ศึกTvดิจิตอล ประจำต้นปี 2558 ช่อง3 ร่วงลงมาที่5 สะท้อนอะไร

กระทู้สนทนา
เม่าปัดรังควาน




  

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRReU16TTRPREUyTWc9PQ==&subcatid=
"เวิร์คพอยท์-ช่อง8" โชว์เรตติ้งพุ่งขยับค่าโฆษณา

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ทีวีดิจิทัลแห่ขึ้นค่าโฆษณาเฉลี่ย 40% ฟาก 3-5-7-9 รอประเมินสถานการณ์ก่อนขยับขึ้นค่าโฆษณา ในช่วงไตรมาส 2 ด้านผลสำรวจรับชมทีวีดิจิทัลผู้ชมไทยครั้งที่ 3 พบคนดูทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น "เวิร์คพอยท์-ช่องวัน-ไทยรัฐทีวี" แรงดีไม่มีตก สมาคมมีเดียเอเยนซี่ฯเตรียมเรียกบริษัทวิจัยประมูลจัดเรตติ้งใหม่กลางปีนี้

ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับสำหรับเรตติ้งของทีวีดิจิทัล หลังจากทยอยปล่อยรายการแม่เหล็กออกมาเรียกความสนใจของผู้ชมตั้งแต่กลางปีก่อน บางสถานีมีเรตติ้งขยับขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่บางสถานีก็ต้องเร่งเครื่องเพื่อสร้างเรตติ้งให้เร็วที่สุด ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น กับปัจจัยลบที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

นายรัฐกร สืบสุข เทรดดิ้งพาร์ตเนอร์ บริษัท กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะกรรมการสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) เปิดเผยว่า หลังจากที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้เริ่มออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2557 และมีการขายโฆษณาในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีเรตติ้งและฐานจำนวนผู้ชม อย่างไรก็ตามล่าสุดช่องทีวีดิจิทัลบางช่องได้เริ่มปรับขึ้นราคาโฆษณาเฉลี่ย 40% จากปีก่อน ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีรายเดิม (ช่อง 3-5-7-9) ยังไม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาโฆษณา เนื่องจากอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ แต่อาจมีการปรับขึ้นค่าโฆษณาเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เช่นเดียวกับทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่ยังไม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นค่าโฆษณา

"ตอนนี้ในแง่ของจำนวนผู้ชมของช่องทีวีแอนะล็อกมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ปีก่อนลดลงประมาณ 10% จากเดิม และปีนี้คาดจะลดลงอีก 4-5% ขณะที่จำนวนผู้ชมทีวีดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง"

สอดรับกับ นายปัญญา นิรันดร์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คพอยท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง "เวิร์คพอยท์" กล่าวว่า ที่ผ่านมาช่องเวิร์คพอยท์ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีเรตติ้งเป็นอันดับ 3 ของช่องทีวีดิจิทัล รองจากช่อง 7 และช่อง 3 และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นค่าโฆษณาทุกรายการอีกเท่าตัว หรือเฉลี่ยนาทีละ 60,000-200,000 บาท และแบ่งการขายเป็น 2 รูปแบบคือ แพ็กเกจ และการขายตามการขึ้นลงของเรตติ้ง ปัจจุบันมีรายได้จากการขายรูปแบบแพ็กเกจประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้ 2,000 ล้านบาท

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากช่อง 8 ออกอากาศมาตั้งแต่กลางปีก่อนจนถึงปัจจุบัน มีเรตติ้งอยู่ที่อันดับ 5 ตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะขึ้นเป็นอันดับ 3 รองจากช่อง 7 และช่อง 3 พร้อมได้ปรับขึ้นค่าโฆษณาอีก 4-5 เท่าตัวจากปีก่อน หรือเฉลี่ยนาทีละ 70,000-200,000 บาท เช่นเดียวกับช่องโมโน 29 ที่มีแผนจะปรับขึ้นราคาโฆษณา เป็นนาทีละ 25,000 บาท จาก 5,000 บาทเมื่อปีก่อน

