาง สนพ.กำลังเตรียมรวบรวมข้อมูลทุกชนิดของผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายดูหมิ่นคณะสงฆ์ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อแจ้งความดำเนินคดี เพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่อาจจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 44 ทวิที่ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 44 ตรี ที่ระบุว่า ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่น อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือความแตกแยก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานในวันเดียวกันว่า ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ศาลายา จ.นครปฐม นายปราโมทย์ นาครทรรพ ประธานที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส มูลนิธิ 100 ชันษา สมเด็จพระญาณสังวรานุสรณ์ ในพระสังฆ-ราชูปถัมภ์ กล่าวบรรยายเรื่องทำไมต้องปฏิรูปคณะสงฆ์ และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ภายในการจัดประชุมสัมมนาวิชาการทางพระพุทธศาสนา หัวข้อรัฐบาลควรจะส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างไรในยุค AEC โดยนายปราโมทย์กล่าวว่า อะไรที่ไม่มีปัญหามักไม่มีคนพูดถึง และเรื่องที่มีปัญหามักจะมีคนพูดถึง ดังนั้น เรื่อง พ.ร.บ.คณะสงฆ์จึงน่าจะมีปัญหาเพราะมีคนพูดถึง พ.ร.บ.คณะสงฆ์มีปัญหาในโครงสร้าง องค์ประกอบและพฤติกรรม โดยหากโครงสร้างเอาอำนาจอาณาจักรไปให้มากเกินจะเกิดปัญหา ถามว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ควรแก้ไหม ตอบได้ว่าควรแก้ แต่จะแก้อย่างไร ตนตอบไม่ได้ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือกัน


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่