“คน” หรือ “หมี”... “หนังอินดี้” หรือ “อนิเมวาย” ไม่มีเกี่ยง... เมื่อประสบปัญหากับการ “ย่อย” เราก็มียาวิเศษมานำเสนอ [2]

คำเตือน : กรุณาอ่านฉลากก่อนใช้ยา เพราะอาจจะมี Side Effects

***ระวังโดนสปอยสำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู YURI KUMA ARASHI ตอน 4***

***โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านให้มาก***

***เรื่องความมั่ว และการพร่ำพรรณนาที่มาก(ส์) จำเป็นต้องขอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย***
(กระทู้นี้ใครที่ไม่ชอบตัวหนังสือเยอะๆไม่ขอแนะนำ และใครที่จะอ่านก็ควรหาเวลามาค่อยๆอ่าน เพราะมันติสต์มาก อาจจะทำให้สับสนได้ง่าย)

***ส่วนอันนี้คือลิงก์ไปที่โพสแรกสุด***

เอาแล้วไงละ ในที่สุดความรู้สึกแบบนี้ก็กลับมาอีกครั้ง...
ตอนล่าสุดที่ได้ดูนี้มันยิ่งกว่าคำบรรยายเลยค่ะ เพราะฉะนั้นจขกท.ขอเสียมารยาท ใช้พื่นที่ระบายความในใจสักนิดนึงนะ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

จากที่พร่ำเพ้อไปทั้งหมด ในกระทู้ที่สองนี้ นอกจากจะมีการวิเคราะห์ reference ต่างๆ จากผู้รู้ที่มาให้ความกระจ่างกันในกระทู้แรกแล้ว ก็เลยอยากจะให้มาลองซึมซับกับเรื่องของ “ความรัก” ที่มีสอดแทรกไว้ดูด้วย เผื่อเราจะได้เข้าใจในจุดสูงสุดของความโรแมนติกของเรื่องนี้มากขึ้นว่ามันคืออะไรกันแน่? (ปวดตับแน่นอน) ทำไมท่านผู้พิพากษา Life Sexy ถึงต้องกล่าวว่ามัน “Sexy! Shabadabadoo!” เสียขนาดนั้น? (จงระลึกไว้เถิดว่าเรื่องนี้มันคือเรื่องที่มี Theme สำคัญซึ่งก็คือ “ความรัก” อยู่ด้วย จขกท.รอคอยอนิเมยูริที่พอจะรัก ก็รักกันจริงจังแบบนี้มานานแล้ว)

จบการระบายเรื่องที่อัดอั้นไป ตอนนี้ก็น่าจะได้เวลาที่เราจะลองมาทำความเข้าใจเนื้อเรื่องกันเพิ่มนะ จะขอแยกเป็นหัวข้อใหญ่ไล่ไปเรื่อยๆ ตามความสนใจที่สะเปะสะปะของจขกท.แล้วกัน

1. เรื่องของความเข้าใจในขั้วที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน

จะสังเกตได้ว่าเนื้อเรื่องตอน 3 และ 4 เริ่มจะปรับสภาพแนวคิดโดยธรรมชาติของเรา จากการเห็น “ขั้ว” ที่มี “ขาว” และ “ดำ” (เป็นมุมมองความสัมพันธ์แบบง่ายๆ ที่เห็นตรงข้ามกันชัดเจน) คือถ้ามองแบบสุดโต่งว่า “ดี” ก็คือ “ดี” ถ้ามองว่า “เลว” ก็คือ “เลว” (ลองคิดถึงนิยามของ “หมี” กับ “คน” ที่อธิบายในตอนแรกดู) กลายเป็นการค่อยๆเพิ่มมุมมองด้านอื่นๆที่จะทำให้เห็นภาพที่เป็นจริงมากขึ้น คือมันเริ่มไม่ใช่ “ขาว” กับ “ดำ” แต่มันเป็น “เทา” เพราะจริงๆแล้วความสัมพันธ์ของสองขั้วมันซับซ้อนมากกว่านั้น หากจะพูดในลักษณะที่ว่าใน “ขาว” มี “ดำ” และใน “ดำ” มี “ขาว” ก็ยังถือว่าไม่ผิด (นี่เรากำลังคุยเรื่องหยินหยางกันอยู่ใช่ไหม?)

จขกท.จะขอเปรียบเปรยภาพรวมของสองขั้วนี้ให้ดูมีศิลปะแบบง่ายๆหน่อย เริ่มจากการเปรียบ “ด้านสว่าง” ของเราว่าเหมือนกับผืนผ้าที่ขาวสะอาด (นึกถึงฝั่งหนึ่งของกำแพงคือ “ด้านมนุษย์”) แต่ถ้าหากผ้าขาวผืนนั้นดันมีจุดด่างพร้อยนิดเดียว จุดเล็กๆจุดนั้นก็คือต้นเหตุแห่ง “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ของผ้าทั้งผืน (“อุดมคติ” หรือคุณงามความดีบางอย่างที่จริงๆแล้วเป็น “Delusion”) เป็นจุดสำคัญอันเป็นด้านมืดจริงๆที่น่ากลัวยิ่งกว่าด้านมืดของเราที่เข้าใจในยามปกติเสียอีก


