วิถีของอาชีพ VI (2)

กระทู้ข่าว
ต่อจากบทความที่แล้วเรื่องวิถีของอาชีพ VI
(อ่านบทความวิถีVI ตอนแรกที่นี่ http://ppantip.com/topic/33193887 )  

   สองอย่างแรก คือวิถีมั่งคั่ง และวิถีอิสระ ส่วนต่างสำคัญคือการ “แบ่งเวลา” และ “แบ่งความสนใจ” ต่อการลงทุนในหุ้นไปทำสิ่งอื่น ๆโดยแลกกับผลตอบแทนที่ลดลง แต่แน่นอนว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จในวิถี VI ไม่ว่าจะวิถีไหนจะต้องมีองค์ประกอบเหมือนกัน คือความทุ่มเทในการอ่านข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และความเฉียบคม มีเหตุมีผลในการตัดสินใจ


       ส่วนวิถี VI ที่สาม ซึ่งผมขอเรียกว่า “วิถียั่งยืน” ซึ่งวิถีนี้มุ่งเน้นเรื่องการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวเป็นหลัก ผมสังเกตว่ามหาเศรษฐีมักจะอยู่ในวิถีนี้ คือจะไม่ถือหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งจำนวนมาก ๆ หรือมี Wealth อยู่แต่ในหุ้น 100% พวกเขาจะสร้างความสมดุลด้วยการกระจายพอร์ตโฟลิโอ แม้ว่าเศรษฐีจำนวนมากจะร่ำรวยจากหุ้น แต่สุดท้ายก็มักผ่องถ่ายออกไปสินทรัพย์อื่น ตัวอย่าง Family Business ระดับโลกของตระกูล Toyoda เจ้าของบริษัท Toyota ก็มีหุ้นที่ตระกูลถืออยู่เพียง 2% เท่านั้น พวกเขาแบ่งเอาเงินลงทุนจาก Toyota ไปลงทุนในทรัพย์สินอื่น ๆ และสาเหตุของการกระจายพอร์ตโฟลิโอ ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเรื่องผลตอบแทนแต่เป็นเรื่อง “ความยั่งยืน” รวมไปถึงการลด “ความเสี่ยง” ที่ไม่จำเป็นออกไป

            เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าการลงทุนในหุ้น 100% เป็นสภาวะที่มีความเสี่ยงแฝงอยู่ไม่น้อย และต้องพึ่งพาความสามารถในการลงทุนเฉพาะบุคคลอีกด้วย เพราะส่วนสำคัญของการลงทุนในหุ้นคือการ “ติดตามดูแล” พอร์ต การออมหุ้นแบบ DCA โดยไม่มีการทบทวนเลย อาจจะเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จริงในระยะยาว แม้ว่าจะเลือกหุ้นที่แข็งแรงมาก ๆ ก็ตาม เพราะหุ้นคือธุรกิจที่มีวงจรชีวิต มีเกิดและมีตายไป วิถียั่งยืนจึงเป็น “ระบบ” การวางรากฐานผู้สืบทอด หรือเพื่อเตรียมตัวเกษียณอายุ เป็นวิถีลงทุนเพื่อรักษา “กำลังซื้อ” ของเงินตัวเองไว้ อันที่จริงการลงทุนใน “สุขภาพตัวเอง” ก็อยู่ในวิถียั่งยืนเช่นเดียวกัน เพื่อมุ่งเน้นหากระแสเงินสดที่เหมาะสม โดยไม่คาดหวังการเติบโตเป็นปัจจัยต้น ๆ

            วิถีนี้จะกระจายเงินออกจากหุ้น ไปลงทุนในสิ่งอื่น ๆ เช่น บ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ของสะสม รูปวาด ทรัพย์สินเหล่านี้อาจจะสร้างผลตอบแทนได้ไม่เท่าหุ้นที่มีสถิติพิสูจน์แล้วว่าได้ผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ยได้ดีที่สุด แต่สินทรัพย์บางอย่าง ก็หาซื้อไม่ได้ถ้าเวลาผ่านไป เช่นที่ดินใจกลางเมือง อย่างที่ดินกลางกรุงลอนดอนก็เป็นของบารอนหรือมหาเศรษฐีในอดีต ใครจะมาซื้อใหม่ ก็สามารถได้เพียง “เช่า” หรือ “เซ้ง” ต่อเท่านั้น รวมไปถึงสินทรัพย์เหล่านี้ ก็มีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นมาก ยกตัวอย่างราคาที่ดินดี ๆ ในประเทศไทย อาจจะมีแค่ไม่กี่ปีที่มีราคาลดลงมากกว่า 5-10% รวมไปถึงความสุขทางใจ ซึ่งอาจจะมีมูลค่ามากกว่าตัวเงิน และแน่นอนว่าการลงทุนทั้งหมด ต้องอยู่บนพื้นฐานของ VI คือต้องซื้อในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าเสมอ

