เจอบทความน่าสนใจ เลยเอามาฝากเพื่อนๆ กันครับ
http://www.posttoday.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9/346826/%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B9%8A%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B9%8C-%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้"บิ๊กไบค์"....ขี่ไม่เป็น = ตายสถานเดียว
โดย....อินทรชัย พาณิชกุล
เสียงท่อไอเสียดังกระหึ่ม รถมอเตอร์ไซค์คันโตพุ่งมาด้วยความเร็วสูงทำเอาผู้ขับขี่รถคันอื่นบนท้องถนนต่างยกมือขึ้นปาดเหงื่อด้วยความกังวล
ไม่ก็บีบแตรตะโกนสาปส่งให้ไปลงนรกไวๆ
ยากที่จะปฏิเสธว่า นี่คือทัศนคติของคนจำนวนหนึ่งที่มีต่อรถบิ๊กไบค์ในขณะนี้
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า 39 % ของอุบัติเหตุบนท้องถนนมาจากรถจักรยานยนต์ แม้ยังไม่มีการจำแนก
ประเภทรถอย่างชัดเจน ทว่าขับขี่รถที่มีสมรรถนะความเร็วสูง ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นยามเกิดการพลิกคว่ำ เฉี่ยวชน หรือประสานงากันขึ้น
ไม่น่าเชื่อว่า ปัญหาเกิดขึ้นจาก "ขี่ไม่เป็น" ล้วนๆ....
เมา ซ่า บ้าพลัง ... มูลเหตุของความตาย
ในวันที่กระแสนิยมรถบิ๊กไบค์แผ่ขยายไปทั่ว ตลาดซื้อขายเบ่งบานสุดขีด วัยรุ่น คนหนุ่มสาว จนถึงรุ่นใหญ่พากันถอยบิ๊กไบค์มาครอบครอง
เนื่องจากรูปโฉมสุดเท่และเครื่องยนต์แรงสะใจ หารู้ไม่ว่าคนจำนวนไม่น้อยกลับไม่มีทักษะการขับขี่ที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายบนท้องถนน
"กลุ่มนักขี่หน้าใหม่ที่เข้ามาคือ พวกที่ขับรถยนต์อยู่แล้วหรือเคยขี่รถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กมาก่อน แต่มีกำลังซื้อ พอมาเห็นคนอื่นขี่บิ๊กไบค์แล้วดูดีดูเท่
บวกกับคิดว่าตัวเองขับรถยนต์ได้ก็น่าขี่มอเตอร์ไซค์ได้ เมื่อเจอรถคันใหญ่กว่า ความเร็วสูงกว่า มันก็เกิดอันตรายขึ้น เพราะคิดว่าตัวเอง 'ขี่ได้' ซึ่งคนละเรื่องกับ 'ขี่เป็น'
อุบัติเหตุทุกวันนี้มาจากความเข้าใจของชาวบ้านที่ยังมองว่ารถใหญ่เหมือนรถเล็ก เมื่อก่อนถ้าเป็นรถเล็ก เห็นไฟจากข้างหลังปุ๊บ เขาเลี้ยวได้เลย เพราะนานกว่ารถจะมาถึง
เดี๋ยวนี้สมรรถนะรถดีขึ้น ความเร็วสูงขึ้นเป็นสามเท่า คนขับรถยนต์ที่ไม่รู้จักบิ๊กไบค์ พอเห็นไฟปุ๊บ กลายเป็นว่าไม่กี่วินาทีรถก็มาถึงแล้ว ตูม!"