[ขนาดอาณาจักรยูริที่น่าจะมีแต่ความงดงาม สะอาดบริสุทธิ์ ยังสามารถมี “Yuri Dark” โผล่มาได้เลย โดยสิ่งเหล่านี้แหละที่อนิเมต้องการจะสื่อว่ามันมี “มลทิน” เจือปนอยู่ภายในอยู่แล้ว แล้วยิ่งมันเป็นสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ด้านในลึกเท่าไร สภาวะของมันก็ยิ่งเป็นเนื้อละเอียดมากขึ้นเท่านั้น]


ในทางกลับกัน หาก “ด้านมืด” ของเราเปรียบเสมือนห้องปิดตายที่เหน็บหนาวและมืดมิด (นึกถึงฝั่งหนึ่งของกำแพงคือ “ด้านสัตว์”) ถึงจะมีแค่แสงสว่างที่อบอุ่นจากแสงเทียนเล่มเล็กๆเล่มหนึ่ง (ซึ่งก็หมายถึง “ขาว” ที่มีอยู่ใน “ดำ”) เทียนเล่มนั้นก็จะมีค่าเหลือประมาณมิได้ แล้วยังอาจจะทำให้เราค้นพบทางออกจากห้อง เป็นอิสระหลุดจากการจองจำได้อีกด้วย

สรุปได้ง่ายๆเลยว่าเหล่าเด็กสาว invisible ซึ่งถูกเปรียบกับ “ดอกลิลลี่” อันหมายถึง “ความรักบริสุทธิ์” หรือ “ความรักแบบอุดมคติ” นั้น เป็นดั่งคุณงามความดี คุณค่า หรือ “อุดมคติ” บางอย่างที่เกิดจากการเห็นผิด แล้วอุดมคติแบบนี้แหละที่เป็น “ของไม่แท้จริง” หรือ “ของปลอม” อันมักจะเป็นอุดมคติที่ล่องลอยไปมาในอากาศ คือเรามองไม่เห็นมัน (invisible) แต่เราก็ยังไปยึดถือมัน จะเรียกว่าเป็น “ภาพมายา” ที่กักขังเราเอาไว้ก็เห็นจะไม่ผิดนัก (เดาได้ว่า Ginko – Lulu กำลังทำการช่วยปลดปล่อย Kureha จาก “ภาพมายา” นั้น ด้วยการกินเหล่าเด็กสาว invisible ที่ก่อ invisible storm ก่อนที่มันจะไปทำลายตัวเธอ หรือก่อนที่หมีบางตัวที่คอยชักใยอยู่จะจับไปกิน)

1.1.    Yuri Court in Session (ศาลยูริในระหว่างการประชุม)


ขอกล่าวถึง “Yuri Court in Session” หน่อย
สิ่งนี้เป็น “พิธีกรรม” แห่งการ “ใคร่ครวญพิจารณา” ที่จะต้องเกิดขึ้นทุกครั้งก่อน “การตัดสิน” (Judgement) ว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร หรือ จะเป็นอะไร ไม่เป็นอะไร บลาๆ (นึกถึงคำพูดติดปากของ Ginko ไปด้วยว่า “The time of judgement has come.”) และมันจะเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ จนในที่สุดแล้ว “การตัดสินที่แท้จริง” ก็คงจะมาถึงในอีกไม่ช้า (เป็นฉากที่มีความสำคัญพอจะเทียบได้กับฉากขึ้นบันไดของ Utena และเพลง “Zettai Unmei Mokushiroku” อันลือชื่อ ซึ่งหลายคนก็มักจะเอาฉากในตำนานนี้ไปเทียบกับตอนที่ Kureha ขึ้นบันไดไปดาดฟ้า แต่ในความเป็นจริง “พิธีกรรม” ที่ดูจะมีการเน้นมากที่สุดในอนิเม กลับเป็น “Yuri Court in Session” กับ “ฉากแปลงร่าง” ของหมีที่ตามมาหลังจากนั้น)

ถามว่าทำไมถึงต้อง “ตัดสิน” จขกท.ขออธิบายด้วยหนังเรื่อง Psycho ก็แล้วกันนะ ประเด็นสำคัญในหนังอย่างหนึ่งก็คือ “โรคทางจิต” อย่างหนึ่งของ Norman Bates ที่เป็นตัวละครหลักในเรื่อง อาการของเขาจะเรียกว่า “Split Personality” คือการมี “สองบุคลิก” ในคนๆเดียวกัน (“หมี” และ “คน” ยังไงละ ซึ่งในกรณีนี้ถ้าอยากจะเข้าใจมากขึ้น ก็ขอให้ไปอ่านในหัวข้อใหญ่ที่ 3 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ reference ในอนิเม) แต่ว่าในตอนท้ายที่สุดของหนัง บุคลิกอีกด้านหนึ่งในตัวของ Norman ที่เรียกว่า Norma ก็สามารถกลายสภาพมาเป็น “Dominant Personality” ได้ คือสุดท้ายแล้วมันก็จะต้องเกิดการ “ตัดสิน” ขึ้นว่าใครจะเป็นผู้อยู่เหนือกว่าฝ่ายใด ไม่ต่างจากการที่ “หมี” กับ “คน” ซึ่งจะต้องขับเคี่ยวกันไปตามสถานการณ์ที่ปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ (นึกถึงฉากบนดาดฟ้าที่สู้กันดูสิ)

