....6 วิธีน่าลอง ใช้ค้นหาตนเองฉบับเร่งรัด

กระทู้สนทนา
....หลังจากที่พี่พยายามหาสูตรต่างๆ สำหรับการค้นหาตนเองมา
ก็พบหลากหลายวิธีจากตำราต่างๆ  ดังนั้นเลยรวบรวม และนำมาเสนอเป็นวิธีเร่งรัดช่วยค้นหาตนเอง
แต่ห้ามทำอย่างเร่งรีบทำนะ อยากให้ลองทำ โดยค่อยๆพิจารณาตามดู
ว่าจะสามารถใช้ค้นหาตนเองได้หรือไม่ การันตีว่าหลายข้อเชียวครับ
ว่ามันใช้ได้จริงอย่างไม่น่าเชื่อ บางข้อก็ประมวลมาจาหหนังสือคนดังต่างๆ
ที่คิดและเขียนเพื่อจุดประสงค์ในการค้นหาความุ่งหมายของชีวิต

...ว่าแล้วก็อย่าได้มัวอารัมภบท ขอเชิญทัศนา และได้นำไปปฏิบัติกันเถิดจ้า

1. เลือกและเรียงลำดับวิชาที่ชอบ และเขียนด้วยว่าทำไมถึงชอบ
(หากไม่ชอบเขียน จะคิดตอบเฉยๆ ก็ได้
แต่ถ้าได้เขียนหรือพิมพ์ไว้ด้วยจะช่วยเน้นย้ำและทวนได้ว่าเราชอบจริงๆ)
..ให้ระบุวิชา และสิ่งที่ชอบในวิชานั้นๆ ให้ชัดเจน หรือเลือกตามนี้เลยจ้า
วรรณคดี สถิติและความน่าจะเป็น เศรษฐศาสตร์
ทำอาหาร ประวัติศาสตร์ การเขียนและไวยกรณ์ภาษา
คอมพิวเตอร์  พลศึกษา สุขศึกษา
ชีววิทยา วิชาภาษาเฉพาะฟังพูด ฟิสิกส์
คิดคำนวณ เคมี งานประดิษฐ์  ดนตรี
วาดเขียน  งานช่าง
...เนื้อหาและสาระวิชาที่เราชอบ หรือถนัด ช่วยบ่งชี้ไปถึงเส้นทางสายการเรียน
หรือคณะที่เลือกในมหาวิทยาลัย หรืออาชีพที่เหมาะสมได้
เช่น ชอบสถิติ ต้องเรียนบัญชี  ชอบดนตรี เล่นเป็นอยู่แล้ว เข้าคณะดุริยางคศิลป์เลย
ชอบงานช่าง น่าจะเลือกเรียนคณะวิศวกรรม เป็นต้น
...ดังนั้นการระบุไปเลยว่าชอบเนื้อหาตรงไหนในวิชานั้นๆ จะเน้นให้เราเข้าใจตนเองได้ชัดเจนขึ้นมากกว่า
บอกลอยๆ ว่าชอบวิชานั้น แต่ไม่รู้ว่าชอบตรงไหน อาจชอบเพราะครูสอนดีก็ได้

2. สังเกตเวลาว่าง ว่าชอบทำอะไร มีงานอดิเรกอะไร หรืออยากจะไปทำอะไรตอนที่มีเวลาว่าง
(ไม่ใช่งานอดิเรกประเภท "ว่างก็ต้องนอน"นะจ๊ะ)
เช่น น้องๆ บางคนพอใกล้วันหยุด ต้องวางแผนไปเที่ยวต่างจังหวัดทันที
แปลว่า ชอบท่องเที่ยว อาจชอบอาชีพมัคคุเทศก์
หรือชอบไปตามที่ที่มีทิวทัศน์งาม พร้อมเพื่อนสนิทหน้าตาดีอีกคน เพื่อไปถ่ายรูปมุมสวยๆ เป็นต้น
ถ้าได้เรียนเกี่ยวกับงานอดิเรกที่ชอบทำ ต้องเยี่ยมไปเลยแน่ๆ แค่คิดก็มีความสุขแล้วนะเนี้ย อิ อิ

3. ศึกษาอาชีพที่น่าสนใจ ก็อาชีพบนโลกเรานี้มีหลากหลาย ทำงานต่างกัน
บางอาชีพเราอาจไม่รู้จักก็ได้ บางอาชีพชื่อแปลก ทำอะไรแปลกๆ เสียไม่น่าเชื่อว่ามีอยู่จริง
แต่อาชีพเหล่านี้ อาจมีเนื้องานที่น่าสนใจและตลาดแรงงานอาจต้องการอย่างคาดไม่ถึงเชียว
หรือบางทีอาชีพที่เราๆ อาจรู้จักกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่ได้ไปลองศึกษาให้รู้เนื้องานจริง แล้วเลือกเรียนไป
เราอาจไม่ชอบภายหลังก็ได้ ที่สำคัญแต่ละอาชีพมีแรงกดดันแตกต่างกันไป อาจไม่เข้ากับเราก็ได้ แต่เราไม่รู้
เช่น หมอ รู้ว่าเรียนยาก ต้องเก่ง ต้องเจอเลือด แต่เรากลับไม่เคยรู้เลยว่า
การเป็นหมอต้องแบกรับความคาดหวังจากคนไข้และญาติคนไข้ ต้องรักษาหายนะ
และเสี่ยงต่อการรักษาผิดพลาดตลอดเวลา เพราะ ร่างกายมนุษย์นั้นซับซ้อนเกินยั้งรู้ไปทั้งหมด  
เราอาจเป็นพวกกังวลจัดว่าจะผิดจะพลาดจนไม่กล้าทำอะไรเลยก็ได้
แล้วถึงตอนนั้นก็กลายเป็นหมอที่ไม่กล้ารักษาคนไข้ ชีวิตเศร้าแน่ๆ เป็นต้น
ดังนั้น ใครอยากทำอาชีพอะไร สนใจอาชีพไหน ต้องหาข้อมูลก่อนจ้า...