น้ำเสียงดุดันของ ชาติชาย แซ่ลิ้ม หรือ อาจารย์โฮ้ อดีตนักแข่งชื่อดังและผู้ก่อตั่ง Ho Racing School โรงเรียนสอนทักษะการขับรถมอเตอร์ไซค์
เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนยันแข่งขันระดับอาชีพ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นกูรูคนหนึ่งของวงการบิ๊กไบค์
ชาติชายบอกว่า นิยามคำว่าบิ๊กไบค์ในระดับสากลต้องเป็นรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ 650 ซีซีขึ้นไป ทว่าบ้านเมืองไทยในปัจจุบัน รถที่มีขนาดเครื่องยนต์แค่ 200 ซีซี
แต่รูปโฉมใหญ่โตต่างถูกเหมารวมว่าเป็นบิ๊กไบค์ ทุกครั้งพอเกิดอุบัติเหตุขึ้น คนเลยพิพากษาด้วยประโยคอันเจ็บแสบว่า "ไอ้พวกบิ๊กไบค์อีกแล้ว"
"สมัยก่อน คนขี่บิ๊กไบค์ต้องมีกำลังทรัพย์สูง เพราะเข้าถึงยาก ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและซื้อเงินสดเท่านั้น เดี๋ยวนี้มีเงินแค่ 3,000 5,000 10,000 นึง ก็ขี่ได้แล้ว
แต่ละค่ายรถอัดโปรโมชั่นแข่งกันดุเดือด ผ่อนยาวๆไปเลย 40-60 งวด บางคนยังผ่อนไม่ทันหมด ตายก่อน
เด็กบางคนอายุไม่ถึง 18 ความคิดความอ่าน วุฒิภาวะการตัดสินใจไม่มี คิดแต่จะเร็วอย่างเดียว พ่อแม่มีตังค์ก็ส่งเสริม ที่ไหนได้ส่งเสริมลูกไปตาย
อย่างเคสนึงแม่ซื้อรถฮายาบูสะขนาด 1300 ซีซีให้ลูกอายุ 16 ยังไม่ทันจ่ายเงิน ลูกซัดไปชนท้ายรถเก๋งตายคาสี่แยก
พวกสร้างปัญหามีกลุ่มอยากแรงกับอยากหล่อ ชอบโชว์ออฟกับชอบความเร็ว เวลาเจอถนนโล่งๆขับช้าๆเรื่อยๆ แต่พอเจอรถติดกลับขับเร็ว บางคนออกทริปต่างจังหวัด ซัดอย่างเดียว
หรือพวกคะนอง ได้รถมาใหม่ๆแต่ไม่รู้จักรถ กะความเร็วไม่ถูก เบรคไม่เป็น ไปซัดบนถนนใหญ่ก็คว่ำตาย อีกกลุ่มที่เจอบ่อยคือพวกคนละสายพาน คนละพรรคพวก ค่ายยุโรปกับค่ายญี่ปุ่น
แอ็คอาร์ท เจอทีไรซัดกันแหลก น่าสงสาร มีทุกอย่าง เงิน งาน วัยวุฒิ คุณวุฒิ แต่ต้องมาตายข้างถนน" เขาส่ายหัว
ข่าวรถบิ๊กไบค์เฉี่ยวชน พลิกคว่ำ แหกโค้งจนบาดเจ็บ พิการ ไม่ก็ตายอย่างน่าสยดสยอง เล่นเอาเหล่านักขี่หน้าเก่าหน้าใหม่พากันหวาดผวาไปตามๆกัน
"เวลาสอนผมจะบอกเลยว่า 3 อย่างที่ห้ามขี่มอเตอร์ไซค์เด็ดขาดเลยคือทะเลาะกับแฟน ตกงาน กินเหล้า เพราะทุกอย่างมันมาลงที่มือหมด เซฟตี้ก็สำคัญ สมัยก่อนใครใส่ชุดเรซซิ่งสูทครบชุด
คนด่าไอ้บ้า ร้อนจะตายใส่ทำไม บางคนเห็นเพื่อนไม่ใส่ก็ไม่ใส่ตาม พอล้มมา เนื้อหายไปเป็นแถบเห็นกระดูกขาวโพลน แต่เดี๋ยวนี้ดีขึ้น คนเข็ดขยาด กลัวตาย คิดได้ว่าทำไมต้องเอาชีวิตมาทิ้ง
กับบิ๊กไบค์ด้วย ปัจจุบัน 10 คนต้องมีสัก 3 คนใส่อุปกรณ์เซฟตี้ครบ โดยเฉพาะออกต่างจังหวัดจำเป็นมากๆ ป้องกันการบาดเจ็บได้เกือบ 100 %"
เรียนให้ดี ขี่ให้เป็น
จุดมุ่งหมายหลักของบรรดาสิงห์นักบิดที่เข้ากลับมาเรียนขี่บิ๊กไบค์อย่างจริงจังคือ ความปลอดภัย
ในฐานะที่ทำธุรกิจนำเข้ารถบิ๊กไบค์ยี่ห้อไทรอัมพ์ ดอม เหตระกูล ยืนยันว่า เป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องป้องกันอุบัติเหตุให้น้อยลง คนที่เดินมาซื้อรถไม่ว่าจะเป็นลูกใคร พ่อใคร แฟนใคร
ก็ต้องให้ความปลอดภัยด้วยการสร้างทักษะการขับขี่ให้ถูกต้อง
