“ยิ่งขยับตัวมาก ก็ยิ่งเจ็บตัวมาก?”

... เป็นความจริงที่ว่าการทำอะไรบ่อยครั้งไม่สำคัญเท่าการทำบางอย่างเพียงไม่กี่ครั้ง แล้วสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างสุดๆ ...




วันหนึ่งผมหยิบหนังสือเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นมาอ่านพลางจิบกาแฟแก้วโปรดตามปกติ... ผู้เขียนได้แนวคิดการลงทุนมาจากมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการลงทุนในตลาดหุ้น “วอเรนต์ บัฟเฟตต์” และนำมาเขียนให้นักอ่านอย่างผมได้อ่าน ได้ศึกษา... โดยในหนังสือเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ “การตัดสินใจ” ในการซื้อหุ้นซักตัวของวอเรนต์ฯ ที่จะตัดสินใจเพียงปีละไม่กี่ครั้ง และการซื้อหุ้นนั้นจะซื้อแบบที่เรียกว่า “ซื้อทั้งบริษัท”

ผลของการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยติดอันดับสองของโลกอย่างวอเรนต์ อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จ? เพียงการตัดสินใจแค่ไม่กี่ครั้งต่อปี (ว่าที่จริงบางปีตัดสินใจเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น!!) สามารถทำให้เกิดอภิมหาเศรษฐีได้เชียวหรือ? ส่วนตัวผมเองไม่ได้เก่งกาจขนาดตัดสินใจไม่ถึง 10 ครั้งต่อปีในการซื้อ หรือขายหุ้น แล้วประสบความสำเร็จ จากสถิติที่ผมจดเอาไว้ส่วนตัวผมพบว่า... ผมผ่านการตัดสินใจหลายสิบครั้งใน 1 ปี คือ ซื้อๆ ขายๆ ค่อนข้างจะบ่อยครั้ง และผลลัพธ์ก็ไม่เลว แต่ถ้าทำจัดเจนขนาดวอเรนต์ คือมีความสามารถในการตัดสินใจซื้อ หรือขายหุ้นได้ต่ำกว่า 10 ครั้งต่อปี ผลลัพธ์การลงทุนของผมอาจจะดีขึ้นกว่าเดิมก็เป็นไปได้?

“ทำน้อยแต่ได้มาก” เป็นแนวคิดที่เป็นจริงเสมอสำหรับคนที่ประสบความสำเร็จ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหลายท่านได้กล่าวไว้ว่า... “จงใส่ใจกับสิ่งที่สำคัญสุดๆ ในชีวิตเพียงแค่ 1% แต่เป็น 1% ที่จะทำให้ชีวิตของคุณเปลี่ยนแปลง!” ผมเข้าใจว่าแนวคิดนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะปรับมาใช้กับการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะการตัดสินใจบ่อยครั้งจนเกินไปจะไปเพิ่มความผิดพลาดในเส้นทางการลงทุนหุ้น แถมการตัดสินใจแต่ละครั้งของนักลงทุนยังมีต้นทุนก็คือ ค่าคอมมิชชั่น ที่เราต้องจ่ายให้กับโบรกเกอร์ หรือนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ยิ่งเราตัดสินใจซื้อขายบ่อยแค่ไหน โบรกเกอร์ก็ยิ่งชอบ เพราะเราต้องเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อๆ ขายๆ นั่นเอง

โดยประสบการณ์ส่วนตัวของผมนั้น ปีไหนที่ผมตัดสินใจซื้อขายบ่อยครั้งผมพบว่ามันทำให้ผลตอบแทนของผมลดลง ราวกับว่าผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นแปรผกผันกับจำนวนครั้งในการตัดสินใจ กล่าวคือ ยิ่งตัดสินใจบ่อยครั้งยิ่งทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นต่ำลง ในทางกลับกันการตัดสินใจน้อยครั้งกลับทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงขึ้น แต่การไม่ตัดสินใจอะไรเลยก็อาจไม่ได้สร้างผลลัพธ์อะไรเลยเช่นกันครับ

ถ้าคุณอยากเปลี่ยนชีวิตด้วยหุ้น จงซื้อขายให้น้อยลง แต่แม่นยำมากขึ้น! การที่นักลงทุนซื้อๆ ขายๆ บ่อยครั้งนั้นไม่ได้ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับเราเสียเท่าไร แต่กลับไปช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และการซื้อๆ ขายๆ บ่อยครั้งนั้นไม่สามารถทำให้คุณเปลี่ยนชีวิตด้วยการลงทุนในหุ้นได้! หลายคนมีจุดมุ่งหมายในการลงทุนหุ้นที่แตกต่างกัน บางคนต้องการแค่เงินเล็กๆ น้อยๆ เป็นค่าขนม ค่ากับข้าว แต่สำหรับบางคนที่เอาจริงเอาจังกับการลงทุนนั้น คงไม่ได้หวังแค่ “ค่ากับข้าว” แต่ต้องการให้ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นสามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้โดยไม่ต้องทำงาน หรือที่หลายคนนิยมเรียกมันว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ผมขอยืนยันด้วยตนเองว่า... อิสรภาพทางการเงินสามารถทำได้จริงด้วยการลงทุนในหุ้น!

ต้องมีพอร์ตหุ้นขนาดเท่าไรจึงจะเรียกว่ามีเงินใช้โดยไม่ต้องทำงาน... ผมมีตัวเลขคร่าวๆ ว่าการที่พนักงานกินเงินเดือนอยากออกจากการประจำ แล้วมีเงินใช้โดยไม่ต้องทำงานก็ได้นั้น ควรมีพอร์ตหุ้นที่ใหญ่กว่าเงินประจำราว 200-300 เท่า ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีเงินเดือนประจำอยู่ราว 4 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ 4.8 แสนบาทต่อปี เราควรมีขนาดของพอร์ตหุ้นอยู่ราว 8-12 ล้านบาท ด้วยสมมติฐานของผลตอบแทนราวๆ 5% ต่อปี เงินปันผลที่เราจะได้รับจากพอร์ตการลงทุนนี้จะอยู่ระหว่าง 4-6 แสนบาทต่อปี ซึ่งเพียงพอที่เราจะได้รับเงินเดือนเท่าเดิมโดยเราไม่ต้องทำงานอีกต่อไปครับ

ที่มา [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ปล. แต่ละแนวทางก็มีแนวคิดไม่เหมือนกัน

ไม่ว่าวิธีไหนถ้าทำให้เราถึงจุดหมายเหมือนกัน ก็ถูกทุกวิธีครับ

เม่ารดน้ำ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่