รายงานข่าวจากบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า เรตติ้งทีวีแต่ละช่องระหว่างวันที่ 1-25 มกราคม 2558 ในกลุ่มเป้าหมายอายุ 15 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเรตติ้งช่องเก่า ได้แก่ ช่อง 7 มีเรตติ้ง 12.4 ช่อง 3 เรตติ้ง 7.5 ช่อง 9 เรตติ้ง 3.5 ช่อง 5 เรตติ้ง 3.4 ซึ่งเป็นช่วงที่ทีวีดิจิทัลออกอากาศไปแล้ว มีแนวโน้มเรตติ้งลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่ทีวีดิจิทัลยังไม่ออกอากาศ โดยขณะนั้นช่อง 7 มีเรตติ้ง 18.9 ช่อง 3 เรตติ้ง 13.7 ช่อง 5 เรตติ้ง 3.8 และช่อง 9 เรตติ้ง 3.6

สำหรับช่องทีวีดิจิทัล 10 อันดับแรก ได้แก่ ช่องเวิร์คพอยท์ มีเรตติ้ง 6.2 ช่อง 8 เรตติ้ง 2.6 ช่องวัน เรตติ้ง 1.7 โมโน 29 เรตติ้ง 1.4 ไทยรัฐทีวี เรตติ้ง 1.1 ไทยทีวี เรตติ้ง 0.8 สปริงค์นิวส์ เรตติ้ง 0.8 นิวส์ทีวี เรตติ้ง 0.7 ไบรท์ทีวี เรตติ้ง 0.7 ทรูฟอร์ยู เรตติ้ง 0.5

ส่วนช่องทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่มีเรตติ้ง 5 อันดับแรก คือ เอ็มชาแนล มีเรตติ้ง 1.9 บูมเบอแรง เรตติ้ง 1.8 สบายดีทีวี เรตติ้ง 1.3 มงคลชาแนล เรตติ้ง 1.1 ช่อง 2 เรตติ้ง 0.9

นางสาวกนกกาญจน์ ประจงแสงศรี กรรมการผู้จัดการฝ่ายการวางกลยุทธ์การลงทุนและการเรียนรู้ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส กล่าวว่า ผลสำรวจการรับชมทีวีดิจิทัลของผู้ชมไทย ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-24 มกราคม 2558 จำนวน 209 ตัวอย่าง อายุระหว่าง 20-39 ปี พบว่าช่องทีวีดิจิทัลที่รู้จัก 5 อันดับแรก คือ เวิร์คพอยท์ 81% ช่อง 7 เอชดี 78% ไทยรัฐทีวี 75% ช่องวัน 74% และช่อง 3 เอชดี 73% ทั้งนี้ ผู้ชมที่ชมช่องเดิม (3-5-7-9) 38% เปลี่ยนดูทีวีดิจิทัล 16% และรับชมทั้งช่องใหม่และช่องเก่าในสัดส่วนเท่ากัน 44% แสดงถึงการเคลื่อนย้ายเรตติ้งจากทีวีแอนะล็อกสู่ทีวีดิจิทัลมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

และรับชมทีวีดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มต่างๆได้แก่ ทรูวิชั่นส์ 43% จานพีเอสไอ 42% กล่องจีเอ็มเอ็มแซท 25% เสาก้างปลา/หนวดกุ้งดิจิทัล 22% เสาก้างปลา/หนวดกุ้งแอนะล็อก 12% กล่อง/เคเบิลซีทีเอช 9% เคเบิลท้องถิ่น 9% จานอื่น ๆ 5% กล่องซันบ็อกซ์ 5% จานไอพีเอ็ม 4% จานสามารถ 1% ทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต (ไอพีทีวี) 1%

ทั้งนี้เมื่อรับชมทีวีดิจิทัลแล้ว ผู้ชมรู้สึกว่าสับสน จำเลขช่องไม่ได้ 78% มีช่องมากเกิน ไม่รู้จะดูช่องไหน 46% หาช่องเดิมที่ดูประจำไม่เจอ 32% ปัญหาสัญญาณภาพและเสียง 6%

นางวรรณี รัตนพล ประธานกรรมการบริหาร อินิชิเอทีฟ ในฐานะนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า หลังจัดตั้ง "สภาวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ" เพื่อดูแลระบบการวัดเรตติ้งเรียบร้อยแล้ว ความเคลื่อนไหวล่าสุดคือ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่างทีโออาร์ (TOR : Term of Reference) กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการวัดเรตติ้ง คาดว่ากลางปีนี้จะสามารถเรียกบริษัทวิจัยเข้าร่วมประมูลได้

"หลังจากได้บริษัทวิจัยแล้วก็ต้องใช้ระยะเวลาอีก 2 ปี ถึงจะเริ่มต้นใช้ข้อมูลจากบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกใหม่ได้ ช่วงนี้ยังใช้ผลเรตติ้งของนีลเส็นฯไปก่อน"

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่