"ปัจจุบันคนขี่บิ๊กไบค์ส่วนใหญ่มีความเข้าใจที่ดีในการขี่ กลุ่มต่างๆอยากให้เกิดความสนุกสนาน ไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุ ก็สอนคนใหม่ที่เข้ากลุ่มให้เรียนรู้การขี่ที่ถูกต้อง หรือไม่ก็แนะนำให้
ไปเรียนขี่บิ๊กไบค์ที่ศูนย์ฝึกเลย ตัวผมเองเพิ่งมารู้หลังจากได้เรียนด้วยซ้ำว่าที่ผ่านมา 80 % เราขี่แบบผิดๆมาตลอด เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่คิดว่าตัวเองขี่เป็นแต่สุดท้ายก็พบว่าเข้าใจผิด
การเรียนขี่มอเตอร์ไซค์มันเป็นเรื่องของเทคนิค แต่ที่ผ่านมาเราขี่ด้วยความรู้สึก เอาประสบการณ์ เอาความเคยชินเป็นที่ตั้ง"
ศุภฤกษ์ คูณเสวก นักบิดหนุ่มรายหนึ่ง เผยว่า หลังซื้อรถบิ๊กไบค์ไม่นาน เขาตัดสินใจควักเงินซื้อหมวกกันน็อก กางเกง การ์ดป้องกัน ถุงมือ รองเท้าด้วยงบสูงถึง 4 หมื่นบาท โดยให้เหตุผลว่า
เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ดีกว่ามานั่งเสียใจเวลาเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่ดีพอ
"ปัจจุบันมีหลายแห่งเปิดอบรมทักษะการขับขี่เบื้องต้น เช่น Honda ขับขี่ปลอดภัย สอน 4 ครั้งพร้อมพาไปสอบใบขับขี่ เหมาะกับผู้ที่ขี่ไม่เป็นเลยและยังไม่มีใบขับขี่ เพราะเขาสอนตั้งแต่
รถแบบออโต้เมติก รถแม่บ้าน รถแบบมีคลัช จนถึงรถบิ๊กไบค์ ค่ายรถยุโรปอย่างดูคาติ ก็มีสอนถึง 4 คอร์ส Beginner , Basic , Intermediate , Advance ตั้งแต่จูงรถเพื่อเข้าใจสรีระรถ
อธิบายเรื่องระบบเกียร์ วิ่งทางตรง ทางโค้ง หรือจะเรียนตัวต่อตัวกับครูผู้เชี่ยวชาญที่สอนเทคนิคขั้นสูง เช่น Ho Racing School สอนโดยอ.โฮ้ อดีตนักแข่งมืออาชีพ ไม่ต้องเตรียมรถ
เตรียมชุดไปเอง มีให้หมด จะสอนตั้งแต่ท่าทางการขับขี่ จับแฮนด์ คันเร่ง ใช้เกียร์ ใช้เบรค ตำแหน่งวางเท้า การขับทางตรง เข้าโค้ง ให้คำแนะนำได้ทุกเรื่องตั้งแต่ขี่บนท้องถนนยันออกทริปต่างจังหวัด"
กลับมาที่ โฮ้ เรซซิ่ง ผู้เปิดโรงเรียนสอนมานานกว่า 28 ปี บอกว่า ทางที่ดีควรเรียนทักษะการขี่บิ๊กไบค์ให้เป็นจนชำนาญและมั่นใจก่อน แล้วค่อยซื้อรถออกสู่ถนนจริง
"หลายคนดูถูกว่าเรียนไปทำไม เรียนเพื่ออะไร ไม่เห็นต้องเรียน ขี่ได้อยู่แล้ว แต่พอเริ่มมีคนเจ็บคนตาย ย้อนกลับมามองตัวเองอีกครั้ง ตอนนี้นักขี่หน้าใหม่มาเรียนกันทั้งนั้น
นักขี่รุ่นเก่าก็เริ่มทยอยกลับมาเรียน ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างคนขี่มานาน 5 ปีแต่ไม่เคยเรียนกับอีกคนที่ขี่ไม่กี่วันแต่ได้เรียน เวลาออกทริปด้วยกันกลายเป็นคนละเรื่อง
พอเข้าโค้งปรากฎว่าคนมาเรียนขี่หายไปแล้ว ส่วนคนขี่มานานกว่ายังค่อยๆเบรคค่อยๆเข้าโค้งอยู่เลย ทั้งช้าทั้งอันตรายด้วย
โดยเฉพาะพวกรุ่นใหญ่ขี่มา 20-30 ปี พวกนี้หัวแข็ง อีโก้เยอะ แต่พอเห็นเด็กรุ่นใหม่ที่มาเรียนพัฒนาไปไกลกว่าตัวเอง ก็มาเรียนบ้าง เดี๋ยวนี้บางกลุ่มถึงขั้นใครไม่เรียน ขี่ไม่เป็น
แถมยังห้าว ซ่า บอกไม่ฟัง เขาไม่ให้เข้ากลุ่มเลยนะ ถือว่าทำให้เพื่อนตกอยู่ในอันตราย ทัศนคติคนขี่บิ๊กไบค์มันเปลี่ยนไปแล้วครับ"
จัดระเบียบบิ๊กไบค์
คำถามดังๆจากหลายฝ่ายมีอยู่ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการจัดระเบียบรถบิ๊กไบค์อย่างจริงจังเสียที