1.2.    Winning Mode (ฉากแปลงร่าง)


สิ่งที่สำคัญต่อมาก็คือ “ฉากแปลงร่าง” ของหมีที่เรียกว่า “Winning Mode” (พิลึกจังวุ้ย) หลังจากได้รับการ “อนุมัติ” (Yuri Approved) แล้ว Winning Mode คำนี้นี่ดูเผินๆ จะเหมือนว่าเป็น “ชัยชนะ” ของ “หมี” (ด้านสัญชาติญาณสัตว์) เพราะหากเราลองคิดตามที่มีอธิบายไว้ในกระทู้แรกก็จะเข้าใจได้ว่ามันเหมือน “เสือสมิง” ในหนังสัตว์ประหลาดที่กินเนื้อหนังแล้วแปลงร่างเป็นคน แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิดนี้ก็ยังถือว่าตื้นเกินไป เพราะจริงๆแล้วสิ่งที่เราไม่ควรพลาดจากการสังเกตก็คือคำว่า “サイバン” (แปลเป็นอังกฤษคือ Trial) ซึ่งเป็นคำที่ถูกกำกับไว้ด้านล่างของ “Yuri Court in Session” คำว่า “Trial” นี้นอกจากจะแปลเป็นไทยได้ว่า "การพิจารณาคดีในศาล" แล้ว ก็ยังสามารถที่จะแปลได้อีกว่า “การทดลองปฏิบัติ” อันมีความหมายใกล้เคียงกับ “การลองผิดลองถูก” (Trial and Error) ดังนี้ จขกท.เลยคิดว่า “หมี” ก็ยังไม่ได้เป็น “ฝ่ายชนะ” แต่อย่างใด มันเป็นเพียงแต่การที่เราตัดสินใจจะลอง “เรียนรู้ทางสัญชาติญาณ” เท่านั้นเอง (สามารถมองว่ามันเหมือนการเข้าใกล้สภาวะของความเป็น “หมี” และ “คน” หรือแม้กระทั่ง ไม่ได้เป็นทั้ง “หมี” และไม่ได้เป็นทั้ง “คน” ด้วยในเวลาเดียวกัน)

ที่เล่ามายืดยาว เราก็จะสรุปยืนยันได้พอสมควรแล้วว่า “สัญชาติญาณ” นั้นหาใช่เป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไปไม่ มนุษย์เราเกิดมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องอาศัยสัญชาติญาณในการเอาตัวรอด เทียบได้กับนายทหารในหนังสัตว์ประหลาดที่ก็ต้องล่าสัตว์ จับปลา เอาโคลนมาทาเนื้อทาตัว ลบกลิ่นตัวเองออกเวลาอยู่ในป่า เพื่อที่จะเอาตัวรอดในธรรมชาติได้ ดังนั้น หาก Kureha อยากจะอยู่รอดจากอุ้งมือหมีของ Mitsuko ก็มีแต่ต้องลองที่จะหัดรับรู้ในสัญชาติญาณของตนเอง แม้ว่ามันจะรวมไปถึงสัญชาติญาณในการ “ฆ่า” ก็ตาม ซึ่งการรับรู้ตนเองในลักษณะนี้ ก็สามารถที่จะสื่อได้อีกเหมือนกันว่า Kureha เริ่มที่จะ “ตื่นรู้” (สังเกตได้จากตอน 3 หลังฉากแปลงร่างของหมี คือเธอ “ตื่น” แล้ว ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น “หลับ” อยู่)


การ “รู้” ในที่นี้ก็น่าจะหมายถึงการเริ่มสามารถที่มองเห็น พิจารณาสัญชาติญาณได้ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติญาณแบบ Ginko – Lulu หรือ สัญชาติญาณแบบ Mitsuko ว่าสิ่งใดคืออะไร ตอนแรก Kureha ดูเหมือนจะไม่เชื่อว่า “คน” แบบ Mitsuko จะเป็น “หมี” ได้ คือขาดความมั่นใจ จากนั้นก็ตามมาด้วยความสับสน เพราะมันเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยพบเจอมาก่อน อาจจะขัดกับความเชื่อของเธอลึกๆด้วยเพราะเธอเชื่อว่า “หมี” ก็คือ “หมี” และจะต้องถูกกำจัดเท่านั้น นอกจากนี้อารมณ์ของ Kureha ยังถูกเจือไปด้วยความโกรธอีก สติสัมปชัญญะก็สั่นคลอน จะยิงปืนไม่โดนก็ไม่แปลก (ต่างจากตอน 1 ที่เห็นชัดเจนเลยว่าความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยม เพราะยังมีที่ยึดเหนี่ยวเป็น Sumika)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่