4. สังเกตว่าตัวเอง มีความถนัด สิ่งที่ทำได้ดี ในเรื่องใด
แล้วนำมาเปรียบเทียบกับอาชีพต่างๆ กับความชอบ และความถนัดของเราดู
บางทีสิ่งที่เราทำได้ดีอาจเป็นเรื่องคาดไม่ถึงก็ได้ เช่น พี่เกียรติเป็นพวกจัดการงานเอกสารเก่งมาก
ทำรายงานเป็นเยี่ยม เออ คนทำรายงานเก่ง แบบนี้ก็มีด้วยนะ ฮา
บางคนไม่ค่อยพูด แต่กลับเป็นพิธีกรได้ยอดเยี่ยมมากก็มี
บางคนคัดลายมือสวยมาก แถมประดิษฐ์อักษรได้หลากหลาย ต่อยอดโดยหันไปทำตัวอักษรใช้ในคอมพิวเตอร์ได้
บางคนสามารถใช้ภาษาที่น้อยคนจะใช้ได้ อย่างภาษาปกาเกอะญอ ก็สามารถไปทำงานด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมได้ดี  
...การรับรู้ว่าตัวเองเป็นคนมีความสามารถอะไรสักอย่าง ทำให้เราเห็นคุณค่าในตนเอง
และยังสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพในอนาคตได้ด้วย ไม่มีใครที่ไม่มีความสามารถเฉพาะตัวหรอก
เพียงแต่จะหาเจอหรือเปล่าเท่านั้นเอง เช่น บอมบอมชอบให้บริการและทำให้ผู้อื่นมีความสุข
บอมบอมจะไปเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นต้น

5. สังเกตจากหนังสือที่อ่าน  วิธีแปลกอย่างไม่น่าเชื่อ แต่คนใช้ได้ก็ต้องอ่านหนังสือมากสักหน่อย
ให้ดูแนวหนังสือที่ตัวเอง ว่าชอบเลือกหนังสืออย่างไร ชอบเพราะตัวละคร หรือชอบหนังสือแนวไหน ใครดำเนินเรื่อง
บางทีอาชีพของตัวละครที่เราชอบอาจเป็นอาชีพที่เราสนใจก็ได้
....โดยปกติแล้ว เราจะสนใจหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนที่เราเคยอ่านและชอบมาก่อน
ดังนั้น เนื้อหาหรือหนังสือที่เราเลือกก็จะมีแนวทางเดียวกัน เราอาจสืบตัวตนจากหนังสือที่เราก็ได้ อิ อิ

6. เปิดหูเปิดตา ทำกิจกรรมของโรงเรียน เข้าค่ายอบรมต่าง ก็ช่วยได้นะ
เพราะงานของโรงเรียนมีหลายๆ ตำแหน่ง อย่างคณะกรรมการนักเรียน
ก็มีประธาน มีเลขานุการ มีสวัสดิการ ฝ่ายหาทุน ฝ่ายทำหนังสือโรงเรียน  
ใครจะรู้หากเราได้ทำงานต่างๆ เหล่านี้ เราอาจชอบและทำได้ดีในอาชีพที่คล้ายคลึงกันก็ได้
เช่น ฝ่ายทำหนังสือโรงเรียน ทำงานคล้ายกับตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือ ฝ่ายหาทุนของโรงเรียน
นี่คืองานด้านการตลาดในอาชีพจริงๆ เลย

..นอกจากนี้หากมีการอบรมใดๆ อยากให้น้องๆ ได้เข้าไปศึกษาหาประสบการณ์และข้อมูลจริงกันได้      
โดยเฉพาะค่าย ม.ปลาย อย่างพาน้องติวโดยรุ่นพี่จากคณะและมหาวิทยาลัยต่างๆ  
เช่น ค่ายอยากเป็นหมอ ค่ายวิทยาศาสต์และสิ่งแวดล้อม ค่ายลานเกียร์ ค่ายอยากเป็นครู ฯลฯ เรียกว่า
ค่ายต่างๆ เหล่านี้ เป็นค่ายทีเด็ดในโค้งสุดท้ายของการเลือกคณะที่สนใจจริงๆ ทีเดียว
น้องที่พี่รู้จักคนหนึ่ง อยากทำงานป่าไม้ขึ้นมาจริงๆ
ตอนนี้รักธรรมชาติ ไปปลูกป่า เข้าคณะวนศาสตร์ แห่งเดียวของประเทศไทยไปแล้ว เพราะค่ายวนศาสตร์นี่เลยนะ
ดังนั้น น้องๆ ต้องคอยติดตามกิจกรรมดีๆ จากแหล่งต่างๆ เช่นที่ห้องแนะแนวโรงเรียนน้องๆ

...วิธีการไม่ยากใช่ไหมล่ะ แค่เพียงขอเวลาเงียบๆ อยู่กับตัวเอง
แล้วก็ลองคิดตามทุกข้อ อาจพบทางใหม่ๆ ที่น่าเดินทางต่อไป
อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้ว คนที่จะเลือกทางของตนเอง ก็คือ ตนเอง
รีบค้นหาให้เจอ และมุ่งไปข้างหน้าเลยจ้า มีคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่บ้านคอยให้กำลังใจ และสนับสนุน
มีคุณครูที่คอยให้คำปรึกษา แล้วก็มีเว็บไซต์เป็นแหล่งข้อมูลดีๆ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่