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ยืนยันว่า ปัญหาของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้
เกิดจากการที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ได้รับการอบรมให้ความรู้ในการขับขี่อย่างถูกต้องเหมาะสมที่เพียงพอต่อการไปขับขี่จริงบนถนน
การอบรมสำหรับประเทศไทยสำหรับผู้ที่ต้องการมีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์นั้นมีเพียง 4 ชั่วโมง ซึ่งเพิ่งได้รับการปรับปรุงเพิ่มจากเดิมเพียงแค่ 1 ชั่วโมง เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
แตกต่างกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการเรียนรู้การขับขี่รถจักรยานยยนต์ ก่อนการสอบ ทั้งการอบรมภาคทฤษฎี 26 ชั่วโมง และ การอบรมทักษะการขับขี่รถ แยกตามประเภทของรถออกเป็น
สำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 125 ซีซี ต้องฝึกขับขี่ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง สำหรับรถขนาด 125 - 400 ซีซี ต้องผ่านการอบรมทักษะการขับขี่ไม่น้อยกว่า 19 ชั่วโมง
และสำหรับรถขนาด 400 ซีซี ขึ้นไปต้องผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง จึงจะได้รับอนุญาตให้ออกมาขับขี่รถได้อย่างปลอดภัย"
นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนนรายนี้ เสนอว่า กรมการขนส่งทางบกควรปรับปรุงเรื่องการออกใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ ให้สอดคล้องกับสมรรถนะที่พึงมีของผู้ขับขี่
เพื่อป้องกันผลกระทบและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยการแบ่งประเภทของใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ และกำหนดให้ผู้ที่จะขับขี่ต้องมีการเข้ารับการอบรมการขับขี่ให้สอดคล้องกับประเทศ
ที่มีความปลอดภัยสูงอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น
"ให้แยกใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ ออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับ A สำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กไม่เกิน 125 ซีซี ระดับ A1 รถจักรยานยนต์ขนาดกลางไม่เกิน 400 ซีซี
และรถขนาดใหญ่ 400 ซีซีขึ้นไป โดยในระดับ A ควรมีการเพิ่มชั่วโมงอบรมทักษะการขับขี่ไม่น้อยกว่า 19 ชั่วโมง และมีการสอบ และในการเพิ่มระดับใบอนุญาต อาจเพิ่มเฉพาะขั้นตอนการอบรม
แต่ไม่ต้องสอบก็ได้"
การจัดระเบียบบิ๊กไบค์ สามารถทำได้แต่ต้องจริงจัง มิใช่เป็นเพียงไฟไหม้ฟางวูบเดียวก็หายไป น่าจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุรุนแรงให้เบาบางลง และเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นได้
เครดิต: posttoday ตามลิ้งข้างบนครับ
"บิ๊กไบค์"....ขี่ไม่เป็น = ตายสถานเดียว
http://www.posttoday.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9/346826/%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B9%8A%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B9%8C-%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้