           วิถี VI ที่สี่ คือ วิถีคุณค่า นักลงทุนกลุ่มนี้จะเอาเวลามาสร้างคุณค่าอื่น ๆ “คืนกลับ” สู่สังคม ไม่ว่าจะไปทำงานการกุศลอย่างปีเตอร์ ลินซ์ หรือบริจาคเงินจำนวนมากอย่างบัฟเฟตต์ หรือใช้เวลาในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นจนเกิดหนังสือลงทุนคลาสสิกหลาย ๆ เล่ม แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทำไปเพื่อความสุขในด้านอื่น ๆ ซะมากกว่า “ตัวเงิน”

            ผมติดตามนักลงทุน VI ไทยที่ประสบความสำเร็จหลายท่าน มีบทบาทในการสร้างวิถีคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะนำผลตอบแทนจากการลงทุนไปให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า ให้ทุนการศึกษา บริจาคให้โรงพยาบาล หรือช่วยเหลืองานการกุศล หรือแม้แต่ทำงานที่คุณคิดว่ามันเป็นประโยชน์ต่อสังคม และนี่เป็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่พยายามสร้างวิถีคุณค่าคืนแก่สังคมเช่นเดียวกัน

            อันที่จริงการดูแลสังคมก็ทำให้สังคมดูแลเราในบั้นปลาย ผมเดินทางไปประเทศหลายประเทศที่มีช่องว่างทางสังคมสูง ๆ คฤหาสน์หลังโต แต่มีรั้วสูง มีลวดไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งไม่น่าอยู่เลยแม้ว่าคุณจะมีความมั่งคั่งแค่ไหน กลับกันสังคมที่มีความมั่งคั่งกระจายตัวมาก ๆ อย่างสแกนดิเนเวีย บ้านหลังเท่า ๆ กัน แต่อบอุ่น ปลอดภัย น่าอยู่กว่ากันมาก วิถีคุณค่าอาจจะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ไม่ต้องรอให้เราสำเร็จใหญ่โตก่อน เพราะจุดเล็ก ๆ มันสร้างคุณค่า “ทบต้น” ได้เหมือนผลตอบแทนจากการลงทุนเช่นเดียวกัน

            ข้อสรุปของผมคือ วิถี VI ในยุคนี้ ผมคิดว่าเป็นการหาจุดดีสมดุลที่สุดระหว่าง “ผลตอบแทน” “อิสรภาพ” “ความยั่งยืน” และ “คุณค่า” ทั้งสี่วิถีไม่ควรวัดกันที่ “ขนาดพอร์ต” เพราะคนที่พอร์ตเล็ก หรือพอร์ตใหญ่ก็สามารถมีวิถีทางเป็นของตัวเองได้เหมือนกัน แต่อาจจะเป็นเพราะสังคมให้ความสำคัญกับขนาดพอร์ตจึงทำให้วิถีมั่งคั่งเป็น” กระแสหลัก” ในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่า “ความรวย” เป็น นามธรรมที่จับต้องยาก เป็นนิยามแห่งการเปรียบเทียบโดยไม่มีความหมายในตัวเอง คุณรวยเสมอถ้าเปรียบเทียบกับคนที่จนกว่า และคุณจนเสมอเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่รวยกว่า นักลงทุน VI ที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะด้านการลงทุนหรือการใช้ชีวิตควรมีความคิดเป็นอิสระจากสังคม เพราะเส้นทางวิชาชีพ VI เป็นเส้นทางหนึ่งที่คุณเลือกเดินทางเองได้ ตามวิถีชีวิตที่คุณอยากได้ สังคมที่คุณอยากอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องเอากระแส หรือความนิยมในยุคใดยุคหนึ่งมาเป็นตัวกำหนดเส้นทางวิถีชีวิต VI ของคุณครับ

บทความโดย  คุณวีรพงษ์ ธัม

ที่มา http://www.thaistockvi.com/2015/02/vi-2.html

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่